การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายหนึ่งและนางสองอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรชายสองคนคือ นายสามและนายสี่ โดยบุตรชายทั้งสองคนได้ใช้นามสกุลของนายหนึ่งบิดา นายหนึ่งรู้สึกเบื่อหน่ายต่อชีวิตในทางโลกจึงได้ออกบวชเป็นพระภิกษุ และจำพรราอยู่ที่วัดดอนหวาย ก่อนบวชนายหนึ่งมีเงินสดในธนาคารอยู่สองแสนบาท ในระหว่างบวชเป็นพระภิกษุพระหนึ่งได้รับบริจาคเงินที่ญาติโยมนำมาถวายเป็นเงินสด 2 ล้านบาท และพระพุทธรูปทองคำ 1 องค์ ราคา 3 แสนบาท ขณะบวชอยู่พระหนึ่งได้นำเงิน 2 ล้านบาทไปซื้อที่ดินไว้ 1 แปลงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และต่อมาได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่นางสองภริยา ต่อมาพระภิกษุหนึ่งถึงแก่มรณภาพ จงวินิจฉัยว่ามรดกของพระหนึ่งจะตกทอดแก่ใครบ้าง
ธงคำตอบ
มาตรา 1623 ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม
มาตรา 1624 ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่ และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้
มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635
มาตรา 1633 ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
มาตรา 1646 บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆอันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้
วินิจฉัย
ในกรณีที่พระภิกษุเป็นเจ้ามรดก มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระภิกษุตามกฎหมาย ดังนี้
1 ถ้าพระภิกษุมีทรัพย์สินอยู่ก่อนที่จะอุปสมบทเป็นสมณเพศ แม้จะมรณภาพลงในขณะที่ยังเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ไม่ตกเป็นสมบัติของวัด ตามมาตรา 1624
2 ถ้าพระภิกษุมีหรือได้ทรัพย์สินมาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ เมื่อพระภิกษุนั้นมรณภาพขณะบวชเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินของพระภิกษุนั้นจะตกเป็นสมบัติของวัด ตามมาตรา 1623 เว้นแต่
(ก) จำหน่ายไปในระหว่างที่มีชีวิตอยู่
(ข) ทำพินัยกรรมยกให้ผู้อื่นในระหว่างที่เป็นพระภิกษุ
กรณีตามอุทาหรณ์มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระภิกษุหนึ่งที่ถึงแก่มรณภาพดังนี้
1 เงินสดในธนาคาร 2 แสนบาท
ข้อเท็จจริงมีว่าเงินสดในธนาคาร 2 แสนบาท เป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุหนึ่งมีอยู่ก่อนบวชเป็นพระภิกษุ เมื่อพระภิกษุหนึ่งมรณภาพ ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1624
ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกในเงินจำนวนนี้ ได้แก่ นายสามและนายสี่ บุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองแล้วโดยพฤตินัย ตามมาตรา 1627 ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 1629(1) โดยได้รับส่วนแบ่งคนละ 1 แสนบาท ตามมาตรา 1633 เพราะเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกัน ส่วนนางสองเป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะคู่สมรส ตามมาตรา 1629 วรรคท้าย
2 ที่ดิน 1 แปลงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข้อเท็จจริงได้ความว่า พระภิกษุหนึ่งนำเงินบริจาคที่ญาติโยมนำมาถวายไปซื้อที่ดินไว้ 1 แปลงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งโดยหลักแล้วทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างอุปสมบท ย่อมตกเป็นสมบัติของวัดแต่ต่อมาพระภิกษุหนึ่งได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่นางสองภริยา ตามมาตรา 1646 ถือได้ว่าเป็นการจำหน่ายทรัพย์ไปโดยพินัยกรรม เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย มาตรา 1623 จึงไม่ตกเป็นสมบัติของวัดดอนหวาย เมื่อพระภิกษุถึงแก่มรณภาพ พินัยกรรมมีผลบังคับตามกฎหมาย ที่ดินดังกล่าวจึงตกได้แก่นางสองผู้รับพินัยกรรม
3 พระพุทธรูปทองคำ 1 องค์ ราคา 3 แสนบาท
ข้อเท็จจริงมีว่าพระพุทธรูปทองคำนี้ พระภิกษุหนึ่งได้มาในระหว่างอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อไม่ปรากฏว่ามีการจำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม ย่อมตกเป็นสมบัติของวัดดอนหวาย ซึ่งเป็นวัดภูมิลำเนาของพระภิกษุหนึ่ง ตามมาตรา 1623
สรุป
1 เงินสดในธนาคาร 2 แสนบาท ตกทอดแก่ นายสามและนายสี่
2 ที่ดิน 1 แปลง ที่จังหวัดพระนครสรีอยุธยา ตกทอดแก่ นางสอง
3 พระพุทธรูปทองคำ ตกเป็นสมบัติของวัดดอนหวาย