การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. นายใหญ่ถูกฟ้องต่อศาลจังหวัดอุทัยธานี ข้อหาชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 (อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5 บีถึง 10 บี) ต่อมานายใหญ่หลบหนีไม่มาศาล นายหนุ่มผู้พิพากษาประจำศาลในศาลจังหวัดอุทัยธานีได้ออกหมายจับนายใหญ่ การที่นายหนุ่มผู้พิพากษาประจำศาล ออกหมายจับนายใหญ่ ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มาตรา 24 ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) ออกหมายเรียก หมายอาญา หรือหมายสั่งให้ส่งคนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่น
(2) ออกคำสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี
วินิจฉัย
ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 24(1) ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาทุกคนมีอำนาจออกหมายเรียก หมายอาญา หรือหมายสั่งให้ส่งคนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษาในศาลใด จะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา หรือศาลแขวงก็ได้ และอำนาจดังกล่าวนี้เป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียว ไม่จำต้องมีผู้พิพากษาอื่นลงลายมือชื่อเป็นองค์คณะด้วยแต่อย่างใด
ซึ่ง “หมายอาญา” ก็คือ หนังสือซึ่งออกตาม ป.วิ.อาญามาตรา 2(9) และมาตรา 77 ซึ่งสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการจับกุม ขัง จำคุก หรือปล่อยผู้ต้องหา จำเลย หรือ นักโทษ หรือให้ทำการค้นสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งนั่นเอง
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายใหญ่ถูกฟ้องต่อศาลจังหวัดอุทัยธานี ข้อหาชิงทรัพย์ และต่อมา นายใหญ่หลบหนีไม่มาศาล เช่นนี้ นายหนุ่มผู้พิพากษาประจำศาลในศาลจังหวัดอุทัยธานี ย่อมมีอำนาจออกหมายจับ ซึ่งเป็นหมายอาญาประเภทหนึ่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 24(1) ดังนั้น การที่นายหนุ่มผู้พิพากษา ประจำศาลออกหมายจับนายใหญ่ จึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
สรุป การที่นายหนุ่มผู้พิพากษาประจำศาลออกหมายจับนายใหญ่ ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น