การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3035 การสืบสวนและสอบสวน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 การสืบสวนและการสอบสวนมีความแตกต่างกัน จึงให้ท่านอธิบายถึงความแตกต่างของการสืบสวนและสอบสวนอย่างน้อย 4 ประเด็น
ธงคำตอบ
การสืบสวน หมายความถึง การแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน ซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด ตาม ป.วิอาญา มาตรา 2(10)
การสอบสวน หมายความถึง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2(11)
จากนิยามความหมายดังกล่าว สามารถแยกความแตกต่างระหว่างการสืบสวนและการสอบสวนได้ดังนี้
1 วิธีการ
– การสืบสวน เป็นลักษณะของการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งอาจจะเป็นขั้นตอนก่อนที่จะมีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้นก็ได้
– การสอบสวน เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้นและมีการกล่าวหาในความผิดนั้น
2 สิ่งที่ต้องการ
– การสืบสวน สิ่งที่ต้องการคือ ข้อเท็จจริงพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด
– การสอบสวน สิ่งที่ต้องการคือ พยานหลักฐาน ซึ่งแบ่งได้เป็นพยานบุคคล พยานวัตถุ และพยานเอกสาร
3 วัตถุประสงค์
– การสืบสวน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อทราบรายละเอียดแห่งความผิด
– การสอบสวน เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา หรือพิสูจน์ความผิดและเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ ซึ่งอาจจะไม่มีผู้กระทำผิดตามที่กล่าวหาก็ได้
4 เจ้าพนักงานที่มีอำนาจ
– การสืบสวน ได้แก่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ รวมทั้งเจ้าพนักงานอื่นๆตามกฎหมายเฉพาะ เช่น พัศดี เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า พนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น
– การสอบสวน ได้แก่ พนักงานสอบสวน ซึ่งหมายถึง เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิอาญา มาตรา 18, 19, 20 และ 21
5 เงื่อนไข
– การสืบสวน สามารถกระทำก่อน ขณะ หรือหลังจากเหตุเกิดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความผิดเกิดขึ้น
– การสอบสวน ต้องมีความผิดเกิดขึ้น หรือมีการกล่าวหาในความผิดนั้นจึงทำการสอบสวน