การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายชาติชายและนางสาวนิชาชอบพอรักใคร่กัน ได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกันแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร จึงได้ไปพบพนักงานตํารวจโดยมีบิดามารดาของนางสาวนิชาอยู่ด้วย นายชาติชายได้ยินยอมมอบเงิน 30,000 บาทให้แก่ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นการขอขมา และได้ทําบันทึกต่อหน้าพนักงานตํารวจว่าจะทําการจดทะเบียนสมรสภายในสองเดือนและรับผิดชอบเลี้ยงดู นางสาวนิชาอย่างดี ถ้าไม่ทําตามสัญญาจะชดใช้ให้เป็นจํานวนเงิน 60,000 บาท ปรากฏว่าเมื่อครบ กําหนดสองเดือนตามสัญญานายชาติชายไม่ทําการจดทะเบียนสมรสด้วย นางสาวนิชาจึงต้องการ ฟ้องฐานผิดสัญญาหมั้นและให้ชดใช้เงินให้ด้วย เช่นนี้ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคหนึ่งและวรรคสาม “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมี พฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทําให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้” มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิด ใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชาติชายและนางสาวนิชาชอบพอรักใคร่กันและได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกันแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร จึงได้ไปพบพนักงานตํารวจโดยมีบิดามารดาของ นางสาวนิชาอยู่ด้วย และนายชาติชายได้ยินยอมมอบเงิน 30,000 บาทให้แก่ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นการขอขมา และได้ ทําบันทึกต่อหน้าพนักงานตํารวจว่าจะทําการจดทะเบียนสมรสภายใน 2 เดือน และรับผิดชอบเลี้ยงดูนางสาวนิชา อย่างดีนั้น การมอบเงิน 30,000 บาทให้แก่ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นการขอขมานั้น ไม่ถือว่าเป็นการส่งมอบทรัพย์สิน ให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น เงิน 30,000 บาทจึงมิใช่ของหมั้นตามนัยของมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง และเงิน 30,000 บาทดังกล่าวก็มิใช่สินสอดตามนัยของมาตรา 1437 วรรคสาม เพราะมิใช่ทรัพย์สิน ซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาของฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ดังนั้น การที่นายชาติชายได้มอบ เงิน 30,000 บาทให้แก่ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นการขอขมานั้น จึงไม่ทําให้เกิดสัญญาหมั้นได้

เมื่อการที่นายชาติชายได้มอบเงิน 30,000 บาท ให้แก่ฝ่ายหญิงและได้ทําบันทึกต่อหน้าพนักงาน ตํารวจว่าจะทําการจดทะเบียนสมรสภายใน 2 เดือน และรับผิดชอบเลี้ยงดูนางสาวนิชาอย่างดี ถ้าไม่ทําตามสัญญา จะชดใช้ให้เป็นจํานวนเงิน 60,000 บาทนั้น มิใช่เป็นการทําสัญญาหมั้นตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง ดังนั้น

เมื่อครบกําหนด 2 เดือนตามสัญญา การที่นายชาติชายไม่ทําการจดทะเบียนสมรสด้วย จึงไม่ถือว่าเป็นกรณีที่ นายชาติชายผิดสัญญาหมั้น และเมื่อไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้น นางสาวนิชาจึงไม่สามารถฟ้องนายชาติชาย ฐานผิดสัญญาหมั้นและให้ชดใช้เงินให้ด้วยตามมาตรา 1439 ได้

สรุป นางสาวนิชาจะฟ้องนายชาติชายฐานผิดสัญญาหมั้นและให้ชดใช้เงินให้ด้วยนั้นไม่ได้

 

ข้อ 2 นายเมฆจดทะเบียนสมรสกับนางเดือน ต่อมานายเมฆมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ น.ส.ฝน ซึ่งเป็นคนวิกลจริตและได้จดทะเบียนสมรสกัน หลังจากจดทะเบียนสมรส น.ส.ฝน ก็หายจากอาการวิกลจริต หลังจากนั้นนายเมฆและนางเดือนได้ร่วมกันจดทะเบียนรับ น.ส.น้ำ มาเป็นบุตรบุญธรรม วันหนึ่ง นายเมฆทะเลาะกับนางเดือนอย่างรุนแรง นายเมฆกับนางเดือนจึงจดทะเบียนหย่ากัน และนายเมฆ ก็ไปจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.น้ำ

ดังนี้ การจดทะเบียนสมรสของนายเมฆกับนางเดือน น.ส.ฝน และน.ส.น้ำ มีผลในทางกฎหมาย อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1449 “การสมรสจะกระทํามิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่ง ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ”

มาตรา 1451 “ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้”

มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”

มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”

มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”

มาตรา 1501 “การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน มาตรา 1598/32 “การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1451

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆจดทะเบียนสมรสกับนางเดือนซึ่งการสมรสมีผลสมบูรณ์ตาม มาตรา 1457 ต่อมานายเมฆมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ น.ส.ฝน ซึ่งเป็นคนวิกลจริตและได้จดทะเบียนสมรสกันนั้น การสมรสระหว่างนายเมฆและ น.ส.ฝน เป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1449 เพราะเป็นการสมรส ในขณะที่หญิงเป็นบุคคลวิกลจริต อีกทั้งเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1452 เพราะเป็นการสมรส ในขณะที่นายเมฆมีคู่สมรสอยู่แล้ว ดังนั้น การสมรสระหว่างนายเมฆและ น.ส.ฝน จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495

การที่นายเมฆจดทะเบียนสมรสกับนางเดือนและการสมรสมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1457 นั้น

ต่อมา เมื่อนายเมฆและนางเดือนได้จดทะเบียนหย่ากัน การสมรสระหว่างนายเมฆและนางเดือนย่อมเป็นอันสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1501 และต่อมาเมื่อนายเมฆผู้รับบุตรบุญธรรมได้จดทะเบียนสมรสกับ น.ส.น้ำ บุตรบุญธรรม แม้จะเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1451 แต่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การสมรสที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว ตกเป็นโมฆะหรือโมฆยะแต่อย่างใด เพียงแต่มาตรา 1598/32 ได้บัญญัติแต่เพียงว่าให้การรับบุตรบุญธรรม เป็นอันยกเลิกไปเท่านั้น อีกทั้งการสมรสระหว่างนายเมฆและ น.ส.น้ำก็มิได้เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1452 แต่อย่างใดด้วย ดังนั้นการสมรสระหว่างนายเมฆและน.ส.น้ำจึงมีผลสมบูรณ์

สรุป การสมรสระหว่างนายเมฆกับนางเดือนมีผลสมบูรณ์ แต่การสมรสได้สิ้นสุดลงแล้ว การสมรสระหว่างนายเมฆกับ น.ส.ฝน มีผลเป็นโมฆะ การสมรสระหว่างนายเมฆกับ น.ส.น้ำ มีผลสมบูรณ์

 

ข้อ 3 นายเก่งและนางอ้อมเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย หลังจากสมรสนายเก่งและนางอ้อมทําสัญญา ให้นายเก่งเป็นผู้มีอํานาจในการจัดการสินสมรสทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ต่อมานายเก่งจับสลาก ในงานฉลองปีใหม่ของบริษัทได้รับรางวัลเป็นจักรยานเสือภูเขาราคาแพง นายเก่งให้จักรยานคันดังกล่าวแก่นางสาวเก๋เพื่อนร่วมงานของนายเก่ง โดยที่ไม่บอกนางอ้อมเพราะรู้ว่านางอ้อม ไม่ชอบนางสาวเก๋และนางอ้อมคงไม่เห็นด้วย หลังจากนั้นนายเก่งได้รับมรดกจากบิดาเป็นที่ดิน 1 แปลงในฐานะผู้รับพินัยกรรม นายเก่งได้ขายที่ดินดังกล่าวให้กับนายพงษ์ในราคาที่ต่ำกว่าราคา ที่ซื้อขายกันโดยทั่วไป โดยที่นางอ้อมไม่ได้รู้เห็นและไม่ได้ให้ความยินยอมแต่อย่างใด

ดังนี้ เมื่อนางอ้อมทราบเรื่องทั้งหมด นางอ้อมจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมให้รถจักรยานและ การขายที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1465 วรรคหนึ่ง “ถ้าสามีภริยามิได้ทําสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้

มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา”

มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”

มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”

มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานองซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้

(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(4) ให้กู้ยืมเงิน

(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(6) ประนีประนอมยอมความ

(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”

มาตรา 1476/1 วรรคหนึ่ง “สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทําสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา 1465 และ มาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส”

มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอม จากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเก่งและนางอ้อมเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ได้ทําสัญญาระหว่าง สมรสให้นายเก่งเป็นผู้มีอํานาจในการจัดการสินสมรสทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวนั้น สัญญาระหว่างสมรสดังกล่าว ใช้บังคับไม่ได้ เพราะตามมาตรา 1476/1 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1465 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้ว่า สามีและ ภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทําสัญญา ก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1465 ดังนั้น ในการจัดการสินสมรสของนายเก่งและนางอ้อมจึงต้องบังคับ ตามบทบัญญัติในหมวดนี้

การที่นายเก่งจับสลากในงานฉลองปีใหม่ของบริษัทได้รับรางวัลเป็นจักรยานเสือภูเขาราคาแพงนั้น

รถจักรยานดังกล่าวถือเป็นสินสมรสเพราะเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสตามมาตรา 1474 (1) การที่ นายเก่งให้จักรยานคันดังกล่าวแก่นางสาวเก๋เพื่อนร่วมงานของนายเก่งโดยไม่บอกนางอ้อมนั้น เป็นกรณีที่นายเก่ง ได้ทํานิติกรรมตามมาตรา 1476 (5) โดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น นางอ้อมจึงสามารถ ฟ้องศาลให้เพิกถอนนิติกรรมการให้รถจักรยานดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง

ส่วนการที่นายเก่งได้รับมรดกจากบิดาเป็นที่ดิน 1 แปลงในฐานะผู้รับพินัยกรรมนั้น เมื่อพินัยกรรมไม่ได้ระบุว่าเป็นสินสมรส ที่ดินดังกล่าวจึงถือเป็นสินส่วนตัวตามมาตรา 1471 (3) นายเก่งจึงมีอํานาจในการจัดการ สินส่วนตัวนั้นได้โดยลําพังตามมาตรา 1473 ดังนั้น เมื่อนายเก่งได้ขายที่ดินดังกล่าวให้กับนายพงษ์ แม้จะขาย ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันโดยทั่วไป และโดยที่นางอ้อมไม่ได้รู้เห็นและไม่ได้ให้ความยินยอมก็ตาม นางอ้อมก็จะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินนั้นตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่งไม่ได้

สรุป นางอ้อมสามารถฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้รถจักรยานของนายเก่งได้ แต่นางอ้อมจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนการขายที่ดินของนายเก่งไม่ได้

 

ข้อ 4 นายไก่และนางไข่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาจนมีลูกด้วยกันหนึ่งคนคือเด็กชายเป็ด ต่อมานายไก่ไปหลงรักนางแมวเพื่อนร่วมงาน โดยนางแมวรู้ดีว่านายไก่มีภริยาโดยพฤตินัยอยู่แล้วคือนางไข่ นายไก่จึงมาตกลงกับนางไข่ว่าตนก็รักนางไข่ไม่เสื่อมคลายและจะไปจดทะเบียนสมรสกับนางไข่ ถ้านางไข่ยินยอมให้ตนไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนางแมว นางไข่ก็ยินยอมตามข้อเสนอ ต่อมานางไข่เห็นว่านายไก่จะหลงรักนางแมวมากเกินไปจนลืมตนและลูก จึงมาปรึกษาท่านว่า

(1) จะฟ้องหย่านายไก่ว่ามีภริยาน้อยได้หรือไม่ และ

(2) เด็กชายเป็ดเป็นลูกชอบด้วยกฎหมายของใคร ตั้งแต่เมื่อใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วม ประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”

มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยา แล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้น จะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้”

มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 1547 “เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อ บิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่นายไก่และนางไข่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาจนมีลูกด้วยกันหนึ่งคน คือ เด็กชายเป็ด แต่ต่อมาเมื่อนายไก่และนางไข่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ย่อมถือว่านายไก่และนางไข่เป็นสามีและภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1457 ดังนั้น การที่นายไก่ได้ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนางแมวนั้น ย่อมถือว่า เป็นกรณีที่นายไก่ได้อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาตามมาตรา 1516 (1) นางไข่จึงสามารถถือเป็นเหตุฟ้องหย่านายไก่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า การที่นายไก่ได้ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา กับนางแมวนั้น นางไข่ได้ยินยอมหรืออนุญาตนายไก่แล้ว ดังนั้น นางไข่จึงอ้างเหตุดังกล่าวเพื่อที่จะฟ้องหย่านายไก่ไม่ได้ตามมาตรา 1517 วรรคหนึ่ง

(2) เด็กชายเปิดเป็นลูกที่เกิดก่อนที่นายไก่และนางไข่จะได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งโดยหลักแล้ว ย่อมเป็นลูกโดยชอบด้วยกฎหมายของนางไข่แต่เพียงผู้เดียวนับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารกตามมาตรา 1546 แต่เมื่อต่อมานายไก่และนางไข่ได้จดทะเบียนสมรสกันย่อมถือว่าเด็กชายเป็ดเป็นลูกโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไก่ด้วยตามมาตรา 1547 นับแต่วันที่นายไก่และนางไข่จดทะเบียนสมรสกันย้อนไปนับแต่เด็กชายเปิดเกิด

สรุป

(1) นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่ว่ามีภริยาน้อยไม่ได้

(2) เด็กชายเปิดเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไข่ตั้งแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารกและเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไก่ เมื่อนายไก่และนางไข่ได้จดทะเบียน สมรสกัน และมีผลย้อนไปนับแต่เด็กชายเป็ดเกิด

Advertisement