การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ทานตะวันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเป็นไทเป็นจําเลยเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ ค่าขาดการงาน รวมเป็นเงิน 400,000 บาท ต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลสั่งรับประทับฟ้อง และให้ส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องให้แก่จําเลย ระหว่างส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องให้แก่ จําเลย โจทก์เห็นว่าตนคํานวณค่าสินไหมทดแทนผิดไป ความจริงค่ารักษาพยาบาลและค่าขาดการงานสูงเกินจริง จึงได้ทําคําร้องขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องเปลี่ยนเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ ค่าขาดการงาน รวมเป็นเงิน 290,000 บาท นายเป้งและนายฉลาม องค์คณะผู้พิพากษาคดีนี้ ได้พิจารณาอนุญาตให้แก้ไขคําฟ้องได้ ต่อมาทั้งสองเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอํานาจของศาลแขวงสุพรรณบุรี จึงได้มีคําสั่งโอนคดีนี้กลับไปยังศาลแขวงสุพรรณบุรี คําสั่งดังกล่าวนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19/1 ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญา ทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 19/1 วรรคสอง “ในกรณีที่ขณะยื่นฟ้องคดีนั้น เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่ง ศาลแพ่ง กรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดอยู่แล้ว แม้ต่อมา จะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงก็ให้ศาลนั้นพิจารณาพิพากษาคดี
ดังกล่าวต่อไป”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ทานตะวันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเป็นไทเป็นจําเลยเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด จากค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ ค่าขาดการงาน รวมเป็นเงิน 400,000 บาทนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์คนเดียว ฟ้องจําเลยคนเดียวเรียกค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิด 400,000 บาท โจทก์จึงรวมทุนทรัพย์และนํามายื่นฟ้อง ที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี การฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 18

ต่อมาเมื่อโจทก์เห็นว่าตนคํานวณค่าสินไหมทดแทนผิดไป เนื่องจากความจริงค่ารักษาพยาบาล
ค่าซ่อมรถ และค่าขาดการงานสูงเกินจริง โจทก์จึงได้ทําคําร้องขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องเปลี่ยนเป็น ค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ ค่าขาดการงาน รวมเป็นเงิน 290,000 บาท ซึ่งนายเป้งและนายฉลาม องค์คณะ ผู้พิพากษาคดีนี้ได้พิจารณาอนุญาตให้แก้ไขคําฟ้องได้ กรณีนี้จึงถือว่าเป็นกรณีตามมาตรา 19/1 วรรคสอง กล่าวคือ ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนั้น คดีดังกล่าวเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดตามมาตรา 18 และต่อมามีพฤติการณ์ เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีดังกล่าวเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงตามมาตรา 17 และมาตรา 25 (4) ซึ่งตาม มาตรา 19/1 วรรคสองได้บัญญัติให้ศาลจังหวัดพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป ดังนั้น ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีจึง ต้องพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวต่อไปโดยไม่ต้องโอนคดีไปยังศาลแขวงสุพรรณบุรี เมื่อนายเป้งและนายฉลามได้มีคําสั่งให้โอนคดีนี้กลับไปยังศาลแขวงสุพรรณบุรี คําสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งให้โอนคดีดังกล่าวขององค์คณะผู้พิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นางสาวหนึ่งเป็นโจทก์ฟ้องนายยิ่งยวดเป็นจําเลยในข้อหาบุกรุกในเวลากลางคืน (ระวางโทษจําคุก ไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ) ต่อศาลจังหวัดนครพนม นางสอง ผู้พิพากษาอาวุโสได้ทําการไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลจึงมีคําสั่งประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณา แต่ภายหลังนายยิ่งยวดหลบหนีคดี นายศานผู้พิพากษาประจําศาลจังหวัดนครพนม จึงออกหมายจับนายยิ่งยวดเพื่อนํามาดําเนินคดีต่อไป ให้วินิจฉัยว่า

(ก) การไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งประทับรับฟ้องชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) การออกหมายจับชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 24 “ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอํานาจดังต่อไปนี้

(1) ออกหมายเรียก หมายอาญา หรือหมายสั่งให้ส่งคนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่น”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา”
ผู้พิพากษาประจําศาลไม่มีอํานาจตาม (3) (4) หรือ (5)

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจังหวัดนั้น แม้กฎหมายได้กําหนดไว้ว่าจะต้องมีองค์คณะ ผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คนก็ตาม แต่ผู้พิพากษาคนเดียวย่อมมีอํานาจในการไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญาได้ ตามมาตรา 25 (3) ดังนั้น การที่นางสองซึ่งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสของศาลจังหวัดนครพนมได้ทําการไต่สวนมูลฟ้องคดีที่นางสาวหนึ่งเป็นโจทก์ฟ้องนายยิ่งยวดเป็นจําเลยในข้อหาบุกรุกในเวลากลางคืนแล้วเห็นว่าคดีมีมูลจึงมีคําสั่งประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณานั้นการไต่สวนมูลฟ้องและการมีคําสั่งประทับรับฟ้องของนางสองจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (3) และมาตรา 25 วรรคสอง

(ข) ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 24 (1) ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอํานาจออกหมายจับ ซึ่งเป็นหมายอาญาชนิดหนึ่งได้ โดยไม่ต้องคํานึงถึงอัตราโทษในคดีอาญาเรื่องนั้น ดังนั้น การที่นายศานผู้พิพากษา ประจําศาลจังหวัดนครพนม ซึ่งถือว่าเป็นผู้พิพากษาตามนัยของมาตรา 24 ได้ออกหมายจับนายยิ่งยวดที่ได้ หลบหนีคดี การออกหมายจับของนายศานจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 24 (1)

สรุป
(ก) การไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งประทับรับฟ้องของนางสองชอบด้วยพระธรรมนูญ
ศาลยุติธรรม

(ข) การออกหมายจับของนายศานชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 3. โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยให้ชําระหนี้จํานวนห้าแสนบาทต่อศาลจังหวัดตาก นายพฤหัสผู้พิพากษา
หัวหน้าศาลจังหวัดตากมอบหมายให้นายศุกร์ผู้พิพากษาประจําศาลจังหวัดตากเป็นเจ้าของสํานวน
โดยมีนายเสาร์ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดตากร่วมเป็นองค์คณะ เมื่อนายศุกร์และนายเสาร์พิจารณาคดีจนแล้วเสร็จและนัดฟังคําพิพากษา นายศุกร์มีความเห็นควรให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี ส่วนนายเสาร์มีความเห็นควรให้จําเลยชนะคดี นายศุกร์จึงนําสํานวนคดีไปให้นายพฤหัสตรวจสํานวนแล้วนายพฤหัสเห็นด้วยกับนายศุกร์จึงได้ลงลายมือชื่อในคําพิพากษาร่วมกับนายศุกร์ให้โจทก์ชนะคดี

ท่านเห็นว่า การที่นายพฤหัสมอบหมายให้นายศุกร์และนายเสาร์ร่วมกันเป็นองค์คณะพิจารณาคดี
และการพิจารณาพิพากษาของนายศุกร์ นายเสาร์ และนายพฤหัสชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดี ผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยให้ชําระหนี้จํานวน 500,000 บาทต่อศาลจังหวัด ตากนั้น ถือเป็นคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาท จึงต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนเป็นองค์คณะตาม พระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 26 และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน ดังนั้น การที่นายพฤหัส ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจ่ายสํานวนให้นายศุกร์ผู้พิพากษาประจําศาลเป็นเจ้าของสํานวนและนายเสาร์ผู้พิพากษาอาวุโสเป็นองค์คณะจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว เพราะไม่มีข้อห้ามผู้พิพากษาประจําศาลเป็นเจ้าของสํานวนด้วย

ส่วนการที่นายศุกร์และนายเสาร์ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในการทําคําพิพากษาคดีดังกล่าวมีความเห็นแย้งกันจนหาเสียงข้างมากมิได้นั้น ย่อมถือว่าเป็นเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการทํา คําพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 29 วรรคหนึ่ง (3) ซึ่งให้อํานาจผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมีอํานาจ ลงลายมือชื่อในคําพิพากษาเมื่อได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว ดังนั้น การที่นายศุกร์ได้นําสํานวนคดีดังกล่าวมาให้ นายพฤหัสซึ่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดตากตรวจสํานวนและนายพฤหัสเห็นด้วยกับนายศุกร์จึงได้ลงลายมือชื่อในคําพิพากษาร่วมกับนายศุกร์ให้โจทก์ชนะคดีนั้น การพิจารณาพิพากษาคดีของนายศุกร์ นายเสาร์ และนายพฤหัสจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป การที่นายพฤหัสมอบหมายให้นายศุกร์และนายเสาร์ร่วมกันเป็นองค์คณะพิจารณาคดี และ การพิจารณาพิพากษาคดีของนายศุกร์ นายเสาร์ และนายพฤหัสชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement