การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. จงอธิบายความแตกต่างของมาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง และ 19/1 วรรคสอง แห่งพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรม พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

Advertisement

ธงคําตอบ

ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19/1 ได้บัญญัติไว้ว่า

“บรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของศาลแขวงนั้น ถ้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด ให้อยู่ใน ดุลพินิจของศาลดังกล่าวที่จะยอมรับพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นหรือมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวง ที่มีเขตอํานาจก็ได้ และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้นไว้แล้ว ให้ศาลดังกล่าว พิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป

ในกรณีที่ขณะยื่นฟ้องนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้น เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวง ก็ให้ศาลนั้นพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวต่อไป”

ตามบทบัญญัติมาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการโอนคดีไปยังศาลแขวง ซึ่งมี
หลักเกณฑ์ ดังนี้คือ

1. คดีนั้นเกิดขึ้นในเขตศาลแขวง
2. คดีนั้นอยู่ในอํานาจของศาลแขวง (ตามมาตรา 25 (4) (5) ประกอบมาตรา 17)
3. โจทก์นําคดีนั้นไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด
4. ศาลดังกล่าว (ศาลที่โจทก์นําคดีไปยื่นฟ้องตาม 3.) ย่อมสามารถใช้ดุลพินิจได้ 2 ประการ
กล่าวคือ

(1) ยอมรับคดีที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องนั้นไว้พิจารณา หรือ
(2) มีคําสั่งโอนคดีดังกล่าวไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจ

ตัวอย่าง เช่น นาย ก. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนาย ข. เป็นจําเลยต่อศาลจังหวัดแห่งหนึ่งในความผิดซึ่ง อยู่ในอํานาจการพิจารณาของศาลแขวง (ตามมาตรา 25 (4) (5) ประกอบมาตรา 17) เมื่อศาลจังหวัดได้ไต่สวนแล้ว เห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ดังนี้ ศาลจังหวัดอาจใช้ดุลพินิจยอมรับคดีดังกล่าว ไว้พิจารณาก็ได้ หรือศาลจังหวัดอาจมีคําสั่งให้โอนคดีดังกล่าวไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจเพื่อให้ศาลแขวงนั้นพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไปก็ได้ (โดยศาลจังหวัดจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น เช่น มีคําสั่งไม่รับฟ้อง หรือสั่งยกฟ้อง หรือสั่งจําหน่ายคดีไม่ได้)

แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้นไว้แล้ว ศาลดังกล่าวจะมีคําสั่ง โอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจไม่ได้ จะต้องพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป (มาตรา 91/1 วรรคหนึ่งตอนท้าย)

ส่วนบทบัญญัติมาตรา 19/1 วรรคสองนั้น เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการห้ามโอนคดีไปยังศาลแขวง
ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ดังนี้คือ

1. ในขณะยื่นฟ้องนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดอยู่แล้ว

2. โจทก์ได้นําคดีนั้นไปยื่นฟ้องต่อศาลตาม 1. และศาลดังกล่าวได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีนั้น

3. ต่อมามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวง

4. ศาลดังกล่าว (ศาลที่โจทก์นําคดีไปยื่นฟ้องตาม 1.) จะมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มี เขตอํานาจไม่ได้ จะต้องพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป

ตัวอย่าง เช่น โจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลแพ่งว่าโจทก์เป็นเจ้าของบ้านพิพาทราคา 300,000 บาท จําเลยบุกรุกเข้าครอบครองบ้านพิพาท โจทก์แจ้งให้ออกไปแล้วแต่จําเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาว่าบ้านพิพาท เป็นของโจทก์และขับไล่จําเลยออกจากบ้านพิพาท และนายเอกผู้พิพากษาคนเดียวของศาลแพ่งมีคําสั่งรับฟ้อง จําเลยให้การว่าบ้านพิพาทเป็นของจําเลย จําเลยมิได้บุกรุกบ้านโจทก์ และนายเอกมีคําสั่งรับคําให้การ

ดังนี้ จะเห็นได้ว่าการที่โจทก์ฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลแพ่ง เมื่อคดีนี้เริ่มต้นโดยเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การนําคดีนี้ไปยืนต่อศาลแพ่ง และศาลแพ่งได้รับฟ้องไว้จึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 19 วรรคหนึ่ง เพราะเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแพ่ง มิได้อยู่ในอํานาจของศาลแขวงตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) แต่อย่างไรก็ดี เมื่อจําเลยได้ยื่นคําให้การเข้าไปในคดีว่าบ้านพิพาทเป็นของจําเลย จําเลยมิได้บุกรุกบ้านโจทก์ คดีนี้ จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาท ทําให้จากคดีไม่มีทุนทรัพย์กลายเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ และเมื่อ ทุนทรัพย์มีราคา 300,000 บาท กรณีนี้จึงถือว่าเป็นกรณีตามมาตรา 19/1 วรรคสอง กล่าวคือ ในขณะยื่นฟ้องนั้น เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่งอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงก็ตาม ก็ยังคงให้ศาลแพ่งพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวต่อไปจะโอนคดีไปยังศาลแขวงไม่ได้

 

ข้อ 2. นางเรณูค้ําประกันนายเปียกและนายบุญปลูกคนลาวเข้าทํางานที่โรงงานน้ําแข็งอัศวรุ่งเรือง จังหวัด สมุทรปราการ โดยจํากัดวงเงินคนละ 200,000 บาท โดยมีสัญญาจ้างงานเป็นเวลา 1 ปี แต่เมื่อทํางาน ได้เพียง 2 เดือน ทั้งนายเปียกและนายบุญปลูกได้ขาดงานและหายไป ทําให้โรงงานน้ําแข็งฯ นายจ้าง ต้องการฟ้องเรียกร้องให้นางเรณูรับผิดตามสัญญาค้ําประกัน ให้ท่านแนะนําโรงงานน้ําแข็งฯ ดังกล่าวจะต้องฟ้องที่ศาลใด ระหว่างศาลจังหวัดสมุทรปราการหรือศาลแขวงสมุทรปราการ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาทราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 คดีแพ่งที่ศาลแขวง โดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีมีข้อพิพาท และคดีมีข้อพิพาทนั้นจะต้อง เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่า 3 แสนบาท หรือเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ศาลแขวงจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษาไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางเรณูค้ําประกันนายเปี๊ยกและนายบุญปลูกคนลาวเข้าทํางานที่ โรงงานน้ําแข็งอัศวรุ่งเรือง โดยจํากัดวงเงินคนละ 200,000 บาท โดยมีสัญญาจ้างงานเป็นเวลา 1 ปี แต่ต่อมา หลังจากทํางานได้ 2 เดือน ทั้งนายเปียกและนายบุญปลูกได้ขาดงานและหายไป ทําให้โรงงานน้ําแข็งฯ ต้องการ ฟ้องเรียกร้องให้นางเรณูรับผิดตามสัญญาค้ําประกันนั้น เป็นกรณีที่โจทก์คนเดียวฟ้องจําเลยคนเดียวเป็นคดีแพ่ง
หลายคดี และเนื่องจากการที่นางเรณูทําสัญญาค้ําประกันนายเปียกและนายบุญปลูกนั้น เป็นการค้ําประกันโดย แยกกันรับผิดคนละรายไม่เกี่ยวข้องกัน คนละ 200,000 บาท จึงถือว่าคดีแต่ละคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ดังนี้ โรงงานน้ําแข็งฯ จึงต้องฟ้องนางเรณูต่อศาลแขวงสมุทรปราการตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17

สรุป โรงงานน้ําแข็งอัศวรุ่งเรืองต้องฟ้องนางเรณูต่อศาลแขวงสมุทรปราการ

ข้อ 3. นางราชาวดีเป็นโจทก์ฟ้องนายโกศลต่อศาลอาญาในคดีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 339 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี นางสาวลูกแก้วผู้พิพากษา ศาลอาญาไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูล ควรพิพากษายกฟ้อง นางสาวลูกแก้วจึงนําสํานวนคดี ไปปรึกษานางสาวดาด้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นางสาวดาด้าจึงมอบหมายให้นายรัฐผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญาตรวจสํานวนการไต่สวนมูลฟ้องและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องร่วมกับนางสาวลูกแก้ว

ให้ท่านวินิจฉัยว่า การลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้
ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้นมีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กําหนด ไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนั้น มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 25 (5)

วินิจฉัย

ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (3) กําหนดให้ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจ ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญาที่อยู่ในอํานาจศาลนั้นได้โดยไม่ต้องคํานึงว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูง
เกิน 3 ปีหรือไม่ ดังนั้น การที่นางสาวลูก แก้วผู้พิพากษาศาลอาญาไต่สวนมูลฟ้องคดีที่นางราชาวดีเป็นโจทก์ฟ้องนายโกศลต่อศาลอาญาในคดีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุก ตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปีเพียงคนเดียวจึงสามารถทําได้โดยชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นางสาวลูกแก้วไต่สวนมูลฟ้องเสร็จแล้วมีความเห็นว่าคดีไม่มีมูล ควรพิพากษา ยกฟ้องนั้น เป็นกรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง เป็นคดีที่มี อัตราโทษจําคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี จึงเกินอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษาได้ตามมาตรา 25 (5) ดังนั้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้นในระหว่างการทําคําพิพากษาตามมาตรา 31 (1) ซึ่งในกรณีนี้ ผู้พิพากษาที่มีอํานาจตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาในคดีดังกล่าว คือ อธิบดีผู้พิพากษา ศาลอาญา และรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตามมาตรา 29 (3) ประกอบมาตรา 31 (1) ดังนั้น การที่นางสาวลูกแก้ว ได้นําสํานวนคดีนี้ไปปรึกษานางสาวดาค้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และนางสาวดาด้าได้มอบหมายให้นายรัฐ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญาตรวจสํานวนการไต่สวนมูลฟ้องและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องร่วมกับ นางสาวลูกแก้วนั้น การลงลายชื่อทําคําพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป การลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาดังกล่าวไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 29 (3)
ประกอบมาตรา 31 (1)

 

Advertisement