การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3106 (LAW 3006) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายชิตขับรถจักรยานยนต์อยู่บนขอบทางตามรถกระบะของนายชัยด้วยความเร็วสูงในขณะที่
ฝนตกหนักฟ้ามืดและถนนลื่น ทําให้ไม่อาจหยุดรถหรือสามารถหักเลี้ยวหลบรถกระบะของนายชัย
ซึ่งเลี้ยวซ้ายเข้ามาในช่องขอบทางด้านซ้ายแล้วหยุดรถอย่างกะทันหัน เป็นเหตุให้รถเกิดการชนกัน นายชิตมีบาดแผลสมองฉีกขาดจนทุพพลภาพตลอดชีวิต ต่อมาพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนายชัย เป็นจําเลยต่อศาล ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ในข้อหาความผิดกระทํา โดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส

Advertisement

ให้วินิจฉัยว่า คดีนี้นายชอบบิดาของนายชิตมีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6

มาตรา 3 “บุคคลดังระบุในมาตรา 4, 5 และ 6 มีอํานาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตามเงื่อนไข ที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

(2) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ”

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”

มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอเข้าร่วม
เป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย ผู้ที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีอาญาได้นั้น จะต้องเป็นผู้เสียหาย ตามความใน ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) ซึ่งอาจเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หรืออาจเป็นผู้มีอํานาจจัดการแทนผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 4, 5 และ 6 ก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชิตขับรถจักรยานยนต์อยู่บนขอบทางตามรถกระบะของนายชัย ด้วยความเร็วสูงในขณะที่ฝนตกหนักฟ้ามืดและถนนลื่น ทําให้ไม่สามารถหยุดรถหรือสามารถหักเลี้ยวหลบรถกระบะ
ของนายชัยซึ่งเลี้ยวซ้ายเข้ามาในช่องขอบทางด้านซ้ายแล้วหยุดรถอย่างกะทันหัน เป็นเหตุให้รถเกิดการชนกันนั้น ถือว่านายชิตมีส่วนประมาทด้วย นายชิตจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4)

เมื่อนายชิตไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย นายชอบบิดาของนายชิตจึงไม่มีอํานาจจัดการแทนตาม
ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2) ประกอบมาตรา 3 ดังนั้น คดีนี้นายชอบบิดาของนายชิตจึงไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 30

สรุป คดีนี้นายชอบบิดาของนายชิตไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ

 

ข้อ 2. ในงานเลี้ยงฉลองปีใหม่ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรแม่สาย จังหวัดเชียงราย นายดํา มีปากเสียงทะเลาะกับนายขาวจึงใช้อาวุธมีดแทงนายขาวหลายครั้ง พนักงานสอบสวนสถานี ตํารวจภูธรแม่สายได้รับแจ้ง จึงรุดเข้าระงับเหตุ นายดําวิ่งหลบหนีไปได้

นายขาวถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรเมืองเชียงราย นายดําได้ติดตามไปที่โรงพยาบาลจะเข้าไปใช้กําลังทําร้ายนายขาว แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตํารวจจับกุมได้ก่อนที่หน้าโรงพยาบาล ต่อมาอีกสามวันนายขาวถึงแก่ความตายเพราะพิษบาดแผลที่ถูกแทงที่โรงพยาบาลดังกล่าว

ให้วินิจฉัยว่า พนักงานสอบสวนท้องที่ใดมีหน้าที่รับผิดชอบชันสูตรพลิกศพนายขาว และ พนักงานสอบสวนท้องที่ใดมีอํานาจสอบสวนและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดําเนินคดี
กับนายดา

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม “ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอําเภอ และข้าราชการตํารวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตํารวจตรี หรือเทียบเท่านายร้อยตํารวจตรีขึ้นไป มีอํานาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอํานาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอํานาจของตนได้

ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในมาตรา 19 มาตรา 20 และมาตรา 21 ความผิดอาญาได้เกิดในเขต อํานาจของพนักงานสอบสวนคนใด โดยปกติให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนผู้นั้นเป็นผู้รับผิดชอบในการ สอบสวนความผิดนั้น ๆ เพื่อดําเนินคดี เว้นแต่เมื่อมีเหตุจําเป็นหรือเพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่ง ท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดําเนินการสอบสวน”

มาตรา 19 “ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) เป็นการไม่แน่ว่าการกระทําผิดอาญาได้กระทําในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่
(2) เมื่อความผิดส่วนหนึ่งกระทําในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่ง
(3) เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทําต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป
(4) เมื่อเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรม กระทําลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน

พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอํานาจสอบสวนได้

ในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน

(ก) ถ้าจับตัวผู้ต้องหาได้แล้ว คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอํานาจ”

มาตรา 150 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่จะมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภาทําการชันสูตรพลิกศพ
โดยเร็ว…

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําใช้อาวุธมีดแทงนายขาวหลายครั้งในงานฉลองปีใหม่ซึ่งอยู่ในเขต ท้องที่สถานีตํารวจภูธรแม่สาย จังหวัดเชียงราย และนายขาวถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลในเขตท้องที่สถานี ตํารวจภูธรเมืองเชียงราย และต่อมาอีก 3 วัน นายขาวได้ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลดังกล่าวนั้น พนักงาน สอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองเชียงรายซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ จึงเป็นพนักงานสอบสวนที่มี หน้าที่รับผิดชอบชันสูตรพลิกศพนายขาว ร่วมกับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 150 วรรคหนึ่ง

การที่นายขาวถึงแก่ความตายเพราะพิษบาดแผลที่ถูกนายดําแทงในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรแม่สาย
ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรแม่สายซึ่งความผิดได้เกิดภายในเขตอํานาจจึงเป็น พนักงานสอบสวนที่มีอํานาจสอบสวนดําเนินคดีกับนายดํา ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 18 วรรคหนึ่ง

การที่นายดำถูกจับได้ที่หน้าโรงพยาบาลซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรเมืองเชียงรายนั้น เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ไม่ใช่เป็นกรณีความผิดเกี่ยวพันกัน ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 19 เพราะนายดําได้กระทําผิด สําเร็จไปแล้วในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรแม่สายก่อนถูกจับ และยังไม่ได้กระทําผิดใด ๆ ในเขตท้องที่สถานี ตํารวจภูธรเมืองเชียงราย ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรแม่สาย จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 18 วรรคสาม

สรุป
พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองเชียงรายมีหน้าที่รับผิดชอบชันสูตรพลิกศพนายขาว
พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรแม่สายมีอํานาจสอบสวนและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดําเนินคดีกับนายดํา

 

ข้อ 3.นายบอลโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่านายปิงปองและนายเทนนิสร่วมกันหลอกลวงและฉ้อโกงเงิน
ของนายบอลไปจํานวนห้าแสนบาท นายปิงปองได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดี กับนายบอลในข้อหาหมิ่นประมาท เมื่อพนักงานสอบสวนทําการสอบสวนเสร็จจึงส่งสํานวนคดีให้พนักงานอัยการ ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายบอลในข้อหาหมิ่นประมาท ศาลพิจารณาและ พิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว หลังจากนั้นนายเทนนิสจึงยื่นฟ้องนายบอลในข้อหาหมิ่นประมาทอีกคดีหนึ่ง แต่นายบอลยื่นคําให้การว่าคดีที่นายเทนนิสเป็นโจทก์นั้นเป็นฟ้องซ้อนและฟ้องซ้ำกับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ตามคําให้การของนายบอลฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติ
แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้
(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดจึงได้ฟ้อง”

และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่นและ…”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) กรณีที่สิทธิการนําคดีอาญามาฟ้องระงับ เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จ เด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. จําเลยในคดีแรกและคดีที่นํามาฟ้องใหม่เป็นคนเดียวกัน
2. การกระทําของจําเลยเป็นการกระทํากรรมเดียวกัน
3. ศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายบอลโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่านายปิงปองและนายเทนนิสร่วมกัน หลอกลวงและฉ้อโกงเงินของนายบอลไปจํานวน 500,000 บาท นายปิงปองได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดําเนินคดีกับนายบอลในข้อหาหมิ่นประมาท เมื่อพนักงานสอบสวนทําการสอบสวนเสร็จจึงส่งสํานวนคดี
ให้พนักงานอัยการ ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายบอลในข้อหาหมิ่นประมาท ศาลพิจารณาและพิพากษา ยกฟ้องคดีดังกล่าว และหลังจากนั้นนายเทนนิสจึงได้ยื่นฟ้องนายบอลในข้อหาหมิ่นประมาทอีกคดีหนึ่ง แต่นายบอล ยื่นคําให้การว่าคดีที่นายเทนนิสเป็นโจทก์ฟ้องนั้นเป็นฟ้องซ้อนและฟ้องซ้ำกับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์นั้น ข้อต่อสู้ตามคําให้การของนายบอลฟังขึ้นหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1. คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายบอลในข้อหาหมิ่นประมาทไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดี ที่นายเทนนิสเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 เนื่องจากเป็น โจทก์คนละคนกัน ดังนั้นข้อต่อสู้ตามคําให้การของนายบอลว่าคดีที่นายเทนนิสเป็นโจทก์ฟ้องนั้นเป็นฟ้องซ้อนกับ คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ จึงฟังไม่ขึ้น

2. การที่ศาลพิพากษายกฟ้องคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถือเป็นกรณีที่ศาลมีคําพิพากษา เสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ทําให้สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) การที่นายเทนนิสเป็นโจทก์ฟ้องนายบอลในข้อหาหมิ่นประมาทอีกจึงถือเป็นฟ้องซ้ำ ดังนั้น ข้อต่อสู้ตามคําให้การ ของนายบอลว่าคดีที่นายเทนนิสเป็นโจทก์ฟ้องนั้นเป็นฟ้องซ้ํากับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์จึงฟังขึ้น

สรุป ข้อต่อสู้ตามคําให้การของนายบอลว่าคดีที่นายเทนนิสเป็นโจทก์ฟ้องนั้นเป็นฟ้องซ้อนฟังไม่ขึ้น
แต่ข้อต่อสู้ว่าคดีที่นายเทนนิสเป็นโจทก์ฟ้องซ้ำนั้นฟังขึ้น

 

ข้อ 4. พ.ต.อ.ยอดเยี่ยมมีหลักฐานตามสมควรว่านายตะขบได้ทําร้ายร่างกายนายลองกอง จนเป็น เหตุให้นายลองกองได้รับอันตรายสาหัส ขณะที่ พ.ต.อ.ยอดเยี่ยมกําลังจะเดินทางจากที่ทําการ ของพนักงานสอบสวนไปที่ศาล เพื่อขอให้ศาลออกหมายจับนายตะขบ พ.ต.ต.เก่งกล้าได้รายงานให้ พ.ต.อ.ยอดเยี่ยมทราบว่านายตะขบกําลังจะหลบหนีออกนอกประเทศ

พ.ต.อ.ยอดเยี่ยมเห็นว่าหากเดินทางไปศาล นายตะขบน่าจะขับรถออกนอกประเทศไทย ไปก่อน และคงยากแก่การติดตามจับกุม พ.ต.อ.ยอดเยี่ยมจึงร้องขอหมายจับต่อศาลทางโทรศัพท์ โดยศาลได้สอบถามจนปรากฏว่ามีเหตุที่จะออกหมายจับตามมาตรา 66 จึงมีคําสั่งออกหมายจับแล้วจัดส่งสําเนาหมายจับไปยัง พ.ต.อ.ยอดเยี่ยมทางโทรสาร

พ.ต.อ.ยอดเยี่ยมจึงนําสําเนาหมายจับที่ได้รับทางโทรสารไปจับนายตะขบได้ก่อนที่นายตะขบ จะหลบหนีออกนอกประเทศ หลังจากที่มีการจับนายตะขบ ศาลซึ่งออกหมายจับได้ดําเนินการให้พ.ต.อ.ยอดเยี่ยมมาพบศาลเพื่อสาบานตัวโดยไม่ชักช้า โดยได้จดบันทึกถ้อยคําของ พ.ต.อ.ยอดเยี่ยม และลงลายมือชื่อของศาลผู้ออกหมายไว้

ดังนี้ การที่ พ.ต.อ.ยอดเยี่ยมนําสําเนาหมายจับที่ได้รับทางโทรสารไปจับนายตะขบขอบด้วย กฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(9) “หมายอาญา” หมายความถึงหนังสือบงการที่ออกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ สั่งให้เจ้าหน้าที่ทําการจับ ขัง จําคุก หรือปล่อยผู้ต้องหา จําเลยหรือนักโทษ หรือให้ทําการค้น รวมทั้งสําเนา หมายจับหรือหมายค้นอันได้รับรองว่าถูกต้อง และคําบอกกล่าวทางโทรเลขว่าได้ออกหมายจับหรือหมายค้นแล้ว ตลอดจนสําเนาหมายจับหรือหมายค้นที่ได้ส่งทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเภทอื่น ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 77

มาตรา 59 “ศาลจะออกคําสั่งหรือหมายจับ หมายค้น หรือหมายขัง ตามที่ศาลเห็นสมควรหรือมีผู้ร้องขอก็ได้

ในกรณีที่ผู้ร้องขอเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ ต้องเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสาม
หรือตํารวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตํารวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป

ในกรณีที่จําเป็นเร่งด่วนซึ่งมีเหตุอันควรโดยผู้ร้องขอไม่อาจไปพบศาลได้ ผู้ร้องขออาจร้องขอ ต่อศาลทางโทรศัพท์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นที่เหมาะสม เพื่อขอให้ ศาลออกหมายจับหรือหมายค้นก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้เมื่อศาลสอบถามจนปรากฏว่ามีเหตุที่จะออกหมายจับ หรือหมายค้นได้ตามมาตรา 59/1 และมีคําสั่งให้ออกหมายนั้นแล้ว ให้จัดส่งสําเนาหมายเช่นว่านี้ไปยังผู้ร้องขอ โดยทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่กําหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

เมื่อได้มีการออกหมายตามวรรคสามแล้ว ให้ศาลดําเนินการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขอหมายมาพบศาล
เพื่อสาบานตัวโดยไม่ชักช้า โดยจดบันทึกถ้อยคําของบุคคลดังกล่าวและลงลายมือชื่อของศาลผู้ออกหมายไว้ หรือ จะใช้เครื่องบันทึกเสียงก็ได้โดยจัดให้มีการถอดเสียงเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของศาลผู้ออกหมาย บันทึกที่มีการลงลายมือชื่อรับรองดังกล่าวแล้ว ให้เก็บไว้ในสารบบของศาล หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่าได้มี การออกหมายไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ศาลอาจมีคําสั่งให้เพิกถอน หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมาย เช่นว่านั้นได้ ทั้งนี้ ศาลจะมีคําสั่งให้ผู้ร้องขอจัดการแก้ไขเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง ตามที่เห็นสมควรก็ได้”

มาตรา 59/1 “ก่อนออกหมาย จะต้องปรากฏพยานหลักฐานตามสมควรที่ทําให้ศาลเชื่อได้ว่า มีเหตุที่จะออกหมายตามมาตรา 66 มาตรา 69 หรือมาตรา 71

คําสั่งศาลให้ออกหมายหรือยกคําร้อง จะต้องระบุเหตุผลของคําสั่งนั้นด้วย

หลักเกณฑ์ในการยื่นคําร้องขอ การพิจารณา รวมทั้งการออกคําสั่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และ วิธีการที่กําหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา”

มาตรา 66 “เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้

(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทําความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจําคุก อย่างสูงเกินสามปี หรือ

(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทําความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อ ว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร
ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ขณะที่ พ.ต.อ.ยอดเยี่ยม กําลังจะเดินทางจากที่ทําการของพนักงานสอบสวน ไปยังที่ศาลเพื่อขอให้ศาลออกหมายจับนายตะขบผู้ซึ่งทําร้ายร่างกายนายลองกอง จนเป็นเหตุให้นายลองกอง ได้รับอันตรายสาหัสนั้น พ.ต.ต.เก่งกล้าได้รายงานให้ พ.ต.อ.ยอดเยี่ยมทราบว่านายตะขบกําลังจะหลบหนีออก นอกประเทศ พ.ต.อ.ยอดเยี่ยมเห็นว่าหากเดินทางไปศาล นายตะขบน่าจะขับรถออกนอกประเทศไทยไปก่อน
และคงยากแก่การติดตามจับกุม ย่อมถือว่าเป็นกรณีจําเป็นเร่งด่วนซึ่งมีเหตุอันควร พ.ต.อ.ยอดเยี่ยมจึงร้องขอ หมายจับต่อศาลทางโทรศัพท์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 59 วรรคสาม เมื่อศาลสอบถามจนปรากฏว่ามีเหตุที่จะออก หมายจับตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 66 จึงมีคําสั่งให้ออกหมายจับ แล้วได้จัดส่งสําเนาหมายจับไปยัง พ.ต.อ.ยอดเยี่ยม ทางโทรสาร พ.ต.อ.ยอดเยี่ยมจึงนําสําเนาหมายจับที่ได้รับทางโทรสารอันเป็นหมายอาญาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (9) ไปจับนายตะขบได้ โดยหลังจากที่มีการจับ ศาลซึ่งออกหมายจับได้ดําเนินการให้ พ.ต.อ.ยอดเยี่ยมมาพบศาลเพื่อ สาบานตนโดยไม่ชักช้า โดยได้จดบันทึกถ้อยคําของ พ.ต.อ.ยอดเยี่ยม และลงลายมือชื่อของศาลผู้ออกหมายจับไว้ จึงเป็นการดําเนินการตามที่ ป.วิ.อาญา มาตรา 59 วรรคสี่ ได้บัญญัติไว้ ดังนั้น การที่ พ.ต.อ.ยอดเยี่ยมนําสําเนา หมายจับที่ได้รับทางโทรสารไปจับนายตะขบจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การที่ พ.ต.อ.ยอดเยี่ยมนําสําเนาหมายจับที่ได้รับทางโทรสารไปจับนายตะขบชอบด้วยกฎหมาย

 

 

Advertisement