การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อเอกชัย มีที่ดินอยู่ก่อนอุปสมบทตั้งอยู่ที่จังหวัดแพร่ แต่ภายหลังอุปสมบทแล้วพระภิกษุเอกชัยก็ได้ย้ายจากจังหวัดแพร่มาจําวัดที่วัดป่าในจังหวัดหนองคายเป็นเวลา 20 ปี จึงมรณภาพ นายเอกชนทายาทโดยธรรมของพระภิกษุเอกชัยซึ่งในปัจจุบันนายเอกชนอาศัยอยู่ที่ จังหวัดเชียงใหม่ ต้องการที่จะยื่นคําร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุเอกชัย ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายเอกชนจะสามารถมายื่นคําร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุเอกชัยได้ ในเขตอํานาจศาลจังหวัดใดได้บ้าง เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 จัตวา “คําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลําเนาอยู่ใน เขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย

ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 จัตวา ได้กําหนดให้ศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลในขณะ ถึงแก่ความตายเท่านั้น เป็นศาลที่มีอํานาจพิจารณาคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก เว้นแต่ในกรณีที่เจ้ามรดก ไม่มีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร จึงให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาลนั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พระภิกษุเอกชัยได้ย้ายจากจังหวัดแพร่มาจําวัดที่วัดป่าในจังหวัด หนองคายเป็นเวลา 20 ปี แล้วจึงมรณภาพนั้น นายเอกชนจะต้องยื่นคําร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุเอกชัย ต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลขณะถึงแก่ความตาย ซึ่งก็คือศาลจังหวัดหนองคายเท่านั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 จัตวา นายเอกชนจะไปยื่นต่อศาลจังหวัดแพร่ที่ทรัพย์มรดกตั้งอยู่ หรือยื่นต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นภูมิลําเนาของนายเอกชนไม่ได้

สรุป

นายเอกชนสามารถยื่นคําร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุเอกชัยได้ในเขตอํานาจ ศาลจังหวัดหนองคาย

 

ข้อ 2. นางสาวเต้ยทําสัญญาเช่าซื้อที่ดินพร้อมโรงสีข้าวจากนายต้าโดยตกลงจะผ่อนชําระกันเป็นเวลา 12 เดือน เริ่มชําระเงินงวดแรกในวันทําสัญญา คือวันที่ 1 มกราคม 2557 และจะชําระกันเสร็จสิ้น พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ซึ่งนางสาวเต้ยได้เข้าครอบครองที่ดินพร้อมโรงสี และเริ่มดําเนินกิจการโรงสีต่อจากนายต้าตั้งแต่วันทําสัญญาคือวันที่ 1 มกราคม 2557 ต่อมาเมื่อ นางสาวเต้ยชําระเงินไปเพียง 3 เดือน ในวันที่ 21 มีนาคม 2557 นางสาวขนมปังคู่อริของนางสาวเต้ย ได้มาวางเพลิงเผาโรงสีเพื่อแก้แค้นนางสาวเต้ย นางสาวเต้ยผู้เช่าซื้อโรงสีจึงเป็นโจทก์ยื่นคําฟ้อง นางสาวขนมปัง ให้นางสาวขนมปังรับผิดใช้ค่าเสียหาย นางสาวขนมปังยื่นคําให้การต่อสู้ว่าที่ดิน และโรงสีนี้ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายต้าผู้ให้เช่าซื้ออยู่ เพราะยังผ่อนชําระกันไม่ครบ 12 เดือน นายต้าเท่านั้นที่มีอํานาจฟ้อง นางสาวเต้ยไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและโรงสี นางสาวเต้ยจึง ไม่มีอํานาจฟ้อง ให้ท่านวินิจฉัยว่า นางสาวเต้ยมีอํานาจฟ้องนางสาวขนมปังหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตาม บทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นางสาวเต้ยมีอํานาจฟ้องนางสาวขนมปังหรือไม่ เห็นว่าในการนําคดีเสนอต่อศาลนั้นมิใช่บุคคลใด ๆ จะทําได้เสมอไป ผู้ที่จะนําคดีเสนอต่อศาลได้ จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 55 แล้วได้กําหนดให้บุคคล มีสิทธิเสนอคดีต่อศาลได้ 2 กรณี กล่าวคือ

1 กรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิ์หรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งก็ให้ เสนอเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําฟ้องยืนต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 172

2 กรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาล ในกรณีเป็นเรื่องที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเพราะเหตุว่า มีความจําเป็นเกิดขึ้นจากกฎหมายบัญญัติไว้ตามกฎหมายสารบัญญัติ ให้เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทําเป็น คําร้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 188 (1)

ตามข้อเท็จจริง แม้นางสาวเต้ยจะไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและโรงสีข้าว เนื่องจาก ยังผ่อนชําระเงินไม่ครบก็ตาม แต่นางสาวเต้ยก็ได้จ่ายค่าเช่าซื้อบางส่วนและได้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดิน และโรงสีแล้ว เมื่อนางสาวขนมปังมาวางเพลิงเผาโรงสีข้าว ย่อมทําให้นางสาวเต้ยขาดประโยชน์ในการใช้สอย จึงถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของนางสาวเต้ย ดังนั้น นางสาวเต้ยจึงมีอํานาจฟ้องนางสาวขนมปังตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55

สรุป นางสาวเต้ยมีอํานาจฟ้องนางสาวขนมปัง

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่า จําเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนรถโจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 560,000 บาท ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จําเลยมิได้ยื่นคําให้การภายในกําหนด โจทก์จึงร้องขอต่อศาลให้ตนเป็น ฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การ ศาลเห็นว่าควรสืบพยานต่อไปตามมาตรา 198 ทวิ จึงกําหนดให้ โจทก์นําพยานเข้าสืบ ถึงวันนัดโจทก์ไม่มา ศาลจึงมีคําสั่งจําหน่ายคดีโจทก์จากสารบบความเพราะโจทก์ขาดนัด ดังนี้ ท่านเห็นด้วยกับคําสั่งศาลหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 198 ทวิ วรรคท้าย “ถ้าโจทก์ไม่นําพยานหลักฐานมาสืบตามความในมาตรานี้ภายใน ระยะเวลาที่ศาลกําหนด ให้ถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล และให้ศาลยกฟ้องของโจทก์”

มาตรา 200 วรรคแรก “ภายใต้บังคับมาตรา 198 ทวิ และมาตรา 198 ตรี ถ้าคู่ความฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา”

มาตรา 202 “ถ้าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคําสั่งจําหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ เว้นแต่จําเลยจะได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดําเนินการพิจารณาคดีต่อไป ก็ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาด ตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ การที่ศาลมีคําสั่งจําหน่ายคดีโจทก์จากสารบบความ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อได้ความว่าในวันนัดสืบพยานของโจทก์ โจทก์ไม่มาศาล กรณีเช่นนี้การที่โจทก์ ไม่มาศาลตามกําหนดนัดในวันสืบพยานของตนเอง ย่อมถือว่าโจทก์ไม่นําพยานหลักฐานมาสืบภายในระยะเวลาที่ ศาลกําหนด กฎหมายให้ถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล และศาลต้องยกฟ้องของโจทก์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคท้าย กรณีนี้จะถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาไม่ได้ เพราะบทบัญญัติเรื่องคู่ความขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 202 ประกอบมาตรา 200 วรรคแรก จะต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 198 ทวิ ด้วย ดังนั้น การที่ศาลมีคําสั่ง จําหน่ายคดีโจทก์จากสารบบความจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับคําสั่งศาลที่ให้จําหน่ายคดีโจทก์จากสารบบความ

 

ข้อ 4. คดีเดิมโจทก์ฟ้องขับไล่จําเลย ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่จําเลยและบริวาร ชั้นบังคับคดีนายเอกได้ยื่นคําร้องว่าตนไม่ใช่บริวารของจําเลย ศาลชั้นต้นมีคําสั่งว่านายเอกเป็นบริวารและให้ขับไล่ คดีอยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ โจทก์ฟ้องนายเอกเป็นจําเลยขอให้ขับไล่นายเอกเป็นคดีหลังอีก ดังนี้ ฟ้องคดีหลังของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้อง ฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน”

วินิจฉัย

การฟ้องซ้ำมีบัญญัติไว้ในมาตรา 148 ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

1 คดีนั้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งแล้ว

2 คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นจะต้องถึงที่สุด

3 ห้ามคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก

4 ห้ามเฉพาะประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว

5 ประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุใด ก็ห้ามฟ้องเฉพาะอ้างเหตุนั้นอีก

 

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่ศาลชั้นต้นในคดีเดิมมีคําสั่งว่านายเอกเป็นบริวารและให้ขับไล่นั้น ย่อมเป็นกรณีที่ศาลได้วินิจฉัยในประเด็นอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีแล้วว่านายเอกเป็นบริวารของจําเลยและจะต้อง ถูกขับไล่ ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องนายเอกเป็นจําเลยขอให้ขับไล่นายเอกเป็นคดีหลังอีก จึงเป็นการฟ้องในประเด็น ที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่านายเอกมิได้เป็นคู่ความในคดีเดิม และคดีเดิมยังอยู่ใน ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งถือว่ายังไม่ถึงที่สุด ดังนั้น ฟ้องคดีหลังของโจทก์จึงไม่ครบหลักเกณฑ์ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 อันจะทําให้ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำแต่อย่างใด

สรุป

ฟ้องคดีหลังของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

 

Advertisement