การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทย์ยื่นฟ้องจําเลยทั้ง 2 ฐานะนายจ้างและลูกจ้างในคดีละเมิดที่จําเลยที่ 1 ขับรถไปในทางการ ที่จ้างของจําเลยที่ 2 ชนโจทก์ขณะข้ามถนนได้รับบาดเจ็บ เรียกค่าเสียหาย 400,000 บาท ที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี นายณพผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้จ่ายสํานวนให้นางณดีผู้พิพากษาอาวุโสและ นายสุวัฒน์ผู้พิพากษาประจําศาล นางณที่ได้มีคําสั่งส่งหมายเรียกให้ยื่นคําให้การและสําเนาคําฟ้อง ให้แก่จําเลยทั้ง 2 ก่อนวันนัดชี้สองสถานปรากฏว่านายสุวัฒน์ทักท้วงนางณดีว่าคดีนี้อยู่ในอํานาจ ศาลแขวงสุพรรณบุรีเพราะจําเลยทั้ง 2 ต้องรับผิดคนละไม่เกิน 200,000 บาท นางณดีเห็นด้วย จึงมีคําสั่งโอนคดีกลับไปยังศาลแขวงสุพรรณบุรี ดังนี้ ข้ออ้างของนายสุวัฒน์ฟังขึ้นหรือไม่ และ คําสั่งดังกล่าวของนางณดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19/1 ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญา ทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง “บรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของศาลแขวงนั้น ถ้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลดังกล่าวที่จะยอมรับพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้น หรือมีคําสั่ง โอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจก็ได้ และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้น ไว้แล้ว ให้ศาลดังกล่าวพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยทั้ง 2 ฐานะนายจ้างและลูกจ้างในคดีละเมิดที่จําเลยที่ 1 ขับรถไปในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 ชนโจทก์ขณะข้ามถนนได้รับบาดเจ็บเรียกค่าเสียหาย 400,000 บาทนั้น เป็นกรณีที่โจทก์คนเดียวฟ้องจําเลยหลายคนในสํานวนเดียวกันจึงต้องพิจารณาว่าจําเลยทั้ง 2 มีมูลหนี้เดียวกัน หรือไม่ เมื่อคดีนี้เป็นคดีละเมิดที่นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างจึงถือว่ามีมูลหนี้เดียวกัน และเมื่อคดีนี้ โจทก์เรียกค่าเสียหายจํานวน 400,000 บาท คดีนี้จึงอยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดสุพรรณบุรีในการพิจารณา

พิพากษาคดีตามมาตรา 18 เพราะศาลแขวงสุพรรณบุรีมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาทเท่านั้นตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ดังนั้น ความเห็นของนายสุวัฒน์ที่ว่าคดีนี้อยู่ใน อํานาจของศาลแขวงสุพรรณบุรีเพราะว่าจําเลยทั้ง 2 ต้องรับผิดคนละไม่เกิน 200,000 บาทนั้นจึงฟังไม่ขึ้นเพราะ 2 ไม่ใช่เป็นการนําคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาทมาฟ้องที่ศาลจังหวัดที่จะทําให้ศาลจังหวัดต้องพิจารณาว่า มีการรับคดีเข้าสู่ระบบแล้วหรือไม่ และจะได้ทําคดีต่อไปหากรับเข้าสู่ระบบเพื่อพิจารณาแล้วตามมาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ 400,000 บาท ซึ่งไม่ใช่คดีที่อยู่ในอํานาจของ ศาลแขวง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ดังนั้น การที่นางณดีได้มีคําสั่งให้โอนคดีกลับไปยังศาลแขวงสุพรรณบุรีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป ข้ออ้างของนายสุวัฒน์ฟังไม่ขึ้น และคําสั่งโอนคดีของนางณดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายดําเป็นโจทก์ฟ้องนายขาวต่อศาลจังหวัดตรังขอให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 339 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึง สองแสนบาท นายเก่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดตรังได้ให้นายก้องผู้พิพากษาประจําศาลใน ศาลจังหวัดตรังไต่สวนมูลฟ้อง เมื่อนายก้องไต่สวนมูลฟ้องเสร็จแล้วมีคําสั่งว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง นัดสืบพยานโจทก์ การที่นายก้องไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งประทับฟ้องนัดสืบพยานชอบด้วย พระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 24 “ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอํานาจดังต่อไปนี้

(2) ออกคําสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(1) ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคําร้องหรือคําขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง

(2) ไต่สวนและมีคําสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้

ผู้พิพากษาประจําศาลไม่มีอํานาจตาม (3) (4) หรือ (5)

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน เป็น องค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวงตามมาตรา 26 แต่อย่างไรก็ดีผู้พิพากษาคนหนึ่งย่อม มีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และผู้พิพากษาคนเดียวย่อมมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจของศาลนั้น ตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 25 เว้นแต่ถ้าเป็นผู้พิพากษาประจําศาลจะไม่มีอํานาจตามมาตรา 25 (3) (4) หรือ (5)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําเป็นโจทก์ฟ้องนายขาวต่อศาลจังหวัดตรังขอให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 และนายเก่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดตรังได้ให้นายก้องผู้พิพากษา ประจําศาลในศาลจังหวัดตรังไต่สวนมูลฟ้อง และเมื่อนายก้องได้ไต่สวนมูลฟ้องเสร็จแล้วมีคําสั่งว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องนัดสืบพยานโจทก์นั้น แม้ว่าคําสั่งประทับฟ้องนัดสืบพยานจะเป็นอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียว ตามมาตรา 24 (2) เพราะเป็นคําสั่งที่มิใช่เป็นไปทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีก็ตาม แต่เมื่อนายก้องซึ่ง เป็นผู้พิพากษาประจําศาลไม่มีอํานาจในการไต่สวนและมีคําสั่งในคดีอาญาตามมาตรา 25 (3) ประกอบ มาตรา 25 วรรคสอง ดังนั้น แม้คําสั่งประทับฟ้องนัดสืบพยานจะเป็นอํานาจของนายก้อง แต่เมื่อการไต่สวนมูลฟ้อง ของนายก้องไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมย่อมมีผลทําให้การมีคําสั่งประทับฟ้องนัดสืบพยานของนายก้องไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมไปด้วย

สรุป การที่นายก้องไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งประทับฟ้องนัดสืบพยานดังกล่าวไม่ชอบด้วย พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 3. เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 30 มีกรณีใดบ้าง ในคดีแพ่งทุนทรัพย์ 1,000,000 บาท ที่ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดจันทบุรี นายอาทิตย์ผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัดจันทบุรีจ่ายสํานวนให้นายจันทร์กับนายอังคารเป็นองค์คณะ โดยร่วมพิจารณาคดีดังกล่าวจนเสร็จและนัดฟังคําพิพากษาแล้ว แต่นายจันทร์ย้ายไปรับราชการที่ศาลอื่นก่อน นายอังคารจะต้องดําเนินการอย่างไรจึงจะทําให้การพิพากษาคดีดังกล่าวดําเนินไปโดยชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน
และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือ
คดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษา
ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

มาตรา 30 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณี ที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไปหรือไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้”

วินิจฉัย

เหตุจําเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 30 หมายถึง เหตุที่เกิดกับผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ

1. พ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ เช่น การที่ผู้พิพากษานั้นตาย หรือได้โอนย้ายไปรับราชการใน ศาลอื่น หรือลาออกจากราชการ หรือเกษียณอายุราชการ เป็นต้น

2. ถูกคัดค้านและถอนตัวไป เช่น การที่ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้อง อยู่ในคดีนั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทําให้มีการคัดค้าน และผู้พิพากษาคนนั้นขอถอนตัวไป
ทําให้ผู้พิพากษาที่เหลืออยู่มีไม่ครบองค์คณะ เป็นต้น

3. ไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณาหรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้ เช่น ป่วย ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นต้น

ตามอุทาหรณ์ เมื่อคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดจันทบุรีเป็นคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์ 1,000,000 บาท ดังนั้น ในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนเป็นองค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาคดี ดังกล่าวตามมาตรา 26

การที่นายอาทิตย์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดจันทบุรีจ่ายสํานวนให้นายจันทร์กับนายอังคารเป็น องค์คณะ โดยร่วมพิจารณาคดีดังกล่าวจนเสร็จและนัดฟังคําพิพากษาแล้ว แต่นายจันทร์ย้ายไปรับราชการที่ศาลอื่น ก่อนนั้น ถือเป็นกรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ตามมาตรา 30 และถือว่ามีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีตามมาตรา 29 ดังนั้น นายอังคารจะต้องนําสํานวนคดีดังกล่าวไปให้นายอาทิตย์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดจันทบุรีตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อในคําพิพากษาร่วมกับนายอังคาร จึงจะทําให้การพิพากษาคดีดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมตามมาตรา 29 (3)

สรุป นายอังคารจะต้องนําสํานวนคดีดังกล่าวไปให้นายอาทิตย์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดจันทบุรีตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อในคําพิพากษาร่วมกับนายอังคาร คําพิพากษาคดีดังกล่าวจึงจะชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement