การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า จําเลยเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคําสั่งศาล โดยเป็นผู้พิทักษ์ของนางสวยคนเสมือนไร้ความสามารถและได้รับอนุญาตจากศาลให้ทํานิติกรรมขายที่ดิน ของนางสวยแทนนางสวย จําเลยครอบครองเงินของนางสวยซึ่งได้มาจากการขายที่ดินแล้วเบียดบัง ยักยอกเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของจําเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 354 และให้จําเลยคืนเงินแก่กองมรดกของนางสวย จําเลยให้การปฏิเสธ ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณา ได้ความว่าขณะที่จําเลยขายที่ดินของนางสวยตามที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง แล้วยักยอกเงินไปนั้น นางสวยยังมีชีวิตอยู่แต่เป็นอัมพาตเดินไม่ได้และยังไม่ได้ดําเนินคดีแก่จําเลย ต่อมานางสวยถึงแก่ความตาย ศาลมีคําสั่งตั้งนายหล่อบุตรของนางสวยเป็นผู้จัดการมรดก นายหล่อ ตรวจสอบทรัพย์สินของนางสวยทราบว่าจําเลยเอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินของนางสวยไปเป็น ประโยชน์ส่วนตัว จึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีแก่จําเลย พนักงานสอบสวน ได้ทําการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการจึงเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้

จงวินิจฉัยว่า พนักงานอัยการมีอํานาจ ฟ้องคดีนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”

(7) “คําร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทําความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทําความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทําให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทําความผิดได้รับโทษ”

มาตรา 3 “บุคคลดังระบุในมาตรา 4, 5 และ 6 มีอํานาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตามเงื่อนไข ที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

(1) ร้องทุกข์”

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”

มาตรา 28 “บุคคลเหล่านี้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล

(1) พนักงานอัยการ

(2) ผู้เสียหาย

มาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิด นั้นก่อน”

มาตรา 121 วรรคสอง “แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทําการสอบสวนเว้นแต่จะมี คําร้องทุกข์ตามระเบียบ

วินิจฉัย

โดยหลักการแล้วพนักงานอัยการเป็นบุคคลผู้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 28 (1) แต่ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน (ป.วิ.อาญา มาตรา 120) และถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทําการสอบสวนเว้นแต่จะได้มีคําร้องทุกข์ ตามระเบียบ (ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า จําเลยเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น ตามคําสั่งศาล โดยเป็นผู้พิทักษ์ของนางสวยคนเสมือนไร้ความสามารถและได้รับอนุญาตจากศาลให้ทํานิติกรรม ขายที่ดินของนางสวยแทนนางสวย จําเลย ครอบครองเงินของนางสวยซึ่งได้มาจากการขายที่ดินแล้วเบียดบังยักยอก เอาเงินดังกล่าวไปเป็นของจําเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 354 และให้จําเลยคืนเงิน แก่กองมรดกของนางสวยนั้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคือพนักงานอัยการมีอํานาจฟ้องคดีนี้หรือไม่

คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า ขณะที่จําเลยขายที่ดินของนางสวยตามที่ได้รับอนุญาต จากศาลเยาวชนและครอบครัวกลางแล้วยักยอกเงินไปนั้น นางสวยยังมีชีวิตอยู่เพียงแต่เป็นอัมพาตเดินไม่ได้และ ยังไม่ได้ดําเนินคดีแก่จําเลย ต่อมานางสวยถึงแก่ความตาย ศาลมีคําสั่งตั้งนายหล่อบุตรของนางสวยเป็นผู้จัดการ มรดก และเมื่อนายหล่อตรวจสอบทรัพย์สินของนางสวยจึงทราบว่าจําเลยเอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินของนางสวย ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว จึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีแก่จําเลย เมื่อพนักงานสอบสวน ได้ทําการสอบสวนแล้วพนักงานอัยการจึงเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้นั้น เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า การที่จําเลยได้ทําการเบียดบังยักยอกเอาเงินจากการขายที่ดินของนางสวยไปนั้น ผู้เสียหายซึ่งมีอํานาจร้องทุกข์ ในคดีนี้คือนางสวยมิใช่นายหล่อ เพราะความผิดเกิดขึ้นในขณะที่นางสวยยังมีชีวิตอยู่ และแม้ว่านางสวยจะเป็น อัมพาตแต่ก็มิใช่กรณีที่นางสวยซึ่งเป็นผู้เสียหายถูกทําร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2) อันจะทําให้นายหล่อสามารถจัดการแทนผู้เสียหายได้

ดังนั้น นายหล่อจึงไม่มีอํานาจ ร้องทุกข์แทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) และ (7) ประกอบมาตรา 5 (2)

เมื่อข้อเท็จจริงของคดีนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัว และผู้เสียหายคือนางสวยมิได้ร้องทุกข์ไว้ย่อมมีผล ทําให้พนักงานสอบสวนไม่มีอํานาจสอบสวน และพนักงานอัยการย่อมไม่มีอํานาจฟ้องคดีนี้เช่นเดียวกันตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคสอง ประกอบมาตรา 120

สรุป พนักงานอัยการไม่มีอํานาจฟ้องคดีนี้

 

ข้อ 2. นายเขียวฟ้องนายดําเป็นจําเลยในข้อหาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง นายเขียวมีความจําเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นการด่วนและต้องรักษาตัว เป็นเวลานาน ไม่สะดวกในการดําเนินคดีจึงยื่นคําร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคําสั่งอนุญาต ต่อมา หลังจากที่นายเขียวรักษาตัวจนหายเป็นปกติแล้ว นายเขียวได้ยื่นฟ้อ นายดําเป็นจําเลยต่อศาลใหม่ ดังนี้ นายเขียวจะยื่นฟ้องนายดําต่อศาลได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 36 “คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว จะนํามาฟ้องอีกหาได้ไม่” มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้

(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคําร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้อง ตามกฎหมาย”

วินิจฉัย

ในคดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น เมื่อได้ถอนคําร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตาม กฎหมายแล้ว สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป (ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (2) และคดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจาก ศาลแล้วนั้น จะนํามาฟ้องอีกหาได้ไม่ (ป.วิ.อาญา มาตรา 36)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเขียวฟ้องนายดําเป็นจําเลยในข้อหาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความกันได้ และก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง นายเขียว ได้ยื่นคําร้องขอถอนฟ้อง และศาลชั้นต้นมีคําสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องแล้วนั้น ย่อมมีผลทําให้สิทธินําคดีอาญามาฟ้อง ระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (2) และนายเขียวจะนําคดีอาญาดังกล่าวซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้วนั้น มาฟ้องอีกไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 36 ดังนั้น กรณีดังกล่าวนายเขียวจะยื่นฟ้องนายดําเป็นจําเลยต่อศาลใหม่ อีกไม่ได้

สรุป

นายเขียวจะยื่นฟ้องนายดําเป็นจําเลยต่อศาลใหม่ไม่ได้

 

ข้อ 3. ศาลอาญาออกหมายจับนายดําผู้ต้องหาตามคําร้องขอของพนักงานสอบสวนในข้อหาชิงทรัพย์สร้อยคอทองคําของผู้เสียหาย ต่อมานายดําผู้ต้องหายื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนหมายจับ โดยอ้างว่าไม่ใช่คนร้ายที่ชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นไต่สวนคําร้องแล้วมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ เพิกถอนหมายจับของนายดําและยกคําร้อง

ดังนี้ นายดําผู้ต้องหาจะอุทธรณ์คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เพิกถอนหมายจับได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 59 “ศาลจะออกคําสั่งหรือหมายจับ หมายค้น หรือหมายขัง ตามที่ศาลเห็นสมควรหรือ มีผู้ร้องขอก็ได้

ในกรณีที่ผู้ร้องขอเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ ต้องเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสาม หรือตํารวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตํารวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป )

ในกรณีที่จําเป็นเร่งด่วนซึ่งมีเหตุอันควรโดยผู้ร้องขอไม่อาจไปพบศาลได้ ผู้ร้องขออาจร้องขอ ต่อศาลทางโทรศัพท์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นที่เหมาะสม เพื่อขอให้ ศาลออกหมายจับหรือหมายค้นก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้เมื่อศาลสอบถามจนปรากฏว่ามีเหตุที่จะออกหมายจับ หรือหมายค้นได้ตามมาตรา 59/1 และมีคําสั่งให้ออกหมายนั้นแล้ว ให้จัดส่งสําเนาหมายเช่นว่านี้ไปยังผู้ร้องขอ โดยทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่กําหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

เมื่อได้มีการออกหมายตามวรรคสามแล้ว ให้ศาลดําเนินการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขอหมายมาพบศาล เพื่อสาบานตัวโดยไม่ชักช้า โดยจดบันทึกถ้อยคําของบุคคลดังกล่าวและลงลายมือชื่อของศาลผู้ออกหมายไว้ หรือ จะใช้เครื่องบันทึกเสียงก็ได้โดยจัดให้มีการถอดเสียงเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของศาลผู้ออกหมาย บันทึกที่มี การลงลายมือชื่อรับรองดังกล่าวแล้ว ให้เก็บไว้ในสารบบของศาล หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่าได้มี การออกหมายไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ศาลอาจมีคําสั่งให้เพิกถอน หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมาย เช่นว่านั้นได้ ทั้งนี้ ศาลจะมีคําสั่งให้ผู้ร้องขอจัดการแก้ไขเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง ตามที่เห็นสมควรก็ได้”

มาตรา 68 “หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมวดนั้นขาดอายุความ หรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 59 วรรคสามและวรรคสี่ และมาตรา 68 นั้น มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ กระบวนการยุติธรรมในชั้นการขอออกหมายจับ การเพิกถอนหมายจับ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายจับ ตลอดจน การแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการออกหมายจับผู้ต้องหาโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้นเป็นอํานาจ โดยเฉพาะของศาลชั้นต้นซึ่งออกหมายจับเท่านั้น ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคําสั่งยกคําร้องขอให้ยกเลิกหรือ เพิกถอนหมายจับ ผู้ร้องจึงอุทธรณ์หรือฎีกาอีกไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลอาญาออกหมายจับนายดําผู้ต้องหาตามคําร้องขอของพนักงานสอบสวน และต่อมานายดําผู้ต้องหายื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนหมายจับโดยอ้างว่าไม่ใช่คนร้ายที่ชิงทรัพย์ของ ผู้เสียหาย เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนคําร้องแล้วจึงมีคําสั่งไม่อนุญาตให้เพิกถอนหมายจับนายดําและยกคําร้องนั้น นายดําผู้ต้องหาจะอุทธรณ์คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เพิกถอนหมายจับไม่ได้

สรุป

นายดําผู้ต้องหาจะอุทธรณ์คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เพิกถอนหมายจับไม่ได้

 

ข้อ 4. ร.ต.อ.เก่งกล้า พนักงานสอบสวนทําการสอบสวนนายถั่วลันเตาผู้ต้องหา อายุ 28 ปี ในข้อหากระทําชําเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยมีอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ โดยก่อนเริ่มถามคําให้การ ร.ต.อ.เก่งกล้าถามนายถั่วลันเตาว่ามีทนายความหรือไม่ นายถั่วลันเตา ตอบว่าไม่มีแต่ไม่ต้องการทนายความเพราะสํานึกผิดในการกระทํา ร.ต.อ.เก่งกล้าจึงแจ้งข้อหาและ สิทธิของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 วรรคหนึ่งให้ทราบ ก่อนถามคําให้การ หลังจากที่นายถั่วลันเตาได้ฟังการแจ้งสิทธิดังกล่าว นายถั่วลันเตาก็ยังยืนยัน ต่อ ร.ต.อ.เก่งกล้าว่าไม่ต้องการทนายความ ร.ต.อ.เก่งกล้าจึงถามคําให้การนายถั่วลันเตาโดยที่ ไม่มีทนายความและนายถั่วลันเตายอมให้การโดยเต็มใจ ร.ต.อ.เก่งกล้าจึงจดคําให้การไว้

ดังนี้ ถ้อยคําที่นายถั่วลันเตาให้ไว้ต่อ ร.ต.อ.เก่งกล้า จะสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ ความผิดของนายถั่วลันเตาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ “ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสามได้กระทําโดยร่วมกระทําความผิดด้วยกัน อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือ กระทํากับเด็กชายในลักษณะเดียวกันและเด็กนั้นไม่ยินยอม หรือได้กระทําโดยมีอาวุธปืนหรือ วัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธ ต้องระวางโทษจําคุกตลอดชีวิต”

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 134/1 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหา มีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหา ว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความ หรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้”

มาตรา 134/2 “ให้นําบทบัญญัติในมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวน ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี”

มาตรา 134/3 “ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําตนได้”

มาตรา 134/4 “ในการถามคําให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า

(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคําที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้ เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้

(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําตนได้ เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคําให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้

ถ้อยคําใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนกอนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะ ดําเนินการตามมาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และมาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด ของผู้นั้นไม่ได้”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน 18 ปีในวันที่ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา (ไม่คํานึงว่าในขณะกระทําความผิดจะมีอายุเท่าใดก็ตาม) ก่อนเริ่มถามคําให้การ ให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ กรณีนี้เป็นบทบังคับ เด็ดขาดหากผู้ต้องหาไม่มีทนายความและแม้จะไม่ต้องการก็ต้องจัดหาทนายความให้เสมอ (ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง)

ในส่วนคดีที่มีอัตราโทษจําคุก (ไม่ใช่คดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน 18 ปี) ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหา ต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้ แต่ถ้าหากผู้ต้องหาไม่ต้องการ ไม่จําต้องจัดหาให้แต่ประการใด (ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การท ร.ต.อ.เก่งกล้าพนักงานสอบสวนทําการสอบสวนนายถั่วลันเตาผู้ต้องหา อายุ 28 ปี ในข้อหากระทําชําเราเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี โดยมีอาวุธปืนซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุกตลอดชีวิตนั้น ร.ต.อ.เก่งกล้าจึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1 วรรคสอง กล่าวคือ ก่อนเริ่มถามคําให้การ ร.ต.อ.เก่งกล้า ต้องถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความให้จัดหาทนายความให้ แต่ข้อเท็จจริง ปรากฏว่า หลังจากที่ ร.ต.อ.เก่งกล้าได้ถามนายถั่วลันเตาวามีทนายความหรือไม่ นายถั่วลันเตาตอบว่าไม่มี แต่ ไม่ต้องการทนายความ ดังนี้ ร.ต.อ.เก่งกล้าจึงไม่ต้องจัดหาทนายความให้นายถั่วลันเตา และเมื่อ ร.ต.อ.เก่งกล้า ได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/4 วรรคหนึ่ง ให้นายถั่วลันเตาทราบก่อนถาม คําให้การแล้ว นายถั่วลันเตาก็ยอมให้การโดยเต็มใจ ร.ต.อ.เก่งกล้าจึงได้จดคําให้การไว้ ดังนั้นถ้อยคําที่นายถั่วลันเตา ให้ไว้ต่อ ร.ต.อ.เก่งกล้าจึงสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายถั่วลันเตาได้

สรุป ถ้อยคําที่นายถั่วลันเตาให้ไว้ต่อ ร.ต.อ.เก่งกล้าสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ ความผิดของนายถั่วลันเตาได้

Advertisement