การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2545
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ตามกฎหมายพระเจ้ามังราย (มังรายศาสตร์) และกฎหมายตราสามดวง มีการแบ่งทรัพย์ออกเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง และการแบ่งประเภทของทรัพย์ตามกฎหมายพระเจ้ามังราย และกฎหมายตราสามดวงมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร เมื่อเทียบกับการแบ่งประเภทของทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ธงคำตอบ
ตามกฎหมายพระเจ้ามังราย (มังรายศาสตร์) และกฎหมายตราสามดวง มีการแบ่งทรัพย์ออกเป็น 2 ประเภทคือ
1 ทรัพย์มีวิญญาณ (วิญญาณทรัพย์) ซึ่งได้แก่ ช้าง ม้า วัว ควาย เป็ด ไก่ ฯลฯ ประเด็นที่น่าสนใจคือ คนที่เป็นลูกหรือเมียผู้อื่น ข้าทาส ถือเป็นทรัพย์หรือไม่ เพราะพ่อแม่ขายลูกได้ ผัวขายเมียได้ นายเงินขายข้าทาสได้ ดังนั้นบางครั้งก็อาจจัดเป็นทรัพย์ประเภทมีวิญญาณได้เหมือนกัน แต่คนที่มีฐานะเป็นทรัพย์มีลักษณะแตกต่างจากทรัพย์มีวิญญาณอื่น เช่น พวกสัตว์ต่างๆที่บางครั้งคนก็เป็นทรัพย์ แต่บางครั้งก็ไม่เป็นทรัพย์ หากคนนั้นไม่ได้อยู่ในอำนาจอิสระ (อำนาจปกครอง) ของใคร หรือเป็นไทแก่ตนเอง ในขณะที่สัตว์ต่างๆจะเป็นทรัพย์ตลอดกาลไม่มีการเปลี่ยนสถานะ
2 ทรัพย์ไม่มีวิญญาณ ได้แก่ แก้ว แหวน เงิน ทอง ผ้าผ่อนแพรพรรณ อีกนัยหนึ่งทรัพย์ไม่มีวิญญาณคือทรัพย์ที่ไม่ใช่คนหรือสัตว์ชนิดต่างๆนั่นเอง
กล่าวกันว่า การแบ่งประเภทของทรัพย์ตามกฎหมายพระเจ้ามังราย (มังรายศาสตร์) และกฎหมายตราสามดวงไม่มีผลในทางกฎหมายแต่ประการใด ไม่เหมือนกับการแบ่งประเภทของทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แบ่งทรัพย์ออกเป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถ้าเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ ส่วนการซื้อขายสังหาริมทรัพย์โดยปกติไม่มีแบบหรือการที่ที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์มีแดนกรรมสิทธิ์ ส่วนสังหาริมทรัพย์ไม่มีแดนกรรมสิทธิ์ เป็นต้น