การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายหนึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายแดงซึ่งเป็นเจ้ามรดก นายแดงมีน้องสาวร่วมมารดาเดียวกันหนึ่งคนคือนางสาวดำ นอกจากนี้นายแดงยังได้จดทะเบียนรับนายสองมาเป็นบุตรบุญธรรมอีกคนหนึ่ง ต่อมานายหนึ่งได้นางสาวเขียวมาเป็นภริยาโดยมิชอบด้วยกฎหมายจนตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน โดยที่ไม่มีใครทราบ นายสองได้รับเด็กชายขาวมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย วันหนึ่งนายแดงได้ให้นายหนึ่งและนายสองเดินทางไปติดต่อธุรกิจที่จังหวัดภูเก็ต เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินระเบิดทำให้ทั้งคู่เสียชีวิต นายแดงทราบข่าวก็หัวใจวายตายทันที นายแดงตายลงมีมรดก 10 ล้านบาท ต่อมานางเขียวได้คลอดบุตรออกมาชื่อเด็กชายเหลือง ภายใน 310 วันนับแต่วันที่นายหนึ่งถึงแก่ความตาย จงแบ่งมรดกของนายแดง
ธงคำตอบ
มาตรา 1604 วรรคท้าย เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าเด็กที่เกิดมารอดอยู่ภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้นเป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
มาตรา 1630 วรรคสองแต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร
มาตรา 1633 ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
มาตรา 1639 ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย
มาตรา 1643 สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่
วินิจฉัย
นายแดงเจ้ามรดกมีนายหนึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และมีนายสองเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งทั้ง 2 คน เป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 กล่าวคือเป็นผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 1627 ประกอบมาตรา 1629(1) และได้ถึงแก่ความตายก่อนนายแดงเจ้ามรดก โดยนายหนึ่งมีนางสาวเขียวเป็นภริยาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แม้นางสาวเขียวจะคลอดเด็กชายเหลืองออกมาภายใน 310 วันนับแต่วันที่นายหนึ่งตายก็ตามก็ไม่สามารถทำให้เด็กชายเหลืองมีสิทธิรับมรดกแทนที่ของนายหนึ่งได้ ตามมาตรา 1639 เพราะในระหว่างที่นางสาวเขียวตั้งครรภ์นั้น มิได้มีพฤติการณ์ในการรับรองทารกในครรภ์ของนางสาวเขียวว่าเป็นบุตรของนายหนึ่ง ทั้งยังไม่มีใครทราบว่านางสาวเขียวตั้งครรภ์ ดังนั้น เด็กชายเหลืองซึ่งเกิดมาโดยไม่มีสถานะเป็นผู้สืบสันดานที่จะรับมรดกแทนที่ของนายหนึ่งได้ตามมาตรา 1604 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 1627 และมาตรา 1639
กรณีที่นายสองรับเด็กชายขาวมาเป็นบุตรบุญธรรม แม้จะโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผู้สืบสันดานของนายสอง ตามมาตรา 1627 แต่ก็ไม่ทำให้เด็กชายขาวรับมรดกแทนที่ของนายสองได้ เพราะมิใช่ผู้สืบสันดานสืบสายโลหิตโดยตรง ตามมาตรา 1643 ประกอบมาตรา 1639
ส่วนกรณีที่นายแดงมีนางสาวดำเป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกันนั้นถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 4 ตามมาตรา 1629(4) จึงมีสิทธิรับมรดกของนายแดงทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ตามมาตรา 1629(4) ประกอบมาตรา 1630 วรรคท้าย และมาตรา 1633
สรุป นางสาวดำมีสิทธิรับมรดกของนายแดง 10 ล้านบาทแต่เพียงผู้เดียว