การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายดำมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย คือนายเอก นายโท และนายตรี นายเอกมี ด.ญ.ขาว เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย นายโทมีบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย 1 คน คือ ด.ญ.เขียว ส่วนนายตรีได้สมรสกับ น.ส.จัตวาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรชาย 1 คน คือ ด.ช.แดง แต่ปรากฏว่าได้ตกน้ำตายตั้งแต่อายุได้ 2 ขวบ นายดำได้ทำพินัยกรรมยกมรดกของตนซึ่งเป็นเงินสด 4 ล้านบาท ให้แก่นายตรีเพียงคนเดียว แต่เขาก็โชคไม่ดีเพราะประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตก่อน นายดำเสียใจมาก และป่วยเป็นโรคหัวใจจนเสียชีวิตในที่สุด ก่อนนายดำตายนายเอกได้ทำพินัยกรรมปลอมว่านายดำยกทรัพย์มรดกให้แก่ตนสามในสี่ส่วน หลังจากนายดำตายแล้ว นายโทได้ไปบวชอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่บิดาที่วัดเทพลีลา และยังไม่ยอมสึก จากนั้นเขาก็ได้ทำการสละมรดกที่เขาจะได้รับโดยทำการสละไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย จงวินิจฉัยว่า มรดกของนายดำจะตกทอดแก่ใครบ้าง
ธงคำตอบ
มาตรา 1606 บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ
(5) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด
มาตรา 1615 การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย
เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตนและชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดาผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น
มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
มาตรา 1630 ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร
มาตรา 1639 ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย
มาตรา 1642 การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม
มาตรา 1643 สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่
มาตรา 1698 ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป
(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม
มาตรา 1699 ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี
วินิจฉัย
นายดำได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นายตรีคนเดียว แต่นายตรีผู้รับพินัยกรรมได้ตายก่อนนายดำผู้ทำพินัยกรรมจึงทำให้พินัยกรรมนั้นตกไปตามมาตรา 1698(1) ประกอบมาตรา 1699 จัตวาซึ่งเป็นภริยาของนายตรี และเป็นเพียงสะใภ้ของนายดำ จึงไม่ถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมของนายดำ และไม่สามารถรับมรดกแทนที่นายตรีได้เพราะเป็นภริยา เนื่องจากผู้ที่จะรับมรดกแทนที่ได้นั้นต้องเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1642 และ 1643 ส่วน ด.ช.แดง ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายตรีก็เสียชีวิตไปแล้วจึงไม่มีสภาพของการเป็นทายาทอยู่ (มาตรา 1604 วรรคแรกตอนต้น)
นายเอกได้ปลอมพินัยกรรมก่อนนายดำเจ้ามรดกจะเสียชีวิต จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกทั้งหมดฐานเป็นผู้ไม่สมควร ตามมาตรา 1606(5) และเป็นการถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ดังนั้นบุตรของนายเอกคอ ด.ญ.ขาว ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงจึงเข้ารับมรดกแทนที่นายเอกบิดาได้ตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1642 และ 1643
นายโทได้สละมรดกทั้งหมดโดยชอบด้วยกฎหมายและบวชเป็นพระแล้ว ดังนั้นการสละมรดกของเขาจึงทำให้นายโทไม่มีสถานะของการเป็นทายาท ด.ญ.เขียว ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนายโทและเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629(1) ประกอบมาตรา 1627 จึงเข้าสืบมรดกของนายโทได้แม้จะไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงก็ตามและ ด.ญ.เขียว มีสิทธิได้รับมรดกเท่ากับส่วนที่นายโทจะพึงได้รับตามมาตรา 1615 วรรคสอง
ดังนั้น โดยสรุปมรดกของนายดำจึงแบ่งเป็น 2 ส่วนเท่าๆกัน โดย ด.ญ.ขาว และ ด.ญ.เขียว ได้รับคนละ 2 ล้านบาท ตามมาตรา 1630
สรุป มรดกของนายดำจะตกทอดแก่ ด.ญ.ขาว และ ด.ญ.เขียว คนละ 2 ล้านบาท