การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3111 (LAW 3011) กฎหมายลักษณะพยาน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า “นายสมโภชเป็นลูกจ้างของจําเลย ในวันเกิดเหตุคือวันที่ 5 สิงหาคม 2563 นายสมโภชได้ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ใช้ความระมัดระวังให้ดีชนโจทก์ในขณะที่โจทก์เดินอยู่ริมถนนทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยการดังกล่าวเป็นการขับรถเพื่อไปส่งของในทางการที่จ้างของจําเลย จําเลยจึงต้องรับผิดจากการทําละเมิดของนายสมโภช ขอให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหายรวม ทั้งสิ้น 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้องเป็นต้นไป” จําเลยยื่นคําให้การว่า “นายสมโภชไม่ใช่ลูกจ้างของตน นายสมโภชมาเพียงแค่ทดลองงานในวันเกิดเหตุ อีกทั้งในขณะ เกิดเหตุการณ์ขับรถของนายสมโภชนั้นมิได้เป็นการขับรถด้วยความประมาท แต่เหตุดังกล่าว เกิดจากการที่โจทก์เดินออกมานอกเส้นทางการเดินหรือความไม่ระมัดระวังเองเป็นเหตุให้เกิดการชนและเกิดความเสียหายขึ้น ความผิดจึงไม่ได้เกิดจากการกระทําของนายสมโภช ด้วยเหตุนี้ จําเลยจึงไม่ต้องรับผิดขอให้ศาลยกฟ้อง”

Advertisement

ในวันชี้สองสถาน ศาลได้ถามโจทก์และจําเลยถึงเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้น จําเลยจึงให้การด้วยวาจา เพิ่มเติมว่า นายสมโภชนั้นได้เข้ามาทํางานกับตนเป็นลูกจ้างของตนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 แต่ในขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาเย็นที่นายสมโภชได้เลิกงานแล้ว นายสมโภชได้ขอยืมรถไปใช้ในทางส่วนตัวจนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นซึ่งไม่ได้เป็นการกระทําในทางการที่จ้างแต่อย่างใด อีกทั้งเหตุดังกล่าวเกิดในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 แต่โจทก์นําคดีมาฟ้องในวันที่ 14 สิงหาคม 2564 ซึ่งเกินกว่าระยะเวลาหนึ่งปีอันเป็นการขาดอายุความในคดีละเมิดแล้ว

หากท่านเป็นศาลที่ทําหน้าที่ในการชี้สองสถานในคดีนี้ ท่านจะกําหนดประเด็นข้อพิพาทในคดี ว่าอย่างไร มีประเด็นอะไรบ้าง และฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน
สํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้น มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 วรรคหนึ่ง “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและคําแถลง
ของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถามคู่ความ ทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียงและพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้นอย่างไรข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ

1. คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร
2. ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3), มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 183 วรรคหนึ่ง)

การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า “นายสมโภชเป็นลูกจ้างของจําเลย ในวันเกิดเหตุคือวันที่ 5 สิงหาคม 2563 นายสมโภชได้ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ใช้ความระมัดระวังให้ดี ชนโจทก์ในขณะที่โจทก์เดินอยู่ริมถนน ทําให้โจทก์ ได้รับความเสียหาย โดยการดังกล่าวเป็นการขับรถเพื่อไปส่งของในทางการที่จ้างของจําเลย จําเลยจึงต้องรับผิด จากการทําละเมิดของนายสมโภช ขอให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้องเป็นต้นไป” และจําเลยยื่นคําให้การว่า “นายสมโภชไม่ใช่ลูกจ้างของตน นายสมโภชมาเพียงแค่ ทดลองงานในวันเกิดเหตุ อีกทั้งในขณะเกิดเหตุการณ์ขับรถของนายสมโภชนั้นมิได้เป็นการขับรถด้วยความประมาท แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากการที่โจทก์เดินออกมานอกเส้นทางการเดินหรือความไม่ระมัดระวังเองเป็นเหตุให้ เกิดการชนและเกิดความเสียหายขึ้น ความผิดจึงไม่ได้เกิดจากการกระทําของนายสมโภช ด้วยเหตุนี้จําเลยจึงไม่ต้องรับผิดขอให้ศาลยกฟ้อง” นั้น

จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลย การที่โจทก์กล่าวอ้างว่านายสมโภชเป็นลูกจ้างของ จําเลยนั้น แม้ตอนแรกจําเลยจะให้การว่านายสมโภชไม่ใช่ลูกจ้างของตน แต่เมื่อถึงวันชี้สองสถานจําเลยให้การ ด้วยวาจาเพิ่มเติมว่า นายสมโภชได้เข้ามาทํางานกับตนเป็นลูกจ้างของตนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 จึงถือว่า จําเลยได้ยอมรับโดยชัดแจ้งแล้วว่านายสมโภชเป็นลูกจ้างของจําเลยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) จึงไม่ก่อให้เกิด ประเด็นข้อพิพาทในเรื่องที่ว่านายสมโภชเป็นลูกจ้างของจําเลยหรือไม่

และการที่จําเลยให้การด้วยวาจาเพิ่มเติมว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะเหตุดังกล่าวเกิดใน วันที่ 5 สิงหาคม 2563 แต่โจทก์นําคดีมาฟ้องในวันที่ 14 สิงหาคม 2564 ซึ่งเกินกว่าระยะเวลา 1 ปีนั้น เมื่อไม่มีอยู่ ในคําคู่ความ (ในคําให้การตอนแรกของจําเลย) จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

ดังนั้น คดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

1. การขับรถของนายสมโภชเป็นไปในทางการที่จ้างหรือไม่
2. การละเมิดดังกล่าวเกิดจากความผิดของโจทก์เองหรือไม่

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

1. การขับรถของนายสมโภชเป็นไปในทางการที่จ้างหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่านายสมโภช ได้ขับรถไปในทางการที่จ้าง แต่จําเลยให้การปฏิเสธ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างย่อมมีหน้าที่นําสืบ

2. การละเมิดดังกล่าวเกิดจากความผิดของโจทก์เองหรือไม่ เมื่อโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 ที่ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆอันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะ พิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง” ดังนั้น ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จําเลยที่ต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันพิษฐานของกฎหมายว่าเหตุตามฟ้องเกิดขึ้นเพราะความผิด ของโจทก์เอง ซึ่งหากจําเลยพิสูจน์ไม่ได้ จําเลยก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์

สรุป คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ ดังนี้

1. การขับรถของนายสมโภชเป็นไปในทางการที่จ้างหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์

2. การละเมิดดังกล่าวเกิดจากความผิดของโจทก์เองหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่จําเลย

ข้อ 2. โจทก์ยื่นคําฟ้องว่าจําเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจํานวนทั้งสิ้น 500,000 บาท และไม่ยอมชําระภายใน กําหนดระยะเวลาตามสัญญา ขอให้จําเลยชําระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งในการยื่นคําฟ้องนี้ โจทก์ ไม่มีสัญญากู้มาแสดงโดยโจทก์อ้างว่าสัญญากู้อยู่กับกํานันสมชายเป็นผู้เก็บเอาไว้ ในกรณีเช่นนี้ โจทก์จะต้องดําเนินการอย่างไรบ้างเพื่อให้กํานันสมชายส่งเอกสารดังกล่าวมายังศาล

ต่อมาเมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลมีหมายเรียกให้กํานันสมชายส่งเอกสารมายังศาล แต่ กํานันสมชายไม่ยอมส่งมา โจทก์จึงอ้างว่านายมงคลเป็นพยานเพื่อให้สืบว่ามีการกู้เงินโจทก์จริง เป็นจํานวนทั้งสิ้น 500,000 บาท จําเลยได้ทําการคัดค้านว่าการสืบพยานบุคคลดังกล่าวเป็นการ สืบแทนพยานเอกสารต้องห้ามรับฟัง การคัดค้านของจําเลยดังกล่าวนี้ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 90 วรรคหนึ่ง วรรคสามและวรรคท้าย “ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐาน เพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสําเนา เอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน

คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงพยานหลักฐานไม่ต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาล และไม่ต้องส่งสําเนาเอกสารให้คู่ความฝ่ายอื่นในกรณีดังต่อไปนี้

(2) เมื่อคู่ความฝ่ายใดอ้างอิงเอกสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่อยู่ในความครอบครองของ คู่ความฝ่ายอื่นหรือของบุคคลภายนอก

กรณีตาม (2) ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารขอให้ศาลมีคําสั่งเรียกเอกสารนั้นมาจากผู้ครอบครอง ตามมาตรา 123 โดยต้องยื่นคําร้องต่อศาลภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี และให้
คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่ติดตามเพื่อให้ได้เอกสารดังกล่าวมาภายในเวลาที่ศาลกําหนด”

มาตรา 93 “การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้นเว้นแต่

(2) ถ้าต้นฉบับเอกสารนํามาไม่ได้ เพราะถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหาย หรือไม่สามารถ นํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจําเป็นและ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสําเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นํามาไม่ได้นั้นศาลจะอนุญาตให้นําสําเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมี ข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้าง และนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยาน เอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้
ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

มาตรา 123 “ถ้าต้นฉบับเอกสารซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานนั้นอยู่ใน ความครอบครองของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คู่ความฝ่ายที่อ้างจะยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลขอให้สั่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งส่งต้นฉบับเอกสารแทนการที่ตนจะต้องส่งสําเนาเอกสารนั้นก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคําสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด…

ถ้าต้นฉบับเอกสารอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก หรือในครอบครองของทางราชการ หรือของเจ้าหน้าที่ซึ่งคู่ความที่อ้างไม่อาจร้องขอโดยตรงให้ส่งเอกสารนั้นมาได้ ให้นําบทบัญญัติในวรรคก่อน ว่าด้วยการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารยื่นคําขอ และการที่ศาลมีคําสั่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ฝ่ายที่อ้าง ต้องส่งคําสั่งศาลแก่ผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน ถ้าไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2)

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องว่าจําเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจํานวนทั้งสิ้น 500,000 บาท และไม่ยอมชําระภายในกําหนดระยะเวลาตามสัญญา ขอให้จําเลยชําระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งในการยื่นคําฟ้องนี้ โจทก์ไม่มีสัญญากู้มาแสดง โดยโจทก์อ้างว่าสัญญากู้อยู่กับกํานันสมชายเป็นผู้เก็บเอาไว้นั้น ถือว่าโจทก์ได้อ้างอิง เอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ดังนั้น โดยหลักแล้วโจทก์จะต้องนําสําเนา เอกสารสัญญากู้ยื่นต่อศาลและส่งสําเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จําเลยก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เอกสารสัญญากู้ที่โจทก์อ้างอิงนั้นอยู่กับกํานันสมชาย ซึ่งถือว่า อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ดังนั้นโจทก์จึงไม่ต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาล และไม่ต้องส่งสําเนาเอกสารให้แก่จําเลยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคสาม (2)

และตามอุทาหรณ์นั้น วินิจฉัยได้ดังนี้

หากโจทก์ต้องการนําเอกสารสัญญากู้ดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐาน โจทก์จะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 123 กล่าวคือ โจทก์จะต้องยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาล ขอให้สั่งให้บุคคลภายนอก (กํานันสมชาย) ส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวแทนการที่โจทก์จะต้องส่งสําเนาเอกสารนั้น และถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องของโจทก์นั้นฟังได้ ให้ศาลมีคําสั่งให้กํานันสมชาย ยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด แต่โจทก์จะต้องส่งคําสั่งศาลให้แก่ กํานันสมชายผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

ถ้าโจทก์ทําตามวิธีการดังกล่าวแล้ว แต่กํานันสมชายปฏิเสธในการส่งเอกสารมายังศาล ย่อมถือว่า เป็นกรณีที่นําต้นฉบับเอกสารมาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถนํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจาก พฤติการณ์ที่โจทก์ผู้อ้างอิงเอกสารต้องรับผิดชอบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) และเมื่อไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบ ตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2) (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 123 วรรคสอง) กล่าวคือ ศาลจะสืบพยานต่อไปโดยอนุญาตให้นําสําเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้

และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ก) ได้บัญญัติหลักไว้ว่า เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้อง มีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารในเมื่อไม่สามารถนําเอกสาร มาแสดง แต่อย่างไรก็ตามหลักดังกล่าวมีข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง คือในกรณีที่ต้นฉบับเอกสาร สูญหายหรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2)) ดังนี้ ย่อมสามารถนําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารได้

ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลมีหมายเรียกให้กํานันสมชายส่งเอกสาร มายังศาล แต่กํานันสมชายไม่ยอมส่งมา ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่นําต้นฉบับเอกสารมาไม่ได้เพราะสูญหายหรือ ไม่สามารถนํามาได้โดยประการอื่นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) โจทก์จึงสามารถอ้างนายมงคลเป็นพยานเพื่อให้สืบว่ามีการกู้เงินโจทก์จริงเป็นจํานวนทั้งสิ้น 500,000 บาทได้ เพราะไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 และการที่จําเลยได้ทําการคัดค้านว่าการสืบพยานบุคคลดังกล่าวเป็นการสืบแทนพยานเอกสารต้องห้ามรับฟังนั้นการคัดค้านของจําเลยดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป โจทก์จะต้องดําเนินการตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 123 เพื่อให้กํานันสมชายส่งเอกสารดังกล่าวมายังศาล

และหากกํานันสมชายไม่ยอมส่งเอกสารมายังศาล โจทก์สามารถนํานายมงคลพยานบุคคลเข้าสืบแทนพยานเอกสารได้ การคัดค้านของจําเลยฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 3. ในคดีอาญาเรื่องหนึ่ง พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องนายประพันธ์จําเลยในความผิดฐานยักยอก ทรัพย์โดยมีนายกวีเป็นผู้เสียหาย ในวันสืบพยานพนักงานอัยการนํานายมานะพยานโจทก์คนแรกเข้าสืบ โดยมีนายโจเซฟชาวฝรั่งเศสพยานโจทก์คนที่สองและนายมนัสพยานจําเลยนั่งฟังการ สืบพยานอยู่ด้วย เมื่อสืบพยานนายมานะเสร็จสิ้น พนักงานอัยการอ้าง น.ส.ทอฝันเป็นล่าม แปลภาษาให้กับนายโจเซฟซึ่งฟังและพูดภาษาไทยไม่ได้ ก่อนเบิกความนายโจเซฟได้สาบานตน เป็นภาษาอังกฤษ และมี น.ส.ทอฝันแปลคําถามและคําตอบให้ โดยที่ น.ส.ทอฝันไม่ได้ทําการ สาบานตนก่อนการทําหน้าที่เป็นล่าม เมื่อนายโจเซฟสืบพยานเสร็จ ฝ่ายจําเลยก็นํานายมนัส พยานจําเลยเข้าสืบต่อ โดยฝ่ายจําเลยได้ซักถามนายมนัสจนเสร็จ แต่ปรากฏว่าหมดเวลาทําการ เสียก่อน ศาลจึงเลื่อนการสืบพยานนายมนัสต่อในนัดหน้าเพื่อให้พนักงานอัยการโจทก์ได้ถามค้าน นายมนัสต่อ เมื่อถึงวันนัดนายมนัสพยานจําเลยไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากประสบอุบัติเหตุ ถูกรถชนถึงแก่ความตาย พนักงานอัยการจึงได้ทําการคัดค้านมิให้ศาลรับฟังคําซักถามที่นายมนัสเบิกความไว้ก่อนแล้วโดยมิได้มีการถามค้านจากฝ่ายโจทก์ ส่วนทนายฝ่ายจําเลยได้คัดค้านไม่ให้ศาลรับฟังคําเบิกความของนายโจเซฟพยานโจทก์คนที่สองที่ได้นั่งฟังคําเบิกความของนายมานะพยานโจทก์คนแรกด้วย

หากศาลเห็นว่า คําเบิกความของนายโจเซฟตามคําแปลของ น.ส.ทอฝัน มีน้ําหนักน่าเชื่อถือได้และการที่นายโจเซฟฟังคําเบิกความของพยานคนก่อนนั้นไม่มีผลต่อคําเบิกความของนายโจเซฟเนื่องจากนายโจเซฟไม่อาจเข้าใจในคําพูดของนายมานะพยานโจทก์คนแรกได้ จึงรับฟังคําเบิกความ ของนายโจเซฟ และคําเบิกความตอบคําซักถามของนายมนัสพยานจําเลย เช่นนี้การรับฟังคําเบิกความดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 112 “ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณีแห่งชาติของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่…”

มาตรา 114 “ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง และศาลมีอํานาจ ที่จะสั่งพยานอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปเสียได้

แต่ถ้าพยานคนใดเบิกความโดยได้ฟังคําพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้าตนมาแล้ว และคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งอ้างว่าศาลไม่ควรฟังคําเบิกความเช่นว่านี้ เพราะเป็นการผิดระเบียบ ถ้าศาลเห็นว่าคําเบิกความ เช่นว่านี้เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่สามารถทําให้ คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้”

มาตรา 117 “คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะตั้งข้อซักถามพยานได้ในทันใดที่พยานได้สาบานตน และแสดงตนตามมาตรา 112 และ 116 แล้ว

เมื่อคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานได้ซักถามพยานเสร็จแล้ว คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชอบที่จะถามค้านพยานนั้นได้
เมื่อได้ถามค้านพยานเสร็จแล้ว คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะถามติงได้ ….”

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 13 วรรคสี่ “เมื่อมีล่ามแปลคําให้การ คําพยานหรืออื่น ๆ ล่ามต้องแปลให้ถูกต้อง ล่าม ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะทําหน้าที่โดยสุจริตใจ จะไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปล”

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมานะพยานโจทก์คนแรกได้เบิกความต่อหน้านายโจเซฟพยานโจทก์ ซึ่งจะเบิกความเป็นคนที่สองนั้น แม้ว่าการเบิกความของนายมานะจะขัดต่อ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 และทนายฝ่ายจําเลยได้คัดค้านไม่ให้ศาลรับฟังแล้วก็ตาม แต่ถ้าศาลเห็นว่า คําเบิกความเช่นว่านี้เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของพยานคนก่อน หรือ
ไม่สามารถทําให้คําวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้ และศาลอาจรับฟังคําเบิกความของนายโจเซฟพยานโจทก์คนที่สองตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 ได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คําเบิกความของนายโจเซฟตามคําแปลของ น.ส.ทอฝันนั้น มิได้ทําการสาบานตนก่อนการทําหน้าที่เป็นล่าม จึงถือว่าเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อาญา มาตรา 13 วรรคสี่ ดังนั้น แม้ศาลเห็นว่า คําเบิกความของนายโจเซฟตามคําแปลของ น.ส. ทอฝัน มีน้ําหนักน่าเชื่อถือได้ก็ตาม ศาลก็จะรับฟัง คําแปลคําเบิกความนั้นไม่ได้

ส่วนคําเบิกความของนายมนัสพยานจําเลยที่ฝ่ายจําเลยได้ซักถามนายมนัสจนเสร็จ ปรากฏว่าเมื่อหมดเวลาทําการ ศาลจึงเลื่อนการสืบพยานนายมนัสต่อในนัดหน้า แต่เมื่อถึงวันนัดนายมนัสพยานจําเลย ไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากประสบอุบัติเหตุรถชนถึงแก่ความตาย ทําให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่อาจถามค้าน นายมนัสได้นั้นก็มิได้มีบทบัญญัติใดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 117 ที่กําหนดให้การถามพยานจะต้องทําครบถ้วน ทุกขั้นตอนก่อนจึงจะรับฟังได้ (ตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 6333/2539) ดังนั้น ศาลสามารถรับฟังคําเบิกความ ของนายมนัสพยานจําเลยได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 117 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15

สรุป ศาลจะรับฟังคําเบิกความของนายโจเซฟตามคําแปลของ น.ส.ทอฝันไม่ได้ แต่สามารถรับฟัง คําเบิกความของนายมนัสพยานจําเลยได้

Advertisement