การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.นายไข่เป็นเจ้าของโรงงานผลิตกล้วยตากที่จังหวัดเพชรบุรี กล้วยตากที่ผลิตได้บรรจุในถุงสุญญากาศ ทําให้สามารถเก็บไว้ได้นานไม่เน่าเสียง่าย นายไข่ต้องการขายกล้วยตากจํานวน 100 ถุง ในราคา ถุงละ 100 บาท จึงตั้งนายขวดเป็นตัวแทนไปจัดหาผู้ซื้อและทําการขายสินค้า นายขวดจึงติดต่อกับ นางชื่นแม่ค้าขายผลไม้แห้งที่ตลาดบางกะปิ โดยนางชื่นตกลงซื้อกล้วยตากทั้งหมด 100 ถุง แต่พอถึง วันนัดส่งสินค้า นางชื่นกลับนําเงินมาเพียง 5,000 บาท ทําให้ซื้อกล้วยตากได้เพียง 50 ถุงเท่านั้น ส่วนกล้วยตากที่เหลืออีก 50 ถุง นายขวดนําไปขายที่ร้านค้าของตนเองในราคาถุงละ 80 บาท (ซึ่งเป็นราคาที่ต่ํากว่าที่นายไข่กําหนด 20 บาท) โดยไม่ได้แจ้งให้นายไข่ทราบแต่อย่างใด และ ได้ทําการขายจนหมด ต่อมานายไข่ทราบจึงเรียกให้นายขวดชําระค่ากล้วยตากที่ขายได้ทั้งหมด โดยแบ่งเป็นเงิน 5,000 บาทที่ขายให้แก่นางชื่น เงิน 4,000 บาทที่นายขวดนํากล้วยตากไปขายที่ ร้านของตนเอง และเงิน 1,000 บาทที่ได้จากการที่นายขวดขายกล้วยตากต่ํากว่าราคาที่กําหนด นายขวดยินยอมใช้เงินที่ขายกล้วยตากได้ทั้งหมด ยกเว้นเงิน 1,000 บาทที่ขายกล้วยตากต่ํากว่า ราคาที่นายไข่กําหนด โดยอ้างถึงเหตุจําเป็นที่จะต้องรีบขายมิเช่นนั้นจะทําให้กล้วยตากเน่าเสียได้

ข้ออ้างในการปฏิเสธของนายขวดฟังขึ้นหรือไม่ และนายขวดจะต้องใช้เงินแก่นายไขในกรณีใดบ้าง จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 802 “ในเหตุฉุกเฉิน เพื่อจะป้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหาย ท่านให้สันนิษฐาน ไว้ก่อนว่าตัวแทนจะทําการใด ๆ เช่นอย่างวิญญชนจะพึงกระทํา ก็ย่อมมีอํานาจจะทําได้ทั้งสิ้น”

มาตรา 805 “ตัวแทนนั้น เมื่อไม่ได้รับความยินยอมของตัวการ จะเข้าทํานิติกรรมอันใด ในนามของตัวการทํากับตนเองในนามของตนเองหรือในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ เว้นแต่ นิติกรรมนั้นมีเฉพาะแต่การชําระหนี้”

มาตรา 810 “เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทําการแทน ตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น

มาตรา 812 “ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทําการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทําการโดยปราศจากอํานาจหรือนอกเหนืออํานาจก็ดี ท่านว่าตัวแทน จะต้องรับผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายขวดได้ตกลงเป็นตัวแทนของนายไข่นั้น นายขวดจะต้องกระทําการ แทนนายไข่ตามที่ตนได้รับมอบอํานาจจากนายไข่ โดยการนํากล้วยตาก 100 ถุงไปขายในราคาถุงละ 100 บาท ให้แก่นางชื่นแม่ค้าที่นายขวดได้ติดต่อไว้ และแม้ว่าเมื่อถึงวันนัดส่งกล้วยตาก นางชื่นจะนําเงินมาเพียง 5,000 บาท ทําให้ซื้อกล้วยตากได้เพียง 50 ถุงเท่านั้น กล้วยตากที่เหลืออีก 50 ถุง นายขวดก็ต้องนําส่งคืนให้แก่นายไข่ตาม มาตรา 810 พร้อมกับเงินที่ได้จากการขายกล้วยตากให้แก่นางขึ้นจํานวน 5,000 บาท

การที่นายขวดได้นํากล้วยตากที่เหลือ 50 ถุงไปขายที่ร้านของตนเองนั้นย่อมเป็นการต้องห้าม ตามมาตรา 805 ที่ห้ามตัวแทนทํานิติกรรมกับตนเองในขณะที่กระทําการเป็นตัวแทนของตัวการอยู่ และการที่ นายขวดได้อ้างเหตุจําเป็นเนื่องจากเกรงว่ากล้วยตากจะเน่าเสียตามมาตรา 802 นั้นก็ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากตาม ข้อเท็จจริงนั้นกล้วยตากของนายไข่ได้บรรจุในถุงสุญญากาศทําให้สามารถเก็บไว้ได้นานไม่เน่าเสียหาย อีกทั้งนายขวด ก็มิได้แจ้งให้นายไข่ตัวการทราบถึงเหตุจําเป็นนี้ด้วย การกระทําของนายขวดในการนํากล้วยตากที่เหลือ 50 ถุง ไปขายที่ร้านของตนเองจึงเป็นการกระทําโดยปราศจากอํานาจหรือเกินขอบอํานาจแห่งฐานตัวแทนตามมาตรา 812 ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านายขวดขายกล้วยตากในราคา 80 บาท ต่ำกว่าที่นายไข่ตัวการกําหนด 20 บาท นายขวด จึงต้องรับผิดต่อนายไขในจํานวนเงิน 1,000 บาทที่ขายกล้วยตากต่ํากว่าราคาที่นายไข่ตัวการกําหนด

สรุป นายขวดจะต้องใช้เงินจํานวน 5,000 บาทที่ขายกล้วยตากให้แก่นางชื่น เงินจํานวน 4,000 บาทที่นํากล้วยตากไปขายที่ร้านของตนเอง และเงินอีกจํานวน 1,000 บาทจากการขายกล้วยตากต่ํากว่า ราคาที่นายไข่กําหนดรวมเป็นเงิน 10,000 บาทให้แก่นายไข่

 

ข้อ 2. ร้านหนังสือของนายดินตกลงรับหนังสือมาจากหลายสํานักพิมพ์โดยตกลงว่าในการขายหนังสือให้แต่ละสํานักพิมพ์นั้น ร้านของนายดินจะได้ค่าตอบแทนเล่มละ 50 บาท ต่อมานายจ้อยมาซื้อ หนังสือนวนิยายเรื่องคนละชาติภพของสํานักพิมพ์การะเกดจํานวน 20 เล่มจากร้านของนายดิน แต่ปรากฏว่า ในนวนิยายเล่มที่ซื้อไปนั้นมี 10 เล่มที่หน้าขาดไปหลายสิบหน้า นายจ้อยจึงมาขอให้ นายดินเปลี่ยนเล่มให้หาไม่ได้ก็ขอให้คืนเงิน แต่นายดินกลับไม่ยอมรับผิดชอบใด ๆ อ้างว่าตน เป็นตัวแทนขายหนังสือนวนิยายให้สํานักพิมพ์การะเกดเท่านั้น ขอให้นายจ้อยไปเรียกร้องเอากับ สํานักพิมพ์การะเกดเอาเอง เช่นนี้ ร้านนายดินจะปฏิเสธความรับผิดชอบใด ๆ ต่อนายจ้อยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อ หรือ ขายทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ”

มาตรา 837 “ในการที่ตัวแทนค้าต่างทําการขายหรือซื้อหรือจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่น ต่างตัวการนั้น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างย่อมได้ซึ่งสิทธิอันมีต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการเช่นนั้น และตัวแทนค้าต่าง ย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นด้วย”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 837 ได้บัญญัติถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดของตัวแทนค้าต่างต่อ บุคคลภายนอกไว้ว่า เมื่อตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายหรือซื้อหรือจัดทํากิจการอย่างใดแทนตัวการแล้ว ตัวแทนค้าต่าง ย่อมต้องผูกพันเป็นคู่สัญญากับบุคคลภายนอกโดยตรง ถ้าบุคคลภายนอกผิดสัญญา ตัวแทนค้าต่างย่อมมีสิทธิ ที่จะฟ้องร้องตามสัญญานั้นในนามของตนเองได้ และในขณะเดียวกันก็ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกตาม สัญญานั้นด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ร้านหนังสือของนายดินตกลงรับหนังสือมาจากหลายสํานักพิมพ์ ซึ่งรวมทั้งของสํานักพิมพ์การะเกดมาขาย โดยตกลงว่าในการขายหนังสือให้แต่ละสํานักพิมพ์นั้น ร้านของนายดิน จะได้รับค่าตอบแทนเล่มละ 50 บาทนั้น ย่อมถือว่าร้านของนายดินเป็นตัวแทนค้าต่างของสํานักพิมพ์ต่าง ๆ รวมทั้ง สํานักพิมพ์การะเกดตามมาตรา 833

และจากข้อเท็จจริง การที่นายจ้อยได้มาซื้อหนังสือนวนิยายเรื่องคนละชาติภพของสํานักพิมพ์ การะเกดจํานวน 20 เล่มจากร้านของนายดิน แต่ปรากฏว่าในจํานวนที่ซื้อไปนั้นมีอยู่ 10 เล่มที่หน้าขาดไปหลายสิบหน้า นายจ้อยจึงขอให้นายดินรับผิดชอบโดยเปลี่ยนเล่มใหม่ให้หรือหากไม่ได้ก็ขอให้คืนเงินนั้น นายดินจะปฏิเสธ ความรับผิดชอบใด ๆ ต่อนายจ้อยไม่ได้ เพราะเมื่อนายดินซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างได้ทําสัญญากับบุคคลภายนอก คือนายจ้อยโดยตรงแล้ว ตัวแทนค้าต่างย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามสัญญานั้นด้วยตามมาตรา 837

สรุป

ร้านของนายดินจะปฏิเสธความรับผิดชอบใด ๆ ต่อนายจ้อยไม่ได้

 

ข้อ 3. นายเข็มได้ตกลงให้นายธงเป็นนายหน้าขายที่ดินของนายเข็มจํานวน 80 ไร่ มีบําเหน็จ 500,000 บาท และตกลงว่าจะจ่ายค่าใช้จ่ายอย่างใดที่อาจเกิดจากการเป็นนายหน้าด้วย ต่อมานายธงได้แนะนํา นายขวัญให้เข้ามาซื้อที่ดินของนายเข็มโดยตกลงทําสัญญาจะซื้อจะขายกันไว้ก่อนและตกลงว่า จะทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในอีก 15 วัน โดยนายขวัญได้วางมัดจํา ไว้ 2,000,000 บาท หลังจากนั้นเมื่อถึงวันที่กําหนดให้มาทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ นายขวัญกลับไม่มาและแจ้งขอเลิกสัญญาในวันรุ่งขึ้น เช่นนี้นายธงจะเรียก บําเหน็จค่านายหน้าได้หรือไม่ เพราะเหตุใด อีกทั้งนายธงได้มีค่าใช้จ่ายในการดําเนินการนี้จํานวน 20,000 บาท นายธงจะเรียกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทําสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากันสําเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว

นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น ความข้อนี้ ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทํากันสําเร็จ”

มาตรา 846 “ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมาย ได้ว่าย่อมทําให้แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบําเหน็จนายหน้า

ค่าบําเหน็จนั้นถ้ามิได้กําหนดจํานวนกันไว้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจํานวนตามธรรมเนียม”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 845 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง หรือจัดการจนเขาได้ทําสัญญากับบุคคลภายนอก และ นายหน้ารับกระทําการตามนั้น และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทําสัญญากันแล้ว นายหน้าย่อม จะได้รับค่าบําเหน็จ

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายเข็มได้ตกลงให้นายธงเป็นนายหน้าขายที่ดินจํานวน 80 ไร่ และตกลงให้บําเหน็จ 500,000 บาท รวมทั้งตกลงจะจ่ายค่าใช้จ่ายในการเป็นนายหน้าด้วยนั้น เมื่อนายธงได้ชี้ช่อง ให้นายขวัญบุคคลภายนอกเข้าทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของนายเข็มแล้ว จึงถือได้ว่าผลสําเร็จแห่งสัญญาจะซื้อ จะขายระหว่างนายเข็มและนายขวัญนั้นเกิดจากการชี้ช่องของนายธงนายหน้า แม้ต่อมานายขวัญจะไม่ปฏิบัติ ตามสัญญาจะซื้อจะขายนั้นก็ตาม นายธงย่อมมีสิทธิได้รับบําเหน็จนายหน้าตามที่ตกลงตามมาตรา 845 ประกอบ มาตรา 846

และในส่วนค่าใช้จ่ายที่นายธงได้ใช้จ่ายไปในการดําเนินการนี้จํานวน 20,000 บาทนั้น เมื่อนายเข็มได้ตกลงว่าจะจ่ายให้แก่นายธง นายธงย่อมมีสิทธิที่จะเรียกจากนายเข็มได้ตามมาตรา 845 วรรคสอง

สรุป

นายธงสามารถเรียกค่านายหน้าจํานวน 500,000 บาท รวมทั้งค่าใช้จ่าย 20,000 บาท จากนายเข็มได้

 

Advertisement