การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายเอกและนางโท  อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส  และมีนายแดงเป็นบุตรที่นายเอกยอมให้ใช้ชื่อนามสกุลและส่งเสียเล่าเรียน  ต่อมานางโทถึงแก่ความตาย  นายเอกจึงไปได้นางจัตวา  หญิงม่ายเป็นภริยาใหม่และจดทะเบียนสมรสถูกต้อง  ซึ่งนางจัตวามีบุตรอันเกิดจากสามีเดิมหนึ่งคนคือเด็กหญิงแต๋ว  โดยนายเอกได้จดทะเบียนรับเด็กหญิงแต๋วเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายหลังจากนั้น  นายแดงได้ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ชนตายและมีมรดกจำนวน  400,000  บาท  จงแบ่งมรดกของนายแดง

ธงคำตอบ

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย  ให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น 

มาตรา  1599  เมื่อบุคคลใดตาย  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท  ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

มาตรา  1604  วรรคแรก  บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา  15  แห่งประมวลกฎหมายนี้  ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(2)  บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4)  พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

มาตรา  1753  ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก  เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม  หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน

วินิจฉัย

เมื่อนายแดงถึงแก่ความตายตามมาตรา  1599  มรดกของนายแดงจำนวน  400,000  บาท จะมีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องในการแบ่งมรดก ดังนี้

1       นายเอก  เป็นบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย  แม้จะยอมให้นายแดงใช้ชื่อสกุลและส่งเสียเล่าเรียน  ก็ไม่มีผลทำให้นายเอกเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  2  ได้  จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายแดงในฐานะทายาทโดยธรรม  ตามมาตรา  1627   และมาตรา  1629(2)

2       นางโท  แม้เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่ก็เสียชีวิตก่อนนายแดง  จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดก  ตามมาตรา  1546  มาตรา  1604  วรรคแรก  และมาตรา  1629(2)  เพราะจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเท่านั้น

3       นางจัตวา  มีฐานะเป็นแม่เลี้ยง  จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมที่จะมีสิทธิได้รับมรดกของนายแดง

4       เด็กหญิงแต๋ว  เป็นบุตรบุญธรรมของนายเอก  และไม่เป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องทั้งในลำดับที่  3  หรือลำดับที่  4  ตามมาตรา  1629  จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม

ดังนั้น  มรดกจำนวน  400,000  บาท  ของนายแดง  จึงตกทอดแก่แผ่นดินตามมาตรา  1753  เพราะเป็นมรดกที่ไม่มีผู้รับ

สรุป  มรดกของนายแดงตกแก่แผ่นดิน

 

ข้อ  2  นายหนึ่งจดทะเบียนสมรสกับนางสองมีบุตรด้วยกันคือ  นายบี  ต่อมานายหนึ่งจดทะเบียนหย่ากับนางสองด้วยเหตุผลทางธุรกิจ  แต่นายหนึ่งและนางสองยังคงอยู่กินกัน  และหลังจากนั้นมีบุตรด้วยกันอีกคือนายเอฟและนายเอ็ม  โดยนายหนึ่งได้ให้นายเอฟและนายเอ็มใช้นามสกุล  ในส่วนของนายบีนั้น  นายบีอยู่กินกับนางจันทร์โดยมิได้จดทะเบียนและมีบุตรด้วยกันคือเด็กชายเสาร์  ซึ่งนายบีได้แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าตนเป็นบิดา  ต่อมานายเอ็มได้ทำพินัยกรรมยกเงิน  40,000  บาท  ให้นายบี  หลังจากนั้นนายบีและนางสองเดินทางไปต่างจังหวัดและประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตายทั้งคู่  หลังจากนั้นนายเอ็มล้มป่วยและถึงแก่ความตาย  เช่นนี้  จงแบ่งมรดกของนายเอ็มซึ่งยังมีเงินสดนอกพินัยกรรมอีกจำนวน  200,000  บาท

ธงคำตอบ

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย  ให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น 

มาตรา  1604  วรรคแรก  บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา  15  แห่งประมวลกฎหมายนี้  ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

มาตรา  1620  วรรคแรก  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้  แต่ไม่มีผลบังคับได้  ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(2)  ผู้สืบสันดาน

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

1       เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

ตามพินัยกรรมนั้น  นายบีทายาทผู้รับพินัยกรรมถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก  ตามมาตรา  1698  และ  1620  ให้ปันทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมนั้นกลับสู่กองมรดกและตามมาตรา  1642  ไม่ให้ผู้สืบสันดานโดยตรงเข้ารับมรดกแทนที่ในส่วนนี้ได้  ดังนี้  เงิน  40,000  บาท  จึงตกกลับสู่กองมรดก

นอกจากนี้  นายเอ็มเจ้ามรดกเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายหนึ่งรับรองโดยการให้ใช้นามสกุลเท่านั้น  นายหนึ่งจึงเป็นบิดานอกกฎหมาย  ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม  อันเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1629(2)  ได้  ส่วนกรณีนางสอง  นางสองเป็นมารดาของนายเอ็มเจ้ามรดก  จึงเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1546  จึงเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(2)  แต่ปรากฏว่านางสองทายาทโดยธรรมในลำดับที่สองนี้ได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก  จึงไม่มีสิทธิการเป็นทายาท  ตามมาตรา  1604  วรรคแรก  และต้องห้ามมิให้มีการเข้ารับมรดกแทนที่นางสอง  ตามมาตรา  1639  และ  1641

เช่นนี้  จะเห็นได้ว่านายเอ็มเจ้ามรดกยังมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน  (ฎ. 4828/2529)  อันถือเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(3) คือ  นายบีและนายเอฟ  และไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับก่อนหน้าที่ยังมีชีวิตจะมีสิทธิรับมรดกได้  นายบีและนายเอฟจึงเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิเข้ารับมรดก  โดยมีสิทธิได้รับมรดกคนละส่วนเท่าๆกัน  ตามมาตรา  1633  แต่ปรากฏว่าในกรณีนายบีนั้น  นายบีเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(3)  ที่ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดก  จึงให้มีการเข้ารับมรดกแทนที่ได้ตามมาตรา  1639  โดยเด็กชายเสาร์บุตรนอกกฎหมายที่นายบีบิดารับรองแล้ว  จึงถือเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงอันจะมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นายบีเพื่อรับมรดกของนายเอ็มได้  ตามมาตรา  1639  และมาตรา  1643

ดังนี้  นายเอฟและเด็กชายเสาร์  ได้รับมรดก  โดยได้รับส่วนแบ่งมรดก  240,000  บาท  ไปคนละ  120,000  บาท  มาตรา  1633

สรุป  มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมลำดับที่  3  คือ  นายบีและนายเอฟ  เพราะนางสองทายาทโดยธรรมในลำดับสองถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก  แต่นายบีตายก่อนเจ้ามรดกทำให้เด็กชายเสาร์ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายบีเข้ารับมรดกแทนที่นายบีได้

 

ข้อ  3  นายหนึ่งและนายสองเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเอและนางบี  ทั้งคู่ไม่มีบุตรสาวจึงได้ไปขอนางสาวซีมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย  นางสาวซีมีสามีที่อยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรสาวชื่อเด็กหญิงทอง  นายหนึ่งทำตัวเป็นนักเลงการพนันและชอบเที่ยวเตร่ไม่รู้จักทำมาหากินจนนายเอบิดาไม่พอใจ  เขาจึงได้ทำพินัยกรรมตัดนายหนึ่งมิให้รับมรดกใดๆของตนทั้งสิ้น  พอนางบีมารดาทราบจึงได้ว่ากล่าวตักเตือนให้นายหนึ่งเลิกพฤติกรรมต่างๆที่ไม่ดีเสีย  ต่อมานายหนึ่งก็ประพฤติตนเป็นคนดีได้  นายเอจึงได้ทำหนังสือถอนการตัดนายหนึ่งมิให้รับมรดกของตนมอบไว้แก่นายอำเภอเมืองสุโขทัย  หลังจากนั้นไม่นานนางสาวซีก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต  นายเอเสียใจมากจึงล้มป่วยลงเป็นโรคหัวใจวายตายในเวลาต่อมา  นายเอตายลงมีเงินสดฝากอยู่ในธนาคาร  120,000  บาท  (หนึ่งแสนสองหมื่นบาท)  จงวินิจฉัยว่า  มรดกของนายเอจะตกทอดให้แก่ใครบ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  1608  เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง

(1) โดยพินัยกรรม

มาตรา  1609  การแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกนั้นจะถอนเสียก็ได้  ถ้าการตัดมิให้รับมรดกนั้นได้ทำโดยพินัยกรรม  จะถอนเสียก็ได้ก็แต่โดยพินัยกรรมเท่านั้น  แต่ถ้าการตัดมิให้รับมรดกได้ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่  การถอนการตัดจะทำโดยพินัยกรรมหรือโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี  และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่  ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1635  ถ้าลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

นายเอตายลงโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้  มรดกของนายเอจึงตกแก่ทายาทโดยธรรมของเขา  ซึ่งได้แก่  นายหนึ่ง  และนายสอง  บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  และนางสาวซีบุตรบุญธรรม  ทั้ง  3  คน  เป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา  1629(1)  ประกอบมาตรา  1627  และนางบีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  1629  วรรคท้าย

การที่นายเอได้ทำพินัยกรรมตัดนายหนึ่งมิให้รับมรดกใดๆ  ของตนทั้งสิ้น  โดยทำเป็นพินัยกรรมนั้น  จึงทำให้นายหนึ่งถูกตัดมิให้รับมรดกโดยชัดแจ้ง  ตามมาตรา  1608(1)  แต่การที่นายเอถอนการตัดนายหนึ่งมิให้รับมรดก  โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่นายอำเภอเมืองสุโขทัยนั้นไม่มีผลตามกฎหมาย  เพราะว่าถ้าเจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรม  การถอนการตัดดังกล่าวจะต้องถอนโดยพินัยกรรมเท่านั้น  ตามมาตรา  1609  ดังนั้นนายหนึ่งจึงยังคงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกของนายเออยู่

ส่วนการที่นางสาวซีตายก่อนนายเอเจ้ามรดกนั้น  ส่งผลให้  ด.ญ.ทองผู้สืบสันดานโดยตรงของนางสาวซีมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางสาวซีมารดาได้  ตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1643

ดังนั้น  มรดกของนายเอจำนวน  120,000  บาท  จึงตกทอดแก่นายสอง  ด.ญ.ทอง  และนางบีคนละส่วนเท่าๆกัน  โดยได้รับส่วนแบ่งคนละ  40,000  บาท  ตามมาตรา  1629  ประกอบมาตรา  1635(1)  และมาตรา  1630(1)

สรุป  มรดกของนายเอตกทอดแก่นายสอง  ด.ญ.ทอง  และนางบี  คนละ  40,000  บาท

 

ข้อ  4  นายใหญ่และนางหญิงเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย  นายใหญ่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน  คือ  นายเล็ก  นายเล็กจดทะเบียนสมรสกับนางหลิน  มีบุตรด้วยกัน  2  คน  คือ  นายเอกและนายโท  นายเล็กถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็ง  นายเอกสละมรดกของนายเล็กโดยทำถูกต้องตามกฎหมาย  ต่อมานายใหญ่ทำพินัยกรรมยกบ้านที่อาศัยอยู่ราคา  900,000  บาท  ให้กับนางหญิง  ส่วนทรัพย์สินอื่นๆนายใหญ่ไม่ได้ทำพินัยกรรมยกให้ใคร  นางหญิงได้เอาพินัยกรรมของนายใหญ่มาปลอมเป็นว่า  นายใหญ่ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้กับนางหญิง  หลังจากนั้นนายใหญ่ถึงแก่ความตาย  นายใหญ่มีทรัพย์มรดกคือบ้าน  1  หลัง  ราคา  900,000  บาท  ตามพินัยกรรมและมีทรัพย์นอกพินัยกรรม  คือ  เงินสด  500,000  บาท  ดังนี้ให้แบ่งมรดกของนายใหญ่

ธงคำตอบ

มาตรา  1606  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร  คือ

(5) ผู้ที่ปลอม  ทำลาย  หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1645  การที่บุคคลใดสละมรดกของบุคคลอีกคนหนึ่งนั้น  ไม่ตัดสิทธิของผู้สละที่จะรับมรดกแทนที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นในการสืบมรดกของบุคคลอื่น

วินิจฉัย

การที่นางหญิงปลอมพินัยกรรมของนายใหญ่  นางหญิงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกในฐานะเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา  1606(5)  ซึ่งนางหญิงไม่มีสิทธิรับมรดกใดๆ  ทั้งสิ้นของนายใหญ่เลย  ถึงแม้นายใหญ่จะทำพินัยกรรมยกบ้านให้กับนางหญิงก็ตาม

ทรัพย์มรดกของนายใหญ่คือ  บ้าน  1  หลัง  ราคา  900,000  บาท  ตามพินัยกรรม  และเงินสด  500,000  บาท  จึงตกได้แก่นายเล็กน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน  ตามมาตรา  1629(3)  แต่นายเล็กตายก่อนนายใหญ่เจ้ามรดก  นายเอกและนายโทในฐานะผู้สืบสันดานโดยตรงของนายเล็ก  จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นายเล็กในมรดกของนายใหญ่  ตามมาตรา  1639  ประกอบกับมาตรา  1643  โดยได้รับส่วนแบ่งคนละเท่าๆกัน  ตามมาตรา  1633  คือได้คนละ  700,000  บาท  โดยการที่นายเอกสละมรดกของนายเล็ก  ไม่ตัดสิทธิของนายเอกที่จะรับมรดกแทนที่นายเล็กในการสืบมรดกของนายใหญ่  ตามมาตรา  1645  นายเอกจึงมีสิทธิรับมรดกของนายใหญ่

ส่วนนางหลินภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเล็กไม่มีสิทธิรับมรดกของนายใหญ่แทนที่นายเล็กเพราะการรับมรดกแทนที่กันจะมีได้เฉพาะผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่บิดามารดาเท่านั้น  ตามมาตรา  1639 และมาตรา  1642  คู่สมรสไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่

สรุป  ทรัพย์มรดกของนายใหญ่ตกได้แก่นายเอกและนายโท  คนละ  700,000  บาท

Advertisement