การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3109 (LAW 3009) ป.พ.พ.ว่าด้วยมรดก
คําแนะนํา ข้อสอบกระบวนวิชานี้เป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายพิธามีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย 2 คน คือ นายพิบูลย์และนายพิทักษ์ นายพิธาทําสัญญาจะขาย ที่ดินโฉนดเลขที่ 888 ให้แก่นายธราธร และยังให้นายปิยบุตรเช่าบ้าน (โฉนดที่ดินเลขที่ 999) เป็นเวลา 3 ปี ต่อมานายพิธาทําพินัยกรรมตามแบบของกฎหมาย ระบุยกที่ดินโฉนดเลขที่ 888 ให้นายพิบูลย์ และยกบ้านพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 999 ให้นายพิทักษ์ หลังจากทําพินัยกรรมฉบับ ดังกล่าวได้เพียง 6 เดือน นายพิธาเดินทางไปต่างจังหวัดและประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ดังนี้
(1) นายพิบูลย์จะต้องขายที่ดินโฉนดเลขที่ 888 ให้แก่นายธราธรหรือไม่ เพราะเหตุใด และ
(2) นายปิยบุตรจะสามารถอยู่ในบ้าน (โฉนดที่ดินเลขที่ 999) ที่เช่าจนกว่าจะครบกําหนดตาม สัญญาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1600 “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”

วินิจฉัย

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ได้บัญญัติไว้ว่า มรดกซึ่งจะตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทเมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตาย เว้นแต่สิทธิ หน้าที่และ ความรับผิดซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ จะไม่ตกทอดไปยังทายาท

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพิธาซึ่งมีบุตรชอบด้วยกฎหมาย 2 คน คือ นายพิบูลย์และนายพิทักษ์ ได้ทําสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 838 แก่นายธราธร และทําสัญญาให้นายปิยบุตรเช่าบ้าน (โฉนดที่ดินเลขที่ 999) เป็นเวลา 3 ปี ต่อมานายพิธาทําพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 888 ให้นายพิบูลย์ และยกบ้านพร้อมที่ดิน โฉนดเลขที่ 999 ให้นายพิทักษ์ หลังจากทําพินัยกรรมได้ 6 เดือน นายพิธาถึงแก่ความตาย ดังนี้ นายพิบูลย์ จะต้องขายที่ดินโฉนดเลขที่ 888 ให้นายธราธร และนายปิยบุตรจะสามารถอยู่ในบ้าน (โฉนดที่ดินเลขที่ 999) จนครบกําหนดสัญญาเช่าได้หรือไม่นั้น แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่นายพิบูลย์ได้รับมรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 888 ตามพินัยกรรมนั้น เมื่อสิทธิและหน้าที่ ตามสัญญาจะขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ ตามกฎหมายไม่ถือว่าเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ดังนั้น เมื่อนายพิธาตาย หน้าที่ที่จะขายบ้านให้แก่นายธราธรตามสัญญาจะขายจึงเป็นมรดกตกทอดแก่นายพิบูลย์ นายพิบูลย์จึงต้องขายที่ดินโฉนดเลขที่ 888 ให้แก่นายธราธร

(2) การที่นายพิทักษ์ได้รับมรดกคือบ้านพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 999 ตามพินัยกรรม ซึ่งบ้าน หลังดังกล่าวนายพิธาได้ทําสัญญาให้นายปิยบุตรเช่าเป็นเวลา 3 ปีนั้น เมื่อตามกฎหมายสิทธิและหน้าที่ของ ผู้เช่าเท่านั้นที่เป็นการเฉพาะตัวของผู้เช่า แต่ไม่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ให้เช่า ดังนั้น เมื่อนายพิธาผู้ให้เช่าตาย สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าจึงเป็นมรดกตกทอดแก่นายพิทักษ์ซึ่งเป็นทายาท นายพิทักษ์จึงต้องให้นายปิยบุตร
อยู่ในบ้านหลังดังกล่าวต่อไปจนครบกําหนดสัญญาเช่า

สรุป

(1) นายไพบูลย์จะต้องขายที่ดินโฉนดเลขที่ 888 ให้แก่นายธราธร

(2) นายปิยบุตรสามารถที่จะอยู่ในบ้าน (โฉนดที่ดินเลขที่ 999) ที่เช่าจนกว่าจะครบกําหนด ตามสัญญาเช่าได้

 

ข้อ 2. นางบีมีบุตร 2 คน คือ นายหนึ่งและนายสอง นางบีมีน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันชื่อนายซี นายหนึ่งมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายชื่อนางสวย มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือนายใหญ่ นางบีทําพินัยกรรม ตามแบบของกฎหมาย ระบุยกเงินสด 300,000 บาทให้กับนายหนึ่ง และยกที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ราคา 500,000 บาทให้กับนายสอง ต่อมานายหนึ่งถึงแก่ความตาย นางบีเสียใจเป็นอย่างมากและ ตรอมใจตายในที่สุด นางบีมีทรัพย์มรดกคือเงินสด 300,000 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ราคา 500,000 บาท ตามพินัยกรรม นายสองได้ยักย้ายเงินมรดกไปเป็นของตนเองโดยทุจริต จํานวน 200,000 บาท ดังนี้ ให้แบ่งมรดกของนางบี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1605 “ทายาทคนใดยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้น โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทําให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกําจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกําจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะ
ส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

ตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทําพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง
ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน”

มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง “ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสาย แล้วแต่กรณีในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลําดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ผู้ตายเลย”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้
ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1642 “การรับมรดกแทนที่กันนั้น ให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

มาตรา 1698 “ข้อกําหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทําพินัยกรรม”

มาตรา 1699 “ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกําหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผล ด้วยประการใด ๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนางบีเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมย่อมตก ได้แก่ทายาทผู้รับพินัยกรรม กล่าวคือ เงินสด 300,000 บาท ตกได้กับนายหนึ่ง ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ราคา 500,000 บาท ตกได้แก่นายสอง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายหนึ่งผู้รับพินัยกรรมได้ตายก่อน นางที่ผู้ทําพินัยกรรม ข้อกําหนดในพินัยกรรมที่ยกเงินสด 300,000 บาท ให้นายหนึ่งจึงตกไปตามมาตรา 1698 (1) จึงต้องนําเงินสดจํานวน 300,000 บาท มาแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมต่อไป ซึ่งในกรณีนี้จะไม่มีการรับ มรดกแทนที่กัน เพราะการรับมรดกแทนที่กันนั้น จะใช้บังคับกันเฉพาะในกรณีที่เป็นเรื่องทายาทโดยธรรมเท่านั้น ตามมาตรา 1642 และทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกดังกล่าวได้แก่นายหนึ่งและนายสองซึ่งเป็นทายาทโดย ธรรมตามมาตรา 1629 (1) โดยทั้งสองจะได้รับมรดกเป็นเงินสดคนละ 150,000 บาท ส่วนนายซีซึ่งเป็นน้องชาย ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางบีนั้น ไม่มีสิทธิรับมรดกในส่วนของเงินสดจํานวน 300,000 บาทนั้น ทั้งนี้เพราะ นายซีเป็นทายาทโดยธรรมในลําดับที่ 3 ตามมาตรา 1629 (3) ซึ่งเมื่อผู้ตายมีทายาทในลําดับก่อนและยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้ว ทายาทผู้อยู่ในลําดับถัดลงไปจะไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลยตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง

และเมื่อนายหนึ่งซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (1) ได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกตาย และนายหนึ่งมีผู้สืบสันดานโดยตรงคือนายใหญ่ ดังนั้น นายใหญ่จึงสามารถเข้ามารับมรดกแทนที่นายหนึ่งในการ รับมรดกของนางบีได้ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643 โดยนายใหญ่และนายสองจะได้รับมรดกในส่วนที่เป็น เงินสดของนางบีคนละ 150,000 บาท

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายสองได้ยักย้ายเงินมรดกไปเป็นของตนโดยทุจริต จํานวน 200,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการยักย้ายทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้ ดังนั้น นายสองจึงถูกกําจัด มิให้ได้มรดกเลย ตามมาตรา 1605 วรรคหนึ่ง มรดกของนางบีที่เป็นเงินสดจํานวน 300,000 บาท จึงตกได้แก่ นายใหญ่ซึ่งเข้ามารับมรดกแทนที่นายหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ราคา 500,000 บาทนั้น ถือเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างที่นางบีทําพินัยกรรมยกให้กับนายสองโดยเฉพาะ จึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1605 วรรคสอง กล่าวคือ ที่ดินแปลงดังกล่าวยังคงตกได้แก่นายสองในฐานะผู้รับพินัยกรรม โดยนายสองจะไม่ถูก กําจัดไม่ให้รับมรดกในส่วนนี้

สรุป มรดกของนางที่ในส่วนที่เป็นเงินสดจํานวน 300,000 บาท ตกได้แก่นายใหญ่แต่เพียงผู้เดียว ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ราคา 500,000 บาท ตกได้แก่นายสองตามพินัยกรรม

 

ข้อ 3. นายดําและนางแดงเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือนายหนึ่งและนายสอง นางแดงล้มป่วยและถึงแก่ความตาย นายดําจดทะเบียนสมรสใหม่กับนางส้ม มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายเอกและนายโท นายโทมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายชื่อนางทอง มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ด.ช.ทิว นายดําและนายโทนั่งรถไปต่างจังหวัดและประสบอุบัติเหตุ ถึงแก่ความตายทั้งสองคน ต่อมานายเอกได้ทะเลาะกับนายหนึ่งอย่างรุนแรงเรื่องมรดกของนายดํา นายเอกเอาปืนมายิงนายหนึ่ง ถึงแก่ความตาย ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดว่านายเอกฆ่านายหนึ่งตายโดยเจตนา ต่อมานายสอง ถึงแก่ความตาย มีมรดกทั้งสิ้น 800,000 บาท ดังนี้ ให้ท่านแบ่งมรดกของนายสอง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ
(1) ผู้ที่ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทําหรือพยายามกระทําให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิ
ได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่
ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําและนางแดงเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือนายหนึ่งและนายสอง นางแดงถึงแก่ความตาย นายดําจดทะเบียนสมรสใหม่กับนางส้ม มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายเอกและนายโทนั้น ย่อมถือว่านายเอกและนายโทเป็นน้องร่วมบิดาเดียวกันกับนายหนึ่งและนายสอง และเมื่อนายสองเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มรดกของนายสองย่อมตกแก่นายดําและนางแดงซึ่งเป็นบิดามารดา และเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (2) แต่เมื่อปรากฏว่านายดําและนางแดงได้ถึงแก่ความตายก่อนนายสอง นายดําและนางแดงจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายสอง เพราะทั้งสองไม่มีสภาพบุคคลในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง และนางส้มก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของนายสองเพราะนางส้มไม่ใช่มารดาของนายสอง จึงมิใช่ทายาทโดยธรรมของนายสองตามมาตรา 1629 (2) แต่อย่างใด

ส่วนนายหนึ่งซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายสองและเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา
1629 (3) นั้น เมื่อปรากฏว่านายหนึ่งได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกตาย นายหนึ่งจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายสอง เพราะนายหนึ่งไม่มีสภาพบุคคลในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกันกับ นายดําและนางแดง ดังนั้น โดยหลักแล้วมรดกของนายสองจํานวน 800,000 บาท ย่อมตกได้แก่นายเอกและนายโท ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (4) เพราะทั้งสองคนเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันกับนายสอง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเอกได้ทะเลาะกับนายหนึ่งอย่างรุนแรงเรื่องมรดก ของนายดํา นายเอกเอาปืนมายิงนายหนึ่งถึงแก่ความตาย และศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดว่านายเอกฆ่านายหนึ่งตาย โดยเจตนา ดังนั้น นายเอกจึงถูกกําจัดมิให้รับมรดกของนายสองฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา 1606 (1) เนื่องจากได้เจตนากระทําให้ผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น มรดก ทั้งหมดของนายสองจึงตกได้แก่นายโทในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (4)

แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า นายโทได้ถึงแก่ความตายก่อนนายสองเจ้ามรดกตาย ดังนั้น นายโท จึงไม่อาจรับมรดกของนายสองได้ เพราะนายโทไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนายโทมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย 1 คน คือ ด.ช.ทิว ซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน โดยตรง ดังนั้น ด.ช.ทิว จึงเข้ามารับมรดกแทนที่นายโทได้ ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643 มรดกทั้งหมด ของนายสองจึงตกได้แก่ ด.ช.ทิว แต่เพียงผู้เดียว

สรุป มรดกของนายสองจํานวน 800,000 บาท ตกได้แก่ ด.ช.ทิวแต่เพียงผู้เดียว

Advertisement