การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายเอก (มีภูมิลําเนาที่จังหวัดอ่างทอง) สั่งซื้อสินค้าจากนายโท (มีภูมิลําเนาอยู่จังหวัดชลบุรี) โดยทําคําสั่งซื้อเป็นจดหมายส่งไปยังนายโทที่จังหวัดชลบุรี เมื่อนายโทได้รับคําสั่งซื้อทางจดหมายแล้ว ก็ได้ส่งสินค้าไปให้นายเอกที่จังหวัดอ่างทอง ปรากฏว่านายเอกได้รับสินค้าไปแล้วแต่ไม่ยอมชําระค่าสินค้า นายโทจึงยื่นฟ้องนายเอกต่อศาลจังหวัดชลบุรี จะสามารถทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

วินิจฉัย

การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ต้องฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่ มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตามมาตรา 4 (1) ซึ่งคําว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิ อันจะทําให้เกิดอํานาจฟ้อง ซึ่งในกรณีของสัญญานั้น สถานที่ที่มูลคดีเกิดคือสถานที่ที่สัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างนายเอกกับนายโทเป็นสัญญาระหว่างบุคคล ซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง สัญญาจะเกิดก็ต่อเมื่อคําสนองกลับมาถึงผู้เสนอ ซึ่งจากข้อเท็จจริง นายเอกทําคําเสนอ ไปยังนายโท แม้นายโทจะไม่ได้ทําคําสนองตอบกลับมา แต่นายโทก็ได้ส่งสินค้าไปให้นายเอกที่จังหวัดอ่างทอง ซึ่งถือเป็นคําสนองโดยปริยาย ดังนั้น เมื่อสินค้าถูกส่งมายังจังหวัดอ่างทองถือว่าสัญญาเกิดที่จังหวัดอ่างทอง มูลคดีจึงเกิดขึ้นที่จังหวัดอ่างทอง ประกอบกับจําเลยคือนายเอกก็มีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดอ่างทอง นายโทจึงสามารถ ยื่นฟ้องนายเอกได้ที่ศาลจังหวัดอ่างทองเท่านั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1) จะไปยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดชลบุรีไม่ได้

สรุป

นายโทจะยื่นฟ้องนายเอกต่อศาลจังหวัดชลบุรีไม่ได้

 

ข้อ 2. โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า จําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 ขับรถด้วยความประมาทในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 ชนโจทก์ได้รับความเสียหายขอให้จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย แก่โจทก์ จําเลยที่ 1 ยื่นคําให้การยอมรับ แต่จําเลยที่ 2 ยื่นคําให้การว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําให้การของจําเลยที่ 2 จะมีผลถึงจําเลยที่ 1 หรือไม่ และหากศาลเห็นว่าคดีนี้ ขาดอายุความแล้ว สามารถยกฟ้องจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ทั้งสองคนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 59 “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วม หรือจําเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคล เหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชําระหนี้ ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมาย บัญญัติไว้ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้

(1) บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทําไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่ คู่ความร่วมคนอื่น ๆ

(2) การเลื่อนคดีหรือการงดพิจารณาคดีซึ่งเกี่ยวกับคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้น ให้ใช้ถึงคู่ความ ร่วมคนอื่นด้วย”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 (1) การที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป เป็นคู่ความในคดีเดียวกัน โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมนั้น หากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี และมูลความแห่งคดีเป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้แล้ว บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทําโดยหรือ ทําต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้น ให้ถือว่าได้ทําโดยหรือทําต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่ คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทําไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วมกันโดยเป็นหนี้ที่ไม่อาจ แบ่งแยกจากกันได้นั้น แม้จําเลยที่ 1 จะยื่นคําให้การยอมรับ แต่จําเลยที่ 2 ยื่นคําให้การว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว คําให้การของจําเลยที่ 2 ย่อมมีผลถึงจําเลยที่ 1 ด้วย เพราะถือเป็นกระบวนการพิจารณาซึ่งได้ทําโดย คู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย อีกทั้งเป็นกระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งได้กระทําไปโดยไม่เป็นที่เสื่อมเสียแก่ คู่ความร่วมคนอื่น ๆ แต่อย่างใด

ดังนั้น หากศาลเห็นว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว แม้จําเลยที่ 1 จะมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความ ก็ตาม ศาลก็สามารถยกฟ้องจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ได้

สรุป

คําให้การของจําเลยที่ 2 จะมีผลถึงจําเลยที่ 1 ด้วย และถ้าศาลเห็นว่าคดีนี้ขาดอายุความ แล้ว ศาลสามารถยกฟ้องจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ได้

 

ข้อ 3. โจทก์ยื่นคําฟ้องขอให้จําเลยรับผิดในกรณีละเมิด ศาลชั้นต้นสั่งคําฟ้องว่า “รับคําฟ้องหมายส่งสําเนาให้จําเลย ถ้าส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง” ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าพนักงานส่งหมายไม่ได้จึงแจ้งต่อศาลถึงการส่งหมายไม่ได้ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559 ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งผลของการส่งหมายให้โจทก์ทราบ แต่มีคําสั่งว่า “รอโจทก์แถลงภายใน 7 วัน” เมื่อโจทก์ไม่มาแถลงภายใน 7 วัน ศาลชั้นต้นจึงมีคําสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้จําหน่ายคดีออกจาก สารบบความ ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสั่งทิ้งฟ้องดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 70 “บรรดาคําฟ้อง หมายเรียกและหมายอื่น ๆ คําสั่ง คําบังคับของศาลนั้น ให้ เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งให้แก่คู่ความหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง

คําฟ้องนั้น ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมในการส่ง ส่วนการนําส่งนั้นโจทก์จะนําส่งหรือไม่ก็ได้ เว้นแต่ศาลจะสั่งให้โจทก์มีหน้าที่จัดการนําส่ง…”

มาตรา 174 “ในกรณีต่อไปนี้ให้ถือว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้อง คือ

(2) โจทก์เพิกเฉยไม่ดําเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกําหนดไว้เพื่อการนั้น โดยได้ส่งคําสั่งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 174 (2) จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

1 ศาลกําหนดเวลาให้ดําเนินคดี

2 ศาลได้ส่งคําสั่งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว

3 โจทก์เพิกเฉยไม่ดําเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกําหนด

ตามอุทาหรณ์ การที่ศาลชั้นต้นสั่งคําฟ้องว่า “รับคําฟ้องหมายส่งสําเนาให้จําเลย ถ้าส่งไม่ได้ ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง” และข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าพนักงาน ส่งหมายไม่ได้จึงแจ้งต่อศาลถึงการส่งหมายไม่ได้ และศาลชั้นต้นมิได้แจ้งผลของการส่งหมายให้โจทก์ทราบ แต่มี คําสั่งว่า “รอโจทก์แถลงภายใน 7 วัน” นั้น เป็นกรณีที่ศาลมิได้สั่งให้โจทก์มีหน้าที่นําส่งหมายตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 70 โจทก์จึงไม่ทราบผลของการส่งหมาย ซึ่งหากเจ้าพนักงานศาลส่งหมายไม่ได้ ต้องมีการแจ้งผลของการ ส่งหมายไม่ได้ให้โจทก์ทราบก่อน ประกอบกับ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 174 (2) ได้กําหนดว่า การที่ศาลจะสั่งว่าโจทก์ ได้ทิ้งฟ้องนั้น ศาลต้องส่งคําสั่งให้โจทก์ทราบโดยชอบเสียก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งผล ของการส่งหมายให้โจทก์ทราบโดยชอบเสียก่อนแต่อย่างใด แต่มีเพียงคําสั่งว่า “รอโจทก์แถลงภายใน 7 วัน” เท่านั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์ไม่มาแถลงภายใน 7 วัน ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและให้จําหน่ายคดีออกจาก สารบบความไม่ได้ เมื่อคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้มีคําสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้จําหน่ายคดีออกจากสารบบความ คําสั่งทิ้งฟ้อง ดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 174 (2)

สรุป

คําสั่งทิ้งฟ้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 4. โจทก์ยื่นฟ้องว่าจําเลยละเมิดโจทก์ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย จําเลยยื่นคําให้การและฟ้องแย้งว่าจําเลยไม่ได้ละเมิด แต่โจทก์ต่างหากที่ละเมิดจําเลย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มา ยื่นคําให้การแก้ฟ้องแย้งภายใน 15 วัน จึงขาดนัดยื่นคําให้การแก้ฟ้องแย้งและจําเลยก็มิได้มายื่นคําขอ ต่อศาลให้ศาลพิพากษาให้ตนชนะคดีโดยขาดนัดภายใน 15 วันนับแต่วันขาดนัด ศาลจึงมีคําสั่งจําหน่ายคดีทั้งหมด (ทั้งที่โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยฟ้องแย้ง) ออกไปจากสารบบความ

ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสั่งจําหน่ายคดีดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 198 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาล ภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาด ให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด

ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคําขอต่อศาลภายในกําหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคําสั่งจําหน่ายคดีนั้น เสียจากสารบบความ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ในคดีฟ้องแย้ง การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยละเมิดโจทก์ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย จําเลยยื่นคําให้การ และฟ้องแย้งว่าจําเลยไม่ได้ละเมิดแต่โจทก์ต่างหากที่ละเมิดจําเลยนั้น ในคดีฟ้องแย้งย่อมถือว่าโจทก์ในฟ้องเดิม เป็นจําเลยในคดีฟ้องแย้ง ดังนั้นโจทก์จึงต้องยื่นคําให้การภายใน 15 วัน ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 178 เมื่อโจทก์ ไม่มายื่นคําให้การแก้ฟ้องแย้งภายใน 15 วัน จึงถือว่าโจทก์ขาดนัดยื่นคําให้การในคดีฟ้องแย้ง

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ (จําเลยในคดีฟ้องแย้ง) ขาดนัดยื่นคําให้การ จําเลยซึ่งมีสถานะเป็นโจทก์ในคดีฟ้องแย้งต้องยื่นคําขอภายใน 15 วัน เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาด ให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจําเลย (โจทก์ในคดีฟ้องแย้ง) มิได้มายื่นคําขอต่อศาล ให้ศาลพิพากษาให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดภายใน 15 วันนับแต่วันขาดนัด การที่ศาลได้มีคําสั่งจําหน่ายคดี ฟ้องแย้ง คําสั่งจําหน่ายคดีดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคสอง

ในคดีฟ้องเดิม เมื่อโจทก์ได้ยื่นฟ้องจําเลย และจําเลยได้ยื่นคําให้การโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่ถือว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ดังนั้น ศาลจึงไม่มีอํานาจสั่งจําหน่ายคดี การที่ศาลมีคําสั่งจําหน่ายคดี ฟ้องเดิม คําสั่งจําหน่ายคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

คําสั่งจําหน่ายคดีฟ้องแย้งชอบด้วยกฎหมาย แต่คําสั่งจําหน่ายคดีฟ้องเดิมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

Advertisement