การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องจําเลยอ้างว่า จําเลยปลอมพินัยกรรมของนายเอผู้ตายซึ่งเป็นบิดาโจทก์ โดยเขียนข้อความให้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ราคา 500,000 บาทให้จําเลย จึงขอให้ศาลแสดงว่าพินัยกรรมที่จําเลยอ้าง เป็นโมฆะ จําเลยยื่นคําให้การอ้างว่า ไม่เคยปลอมพินัยกรรมของนายเอ นายเอเขียนพินัยกรรม แสดงเจตนายกที่ดินให้จําเลย ขอให้ศาลยกฟ้อง ต่อมาศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ไม่พอใจคําพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงยื่นอุทธรณ์ว่าจําเลยปลอมพินัยกรรมของนายเอ ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคําพิพากษาว่า พินัยกรรมที่จําเลยอ้างเป็นโมฆะ ดังนี้ โจทก์จะอุทธรณ์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 224 วรรคหนึ่ง “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง กําหนดไว้ว่า ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ ที่พิพาทกันไม่เกิน 50,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวน ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันนี้ให้ถือเอาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เป็นหลักในการพิจารณา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลยโดยอ้างว่า จําเลยปลอมพินัยกรรมของนายเอผู้ตาย ซึ่งเป็นบิดาโจทก์ โดยเขียนข้อความให้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ราคา 500,000 บาทให้จําเลย จึงขอให้ศาลแสดงว่า พินัยกรรมที่จําเลยอ้างเป็นโมฆะ และจําเลยยื่นคําให้การอ้างว่า จําเลยไม่เคยปลอมพินัยกรรมของนายเอ แต่นายเอ เขียนพินัยกรรมแสดงเจตนายกที่ดินให้จําเลย ขอให้ศาลยกฟ้อง ต่อมาศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ไม่พอใจคําพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงยื่นอุทธรณ์ว่าจําเลยปลอมพินัยกรรมของนายเอ ขอให้ศาลอุทธรณ์ มีคําพิพากษาว่าพินัยกรรมที่จําเลยอ้างเป็นโมฆะนั้น โจทก์จะอุทธรณ์ได้หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์อุทธรณ์นั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล ซึ่งถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และเมื่อในขณะที่โจทก์ฟ้องนั้นพินัยกรรมฉบับนี้ยังคงมีผลสมบูรณ์และที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ที่ระบุไว้ในพินัยกรรม จึงยังคงเป็นของจําเลย แต่ถ้าศาลพิพากษาให้พินัยกรรมที่จําเลยอ้างเป็นโมฆะก็จะทําให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้หรือ เสียสิทธิในทรัพย์นั้น คดีนี้จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ และเมื่อที่ดินมีราคา 500,000 บาท ซึ่งเกินกว่า 50,000 บาท จึงไม่เข้าข้อห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้นโจทก์จึงสามารถอุทธรณ์ได้

สรุป โจทก์สามารถอุทธรณ์ได้

 

ข้อ 2. โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินท้ายคําฟ้องจํานวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นตรวจคําฟ้อง ของโจทก์แล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า สัญญากู้ยืมเงินท้ายคําฟ้องของโจทก์มีเพียงลายพิมพ์นิ้วมือ ของผู้กู้โดยไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้กู้ไว้ด้วยสองคน จึงถือไม่ได้ว่าเป็น หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้ยืมเป็นสําคัญ โจทก์จะฟ้องร้องให้บังคับคดี แก่จําเลยไม่ได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์ในวันเดียวกันกับวันที่โจทก์ยื่นคําฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่า คําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ของโจทก์ แล้วมีคําสั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นคดีที่มีจํานวนในทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ตรวจอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวชอบหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 24 วรรคหนึ่ง “เมื่อคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้าง ซึ่งถ้าหากได้วินิจฉัย ให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นแล้ว จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสําคัญแห่งคดีบางข้อ หรือถึงแม้จะดําเนินการพิจารณาประเด็นข้อสําคัญแห่งคดีไป ก็ไม่ทําให้ได้ความชัดขึ้นอีกแล้ว เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคําขอ ให้ศาลมีอํานาจที่จะมีคําสั่งให้มีผลว่าก่อนดําเนินการพิจารณาต่อไป ศาลจะได้ พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้น”

มาตรา 224 วรรคหนึ่ง “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี

มาตรา 227 “คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคําคู่ความตามมาตรา 18 หรือคําสั่ง วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ซึ่งทําให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น มิให้ถือว่าเป็นคําสั่งในระหว่างพิจารณา และ ให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลชั้นต้นตรวจคําฟ้องของโจทก์แล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า สัญญากู้ยืมเงินท้ายคําฟ้องของโจทก์มีเพียงลายพิมพ์นิ้วมือของผู้กู้โดยไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ ของผู้กู้ไว้ด้วยสองคน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้ยืมเป็นสําคัญ โจทก์จะฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จําเลยไม่ได้ แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ถือว่าเป็นคําสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นใน ปัญหาข้อกฎหมายเมื่อศาลเห็นสมควรตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งทําให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง มิให้ถือว่า เป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา และให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 227

การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าคําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นการอุทธรณ์ในข้อกฎหมายมิใช่อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ดังนั้นแม้จะเป็นคดีที่มีจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน ในชั้นอุทธรณ์จะไม่เกิน 50,000 บาท ก็ไม่เข้าข้อห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เพราะ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับกับการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่ใช้บังคับกับ การอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย ดังนั้น คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ตรวจอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ตรวจอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. ผู้ร้องยื่นคําร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมามีผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านเข้ามาในคดี คัดค้านการตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและมีคําขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ในระหว่าง พิจารณาผู้ร้องเห็นว่าผู้คัดค้านมีทรัพย์มรดกครอบครองอยู่และมีรายได้รวมถึงดอกผลจากทรัพย์ มรดกนั้น ในกรณีเช่นนี้หากผู้ร้องต้องการยื่นคําร้องขอคุ้มครองผลประโยชน์ชั่วคราวก่อนศาลพิพากษา ขอให้ผู้คัดค้านแสดงบัญชีเงินรายได้ของทรัพย์มรดกและนํารายได้และดอกผลของทรัพย์มรดก มาวางต่อศาลไว้ในระหว่างพิจารณาเพื่อประโยชน์ในการแบ่งมรดกจะสามารถทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 254 “ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคําฟ้อง หรือในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคําขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ ดังต่อไปนี้

(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อน พิพากษา รวมทั้งจํานวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกําหนดชําระแก่จําเลย

(2) ให้ศาลมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยกระทําซ้ําหรือกระทําต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือ การผิดสัญญาหรือการกระทําที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคําสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์ อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทําของจําเลยหรือมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยโอน ขาย ยักย้ายหรือจําหน่าย ซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลย หรือมีคําสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าหรือการบุบสลาย ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

(3) ให้ศาลมีคําสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นผู้มีอํานาจหน้าที่ตาม กฎหมาย ระงับการจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือการเพิกถอนการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับ ทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยหรือที่เกี่ยวกับการกระทําที่ถูกฟ้องร้องไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(4) ให้จับกุมและกักขังจําเลยไว้ชั่วคราว”

มาตรา 264 “นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 253 และมาตรา 254 คู่ความชอบที่จะยื่น คําขอต่อศาล เพื่อให้มีคําสั่งกําหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตาม คําพิพากษา เช่น ให้นําทรัพย์สินหรือเงินทิพิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก หรือให้ตั้งผู้จัดการหรือผู้รักษา ทรัพย์สินของห้างร้านที่ทําการค้าที่พิพาท หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครองของบุคคลภายนอก

คําขอตามวรรคหนึ่ง ห้บังคับตามมาตรา 21 มาตรา 25 มาตรา 227 มาตรา 228 มาตรา 260 และมาตรา 262”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ผู้ร้องยื่นคําร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมามีผู้คัดค้าน ยื่นคําคัดค้านเข้ามาในคดีคัดค้านการตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและมีคําขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก ของผู้ตาย ในระหว่างพิจารณาผู้ร้องเห็นว่าผู้คัดค้านมีทรัพย์มรดกครอบครองอยู่และมีรายได้รวมถึงดอกผล จากทรัพย์มรดกนั้น กรณีเช่นนี้หากผู้ร้องต้องการยื่นคําร้องขอคุ้มครองผลประโยชน์ชั่วคราวก่อนศาลพิพากษา ขอให้ผู้คัดค้านแสดงบัญชีเงินรายได้ของทรัพย์มรดกและนํารายได้และดอกผลของทรัพย์มรดกมาวางต่อศาล ไว้ในระหว่างพิจารณาเพื่อผลประโยชน์ในการแบ่งมรดกนั้น จะสามารถทําได้หรือไม่ เห็นว่า ในการยื่นคําร้อง ขอคุ้มครองชั่วคราวทั้งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 และมาตรา 264 นั้น จะต้องเป็นคําร้องที่เกี่ยวข้องกับคําขอ ท้ายฟ้องซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลจะต้องมีคําพิพากษาด้วย ซึ่งตามอุทาหรณ์การยื่นคําร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนั้น เมื่อมีผู้คัดค้านทําให้คดีไม่มีข้อพิพาทกลายเป็นคดีมีข้อพิพาท ซึ่งประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยนั้นก็มีเพียงการ พิจารณาคุณสมบัติของผู้ร้องและผู้คัดค้านว่าใครมีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกเท่านั้น ไม่มีประเด็นจะต้องวินิจฉัย ไปถึงตัวทรัพย์มรดกแต่อย่างใด ดังนั้น การยื่นคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเกี่ยวกับทรัพย์มรดกดังกล่าวของผู้ร้อง จึงไม่สามารถทําได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 และมาตรา 264

สรุป การยื่นคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ร้องไม่สามารถทําได้

 

ข้อ 4. ศาลแพ่งสืบพยานโจทก์จําเลยเสร็จและให้คู่ความรอฟังคําพิพากษาในวันเดียวกันแล้วมีคําพิพากษาให้จําเลยชําระเงินตามฟ้อง 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันถัดจาก วันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์ และศาลแพ่งได้ออกคําบังคับให้จําเลยปฏิบัติตามคําพิพากษา ของศาลภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคําพิพากษา โดยปรากฏว่าจําเลยและทนายความไม่อยู่รอฟัง คําพิพากษาในวันนั้น อีกสามเดือนต่อมา โจทก์สืบทราบว่าจําเลยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ตั้งอยู่ที่ จังหวัดเชียงใหม่ โจทก์ได้ยื่นคําขอให้บังคับคดีที่ดินของจําเลยดังกล่าวต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยระบุข้อความคําขอให้บังคับคดีถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายเพื่อให้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ กําหนดวิธีการบังคับคดีแก่ที่ดินของจําเลยดังกล่าว ให้วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิยื่นคําขอให้ศาลกําหนดวิธีการบังคับคดีได้หรือไม่ และศาลจังหวัดเชียงใหม่ จะกําหนดวิธีการบังคับคดีตามคําขอของโจทก์ได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 271 วรรคหนึ่ง “ศาลที่มีอํานาจในการบังคับคดีซึ่งมีอํานาจกําหนดวิธีการบังคับคดีตาม มาตรา 276 และมีอํานาจทําคําวินิจฉัยชี้ขาดหรือทําคําสั่งในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคําพิพากษา หรือคําสั่ง คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น หรือตามที่มีกฎหมายบัญญัติ”

มาตรา 272 วรรคหนึ่ง “ถ้าศาลได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งอย่างใดซึ่งต้องมีการบังคับคดีแก่ ลูกหนี้ตามคําพิพากษา ก็ให้ศาลออกคําบังคับทันทีที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น และให้ถือว่า ลูกหนี้ตามคําพิพากษาได้ทราบคําบังคับแล้วในวันนั้น”

มาตรา 276 วรรคหนึ่ง “เมื่อเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาขอให้บังคับคดี ถ้าศาลเห็นว่าลูกหนี้ ตามคําพิพากษาได้ทราบหรือถือว่าได้ทราบคําบังคับแล้ว ทั้งระยะเวลาที่กําหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคําบังคับนั้น ได้ล่วงพ้นไปแล้ว และคําขอได้ระบุข้อความได้ครบถ้วน ให้ศาลกําหนดวิธีการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวล กฎหมายนี้ และตามมาตรา 213 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลแพ่งสืบพยานโจทก์จําเลยเสร็จและให้คู่ความรอฟังคําพิพากษา ของศาลในวันเดียวกันแล้วมีคําพิพากษาให้จําเลยชําระเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์อันเป็นคําพิพากษา ซึ่งต้องมีการบังคับคดีแก่จําเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคําพิพากษานั้น ป.วิ.แพ่ง มาตรา 272 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้ศาล ออกคําบังคับคดีทันทีที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคําพิพากษานั้น และให้ถือว่าลูกหนี้ตามคําพิพากษาได้ทราบคําบังคับ ในวันนั้น เมื่อศาลชั้นต้นได้ออกคําบังคับให้จําเลยปฏิบัติตามคําพิพากษาภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคําพิพากษา ซึ่งในวันที่ได้อ่านคําพิพากษาให้แก่จําเลยฟังย่อมถือว่าจําเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคําพิพากษาได้ทราบคําบังคับแล้ว แม้จําเลยและทนายจําเลยจะมิได้อยู่รอฟังคําพิพากษาและคําบังคับของศาลชั้นต้นก็ตาม

ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า เวลาได้ผ่านพ้นไป 3 เดือน ซึ่งล่วงพ้นระยะเวลาที่กําหนดไว้ตามคําบังคับแล้ว จําเลยก็ยังมิได้ปฏิบัติตามคําบังคับ โจทก์จึงชอบที่จะยื่นคําขอให้ศาลกําหนดวิธีการบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 276 วรรคหนึ่ง

และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติว่า ศาลที่มีอํานาจในการบังคับคดีซึ่งมี อํานาจกําหนดวิธีการบังคับคดีตามมาตรา 276 คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น ดังนั้น เมื่อศาลแพ่ง เป็นศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น ศาลแพ่งจึงเป็นศาลที่มีอํานาจในการบังคับคดีที่จะกําหนด วิธีการบังคับคดี มิใช่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ แม้ที่ดินที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาขอให้บังคับคดีจะตั้งอยู่ ในเขตศาลจังหวัดเชียงใหม่ก็ตาม โจทก์ก็ชอบที่จะยื่นคําขอให้บังคับคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกําหนดวิธีการบังคับคดี ตามมาตรา 276 มิใช่ยื่นต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพราะศาลจังหวัดเชียงใหม่จะกําหนดวิธีการบังคับคดีตามคําขอ ของโจทก์ไม่ได้

สรุป โจทก์มีสิทธิยื่นคําขอให้ศาลกําหนดวิธีการบังคับคดีได้ และศาลจังหวัดเชียงใหม่จะกําหนด วิธีการบังคับคดีตามคําขอของโจทก์ไม่ได้

 

Advertisement