การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายหล่อเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลจังหวัดอุดรธานีข้อหาปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 264 ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ กับข้อหาปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ระวางโทษจําคุกตั้งแต่ หกเดือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท นายโทผู้พิพากษาศาลจังหวัด อุดรธานีได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาปลอมเอกสาร แต่เนื่องจากคดีอยู่ใน อํานาจศาลแขวงอุดรธานี นายโทจึงได้ไปปรึกษากับนายเอกผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัดอุดรธานี หลังจากนายเอกตรวจสํานวนคดีแล้ว นายเอกและนายโทจึงร่วมกันทําคําพิพากษายกฟ้องข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ ส่วนข้อหาปลอมเอกสารมีคําสั่งโอนคดีไปศาลแขวงอุดรธานี ให้ท่านวินิจฉัยว่า ++

Advertisement

(ก) คําพิพากษายกฟ้องข้อหาปลอมเอกสารสิทธิชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) คําสั่งโอนคดีข้อหาปลอมเอกสารไปยังศาลแขวงอุดรธานีชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง “บรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของศาลแขวงนั้น ถ้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือ ศาลจังหวัด ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลดังกล่าวที่จะยอมรับพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้น หรือมีคําสั่ง โอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจก็ได้ และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้น ไว้แล้ว ให้ศาลดังกล่าวพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา
(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง
หรือคดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้

ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี”

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กําหนด ไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนั้น มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 25 (5)

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายหล่อเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลจังหวัดอุดรธานีข้อหาปลอมเอกสารตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 264 ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ กับข้อหา ปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ระวางโทษจําคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่ หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทนั้น การที่นายโทผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุดรธานีได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดี มีมูลเฉพาะข้อหาปลอมเอกสาร ส่วนคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธิไม่มีมูลและจะพิพากษายกฟ้องข้อหาปลอม เอกสารสิทธินั้น โดยหลักแล้วนายโทผู้พิพากษาคนเดียวย่อมมีอํานาจกระทําได้ตามมาตรา 25 (3) ที่ได้บัญญัติให้ ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอํานาจไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญาได้

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธินั้น เป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี จึงเกินอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษาได้ตามมาตรา 25 (5) จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน เป็นองค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาตามมาตรา 26 จึงถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้น ในระหว่างการทําคําพิพากษาตามมาตรา 31 (1) ซึ่งในกรณีนี้ ผู้พิพากษาที่มีอํานาจตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อ ทําคําพิพากษาในคดีดังกล่าวนี้ คือ นายเอกผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุดรธานีตามมาตรา 29 (3) ประกอบ มาตรา 31 (1) ดังนั้น การที่นายโทได้นําสํานวนคดีนี้ไปปรึกษากับนายเอก และเมื่อนายเอกได้ตรวจสํานวนคดีแล้ว นายเอกและนายโทจึงร่วมกันทําคําพิพากษายกฟ้องข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ์ คําพิพากษายกฟ้องข้อหาปลอม เอกสารสิทธิจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 26 ประกอบมาตรา 29 (3) และมาตรา 31 (1)

(ข) สําหรับคดีข้อหาปลอมเอกสารนั้น เมื่อเป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท จึงถือว่าเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) เมื่อโจทก์ได้นํามายื่นต่อศาลจังหวัด และข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลจังหวัดยังมิได้มีคําสั่ง รับฟ้องคดีนั้นไว้ ดังนั้น การที่นายเอกและนายโทได้มีคําสั่งให้โอนคดีนี้ไปยังศาลแขวงอุดรธานีที่มีเขตอํานาจ
คําสั่งโอนคดีข้อหาปลอมเอกสารดังกล่าวจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง

สรุป
(ก) คําพิพากษายกฟ้องข้อหาปลอมเอกสารสิทธิชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
(ข) คําสั่งโอนคดีข้อหาปลอมเอกสารไปยังศาลแขวงอุดรธานีชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 2. นายสุขใจและนายสมใจร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจํานวน 600,000 บาท ที่นายกุนที
เพื่อนบ้านได้เข้ามาตักหน้าดินที่สวนหลังบ้านที่นายสุขใจและนายสมใจเป็นเจ้าของร่วมไปขาย จึงมาปรึกษาท่านว่าควรจะยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายครั้งนี้ที่ศาลใดระหว่างศาลแพ่งหรือศาลแขวง
พระนครเหนือ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง

มาตรา 19 วรรคหนึ่ง “ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรีมีอํานาจพิจารณาพิพากษา คดีแพ่งทั้งปวงและคดีอื่นใดที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ องศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 คดีแพ่งที่ศาลแขวง โดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีมีข้อพิพาท และคดีมีข้อพิพาทนั้นจะต้องเป็น คดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่า 3 แสนบาท หรือเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ศาลแขวงจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษาไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุขใจและนายสมใจร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจํานวน 600,000 บาท ที่นายกันที่เพื่อนบ้านได้เข้ามาตักหน้าดินที่สวนหลังบ้านที่นายสุขใจและนายสมใจเป็นเจ้าของร่วมกัน ไปขายนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์หลายคนฟ้องจําเลยคนเดียวเรียกค่าเสียหายมาร่วมกันจึงต้องรวมทุนทรัพย์ในการ ฟ้องคดี เมื่อคดีนี้มีทุนทรัพย์ 600,000 บาท ซึ่งเกิน 300,000 บาท ดังนั้น จึงต้องฟ้องคดีนี้ที่ศาลแพ่งตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง จะฟ้องที่ศาลแขวงพระนครเหนือไม่ได้ เพราะคดีนี้ไม่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแขวง พระนครเหนือตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)

สรุป นายสุขใจและนายสมใจจะต้องยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายครั้งนี้ที่ศาลแพ่ง

 

ข้อ 3. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเสกเป็นจําเลยต่อศาลจังหวัดสงขลาในข้อหารับของโจร นางโรสิตาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลาได้จ่ายสํานวนคดีให้นายคชาผู้พิพากษาอาวุโสและนางรินรดีผู้พิพากษาประจําศาลเป็นองค์คณะร่วมกัน ในระหว่างสืบพยาน นายคชาติดเชื้อไวรัส โควิด-19 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา นางโรสิตาจึงมอบหมายให้นายธีรุตม์ผู้พิพากษาประจําศาล นั่งพิจารณาคดีร่วมกับนางรินรดีในคดีดังกล่าวแทน

ให้วินิจฉัยว่า การนั่งพิจารณาคดีดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 28 “ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นซึ่งอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณีมอบหมาย”

มาตรา 30 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจ
ปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณ” หรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเสกเป็นจําเลยต่อศาลจังหวัดสงขลา ในข้อหารับของโจร (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ) จึงต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคนเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีตามมาตรา 26

การที่นางโรสิตาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลาได้จ่ายสํานวนคดีให้นายคชาผู้พิพากษาอาวุโส และนางรินรดีผู้พิพากษาประจําศาลเป็นองค์คณะร่วมกันนั้น เมื่อปรากฏว่าในระหว่างสืบพยาน นายคชา ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเสียชีวิต ถือเป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ในระหว่างพิจารณาคดีทําให้
นายคชาผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในคดีนั้นไม่อาจนั่งพิจารณาคดีนั้นต่อไปได้ตามมาตรา 30 ดังนั้น จึงต้องให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคือนางโรสิตา หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นตามที่นางโรสตามอบหมายนั่งพิจารณา คดีนั้นแทนต่อไปตามมาตรา 28 (3) ประกอบมาตรา 30

การที่นางโรสิตาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดได้มอบหมายให้นายธีรุตม์ผู้พิพากษาประจําศาล
นั่งพิจารณาคดีร่วมกับนางรินรดีในคดีดังกล่าวแทนนั้น แม้จะทําให้องค์คณะพิจารณาคดีมีผู้พิพากษา 2 คนก็ตาม แต่เป็นกรณีที่ทําให้องค์คณะพิจารณาคดีดังกล่าวมีผู้พิพากษาประจําศาลเกิน 1 คน จึงเป็นองค์คณะที่ไม่ชอบ ตามมาตรา 26 ดังนั้น การนั่งพิจารณาคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป การนั่งพิจารณาคดีดังกล่าวไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 26

Advertisement