การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ก. กู้เงิน ข. หนึ่งล้านบาท มีกำหนดเวลาสามปี โดยมี ค. เป็นผู้ค้ำประกัน หนี้เงินกู้ครบกำหนดแล้วแต่ ก. ยังไม่ได้ชำระหนี้ ข. ต่อมา ค. ผู้ค้ำประกันตาย อยากทราบว่า ข. จะเรียกให้ ง. ทายาทของ ค. ชำระหนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 203 วรรคสอง ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้
มาตรา 204 วรรคสอง ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว
มาตรา 686 ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น
มาตรา 1599 วรรคแรก เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
ก. กู้เงิน ข. หนึ่งล้านบาท มีกำหนดเวลา 3 ปี โดยมี ค. เป็นผู้ค้ำประกัน กรณีนี้จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 203 วรรคสอง กล่าวคือ สัญญากู้เงินมีกำหนดระยะเวลาในการใช้คืน คือ 3 ปี ซึ่งบทสันนิษฐานมีว่าในกรณีที่มีการกำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดเวลานั้นไม่ได้ แต่ลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนี้เงินกู้ครบกำหนดแล้ว แต่ ก. ยังไม่ได้ชำระหนี้ให้ ข. ต่อมา ค. ผู้ค้ำประกันตาย จะเห็นว่า เมื่อสัญญาเงินกู้มีกำหนดเวลาชำระตามมาตรา 203 วรรคสอง เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาในสัญญาดังกล่าว ถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด ตามมาตรา 204 วรรคสอง อันจะส่งผลให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ กล่าวคือสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาซึ่งผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ จึงเกิดความรับผิดตามกฎหมายของผู้ค้ำประกันแล้ว ข. จึงมีสิทธิเรียกให้ ค. ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ แต่ปรากฏว่า ค. ตายก่อน จึงมีปัญหาว่า ข. เจ้าหนี้จะเรียกให้ทายาทของผู้ค้ำประกันรับผิดได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า “มรดก” ตามมาตรา 1600 ที่ได้กำหนดว่ากองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆซึ่งไม่ใช่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย เมื่อการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของผู้ค้ำประกันเป็นหน้าที่และความรับผิดของผู้ตาย ซึ่งไม่ใช่เป็นการเฉพาะตัวแล้วจึงถือว่าเป็นมรดก ตามมาตรา 1600 ด้วย ดังนั้นเมื่อผู้ค้ำประกันตายภายหลังจากที่ลูกหนี้ผิดนัดหน้าที่และความรับผิดที่จะต้องชำระหนี้ของผู้ค้ำประกัน จึงตกแก่ทายาทของผู้ค้ำประกันทันทีที่เจ้ามรดกตายตามมาตรา 1599 ซึ่งทายาทจะอ้างว่ามิใช่เป็นหนี้ของตนมิได้ เพราะผู้รับมรดกย่อมรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิด(หนี้) ของผู้ตายเจ้ามรดกด้วย อย่างไรก็ตามทายาทก็ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน
สรุป ข. เจ้าหนี้ สามารถเรียกให้ ง. ทายาทของ ค. ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทน ก. ได้