การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3012 กฎหมายปกครอง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

1 นายแดงเป็นข้าราชการพลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง นายเอกเป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จึงมีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่านายแดงกระทําผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวเป็น คําสั่งทางปกครองหรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย

ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้ “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

“การพิจารณาทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดําเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครอง

วินิจฉัย

กรณีที่จะเป็นคําสั่งทางปกครองโดยนัยของมาตรา 5 (1) แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น จะต้องมีองค์ประกอบดังนี้ คือ

1 ต้องเป็นคําสั่งที่ออกโดยเจ้าหน้าที่

2 ต้องมีลักษณะเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย

3 ต้องมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิ หรือหน้าที่ของบุคคล

4 ต้องก่อให้เกิดผลเฉพาะกรณีหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง

5 ต้องมีผลโดยตรงไปสู่ภายนอกฝ่ายปกครอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่านายแดงกระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่นั้น

แม้การออกคําสั่งดังกล่าวจะเป็นการใช้อํานาจของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย แต่การออกคําสั่งดังกล่าวยังไม่ก่อให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล (นายแดง) แต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการพิจารณาทางปกครองเพื่อสอบสวนว่านายแดงกระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ เพื่อนําไปสู่การออกคําสั่งทางปกครองต่อไป ดังนั้น คําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวจึงไม่เป็นคําสั่งทางปกครอง ตามนัยของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

สรุป คําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว ไม่เป็นคําสั่งทางปกครองตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2 นายขาวมายื่นคําขออนุญาตก่อสร้างโรงงานกับนายเขียวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอํานาจตามกฎหมาย และนายเขียวได้มีคําสั่งอนุญาตให้นายขาวก่อสร้างโรงงานได้ตามคําขอแต่ในระหว่างที่นายขาว ตระเตรียมหาซื้อวัสดุก่อสร้างเพื่อทําการก่อสร้างโรงงานนั้นปรากฏว่ากฎหมายผังเมืองมีการแก้ไขและพื้นที่อันเป็นที่ตั้งโรงงานนั้น กฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ห้ามมิให้ปลูกสร้างโรงงานอีกต่อไป โดยจัดให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า นายเขียวจะเพิกถอนคําสั่งอนุญาต ให้นายขาวก่อสร้างโรงงานที่ได้ออกไปก่อนหน้านั้นได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา 5 “คําสั่งทางปกครอง หมายความว่า การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผล เป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลงโอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อ สถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

มาตรา 53 วรรคสอง “คําสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับ คําสั่งทางปกครอง อาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วน โดยให้มีผลตั้งแต่ขณะที่เพิกถอนหรือมีผลในอนาคตไปถึง ขณะใดขณะหนึ่งตามที่กําหนดได้เฉพาะเมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้

(4) บทกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากมีบทกฎหมายเช่นนี้ในขณะทําคําสั่งทางปกครองแล้ว เจ้าหน้าที่คงจะไม่ทําคําสั่งทางปกครองนั้น แต่การเพิกถอนในกรณีนี้ให้กระทําได้เท่าที่ผู้รับประโยชน์ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือยังไม่ได้รับประโยชน์ตามคําสั่งทางปกครองดังกล่าว และหากไม่เพิกถอนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายขาวมายื่นคําขออนุญาตก่อสร้างโรงงานกับนายเขียวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่

ที่มีอํานาจตามกฎหมาย และนายเขียวได้มีคําสั่งอนุญาตให้นายขาวก่อสร้างโรงงานได้ตามคําขอนั้น คําสั่งดังกล่าว ถือเป็นคําสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้ประโยชน์แก่นายขาวผู้รับคําสั่งทางปกครองตามนัย มาตรา 5 และมาตรา 53 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในระหว่างที่นายขาวตระเตรียมหาซื้อวัสดุก่อสร้างเพื่อทําการก่อสร้างโรงงานนั้น ปรากฏว่ากฎหมายผังเมืองมีการแก้ไข และพื้นที่อันเป็นที่ตั้งโรงงานนั้นกฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ห้ามมิให้ ปลูกสร้างโรงงานอีกต่อไปโดยจัดให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นายขาวผู้รับประโยชน์ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากคําสั่งทางปกครองดังกล่าว และหากไม่เพิกถอนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะหรือต่อประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณนั้นได้ ดังนั้นนายเขียวจึงสามารถเพิกถอนคําสั่งอนุญาตให้นายขาว ก่อสร้างโรงงานที่ออกไปก่อนหน้านั้นได้ตามมาตรา 53 วรรคสอง (4)

สรุป นายเขียวสามารถเพิกถอนคําสั่งอนุญาตให้นายขาวก่อสร้างโรงงานที่ได้ออกไปก่อนหน้านั้น ได้ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3 สํานักงานประกันสังคมได้ทําสัญญากับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกันสังคม ต่อมาโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวทําผิดสัญญาขอให้ท่านวินิจฉัยว่า สํานักงานประกันสังคมจะต้องฟ้องโรงพยาบาลดังกล่าวให้รับผิดตามสัญญา ได้ที่ศาลใด เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง”

และตามมาตรา 3 ได้บัญญัติให้คํานิยามของ “สัญญาทางปกครอง” ไว้ว่า

“สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงาน ทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทําการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทําบริการ สาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สํานักงานประกันสังคมได้ทําสัญญากับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกันสังคมนั้นเป็นสัญญาที่ทําขึ้นระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเอกชน และเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ที่เป็นการให้จัดทําบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามนัยของมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และเมื่อต่อมาโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวทําผิดสัญญา จึงเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองขึ้นมา และเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) ซึ่งทําให้สํานักงานประกันสังคมสามารถ ฟ้องให้โรงพยาบาลเอกชนนั้นรับผิดตามสัญญาต่อศาลปกครองได้

สรุป สํานักงานประกันสังคมสามารถฟ้องโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวให้รับผิดตามสัญญาได้ที่ ศาลปกครองตามนัยมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 3

 

ข้อ 4 นายเหลืองเป็นข้าราชการพลเรือนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องและศาลตัดสินให้เป็นบุคคล ล้มละลาย ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จะดําเนินการ ตามกฎหมายกับนายเหลืองได้หรือไม่อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

มาตรา 36 ข. (6) “ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไป และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

ข. ลักษณะต้องห้าม

(6) เป็นบุคคลล้มละลาย”

มาตรา 110 “ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 มีอํานาจสั่งให้ข้าราชการพลเรือน สามัญออกจากราชการเพื่อรับบําเหน็จบํานาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการได้ในกรณีดังต่อไปนี้ 28

(3) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดขาดคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 36 ก. (1) หรือ (3) หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 ข. (1) (3) (6) หรือ (7)

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเหลืองเป็นข้าราชการพลเรือนมีหนี้สินล้นพ้นตัวจนถูกเจ้าหนี้ฟ้องและศาลตัดสินให้เป็นบุคคลล้มละลายนั้น ถือว่านายเหลืองมีลักษณะต้องห้ามมิให้รับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน ตามมาตรา 36 ข. (6) ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาของนายเหลืองซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จึงมีอํานาจสั่งให้ นายเหลืองออกจากราชการเพื่อรับบําเหน็จบํานาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการได้ตามมาตรา 110 (3)

สรุป ผู้บังคับบัญชาของนายเหลืองจะต้องสั่งให้นายเหลืองออกจากราชการเพื่อรับบําเหน็จบํานาญ เหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการตามมาตรา 110 (3) ประกอบมาตรา 36 ข. (6)

Advertisement