การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2113 (LAW 2013) ป.พ.พ.ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. (ก) การโอนตั๋วเงินมีหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่สําคัญอย่างไรบ้าง จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

(ข) นางสาวสาย ได้สั่งจ่ายเช็คฉบับหนึ่ง โดยระบุชื่อนายจอมเป็นผู้รับเงิน และมิได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก และได้ทําการส่งมอบให้แก่นายจอมเพื่อชําระหนี้ค่าสินค้า ต่อมานายจอมได้นําเช็คฉบับดังกล่าวมาทําการลงลายมือชื่อสลักหลัง และส่งมอบให้แก่นายบางเพื่อชําระหนี้ค่าเช่าอาคาร หากต่อมานายบางต้องการจะทําการสลักหลังและส่งมอบเช็คฉบับดังกล่าวเพื่อชําระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่นายประวิทย์
ดังนี้ นายบางสามารถกระทําได้โดยชอบตามกฎหมายตั๋วเงินหรือไม่ เพราะเหตุใด อธิบาย มาให้เข้าใจพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบในแต่ละประเด็น

Advertisement

ธงคําตอบ

(ก) ตามกฎหมาย ตัวเงินมี 3 ประเภท ได้แก่ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเช็ค ซึ่งหลักในการโอน ตั๋วเงินนั้น กฎหมายได้บัญญัติไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับตั๋วแลกเงินเท่านั้น เพียงแต่ได้กําหนดให้นําหลักในการโอน ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อไปใช้กับการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็คด้วย (ตามมาตรา 985 วรรคหนึ่ง และ
มาตรา 989 วรรคหนึ่ง) และให้นําหลักในการโอนตั๋วแลกเงินชนิดสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือไปใช้กับการโอนเช็คชนิด สั่งจ่ายแก่ผู้ถือด้วย (ตามมาตรา 989 วรรคหนึ่ง)

สําหรับหลักในการโอนตั๋วแลกเงินนั้น กฎหมายได้กําหนดไว้ดังนี้ คือ 1. ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ
การโอนสามารถกระทําได้โดยการสลักหลังและส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 917 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้
ด้วยสลักหลังและส่งมอบ

หมายความว่าตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (ผู้รับเงิน) นั้น ถ้าจะมีการโอนต่อไปให้แก่
บุคคลอื่น การโอนจะมีผลสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อผู้โอนได้ทําการสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้น ให้แก่ผู้รับโอน (จะโอนโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้)

“การสลักหลัง” คือ การที่ผู้สลักหลัง (ผู้โอน) ได้เขียนข้อความและลงลายมือชื่อของตนไว้ ในตั๋วแลกเงิน (หรือใบประจําต่อ) โดยอาจเป็นการ “สลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ)” หรืออาจเป็นการ “สลักหลังลอย” ก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 919)

(1) การสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หมายถึง การสลักหลังที่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับ สลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ในตั๋วแลกเงินด้วย โดยอาจจะกระทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตัวก็ได้

(2) การสลักหลังลอย หมายถึง การสลักหลังที่ไม่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ เพียงแต่ผู้สลักหลังได้ลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหลังของตั๋วเงินเท่านั้น
(ป.พ.พ. มาตรา 919 วรรคสอง)

อนึ่ง ในการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินนั้น ในกรณีที่เป็นการสลักหลังเฉพาะ (สลักหลังระบุชื่อ) ถ้าผู้ทรงจะโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปก็สามารถโอนได้แต่จะต้องโอนโดยการสลักหลังและส่งมอบเท่านั้น โดยอาจจะ
สลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอยก็ได้ จะโอนโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้

แต่ถ้าในการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินนั้นเป็นการสลักหลังลอย ดังนี้ผู้ทรงซึ่งได้ตั๋วแลกเงินนั้น
มาจากการสลักหลังลอย ย่อมสามารถโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปได้โดยการสลักหลังและส่งมอบหรืออาจจะโอน ตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 920)

2 ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ
การโอนตั๋วเงินชนิดนี้ย่อมสามารถกระทําได้โดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องมีการ
สลักหลังตาม ป.พ.พ. มาตรา 918 ซึ่งบัญญัติว่า “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียง ด้วยส่งมอบให้กัน”

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 918 “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”

มาตรา 921 “การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล)สําหรับผู้สั่งจ่าย”

มาตรา 989 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าว ต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910… 914 ถึง
923, 938 ถึง 940”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวสายสั่งจ่ายเช็คเพื่อชําระหนี้ค่าสินค้าให้แก่นายจอม โดยระบุชื่อ นายจอมเป็นผู้รับเงิน แต่มิได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก เช็คฉบับนี้ถือว่าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ดังนั้น ถ้าจะมีการโอนเช็คฉบับนี้ต่อไป การโอนย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบเช็คให้แก่กันโดยไม่ต้องสลักหลัง และ ถ้ามีการสลักหลังให้ถือว่าเป็นเพียงการประกัน (อาวัล) ผู้สั่งจ่าย (ป.พ.พ. มาตรา 918 มาตรา 921 ประกอบ มาตรา 989 วรรคหนึ่ง)

การที่นายจอมนําเช็คฉบับดังกล่าวมาทําการลงลายมือชื่อสลักหลัง และส่งมอบให้แก่นายบางเพื่อชําระหนี้ค่าเช่าอาคารนั้น การโอนเช็คระหว่างนายจอมและนายบางถือเป็นการโอนเช็คที่ชอบด้วยกฎหมาย เพียงแต่การสลักหลังของนายจอมนั้น ให้ถือว่าเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่ายซึ่งนายจอมจะต้องรับผิดตามเช็คในฐานะ ผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายคือนางสาวสาย

และเมื่อนายบางต้องการจะทําการสลักหลังและส่งมอบเช็คฉบับดังกล่าวเพื่อชําระหนี้ตามสัญญา
กู้ยืมเงินให้แก่นายประวิทย์ นายบางย่อมสามารถทําได้ เพียงแต่การสลักหลังของนายบางย่อมมีผลทําให้นายบาง จะตกเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดตามเช็คนั้นในฐานะผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายคือนางสาวสายด้วย

สรุป นายบางสามารถทําการสลักหลังและส่งมอบเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายประวิทย์ได้

ข้อ 2. (ก) การอาวัลตั๋วเงินเกิดขึ้นได้ในกรณีใดบ้าง

(ข) เอกลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารอ่างทอง ชําระหนี้ให้แก่โทโดยระบุชื่อโทเป็นผู้รับเงินและ มิได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ออก โทสลักหลังชําระหนี้ให้แก่ตรีระบุชื่อตรีเป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาตรีสลักหลังลอย และส่งมอบเช็คดังกล่าวชําระหนี้ให้แก่จัตวา จัตวาส่งมอบเช็คชําระหนี้ ให้กับบางนา เมื่อถึงวันที่ที่ลงในเช็ค บางนานําเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารอ่างทอง แต่ธนาคาร ไม่ยอมจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่าว่าเงินในบัญชีของเอกมีไม่พอจ่าย ดังนี้ บุคคลใดที่จะต้องรับผิดต่อบางนาในฐานะผู้รับอาวัลเช็คฉบับดังกล่าว

ธงคําตอบ

(ก) การอาวัลตั๋วเงินนั้น เกิดขึ้นได้ 2 กรณี ได้แก่ การอาวัลตามแบบหรือโดยการแสดงเจตนาและ อาวัลโดยผลของกฎหมาย

1 การอาวัลตามแบบหรือโดยการแสดงเจตนา ทําได้โดย

1.1 ผู้รับอาวัลเขียนข้อความลงบนตั๋วเงิน (ซึ่งอาจเป็นตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือเช็ค) หรือใบประจําต่อว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสํานวนอื่นใดที่มีความหมายทํานองเดียวกันนั้น เช่น “เป็นอาวัล ประกันผู้สั่งจ่าย” และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลซึ่งการอาวัลในกรณีนี้จะทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วเงินก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 939 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่)

1.2 ผู้รับอาวัลลงแต่ลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าตั๋วเงินนั้น โดยไม่ต้องเขียนข้อความใด ๆ ไว้ ก็ให้ถือว่าเป็นการอาวัลแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย (มาตรา 939 วรรคสาม)

2 การอาวัลโดยผลของกฎหมาย เกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีการสลักหลังโอนตั๋วเงินชนิดสั่งจ่าย แก่ผู้ถือ (ซึ่งอาจเป็นตั๋วแลกเงินหรือเช็ค) ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 921 ได้บัญญัติให้บุคคลที่เข้ามาสลักหลังนั้น เป็นการอาวัลผู้สั่งจ่ายและต้องรับผิดเช่นเดียวกันกับผู้สั่งจ่าย

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 900 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น”

มาตรา 918 “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”

มาตรา 921 “การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล)
สําหรับผู้สั่งจ่าย”

มาตรา 940 วรรคหนึ่ง “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน”

มาตรา 989 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910.., 914 ถึง 923,
938 ถึง 940”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกสั่งจ่ายเช็คโดยระบุชื่อโทเป็นผู้รับเงินและมิได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ออกนั้น เช็คนั้นย่อมถือว่าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ดังนั้น ถ้าจะมีการโอนเช็คฉบับนี้ต่อไป การโอนย่อมสมบูรณ์ โดยการส่งมอบเช็คให้แก่กันโดยไม่ต้องสลักหลัง (มาตรา 918 ประกอบกับมาตรา 989 วรรคหนึ่ง)

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จากการโอนเช็คฉบับนี้ให้แก่ตรี จัตวา และบางนาตามลําดับนั้น โทและตรี ได้ทําการสลักหลังเช็คฉบับนี้ด้วย ดังนี้ตามกฎหมายให้ถือว่าการสลักหลังของโทและตรีนั้นเป็นเพียงการรับอาวัล เอกผู้สั่งจ่ายเท่านั้น (มาตรา 921 ประกอบกับมาตรา 989 วรรคหนึ่ง) ซึ่งโทและตรีก็จะต้องรับผิดเป็นอย่าง เดียวกันกับเอกผู้สั่งจ่าย (มาตรา 900 วรรคหนึ่งและมาตรา 940 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 989 วรรคหนึ่ง)

ดังนั้นเมื่อถึงวันที่ที่ลงในเช็ค บางนานําเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารแต่ธนาคารไม่ยอมจ่ายเงิน บุคคลที่จะต้องรับผิดต่อบางนาในฐานะผู้รับอาวัลเช็คฉบับดังกล่าว คือ โท และตรี

สรุป บุคคลที่จะต้องรับผิดต่อบางนาในฐานะผู้รับอาวัลเช็คฉบับดังกล่าวได้แก่ โท และตรี

ข้อ 3 หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความที่สําคัญในตั๋วเงิน จะเกิดผลอย่างไรกับตั๋วเงินและคู่สัญญา ทั้งหลายบ้าง จงอธิบายหลักกฎหมาย และยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1007 “ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด หรือในคํารับรองตั๋วเงินรายใด มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงใน ข้อสําคัญโดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้ ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นกับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง

แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสําคัญ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์ และ ตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้ เสมือนดังว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋วนั้นก็ได้

กล่าวโดยเฉพาะ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ในข้อสําคัญ คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใด ๆ แก่วันที่ลง จํานวนเงินอันจะพึงใช้ เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน กับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน ไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรอง
มิได้ยินยอมด้วย”

การแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในตั๋วเงินจะมีผลทางกฎหมายนั้น จะต้องเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
ข้อความในข้อสําคัญ (มาตรา 1007) คือจะต้องเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความซึ่งเป็นสาระสําคัญ ซึ่งเมื่อมี การแก้ไขเปลี่ยนแปลงแล้วจะทําให้ผลของตั๋วเงิน สิทธิและหน้าที่ตลอดจนความรับผิดของคู่สัญญาในตั๋วเงินนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในข้อสําคัญ เช่น แก้ไขเปลี่ยนแปลงใด ๆ แก่วันที่ลง จํานวนเงิน
อันจะพึงใช้ เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน กับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน ไปเติมความ ระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย (มาตรา 1007 วรรคสาม) ตาม ป.พ.พ. ได้บัญญัติผลตาม กฎหมายไว้ 2 กรณีคือ

1 กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเห็นได้ประจักษ์ กล่าวคือ การแก้ไขนั้นมีการแก้ไขไม่แนบเนียน หรือเห็นได้ประจักษ์นั่นเอง โดยมิได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาทุกคนในตั๋วเงินนั้น ย่อมเป็นผลให้ตั๋วเงินนั้นเสียไป แต่ยังคงใช้ได้กับคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือผู้ที่ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง และหรือ ผู้สลักหลังภายหลังการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น (มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง)

ตัวอย่าง เอกออกเช็คฉบับหนึ่งสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินให้โท 50,000 บาท โดยขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คนั้นออก โทสลักหลังโอนให้ตรี ต่อมาตรีได้แก้ไขจํานวนเงินเป็น 150,000 บาท แล้วสลักหลัง โอนให้แก่จัตวา และจัตวาได้สลักหลังโอนชําระหนี้ให้แก่พิเศษ โดยการแก้ไขจํานวนเงินดังกล่าวนั้นไม่แนบเนียน
มองด้วยตาเปล่าก็เห็นได้ถึงการแก้ไขนั้น

กรณีดังกล่าว เมื่อการแก้ไขจํานวนเงินซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสําคัญ และ การแก้ไขนั้นเห็นได้ประจักษ์ จึงมีผลตามมาตรา 1007 วรรคหนึ่ง คือ ให้ถือว่าตั๋วเงิน (เช็ค) นั้นเป็นอันเสียไป ดังนั้นถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน พิเศษย่อมไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเรียกเอาเงินจากเอกผู้สั่งจ่ายและโทผู้สลักหลัง ซึ่ง มิได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น (เว้นแต่เอกหรือโทจะได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น)
แต่พิเศษสามารถไล่เบี้ยเรียกเอาเงินจากตรีซึ่งเป็นผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลง และจัตวาผู้สลักหลังภายหลังการแก้ไข เปลี่ยนแปลงได้ ในจํานวนเงิน 150,000 บาท

2 กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเห็นไม่ประจักษ์ กล่าวคือ การแก้ไขนั้นมีการแก้ไขได้อย่าง แนบเนียน หรือไม่เห็นเป็นประจักษ์ถือว่าตั๋วเงินนั้นไม่เสียไป และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วย กฎหมาย กรณีย่อมเป็นผลให้ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นสามารถจะถือเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้น เสมือนว่า ตั๋วเงินนั้นมิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลยก็ได้ และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความเดิมแห่งตัวนั้นก็ได้ (มาตรา
1007 วรรคสอง)

ตามตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าตรีได้แก้ไขจํานวนเงินได้อย่างแนบเนียน และการแก้ไขเห็นไม่ประจักษ์ พิเศษซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิถือเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้น เสมือนมิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลยก็ได้ กล่าวคือ ถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน พิเศษก็สามารถไล่เบี้ยเอาเงิน ตามเช็คจากตรีและจัตวาได้ตามจํานวนเงินที่ได้มีการแก้ไขแล้ว คือ 150,000 บาท และสามารถบังคับการใช้เงิน ตามเนื้อความเดิมแห่งตั๋วเงิน คือสามารถไล่เบี้ยเอาจากเอกผู้สั่งจ่าย และโทผู้สลักหลังได้ ในจํานวนเงิน 50,000 บาท ซึ่งเป็นจํานวนเงินตามเนื้อความเดิมแห่งตั๋วเงินนั้น

Advertisement