การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2558 นายละมุดเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดขอนแก่นว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2558 เวลากลางวัน จําเลยซึ่งเป็นพนักงานขับรถยนต์ของโจทก์ได้ยักยอกเอาน้ำมันรถยนต์ 60 ลิตร ราคา 1,800 บาท ของโจทก็ไปโดยทุจริต เหตุเกิดที่ตําบลในเมือง อําเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โจทก์รู้เรื่องจําเลยกระทําความผิด เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2558 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 และให้คืนน้ำมันรถยนต์หรือใช้ราคา 1,800 บาท แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นตรวจคําฟ้องแล้วสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องโดยให้ระบุวันที่รู้เรื่องจําเลยกระทําความผิด โจทก์ จึงแก้ฟ้องโดยระบุวันที่รู้เรื่องจําเลยกระทําความผิด เป็นวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ศาลชั้นต้นไต่สวน มูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง จําเลยให้การปฏิเสธและคัดค้านว่าคําสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์แก้ไข คําฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ คําสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 158 “ฟ้องต้องทําเป็นหนังสือ และมี

(5) การกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าจําเลยได้กระทําผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับ เวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทํานั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จําเลยเข้าใจ ข้อหาได้ดี”

มาตรา 161 วรรคหนึ่ง “ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2558 ว่าจําเลยได้กระทําความผิด ฐานยักยอกในวันที่ 5 มิถุนายน 2558 โดยบรรยายในฟ้องด้วยว่า โจทก์รู้เรื่องจําเลยกระทําความผิดเมื่อต้นเดือน มิถุนายน 2558 นั้น วันที่โจทก์รู้เรื่องการกระทําความผิดของจําเลยไม่เป็นองค์ประกอบของความผิด และไม่เป็น รายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาที่อ้างว่าจําเลยได้กระทําผิดตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158 (5) ที่โจทก์จะต้องบรรยายมา ในฟ้อง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อในขั้นตรวจคําฟ้องนั้นถ้าศาลเห็นว่าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ระบุวันที่รู้เรื่องจําเลยกระทําความผิดเพื่อจะได้ทราบว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ดังนี้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอํานาจสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องโดยให้ระบุวันที่โจทก์รู้เรื่องจําเลยกระทําความผิดให้ถูกต้องได้ (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 5095/2540) ดังนั้น คําสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้อง จึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานชักหรือแสดงอาวุธในการวิวาทต่อสู้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 379 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบวันหรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ในวันนัดพิจารณาโจทก์ จําเลยมาศาล ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง โดยมิได้สอบถามจําเลยในเรื่องทนายความก่อนที่จะอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง จําเลยแถลง ให้การรับสารภาพตามฟ้องและไม่ติดใจสืบพยานโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นจดรายงาน กระบวนพิจารณาว่า คดีเสร็จการพิจารณาให้นัดฟังคําพิพากษา ดังนี้ การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นสําหรับจําเลยดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 173 วรรคสอง “ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่า มีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจําเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ความผิดตามที่พนักงานอัยการโจทก์ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 379 นั้น จะมีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้ง จําทั้งปรับ แต่เมื่อเป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุกไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใดก็ตาม ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคสอง ได้บัญญัติว่า ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจําเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ดังนั้น คดีนี้การที่ศาลชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณาอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังโดย มิได้สอบถามจําเลยในเรื่องทนายความก่อน จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว จึงมีผลทําให้กระบวน พิจารณาของศาลชั้นต้นนับแต่นี้เป็นต้นไปจนถึงนัดฟังคําพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นสําหรับจําเลยดังกล่าวไม่ชอบด้วย กฎหมาย

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่าจําเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนนายชะอมขณะที่นายชะอมกําลังข้ามทางม้าลายเป็นเหตุให้นายชะอมถึงแก่ความตาย หากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า

(ก) จําเลยเจตนาฆ่านายชะอม จึงขับรถยนต์ชนนายชะอมขณะที่นายชะอมกําลังข้ามทางม้าลาย กรณีหนึ่ง

(ข) จําเลยขับรถยนต์ประมาทจริงตามฟ้อง แต่มิได้ชนนายชะอม หากแต่ชนนายแกงไก่ตาย อีกกรณีหนึ่ง

หากปรากฏว่าทั้งสองกรณีดังกล่าวจําเลยมิได้หลงต่อสู้ให้วินิจฉัยว่า ในแต่ละกรณีดังกล่าว ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณา แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและ ทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และ ทําให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับ ความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริง ตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริง ที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) กรณีโจทก์ฟ้องว่าจําเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนนายชะอมถึงแก่ความตาย แต่ทางพิจารณา ฟังได้ว่าจําเลยขับรถยนต์ชนนายชะอมโดยเจตนานั้น ข้อแตกต่างกันระหว่างการกระทําโดยเจตนากับประมาท ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม ถือว่าข้อแตกต่างเช่นว่านี้เป็นเพียงรายละเอียด มิให้ถือว่าต่างกันใน สาระสําคัญ เมื่อไม่ปรากฏว่าจําเลยหลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอํานาจตามมาตรา 192 วรรคสามประกอบวรรคสองที่จะพิพากษาลงโทษจําเลยฐานฆ่านายชะอมตายโดยเจตนาตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษ จําเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม

(ข) กรณีโจทก์ฟ้องว่าจําเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนนายชะอมถึงแก่ความตาย แต่ทางพิจารณาฟัง ได้ว่าจําเลยขับรถยนต์ประมาทจริงตามท้อง แต่มิได้ชนนายชะอม หากแต่ชนนายแกงไก่ตายนั้น เป็นข้อแตกต่าง ในตัวบุคคลอันเป็นวัตถุแห่งการกระทํา ซึ่งถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสําคัญ ดังนั้นแม้จําเลยไม่หลงต่อสู้ ศาล ก็ต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ได้

สรุป

กรณีตาม (ก) ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้ แต่จะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่ กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

กรณีตาม (ข) ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ได้ ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง

 

ข้อ 4. นายตะขบเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายมะขวิดซึ่งเป็นจําเลยในความผิดฐานร่วมกับพวกลักรถจักรยานยนต์ของนายตะขบไปโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ซึ่งมีระวางโทษ ตามกฎหมายให้จําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท ศาลชั้นต้น ไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้อง ในชั้นพิจารณาศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วเลื่อนไปนัด สืบพยานจําเลย จําเลยขอเลื่อนคดีหลายนัด นัดสุดท้ายศาลชั้นต้นมีคําสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและ งดสืบพยานจําเลย แล้วมีคําวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า จําเลยลักทรัพย์โดยร่วมกับ พวกกระทําผิด จําเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ซึ่งมีระวางโทษตาม กฎหมายให้จําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท พิพากษาว่าจําเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 จําคุก 3 เดือน

ดังนี้ หากโจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียวว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่าจําเลยกระทําความผิดตามฟ้อง ขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ศาลชั้นต้นจะรับอุทธรณ์ ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 193 ทวิ “ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่ง อัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

(1) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจําคุก

(2) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้

(3) ศาลพิพากษาว่าจําเลยมีความผิด แต่รอการกําหนดโทษไว้ หรือ

(4) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ ได้บัญญัติเอาไว้ว่า ถ้าเป็นคดีซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่ กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ได้ตามมาตรา 193 ทวิ (1) (2) (3) และ (4)

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อคดีที่นายตะขบเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายมะขวิดซึ่งเป็นจําเลย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 นั้น มีระวางโทษตามกฎหมายให้จําคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 2 พันบาท ถึง 1 หมื่นบาท จึงเป็นคดีซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุก เกิน 3 ปี จึงไม่อยู่ในบังคับต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ

ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาในคดีนี้ว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ซึ่งมีระวางโทษตามกฎหมายให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 พันบาทนั้น จึงไม่ต้องห้ามมิให้ โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์จึงสามารถอุทธรณ์ได้ว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่าจําเลยได้กระทํา ความผิดตามฟ้อง ขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 และศาลชั้นต้นขอบ ที่จะรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา (คําพิพากษาฎีกาที่ 4905/2536)

สรุป ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาได้

 

Advertisement