การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องจําเลยอ้างว่า จําเลยรับโอนที่ดินจากนายเมฆซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์โดยฉ้อฉล ซึ่งนายเมฆเป็นหนี้ตามสัญญากู้จํานวน 5,000,000 บาท หนี้ตามสัญญากู้ระหว่างนายเมฆกับโจทก์ถึงกําหนดชําระแล้ว การที่นายเมฆโอนที่ดินให้จําเลยโดยฉ้อฉลจะมีผลทําให้โจทก์ไม่สามารถติดตามนําที่ดิน พิพาทแปลงนี้มาบังคับชําระหนี้ตามสัญญากู้ได้ ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงขอให้ศาล มีคําสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินโดยฉ้อฉลระหว่างนายเมฆและจําเลย จําเลยยื่นคําให้การอ้างว่า จําเลย และนายเมฆไม่ได้กระทําการโอนที่ดินโดยฉ้อฉลขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลมีคําพิพากษา ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ไม่พอใจในคําพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลชั้นต้น ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคําสั่งให้เพิกถอนการโอนที่เป็นการฉ้อฉลระหว่างนายเมฆและจําเลย

ดังนี้ โจทก์จะอุทธรณ์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 224 วรรคหนึ่ง “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง กําหนดไว้ว่า ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่ พิพาทกันไม่เกิน 50,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวน ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันนี้ให้ถือเอาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เป็นหลักในการพิจารณา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลยอ้างว่า จําเลยรับโอนที่ดินจากนายเมฆซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ โดยฉ้อฉล ซึ่งนายเมฆเป็นหนี้ตามสัญญากู้จํานวน 5,000,000 บาท หนี้ตามสัญญากู้ระหว่างนายเมฆกับโจทก์ถึง กําหนดชําระแล้ว การที่นายเมฆโอนที่ดินให้จําเลยโดยฉ้อฉลจะมีผลทําให้โจทก์ไม่สามารถติดตามนําที่ดินพิพาทแปลงนี้ มาบังคับชําระหนี้ตามสัญญากู้ได้ ทําให้เจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงขอให้ศาลมีคําสั่งเพิกถอนการโอนที่ดิน โดยฉ้อฉลระหว่างนายเมฆและจําเลยนั้น ถ้าศาลมีคําพิพากษาให้เพิกถอนแล้วที่ดินพิพาทแปลงนี้ก็จะกลับไปเป็น ของนายเมฆ โดยโจทก์จะไม่ได้รับทรัพย์สินใดจากการฟ้อง ดังนั้น คดีที่โจทก์ฟ้องดังกล่าวจึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์

และเมื่อต่อมาศาลได้มีคําพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ไม่พอใจในคําพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลชั้นต้น ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคําสั่งให้เพิกถอนการโอนที่เป็นการฉ้อฉลระหว่าง นายเมฆและจําเลยนั้น ถือเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลซึ่งถือว่าเป็นการอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริง และเมื่อเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ โจทก์จึงสามารถอุทธรณ์ได้ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

สรุป โจทก์สามารถอุทธรณ์ได้

 

ข้อ 2 โจทก์ยื่นคําฟ้องและจําเลยยื่นคําให้การเรียบร้อยแล้วก่อนถึงวันสืบพยาน จําเลยมายื่นคําร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่าตนเองป่วยไม่สามารถมาศาลได้ ศาลเห็นว่าจําเลยไม่ได้ป่วยจริงจึงมีคําสั่งยกคําร้อง คงให้มีวันสืบพยานดังเดิม เมื่อถึงวันสืบพยาน จําเลยมายืนบัญชีระบุพยาน ศาลมีคําสั่งไม่รับ เพราะเกินกําหนดระยะเวลายื่นคําให้การแล้ว ภายหลังจากสืบพยานไปบ้างแล้วโจทก์มายื่นคําร้อง ขอให้ศาลยึดรถยนต์ของจําเลยไว้ชั่วคราว เพราะจําเลยมีเจตนาจะยักย้ายโอนขายรถยนต์ดังกล่าว ศาลจึงมีคําสั่งให้ยึดรถยนต์จําเลยไว้ชั่วคราวระหว่างพิจารณา ให้ท่านวินิจฉัยว่า จําเลยจะอุทธรณ์คําสั่งของศาลที่สั่งดังต่อไปนี้ในระหว่างพิจารณาได้หรือไม่

(ก) คําสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี

(ข) คําสั่งไม่รับบัญชีระบุพยาน

(ค) คําสั่งยึดรถยนต์จําเลยไว้ชั่วคราว

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 226 “ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคําสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน คู่ความที่โต้แย้ง ชอบที่จะอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น เป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ไม่ว่าศาลจะได้มีคําสั่งให้รับคําฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ให้ถือว่าคําสั่งอย่างใด อย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคําฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 เป็นคําสั่งระหว่าง พิจารณา

มาตรา 228 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลมีคําสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ

(2) มีคําสั่งอันเกี่ยวด้วยคําขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือมี คําสั่งอันเกี่ยวด้วยคําขอเพื่อจะบังคับคดีตามคําพิพากษาต่อไป หรือ

คําสั่งเช่นว่านี้ คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคําสั่งเป็นต้นไป”

วินิจฉัย

คําสั่งของศาลที่จะถือว่าเป็นคําสั่งในระหว่างพิจารณานั้น มีหลักเกณฑ์ดังนี้

1 จะต้องเป็นคําสั่งของศาลที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินหรือจําหน่ายคดี

2 เมื่อศาลสั่งไปแล้วไม่ทําให้คดีเสร็จไปจากศาล กล่าวคือ ศาลยังต้องทําคดีนั้นต่อไป

3 ไม่ใช่คําสั่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227 และมาตรา 228

เมื่อเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณาแล้ว คู่ความจะอุทธรณ์คําสั่งทันทีไม่ได้ ต้องโต้แย้งคัดค้านคําสั่ง ไว้ก่อนจึงจะเกิดสิทธิอุทธรณ์คําสั่งนั้นตามมาตรา 226 (2) ส่วนคําสั่งของศาลนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ 3 ประการนี้ ไม่ถือว่าเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องโต้แย้งก่อนที่จะอุทธรณ์แต่ประการใด (อุทธรณ์ได้ทันที)

กรณีตามอุทาหรณ์ จําเลยจะอุทธรณ์คําสั่งของศาลที่สั่งดังกล่าวในระหว่างพิจารณาได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

(ก) คําสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี เป็นคําสั่งของศาลที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินคดี ซึ่งเมื่อศาลสั่งไปแล้ว ไม่ทําให้คดีเสร็จไปจากศาล และไม่ใช่คําสั่งตามมาตรา 227 และมาตรา 228 จึงถือเป็นคําสั่งที่ศาลสั่งในระหว่าง พิจารณา ดังนั้น จําเลยจะอุทธรณ์คําสั่งของศาลดังกล่าวในระหว่างพิจารณาไม่ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226

(ข) คําสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานเป็นคําสั่งของศาลที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินคดี ซึ่งเมื่อศาลสั่งไปแล้ว ไม่ทําให้คดีเสร็จไปจากศาล และไม่ใช่คําสั่งตามมาตรา 227 และมาตรา 228 จึงถือเป็นคําสั่งที่ศาลสั่งในระหว่าง พิจารณา ดังนั้น จําเลยจะอุทธรณ์คําสั่งของศาลดังกล่าวในระหว่างพิจารณาไม่ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226

(ค) คําสั่งยึดรถยนต์จําเลยไว้ชั่วคราว เป็นคําสั่งที่เกี่ยวด้วยคําขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความ ในระหว่างการพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 228 (2) ซึ่งไม่ถือว่าเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา อันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226 (1) ดังนั้น จําเลยจึงสามารถอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวได้ ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 228 วรรคสอง

สรุป

(ก) จําเลยจะอุทธรณ์คําสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีในระหว่างพิจารณาไม่ได้

(ข) จําเลยจะอุทธรณ์คําสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานในระหว่างพิจารณาไม่ได้

(ค) จําเลยสามารถอุทธรณ์คําสั่งยึดรถยนต์จําเลยไว้ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาได้

 

ข้อ 3 โจทก์ฟ้องขอให้จําเลยชําระหนี้เงินกู้ที่จําเลยยืมไปจากโจทก์ 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์พร้อมยื่นคําร้องต่อศาลขอให้ จําเลยนําเงินที่ได้จากการขายที่ดินของจําเลยมาวางศาลก่อนศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยอ้างว่าเป็น ทรัพย์สินที่พิพาทที่ง่ายแก่การใช้สอยหรือยักย้ายถ่ายเท หากโจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์โจทก์ไม่อาจ ติดตามเอากลับคืนมาเพื่อบังคับคดีตามคําพิพากษาได้ ปรากฏว่าจําเลยได้รับสําเนาอุทธรณ์และคําร้อง ของโจทก์ดังกล่าวแล้วไม่ยื่นคําแก้อุทธรณ์และคัดค้านคําร้องของโจทก์ ให้วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เป็นศาลที่มีอํานาจพิจารณาสั่งคําร้องของโจทก์และศาลนั้น จะอนุญาตตามคําร้องของโจทก์ดังกล่าวได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 254 วรรคท้าย “ในระหว่างระยะเวลานับแต่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้อ่านคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดคดีหรือชี้ขาดอุทธรณ์ไปจนถึงเวลาที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสํานวนความที่อุทธรณ์หรือฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี คําขอตามมาตรานี้ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นมีอํานาจที่จะสั่งอนุญาตหรือยกคําขอ เช่นว่านี้”

มาตรา 264 “นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 253 และมาตรา 254 คู่ความชอบที่จะยื่นคําขอ ต่อศาล เพื่อให้มีคําสั่งกําหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตาม คําพิพากษา เช่น ให้นําทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก หรือให้ตั้งผู้จัดการหรือผู้รักษา ทรัพย์สินของห้างร้านที่ทําการค้าที่พิพาท หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครองของบุคคลภายนอก

คําขอตามวรรคหนึ่งให้บังคับตามมาตรา 21 มาตรา 25 มาตรา 227 มาตรา 228 มาตรา 260 และ มาตรา 262

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้จําเลยชําระหนี้เงินกู้ที่จําเลยยืมไปจากโจทก์ 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์พร้อมยื่นคําร้องต่อศาล ขอให้จําเลยนําเงินที่ได้จากการขายที่ดินของจําเลยมาวางศาลก่อนศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น คําร้องของโจทก์ที่ ยืนไปพร้อมกับอุทธรณ์ขอให้ศาลนําวิธีการชั่วคราวก่อนศาลอุทธรณ์พิพากษามาใช้บังคับแก่จําเลยดังกล่าวนั้น ถือเป็นคําขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 เมื่อปรากฏว่าคดีนี้อยู่ในระหว่าง การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลที่มีอํานาจพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีที่อุทธรณ์ย่อม เป็นศาลที่มีอํานาจสั่งคําร้องของโจทก์ เพราะคดีนี้ได้เสร็จการพิจารณาไปจากศาลชั้นต้นแล้ว อีกทั้งการยื่นขอ คุ้มครองประโยชน์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 มิให้นําบทบัญญัติมาตรา 254 วรรคท้ายมาใช้บังคับ ดังนั้น ศาลชั้นต้น จึงไม่มีอํานาจสั่งคําร้องของโจทก์

การขอคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 นั้น จะต้องเป็นการขอให้ทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ขอที่พิพาทกันในคดีให้ได้รับความคุ้มครองไว้ในระหว่างพิจารณาจนกว่า ศาลจะมีคําพิพากษา หรือเพื่อบังคับตามคําพิพากษา แต่เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์เป็นคดีที่ขอให้จําเลยชําระหนี้เป็นเงิน มิใช่เป็นคดีที่พิพากษาเกี่ยวด้วยตัวทรัพย์สิน เงินที่จําเลยจะต้องชําระแก่โจทก์จึงมิใช่ทรัพย์สินที่พิพาทกันในคดีที่ จะขอให้ศาลมีคําสั่งคุ้มครองประโยชน์โดยให้จําเลยนํามาวางศาลตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ จะอนุญาตตามคําร้องขอของโจทก์ไม่ได้

สรุป ศาลอุทธรณ์เป็นศาลที่มีอํานาจพิจารณาสั่งคําร้องของโจทก์ และศาลอุทธรณ์จะอนุญาต ตามคําร้องขอของโจทก์ไม่ได้

 

ข้อ 4 ศาลแพ่งมีคําพิพากษาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2550 ให้จําเลยชําระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยกับค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ คดีไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จําเลยไม่ปฏิบัติตามคําบังคับ โจทก์ขอ บังคับคดี ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี และเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557 โจทก์แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินปันผลของจําเลยที่มีสิทธิจะได้รับจากสหกรณ์ปีละ 5,000 บาท นับแต่ปี 2557 เป็นต้นมา แต่ไม่พอชําระหนี้ตามคําพิพากษา วันที่ 20 มิถุนายน 2561 โจทก์ได้แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถจักรยานยนต์ของจําเลยราคา 30,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีดําเนินการยึดให้ตามคําขอของโจทก์ และประกาศนัดขายทอดตลาดแล้ว จําเลยยื่นคําคัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า บัดนี้พ้นกําหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลแพ่งมี คําพิพากษาแล้ว โจทก์จึงหมดสิทธิบังคับคดีตามคําสั่งอายัดเงินปันผลสหกรณ์ของจําเลยแล้ว และไม่มีสิทธิบังคับยึดรถจักรยานยนต์ของจําเลยด้วย

ให้วินิจฉัยว่า คําคัดค้านของจําเลยฟังขึ้นหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 274 วรรคหนึ่ง “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือบุคคลที่ศาลมีคําพิพากษา หรือคําสั่งให้ชําระหนี้ (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคําบังคับที่ออกโดยคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาล ทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือบุคคลที่ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้ได้รับชําระหนี้ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดี โดยวิธีอื่นตามบทบัญญัติแห่งภาคนี้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคําพิพากษาหรือคําสั่ง”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้ มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัด สิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นภายในกําหนด 10 ปีนับแต่วันที่มี คําพิพากษาหรือคําสั่ง ซึ่งคําว่า “นับแต่วันมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง” ตามมาตรา 274 ดังกล่าว หมายความว่า นับแต่ วันที่มีคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลในชั้นที่สุดในคดีนั้น และถ้าเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาได้ร้องขอให้เจ้าพนักงาน บังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องใดไว้บางส่วนแล้วภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ดําเนินการบังคับคดี แก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่คดีนี้ศาลแพ่งได้มีคําพิพากษาวันที่ 15 มกราคม 2550 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ตามคําพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 10 ปีนับแต่ วันที่มีคําพิพากษาของศาลแพ่ง ซึ่งกําหนดระยะเวลาในการบังคับคดีจะครบกําหนดในวันที่ 15 มกราคม 2560 เมื่อโจทก์ได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินปันผลของจําเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคําพิพากษาที่มีสิทธิจะ ได้รับจากสหกรณ์ไว้แล้วเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557 ซึ่งอยู่ภายในกําหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลแพ่งมีคําพิพากษา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะดําเนินการบังคับคดีแก่สิทธิเรียกร้องตามที่อายัดไว้นั้นต่อไปได้จนแล้วเสร็จหรือครบถ้วน ตามจํานวนหนี้ตามคําพิพากษา ดังนั้น การที่จําเลยยื่นคําคัดค้านว่า บัดนี้พ้นกําหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลแพ่ง มีคําพิพากษาแล้ว โจทก์จึงหมดสิทธิบังคับคดีตามคําสั่งอายัดเงินปันผลสหกรณ์ของจําเลยแล้วนั้น คําคัดค้านส่วนนี้ ของจําเลยจึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนการที่โจทก์ขอให้ดําเนินการบังคับคดีแก่รถจักรยานยนต์ของจําเลยนั้น เมื่อโจทก์ได้ร้องขอให้ มีการบังคับคดีโดยวิธียึดรถจักรยานยนต์ของจําเลยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นการยื่นคําร้องขอภายหลัง เมื่อล่วงพ้นกําหนด 10 ปีนับแต่วันที่มีคําพิพากษาของศาลแพ่งแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาจึงหมดสิทธิ ที่จะบังคับคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง คําคัดค้านของจําเลยที่ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิบังคับยึดรถจักรยานยนต์ ของจําเลยในส่วนนี้จึงฟังขึ้น

สรุป คําคัดค้านของจําเลยในส่วนที่ว่าโจทก์หมดสิทธิบังคับคดีตามคําสั่งอายัดเงินปันผลสหกรณ์ ของจําเลยฟังไม่ขึ้น แต่คําคัดค้านของจําเลยในส่วนที่ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิบังคับยึดรถจักรยานยนต์ของจําเลยนั้นฟังขึ้น

 

Advertisement