การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นายประจินกับบิดาได้มาทําสัญญาหมั้นนางสาวนัยนาด้วยให้เครื่องเพชรของครอบครัว 1 ชุดต่อมาอีกสามเดือนนางสาวนัยนาได้พบกับนายสุเทพสามีเก่าซึ่งหย่ากันไปแล้วกว่าหนึ่งปี นายสุเทพ ได้มาขอคืนดีกับนางสาวนัยนาและขอโอกาสจดทะเบียนสมรสอยู่กินกันอีกครั้ง ทั้งสองได้ตกลงกัน ที่จะไปพบกันที่บางแสนเพื่อตกลงพูดคุยกัน ในระหว่างที่กําลังเดินทางไปนั้นนายประจินทราบข่าว ก็ขับรถยนต์ติดตามไปแต่เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต นายสุเทพกับนางสาวนัยนาได้ตกลงจดทะเบียน สมรสกัน บิดาของนายประจินเสียใจและผิดหวังจึงต้องการฟ้องเอาเครื่องเพชรของครอบครัวคืน เช่นนี้ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคแรกและวรรคสอง “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือ โอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง”

มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”

มาตรา 1441 “ถ้าคู่หมั้นฝ่ายหนึ่งตายก่อนสมรส อีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องค่าทดแทนมิได้ ส่วนของหมั้นหรือสินสอดนั้น ไม่ว่าชายหรือหญิงตาย หญิงหรือฝ่ายหญิงไม่ต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายประจินกับบิดาได้มาทําสัญญาหมั้นกับนางสาวนัยนา ด้วย เครื่องเพชรของครอบครัว 1 ชุด นั้น ถือว่าการหมั้นมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก เพราะได้มีการส่งมอบ ของหมั้นให้แก่หญิงคู่หมั้นแล้ว และของหมั้นดังกล่าวย่อมตกเป็นสิทธิของฝ่ายหญิงตามมาตรา 1437 วรรคสอง

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่านายประจินได้เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต จึงเป็นกรณีที่คู่หมั้น ฝ่ายหนึ่งตายก่อนสมรส ซึ่งตามมาตรา 1441 กําหนดไว้ว่า ของหมั้นนั้นไม่ว่าชายหรือหญิงตาย หญิงหรือฝ่ายหญิง ไม่ต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชาย ดังนั้น บิดาของนายประจินซึ่งเป็นคู่สัญญาหมั้นด้วย จึงฟ้องเรียกเอาเครื่องเพชร ของครอบครัวคืนไม่ได้ และการที่นายสุเทพกับนางสาวนัยนาได้ตกลงจดทะเบียนสมรสกันนั้นได้เกิดขึ้นภายหลัง จากที่นายประจินได้เสียชีวิตแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นางสาวนัยนาผิดสัญญาหมั้น ดังนั้นบิดาของ นายประจินจะฟ้องเรียกเอาเครื่องเพชรของครอบครัวคืนตามมาตรา 1439 ไม่ได้เช่นเดียวกัน

สรุป ข้าพเจ้าเห็นว่าบิดาของนายประจินจะฟ้องเรียกเอาเครื่องเพชรของครอบครัวคืนไม่ได้

 

ข้อ 2 จันทร์และอังคาร อายุ 17 ปีบริบูรณ์เท่ากันไปจดทะเบียนสมรสโดยบิดามารดาทั้งสองฝ่ายมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยแต่อย่างใด หลังจากนั้นเมื่อบิดามารดานางอังคารทราบจึงอนุญาตให้นางอังคารไป จดทะเบียนสมรสกับนายถุงทองคนรักอีกคนหนึ่งซึ่งฐานะดีและมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่านายจันทร์ มีอายุ 30 ปีแล้ว และมีอาชีพการงานมั่นคง นางอังคารก็เห็นด้วยเพราะตั้งแต่แต่งงานกับนายจันทร์ ทุกอย่างดูไม่ราบรื่น การสมรสระหว่างนายจันทร์และนางอังคาร นางอังคารและนายถุงทองมีผลในทางกฎหมายอย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1436 “ผู้เยาว์จะทําการหมั่นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา การหมั้นที่ผู้เยาว์ทําโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ”

มาตรา 1448 “การสมรสจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณี ที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทําการสมรสก่อนนั้นได้”

มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”

มาตรา 1454 “ผู้เยาว์จะทําการสมรสให้นําความในมาตรา 1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”

มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”

มาตรา 1502 “การสมรสที่เป็นโมฆียะสิ้นสุดลงเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน”

มาตรา 1509 “การสมรสที่มิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454 การสมรส นั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

การสมรสระหว่างนายจันทร์และนางอังคาร

การที่นายจันทร์และนางอังคารซึ่งเป็นผู้เยาว์และมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ได้ไปจดทะเบียน สมรสกันโดยบิดามารดาทั้งสองฝ่ายมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยแต่อย่างใดนั้น การสมรสดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 1454 ประกอบมาตรา 1436 และมาตรา 1509

แต่อย่างไรก็ตาม การสมรสที่เป็นโมฆียะดังกล่าวนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ายังไม่มีการฟ้อง ให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรส จึงถือว่าการสมรสยังไม่สิ้นสุดลง และถือว่านายจันทร์และนางอังคารยังคง เป็นสามีภริยากันอยู่ (มาตรา 1502)

การสมรสระหว่างนางอังคารและนายถุงทอง

การที่นางอังคารไปจดทะเบียนสมรสกับนายถุงทองขณะที่ตนยังเป็นภริยาของนายจันทร์ ย่อมถือว่านางอังคารได้ทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ (เป็นการสมรสซ้อน) ดังนั้น การสมรสระหว่าง นางอังคารและนายถุงทองจึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1452 ประกอบมาตรา 1495 แม้ว่านางอังคารจะได้รับ ความยินยอมจากบิดามารดาก็ตาม

สรุป การสมรสระหว่างนายจันทร์และนางอังคารมีผลเป็นโมฆียะ ส่วนการสมรสระหว่างนางอังคารกับนายถุงทองมีผลเป็นโมฆะ

 

ข้อ 3 นายเข้มและนางหนูเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย นายเข้มให้สร้อยทับทิมที่เป็นมรดกตกทอดจากคุณย่าแก่นางหนู ต่อมานางหนูเห็นว่าแบบของสร้อยทับทิมไม่เหมาะกับตน นางหนูจึงให้สร้อยทับทิม ดังกล่าวแก่นางน้อยซึ่งเป็นน้าที่เลี้ยงดูนางหนูมาตั้งแต่เล็ก โดยที่นางน้อยไม่ทราบว่าเป็นสร้อยทับทิม ที่นายเข้มให้นางหนู หลังจากนั้นนางหนูและนายเข้มขายที่ดินที่เป็นสินสมรสได้เงินมา 1 ล้านบาท นางหนูนําเงินทั้งหมดไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ โดยนายเข้มไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการซื้อที่ดิน ต่อมานายเข้มทราบเรื่องทั้งหมด นายเข้มโกรธมากเพราะสร้อยทับทิมเป็นสมบัติของตระกูลนายเข้ม นายเข้มไม่ต้องการให้ตกแก่ผู้อื่น อีกทั้งนายเข้มต้องการเก็บเงิน 1 ล้านบาทจากการขายที่ดินไว้ เป็นค่ารักษาพยาบาลเวลาเจ็บป่วย

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นายเข้มจะบอกล้างการให้สร้อยทับทิมแก่นางหนูได้หรือไม่ และสร้อยทับทิมจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร เพราะเหตุใด

(ข) นายเข้มจะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการซื้อที่ดินของนางหนูได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1469 “สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทําไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยา กันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาด จากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริต”

มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา”

มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”

มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานองซึ่ง อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้

(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือ พื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(4) ให้กู้ยืมเงิน

(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(6) ประนีประนอมยอมความ

(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้อง ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายเข้มให้สร้อยทับทิมที่เป็นสินส่วนตัวของนายเข้มแก่นางหนูถือว่าเป็นสัญญา ระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 สร้อยทับทิมจึงตกเป็นสินส่วนตัวของนางหนูตามมาตรา 1471 (3) เพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยการให้โดยเสน่หา นางหนูจึงมีอํานาจจัดการสร้อยทับทิมโดยให้สร้อยทับทิม แก่นางน้อยได้ตามมาตรา 1473

แต่เมื่อเป็นสัญญาระหว่างสมรส แม้ว่านางหนูได้ให้สร้อยทับทิมดังกล่าวแก่นางน้อยแล้ว นายเข้มก็ยังคงมีสิทธิบอกล้างการให้สร้อยทับทิมแก่นางหนูได้ โดยนายเข้มสามารถบอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามี ภริยากันอยู่ หรือภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกระเทือน ถึงสิทธิของบุคคลภายนอกที่ทําการโดยสุจริตตามมาตรา 1469 เมื่อนางน้อยไม่ทราบว่าสร้อยทับทิมที่ตนเองได้รับมา จากนางหนูเป็นสร้อยทับทิมที่นายเข้มให้นางหนูจึงถือว่านางน้อยสุจริต สร้อยทับทิมจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ นางน้อย ดังนั้นนายเข้มจะบอกล้างการให้สร้อยทับทิมแก่นางหนูไม่ได้

(ข) ส่วนการที่นางหนูนําเงินที่เป็นสินสมรสไปซื้อที่ดินโดยที่นายเข้มไม่ได้รู้เห็นและให้ ความยินยอมแต่อย่างใดนั้น การซื้ออสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่การจัดการสินสมรสตามมาตรา 1476 (1) – (8) ที่ สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง นางหนูจึงสามารถซื้อที่ดินตามลําพังได้ ดังนั้นนายเข้มจึงไม่สามารถฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการซื้อที่ดินของนางหนูได้

สรุป

(ก) นายเข้มจะบอกล้างการให้สร้อยทับทิมแก่นางหนูไม่ได้ และสร้อยทับทิมจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางน้อย

(ข) นายเข้มจะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการซื้อที่ดินของนางหนูไม่ได้

 

ข้อ 4 นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมานางไข่ป่วยหนัก น.ส.เป็ดเพื่อนรักนางไข่ซึ่งเป็นสาวโสดก็อาสามาดูแลเพื่อน นางไข่เลยให้ น.ส.เป็ดทําหน้าที่ภริยาอีกหน้าที่หนึ่ง ต่อมานายไก่ และ น.ส.เป็ดมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ด.ช.ห่าน เมื่อนางไข่หายป่วย นายไก่ก็แสดงความรักใคร่นางไข่ อย่างมาก ทําให้ น.ส.เป็ดโกรธตัดอวัยวะเพศชายนายไก่โยนทิ้งแม่น้ำไป นายไก่โกรธนางไข่หาว่า นางไข่ให้ น.ส.เป็ดมาอยู่ด้วยทําให้ตนพิการ นางไข่จึงโกรธสามีมาก นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่จากเหตุที่เกิดทั้งหมดได้หรือไม่ และ ด.ช.ห่านเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของใคร นับแต่เมื่อใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทําให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”

มาตรา 1517 “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุ ฟ้องหย่าไม่ได้”

เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (10) ถ้าเกิดเพราะการกระทําของอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้น จะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้”

มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่จากเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายไก่มี ภรรยาน้อยอีกคนคือ น.ส.เป็ด นั้น นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่ไม่ได้ เพราะการที่นายไก่ได้ น.ส.เป็ด เป็นภริยาอีกคน ซึ่งถือเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (1) นั้นเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1517 วรรคแรก กล่าวคือ นางไข่ ได้ยินยอมและรู้เห็นเป็นใจด้วยกับการที่นายไก่ได้ น.ส.เป็ด เป็นกริยา นางไข่จึงฟ้องหย่าเพราะเหตุนี้ไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายไก่ถูก น.ส.เป็ดตัดอวัยวะเพศจนพิการ นางไข่ย่อมสามารถฟ้องหย่านายไก่ได้ตามมาตรา 1516, (10) เพราะถือว่านายไก่มีสภาพแห่งกายที่ทําให้ ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกทั้งไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1517 วรรคสอง เพราะ น.ส.เป็ดเป็น ผู้กระทําต่อนายไก่ มิใช่นางไข่เป็นผู้กระทํา

(2) ดช.ห่านเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของใคร นับแต่เมื่อใด เห็นว่า ด.ช.ห่านเป็นบุตร ของ น.ส.เป็ดซึ่งมิได้ทําการสมรสกับนายไก่ ย่อมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ น.ส.เป็ดแต่เพียง ผู้เดียวตามมาตรา 1546 และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ น.ส.เปิดตั้งแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก

สรุป

นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่ตามมาตรา 1516 (1) ไม่ได้ แต่ฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (10) ได้ และ ด.ช.ห่านเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ น.ส.เป็ดแต่เพียงผู้เดียวนับแต่คลอดและ อยู่รอดเป็นทารก

Advertisement