การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นายสุธรรมทําสัญญาหมั้นนางสาวรัตนาด้วยแหวนเพชร 1 วง และเงิน 200,000 บาท แต่ไม่มีเงินจึงทําสัญญากู้จํานวน 200,000 บาท ไว้ให้ยึดถือแทน นางสาวรัตนาได้ลาออกจากงานไปอยู่กิน ฉันสามีภริยากับนายสุธรรมและต่อมาได้เตรียมจัดงานสมรสเสียค่าใช้จ่าย 100,000 บาท ในวัน งานสมรส นายสุธรรมได้ไปเข้าพิธีสมรสและจดทะเบียนสมรสกับนางสาวเมตตา แต่นายสุธรรมก็ ไม่ทราบว่านางสาวเมตตาได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เช่นนี้ นางสาวรัตนาจะฟ้อง เรียกเงิน 200,000 บาท และค่าทดแทนอื่นได้อีกหรือไม่ และการสมรสจะมีผลอย่างไร เพราะเหตุใด

จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคแรก “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็น ของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”

มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิด ใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”

มาตรา 1440 “ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้

(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทําการในฐานะ เช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่ อาชีพหรือทางทํามาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส”

มาตรา 1449 “การสมรสจะกระทํามิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคล ซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุธรรมทําสัญญาหมั้นนางสาวรัตนาด้วยแหวนเพชร 1 วงนั้น ถือว่าการหมั้นมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก เพราะได้มีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงคู่หมั้นแล้ว แต่ การทําสัญญากู้เงิน 200,000 บาท ให้นางสาวรัตนายึดถือไว้แทนเงินของหมั้นนั้น ไม่ถือว่าเป็นของหมั้น เพราะ ยังไม่มีการส่งมอบ ดังนั้นนางสาวรัตนาจึงไม่สามารถฟ้องเรียกร้องเงิน 200,000 บาทในภายหลังได้

การที่นายสุธรรมได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวเมตตานั้น แม้นายสุธรรมจะไม่ทราบว่า นางสาวเมตตาได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ดังนี้ก็ไม่ทําให้การสมรสระหว่างนายสุธรรมกับ นางสาวเมตตาเป็นโมฆะ เพราะการสมรสจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1449 ประกอบมาตรา 1495 นั้น ต้องเป็นการสมรสที่ชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถเท่านั้น ดังนั้น การสมรสระหว่างนายสุธรรมกับนางสาวเมตตาจึงมีผลสมบูรณ์

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายสุธรรมได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาวเมตตานั้น ถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้นกับนางสาวรัตนาตามมาตรา 1439 ดังนั้นนางสาวรัตนาจึงสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทน จากนายสุธรรมได้ โดยฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงแห่งหญิงนั้นตามมาตรา 1440(1) และค่าทดแทนความเสียหายที่ตนได้ลาออกจากงานไปอยู่กินกับนายสุธรรมเนื่องจากคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส ตามมาตรา 1440(3) ส่วนการเตรียมการจัดงานสมรสจํานวน 100,000 บาทนั้นจะฟ้องเรียกไม่ได้

สรุป

นางสาวรัตนาจะฟ้องเรียกเงิน 200,000 บาทไม่ได้ แต่ฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหาย ต่อกายและชื่อเสียง และค่าทดแทนความเสียหายที่ตนได้ลาออกจากงานไปอยู่กินกับนายสุธรรมได้ ส่วนการสมรส ระหว่างนายสุธรรมกับนางสาวเมตตามีผลสมบูรณ์

 

ข้อ 2 นายไพศาลได้ข่มขู่อันถึงขนาดให้นางสาวมณีวรรณจดทะเบียนสมรสด้วยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ต่อมานางสาวมณีวรรณได้ตั้งครรภ์ นายไพศาลได้ยกที่ดิน 1 แปลง และรถยนต์ 1 คัน ให้โดยเสน่หา ถูกต้องตามกฎหมาย ในวันที่ 1 สิงหาคม นายไพศาลได้ปล่อยให้นางสาวมณีวรรณพ้นจากการข่มขู่ ไปไหนมาไหนได้โดยอิสระ มารดานางสาวมณีวรรณไม่พอใจจึงฟ้องให้เพิกถอนการสมรสของ นางสาวมณีวรรณที่เป็นโมฆียะนั้น นางสาวมณีวรรณได้ประกาศขายที่ดินและรถยนต์ให้แก่นายสมัย โดยไม่ได้รู้จักกันแต่อย่างใด นายไพศาลเห็นว่า นางสาวมณีวรรณไม่รักตนจึงต้องการฟ้องเอาที่ดิน และรถยนต์คืน เช่นนี้จะฟ้องให้เพิกถอนการสมรสได้หรือไม่ และจะฟ้องเอาที่ดินและรถยนต์คืน ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1469 “สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทําไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามี ภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริต”

มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา” มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”

มาตรา 1507 “ถ้าคู่สมรสได้ทําการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นจะ ไม่ทําการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเพราะถูกข่มขู่เป็นอันระงับ เมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วหนึ่งปีนับแต่ วันที่พ้นจากการข่มขู่”

มาตรา 1508 วรรคแรก “การสมรสที่เป็นโมฆยะเพราะคู่สมรสสําคัญผิดตัวหรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่ เฉพาะแต่คู่สมรสที่สําคัญผิดตัว หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่เท่านั้นขอเพิกถอนการสมรสได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายไพศาลได้ข่มขู่อันถึงขนาดให้นางสาวมณีวรรณจดทะเบียนสมรส ด้วยนั้น การสมรสระหว่างนายไพศาลกับนางสาวมณีวรรณย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 1507 วรรคแรก และเฉพาะคู่สมรสที่ถูกข่มขู่เท่านั้นที่จะฟ้องให้เพิกถอนการสมรสได้ตามมาตรา 1508 ดังนั้น มารดาของ นางสาวมณีวรรณจึงไม่สามารถฟ้องให้เพิกถอนการสมรสได้ แต่นางสาวมณีวรรณสามารถฟ้องให้เพิกถอน การสมรสได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่พ้นจากการข่มขู่ตามมาตรา 1507 วรรคสอง

การที่นายไพศาลได้ยกที่ดินและรถยนต์ให้แก่นางสาวมณีวรรณโดยเสน่หานั้น ย่อมมีผลทําให้ ที่ดินและรถยนต์นั้นตกเป็นสินส่วนตัวของนางสาวมณีวรรณตามมาตรา 1471(3) ซึ่งนางสาวมณีวรรณมีสิทธิ จัดการได้เองโดยลําพังตามมาตรา 1473 ดังนั้นนางสาวมณีวรรณจึงสามารถนําเอาที่ดินและรถยนต์นั้นไปขาย ให้แก่นายสมัยได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากนายไพศาล

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการที่นายไพศาลได้ยกที่ดินและรถยนต์ให้แก่นางสาวมณีวรรณนั้น ถือว่า เป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 เพราะเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทําไว้ต่อกันในระหว่าง เป็นสามีภริยากัน ดังนั้นนายไพศาลมีสิทธิบอกล้างเรียกเอาที่ดินและรถยนต์คืนได้ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่ แต่จะต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริต และเมื่อปรากฏว่านายสมัยได้ซื้อที่ดิน และรถยนต์ไปโดยสุจริต ดังนั้นนายไพศาลจึงฟ้องเรียกที่ดินและรถยนต์คืนไม่ได้

สรุป มารดานางสาวมณีวรรณจะฟ้องให้เพิกถอนการสมรสไม่ได้ และนายไพศาลจะฟ้องเอา ที่ดินและรถยนต์คืนไม่ได้

 

ข้อ 3 นายนทีกับนางสาวสุดาเป็นสามีภริยากันต่อมานางสาวสุดาป่วยมากจึงต้องใช้เวลารักษาเป็นเวลานานจึงยินยอมให้นายนทีร่วมประเวณีกับหญิงอื่นได้ นายนทีได้รู้จักกับนายสมส่วนซึ่งผ่าตัดแปลงเพศ มีหน้าตารูปร่างดี และเอาใจเก่ง ทําให้นายนทีเกิดความชอบพอไปร่วมหลับนอนกันเป็นประจํา และไปเที่ยวเตร่แสดงตัวโดยเปิดเผย นางสาวสุดาทราบก็ไม่พอใจต้องการฟ้องหย่า และเรียกค่าทดแทน จากนายนที่และนายสมส่วน แต่นายนที่ต่อสู้ว่า นางสาวสุดายินยอม เช่นนี้ท่านเห็นอย่างไรเพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

(3) สามีหรือภริยาทําร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยาม อีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทําการ เป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทํานั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อน เกินควรในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคํานึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้”

มาตรา 1517 วรรคแรก “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่ กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุ ฟ้องหย่าไม่ได้”

มาตรา 1523 วรรคแรก “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516(1) ภริยา หรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็น เหตุแห่งการหย่านั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายนทีได้ร่วมหลับนอนกับนายสมส่วนเป็นประจํา และไปเที่ยวเตร่ แสดงตัวโดยเปิดเผยนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นายนทีซึ่งเป็นสามีของนางสาวสุดาได้ยกย่องผู้อื่นฉันภริยาและได้ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ ตามนัยของมาตรา 1516(1) แล้ว ดังนั้นนางสาวสุดาย่อมสามารถฟ้องหย่านายนทีได้ นายนทีจะอ้างว่าการกระทําของตนนั้นนางสาวสุดาได้ยินยอมแล้วตามมาตรา 1517 วรรคแรกไม่ได้ เพราะนางสาวสุดาได้ยินยอมให้ร่วมประเวณีกับหญิงอื่นเท่านั้น และนางสาวสุดาสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก นายนทีสามีและจากนายสมส่วนผู้เป็นเหตุแห่งการหย่านั้นได้ตามมาตรา 1523 วรรคแรก

และนอกจากนั้น การกระทําของนายนที่ถือว่าเป็นการประพฤติชั่วทําให้นางสาวสุดาได้รับ ความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงตามมาตรา 1516(2)(ก) เป็นการทรมานจิตใจนางสาวสุดาอย่างร้ายแรงตาม มาตรา 1516(3) และถือว่านายนทีได้ทําการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงด้วยตามมาตรา 1516(6) ดังนั้นนางสาวสุดาสามารถฟ้องหย่านายนทีได้อีกเพราะเหตุตามมาตรา 1516(2), (3) และ (6) เพียงแต่ การฟ้องหย่าเพราะเหตุดังกล่าวนี้ นางสาวสุดาจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายนทีและนายสมส่วนไม่ได้ เพราะการฟ้องหย่าและสามารถเรียกค่าทดแทนกันได้ตามมาตรา 1523 วรรคแรกนั้น จะต้องเป็นการฟ้องหย่า เพราะเหตุตามมาตรา 1516(1) เท่านั้น

สรุป

นางสาวสุดาสามารถฟ้องหย่านายนทีได้ เพราะเหตุตามมาตรา 1516(1), (2), (3) และ (6) แต่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายนทีและนายสมส่วนได้ก็แต่เฉพาะการฟ้องหย่าเพราะเหตุตามมาตรา 1516(1) เท่านั้น

 

ข้อ 4 นายอํานวยกับนางหรรษาเป็นสามีภริยากัน วันหนึ่งมารดานางหรรษาได้ให้สลากกินแบ่งรัฐบาล 10 ฉบับ แก่นางหรรษา เมื่อออกรางวัล นางหรรษาถูกรางวัล 6 ล้านบาท นางหรรษาจึงนําเงิน 3 ล้านบาทไปซื้อ ที่ดิน 1 แปลง และยกให้นางสาวรัชนีน้องสาว และนำเงิน 3 ล้านบาทไปซื้อรถบรรทุกให้นายกนกเช่า เป็นเวลา 30 เดือน นายอํานวยไม่เห็นด้วยจึงต้องการฟ้องเพิกถอนการทํานิติกรรมนั้น แต่นางหรรษา เห็นว่าเป็นของตนจึงมีสิทธิทําได้ เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา”

มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”

มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อ การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา”

มาตรา 1480 วรรคแรก “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอม จากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอม ของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้ สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่มารดานางหรรษาได้ให้สลากกินแบ่งรัฐบาล 10 ฉบับแก่นางหรรษานั้น สลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวถือว่าเป็นสินส่วนตัวของนางหรรษา เพราะเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มา ระหว่างสมรสโดยการให้โดยเสน่หาตามมาตรา 1471(3) แต่เมื่อมีการออกรางวัลและนางหรรษาถูกรางวัล 6 ล้านบาท เงิน 6 ล้านบาทถือว่าเป็นสินสมรส เพราะเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสตามมาตรา 1474(1)

เมื่อนางหรรษานําเงิน 3 ล้านบาทไปซื้อที่ดิน 1 แปลง ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ดังนั้น เมื่อนางหรรษาจะยกที่ดินแปลงนั้นให้แก่นางสาวรัชนีน้องสาวโดยเสน่หา จึงต้องทําตามมาตรา 1476(5) กล่าวคือจะต้องได้รับความยินยอมจากนายอํานวย เมื่อนางหรรษาได้ยกที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่นางสาวรัชนี น้องสาวโดยเสน่หาโดยปราศจากความยินยอมของนายอํานวย นายอํานวยย่อมสามารถฟ้องให้ศาลเพิกถอน นิติกรรมการให้นั้นได้ตามมาตรา 1480 วรรคแรก

ส่วนการที่นางหรรษาได้นําเงิน 3 ล้านบาทไปซื้อรถบรรทุกให้นายกนกเช่าเป็นเวลา 30 เดือนนั้น ไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1476(3) เพราะแม้รถบรรทุกนั้นจะเป็นสินสมรสแต่ก็เป็นเพียงสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น นางหรรษาจึงสามารถนําไปให้เช่าได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากนายอํานวย นายอํานวยจึงไม่สามารถ ฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เช่าได้

สรุป

นายอํานวยสามารถฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หาได้ แต่จะฟ้องให้ศาล เพิกถอนนิติกรรมการให้เช่าไม่ได้

Advertisement