การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องว่า จําเลยบุกรุกเข้าไปปลูกสร้างบ้านอาศัยในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ขอให้ขับไล่จําเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จําเลยใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ก่อนฟ้องเป็น เวลา 3 เดือน เดือนละ 5,000 บาท เป็นเงิน 15,000 บาท แก่โจทก์ จําเลยให้การว่าที่ดินของนางจัน แม่ยายของจําเลยที่อนุญาตให้จําเลยเข้าไปปลูกบ้านพักอาศัยไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ โจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง ชั้นพิจารณาของศาล โจทก์และจําเลยแถลงรับกันว่าที่ดินที่พิพาทเนื้อที่ 1 ไร่ มีราคา 100,000 บาท ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ไม่ใช่ของนางจัน แล้วพิพากษาขับไล่จําเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง ให้จําเลยใช้ค่าเสียหายก่อนฟ้องเดือนละ 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 9,000 บาท แก่โจทก์ นางจันอุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนางจันไม่ใช่ ของโจทก์ ศาลชั้นต้นฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์เป็นการไม่ชอบ จําเลยอุทธรณ์ว่า คําพิพากษา ศาลชั้นต้นที่ให้จําเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ไม่ชอบเพราะโจทก์ไม่เสียหายเลย

ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะรับอุทธรณ์ของนางจันและจําเลยไว้พิจารณาได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 145 วรรคหนึ่ง “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ ฎีกาและการพิจารณาใหม่ คําพิพากษาหรือคําสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษา หรือมีคําสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคําสั่งจนถึงวันที่คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข กลับหรืองดเสียถ้าหากมี”

มาตรา 223 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 138, 168, 188 และ 222 และในลักษณะนี้ คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลชั้นต้นนั้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เว้นแต่คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นประมวล กฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด”

มาตรา 224 วรรคหนึ่ง “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

1 คําพิพากษาศาลชั้นต้นที่ฟังว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ไม่ใช่ของนางจันนั้น เป็นคําวินิจฉัย ชี้ขาดตัดสินคดีระหว่างโจทก์และจําเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 145 ซึ่งไม่มีผลผูกพัน บุคคลภายนอกที่มิใช่คู่ความ และเมื่อนางจันเป็นเพียงบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความ คําพิพากษาของศาลดังกล่าว จึงไม่ได้กระทบต่อสิทธิของนางจันแต่อย่างใด นางจันจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลตาม ป.วิ.แพง มาตรา 223 ดังนั้นเมื่อนางจันอุทธรณ์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของนางจันไม่ใช่ของโจทก์ ศาลจะรับอุทธรณ์ของนางจัน ไว้พิจารณาไม่ได้

2 อุทธรณ์ของจําเลยที่ว่า คําพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จําเลยใช้ค่าเสียหายไม่ชอบเพราะ โจทก์ไม่เสียหายเลยนั้น เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงการกําหนดค่าเสียหายของศาลชั้นต้นที่ให้จําเลยใช้ค่าเสียหาย 9,000 บาท แก่โจทก์ ซึ่งเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง และเป็นการอุทธรณ์ในคดีที่มีจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน ในชั้นอุทธรณ์เพียง 9,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้จําเลยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจําเลยได้อุทธรณ์ศาลจะรับอุทธรณ์ของจําเลยไว้พิจารณาไม่ได้

สรุป ศาลจะรับอุทธรณ์ของนางจันและของจําเลยไว้พิจารณาไม่ได้

 

ข้อ 2. โจทก์ฟ้องจําเลยอ้างว่าจําเลยกู้เงินโจทก์จํานวน 5 ล้านบาท หนี้ตามสัญญากู้ถึงกําหนดชําระ จําเลยไม่ชําระหนี้ ขอให้ศาลบังคับให้จําเลยชําระหนี้แก่โจทก์จํานวน 5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จําเลยยื่นคําให้การแก้คดีตามกฎหมาย ต่อมาศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้จําเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ให้จําเลยชําระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ จําเลยไม่พอใจคําพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงต้องการยื่นอุทธรณ์ ก่อนที่ระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์จะสิ้นสุดลง จําเลยยื่นคําร้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นคําฟ้อง อุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน ต่อมาศาลชั้นต้นมีคําสั่งอนุญาตตามคําร้องของจําเลย ดังนี้ คําสั่งอนุญาต

ตามคําร้องของศาลชั้นต้นเป็นคําสั่งระหว่างการพิจารณาหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 226 “ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคําสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน คู่ความที่โต้แย้ง ชอบที่จะอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น เป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ไม่ว่าศาลจะได้มีคําสั่งให้รับคําฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ให้ถือว่าคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคําฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 เป็นคําสั่ง ระหว่างพิจารณา”

วินิจฉัย

คําสั่งของศาลที่จะถือว่าเป็นคําสั่งในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226 นั้น มีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

1 จะต้องเป็นคําสั่งของศาลที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินหรือจําหน่ายคดี

2 เมื่อศาลสั่งไปแล้วไม่ทําให้คดีเสร็จไปจากศาล กล่าวคือ ศาลยังต้องทําคดีนั้นต่อไป 3 ไม่ใช่คําสั่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 227 และมาตรา 228

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลย และต่อมาศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้จําเลยเป็น ฝ่ายแพ้คดี จําเลยไม่พอใจคําพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงต้องการอุทธรณ์ และก่อนที่ระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ จะสิ้นสุดลง จําเลยยื่นคําร้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นคําฟ้องอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน และศาลชั้นต้นได้มีคําสั่ง อนุญาตตามคําร้องของจําเลยนั้น คําสั่งอนุญาตตามคําร้องของศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมไม่เป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226 เพราะเป็นคําสั่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาแล้ว มิใช่คําสั่งในขณะที่ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา

สรุป คําสั่งอนุญาตตามคําร้องของศาลชั้นต้นไม่เป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจําเลยให้จําเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดิน 10 ไร่ ราคา 10 ล้านบาท ให้โจทก์ฐานผิดสัญญา จําเลยให้การต่อสู้ว่าจําเลยไม่ได้กระทําผิดสัญญาหรือมิฉะนั้นสัญญาเป็นโมฆะ ในระหว่างพิจารณาโจทก์เห็นว่าจําเลยเข้าไปในที่ดินที่พิพาทและขุดดินไปขายและยังขุดอยู่ และ จําเลยจะดําเนินการให้ทําการจดทะเบียนโอนขายที่ดินที่พิพาท ทั้งที่ดินที่พิพาทมีรายได้ค่าเช่า ใน ระหว่างพิจารณาเดือนละกว่า 100,000 บาท และจําเลยรับไปแต่ฝ่ายเดียว หากต่อมาโจทก์เป็น ฝ่ายชนะที่ดินที่พิพาทก็จะต้องเสื่อมราคาเสื่อมประโยชน์ในการใช้สอยเป็นที่เสียหายแก่โจทก์ และ หากจําเลยโอนขายไปแล้วโจทก์ก็จะบังคับให้จําเลยไปจดทะเบียนโอนไม่ได้โจทก์ก็จะต้องเสียสิทธิ ทั้งโจทก์ก็จะต้องเสียสิทธิไม่ให้ผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินที่พิพาทในระหว่างพิจารณา โจทก์มาถามท่านว่าโจทก์จะยื่นคําร้องให้ศาลมีคําสั่งห้ามจําเลยขุดดินในที่ดินที่พิพาทและยื่นคําร้อง ให้ศาลมีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยและโอนขายที่ดินที่พิพาท ทั้งจะยื่นคําร้องขอให้ศาลมีคําสั่งตั้งผู้จัดการ เพื่อรวบรวมผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินที่พิพาทในระหว่างพิจารณามาวางต่อศาลไว้ก่อนมี

คําพิพากษาได้หรือไม่ ท่านจะให้คําตอบแก่โจทก์อย่างไรและเพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 254 “ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคําฟ้อง หรือในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคําขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ ดังต่อไปนี้

(2) ให้ศาลมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยกระทําซ้ําหรือกระทําต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือ การผิดสัญญาหรือการกระทําที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคําสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์ อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทําของจําเลยหรือมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยโอน ขาย ยักย้ายหรือจําหน่าย ซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลย หรือมีคําสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าหรือการบุบสลาย ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

(3) ให้ศาลมีคําสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นผู้มีอํานาจหน้าที่ตาม กฎหมาย ระงับการจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือการเพิกถอนการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับ ทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยหรือที่เกี่ยวกับการกระทําที่ถูกฟ้องร้องไว้ชั่วคราว จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น…”

มาตรา 264 “นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 253 และมาตรา 254 คู่ความชอบที่จะยืน คําขอต่อศาล เพื่อให้มีคําสั่งกําหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับ ตามคําพิพากษา เช่น ให้นําทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก หรือให้ตั้งผู้จัดการ หรือผู้รักษาทรัพย์สินของห้างร้านที่ทําการค้าที่พิพาท หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครอง ของบุคคลภายนอก

คําขอตามวรรคหนึ่งให้บังคับตามมาตรา 21 มาตรา 25 มาตรา 227 มาตรา 228 มาตรา 260 และมาตรา 262”

วินิจฉัย

บทบัญญัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่โจทก์ในการขอให้ศาลมีคําสั่ง กําหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณา โดยหากโจทก์เห็นว่าโจทก์จะได้รับ ความเสียหายจากการกระทําของจําเลย โจทก์ก็ชอบที่จะร้องขอให้ศาลมีคําสั่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 ได้ แต่การ ร้องขอนั้น โจทก์จะต้องร้องขอเพื่อไม่ให้โจทก์ต้องเสียหายในเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจําเลยด้วย เพราะถ้า ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์ฟ้องบังคับจําเลยแล้ว โจทก์จะร้องขอให้ศาลมีคําสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรานี้ไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์เห็นว่าจําเลยเข้าไปในที่ดินพิพาทและขุดดินไปขายและยังขุดอยู่ และจําเลยจะดําเนินการให้ทําการจดทะเบียนโอนขายที่ดินที่พิพาท ซึ่งจะทําให้โจทก์เสียหายและเสียสิทธิใน ที่ดินที่พิพาทนั้น โจทก์จะยื่นคําร้องขอให้ศาลมีคําสั่งห้ามจําเลยขุดดินในที่ดินที่พิพาทและยื่นคําร้องให้ศาลมี คําสั่งห้ามมิให้จําเลยโอนขายที่ดินที่พิพาท ซึ่งเป็นการร้องขอให้ศาลมีคําสั่งกําหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครอง ประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 (2) ได้หรือไม่นั้น แยกวินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

กรณีที่ 1 การที่โจทก์ฟ้องขอให้จําเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินที่พิพาท ซึ่งหากจําเลยโอนขาย ไปแล้ว ถ้าโจทก์ชนะคดีโจทก์ก็จะต้องเสียหายและเสียสิทธิในที่ดินที่พิพาท ดังนั้นเพื่อไม่ให้โจทก์ต้องเสียหายและ เสียสิทธิในที่ดินที่พิพาท โจทก์ย่อมสามารถที่จะร้องขอให้ศาลมีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยโอนขายที่ดินที่พิพาทได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 (2) หรือจะขอให้ศาลมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินระงับการจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินที่พิพาท ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 (3) ไว้ก่อนมีคําพิพากษาก็ได้

กรณีที่ 2 การที่โจทก์จะร้องขอให้ศาลมีคําสั่งห้ามมิให้จําเลยขุดดินในที่ดินที่พิพาทตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 (2) นั้น โจทก์จะร้องขอกรณีนี้ไม่ได้ เพราะไม่เกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์ฟ้องบังคับจําเลยแต่อย่างใด

ส่วนการที่โจทก์จะยื่นคําร้องขอให้ศาลมีคําสั่งตั้งผู้จัดการเพื่อรวบรวมผลประโยชน์อันเกิด จากที่ดินที่พิพาทนั้น เป็นวิธีการคุ้มครองชั่วคราวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 ที่โจทก์จะต้องร้องขอเพื่อคุ้มครอง ประโยชน์ของโจทก์หากต่อมาโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโจทก์จะได้ไม่เสียสิทธิในผลประโยชน์นั้น แต่ตามข้อเท็จจริง ปรากฏว่าที่ดินที่พิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจําเลยอยู่ ดอกผลอันเกิดจากที่ดินที่พิพาทในระหว่างพิจารณา ย่อมตกแก่จําเลย ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิได้แม้ต่อมาโจทก์จะเป็นฝ่ายชนะคดี ดังนั้น โจทก์จะขอให้ศาลมีคําสั่งตั้ง ผู้จัดการเพื่อรวบรวมผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินที่พิพาทมาวางต่อศาลไม่ได้ เพราะมิใช่เป็นกรณีคุ้มครอง ประโยชน์ของผู้ขอตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 แต่อย่างใด

สรุป ถ้าโจทก์มาถามข้าพเจ้าว่าจะยื่นคําร้องให้ศาลมีคําสั่งดังกล่าวได้หรือไม่ ข้าพเจ้าจะให้ คําตอบแก่โจทก์ตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 4. ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจําเลยยินยอมชําระหนี้จํานวน 1,000,000 บาท ให้โจทก์ โดยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 1 ใช้หนี้ให้โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันถัดจากวันทําสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ ศาลชั้นต้นออกคําบังคับแก่จําเลยโดยชอบแล้ว เมื่อครบกําหนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จําเลยไม่ปฏิบัติตามยอม โจทก์ยื่นคําขอให้ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ของจําเลยขายทอดตลาดชําระหนี้ตาม

คําพิพากษา ให้วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งให้ออกหมายบังคับคดีตามคําขอของโจทก์ได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 271 “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตาม คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยอาศัย และตามคําบังคับที่ออกตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น”

มาตรา 278 “ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอํานาจในฐานเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา ในอันที่จะรับชําระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้นํามาวางและออกใบรับให้ กับมีอํานาจที่จะยึดหรืออายัดและยึดถือ ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคําพิพากษาไว้ และมีอํานาจที่จะเอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด”

มาตรา 282 “ถ้าคําพิพากษาหรือคําสั่งใดกําหนดให้ชําระเงินจํานวนหนึ่ง ภายใต้บังคับแห่ง บทบัญญัติห้ามาตราต่อไปนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอํานาจที่จะรวบรวมเงินให้พอชําระตามคําพิพากษาหรือ คําสั่งโดยวิธียึดหรืออายัด และขายทรัพย์สินของลูกหนี้”

วินิจฉัย

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจําเลยยินยอมชําระหนี้ จํานวน 1,000,000 บาท ให้โจทก์ โดยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 1 ใช้หนี้ให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันถัดจากวันทําสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลชั้นต้นออกคําบังคับแก่จําเลยโดยชอบแล้ว แต่ เมื่อครบกําหนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความจําเลยไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงยื่นคําขอให้ศาลชั้นต้นออกหมาย บังคับคดีให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ของจําเลยขายทอดตลาดชําระหนี้ตามคําพิพากษานั้น เมื่อหนี้ที่จําเลยจะต้อง ปฏิบัติตามคําพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งการบังคับคดีจะต้องอาศัยเป็นหลักในการบังคับคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 เป็นหนี้ที่จําเลยต้องกระทําด้วยการจดทะเบียนโอนห้องชุดเลขที่ 1 ใช้แทนหนี้เงินที่จะต้องชําระแก่โจทก์ มิใช่เป็น หนี้เงินที่การบังคับคดีจะต้องกระทําโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจําเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคําพิพากษา และนําออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 278 และ 282 และหนี้ที่จําเลยต้องจดทะเบียนโอนห้องชุดเป็น หนี้บังคับให้จําเลยทํานิติกรรม ซึ่งการบังคับคดีสามารถกระทําได้โดยการให้ถือเอาคําพิพากษาของศาลแทนการ แสดงเจตนา กรณีจึงมิใช่การบังคับคดีที่จะต้องอาศัยหรือดําเนินการโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 275 และ 276 ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคําขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่ง ให้ออกหมายบังคับคดีตามคําขอของโจทก์ไม่ได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 2603/2530, 11979/2557)

สรุป ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งให้ออกหมายบังคับคดีตามคําขอของโจทก์ไม่ได้

 

Advertisement