การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

Advertisement

 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นาย  ก  มอบหมายนาย  ข  ให้มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์โดยมิได้มอบหมายเป็นหนังสือ  ต่อมามีนาย  ค  มาขอเช่าซื้อรถยนต์  โดยนาย  ข  ได้ทำสัญญาให้เช่าซื้อกับนาย  ค  ไป  และนาย  ค  ได้วางเงินดาวน์ไว้  300,000  บาท  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า

Advertisement

1.1            นาย  ข  มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

1.2            สัญญาให้เช่าซื้อที่นาย  ข  ทำไป  มีผลเป็นเช่นไร

Advertisement

1.3            เงินดาวน์ที่นาย  ค  มอบให้ไว้กับนาย  ข  นั้น  นาย  ข  จะต้องโอนคืนตัวการหรือไม่  เพราะเหตุใด

1.4            หากนาย  ข  ไม่คืน  นาย  ก  ฟ้องนาย  ข  ให้คืน  นาย  ข  อ้างว่านาย  ก  ไม่มีสิทธิฟ้อง  เพราะนาย  ก  ตั้งนาย  ข  เป็นตัวแทนมิได้ทำเป็นหนังสือ  ดังนี้ข้ออ้างของนาย  ข  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

Advertisement

ให้ท่านวินิจฉัยเป็นข้อๆ  พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยทุกข้อ

ธงคำตอบ

Advertisement

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  152  การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้  การนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา  572  วรรคสอง  สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ  ท่านว่าเป็นโมฆะ

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

มาตรา 810  เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้ เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  มอบหมายให้นาย  ข  มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์โดยมิได้มอบหมายเป็นหนังสือ  และต่อมามีนาย ค  มาขอเช่าซื้อรถยนต์โดยได้วางเงินดาวน์ไว้  300,000  บาท  และนาย  ข  ได้ทำสัญญาให้เช่าซื้อกับนาย ค  ไป  

1.1            ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  นาย  ข  มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อการทำสัญญาให้เช่าซื้อนั้นเป็นกิจการที่กฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือ  (มาตรา  572  วรรคสอง)  ดังนั้น  การตั้งตัวแทนเพื่อไปทำสัญญาให้เช่าซื้อจึงต้องทำเป็นหนังสือด้วย  ตามมาตรา  798  วรรคแรก  เมื่อการตั้งตัวแทนของนาย  ก  ที่ให้นาย  ข  เป็นตัวแทนไปทำสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์มิได้ทำเป็นหนังสือ  จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายมาตรา  798  วรรคแรก  ดังนั้นนาย  ข  จึงไม่มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อ

1.2            เมื่อนาย  ข  ไม่มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อ  ดังนั้นเมื่อนาย  ข  ได้ไปทำสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์กับนาย  ค  สัญญาให้เช่าซื้อดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  152  ที่มีหลักว่า  การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้  การนั้นเป็นโมฆะ

1.3            แม้การตั้งตัวแทนระหว่างนาย  ก  กับนาย  ข  จะมิได้ทำเป็นหนังสือ  แต่เงินดาวน์ที่นาย  ข  รับไว้จากนาย  ค  300,000  บาทนั้น  เป็นเงินที่นาย  ข  รับไว้ในฐานะตัวแทนของนาย  ก  ซึ่งเป็นตัวการ  ดังนั้นนาย  ข  จึงต้องโอนคืนให้แก่ตัวการคือนาย  ก  ตามมาตรา  810  วรรคแรก

1.4            หากนาย  ข  ไม่โอนคืนเงิน  300,000  บาท  นั้นให้แก่นาย  ก  นาย  ก  ย่อมสามารถฟ้องให้นาย  ข  โอนคืนได้  การที่นาย  ข  อ้างว่า  นาย  ก  ตั้งนาย  ข  เป็นตัวแทน  มิได้ทำเป็นหนังสือตามมาตรา  798  วรรคแรกนั้น  ข้ออ้างของนาย  ข  ฟังไม่ขึ้น  เพราะระหว่างนาย  ก  ตัวการกับนาย  ข  ตัวแทนนั้น  แม้สัญญาตั้งตัวแทนจะมิได้ทำเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  เพราะถือว่าเป็นข้อยกเว้นของมาตรา  798

สรุป

1.1  นาย  ข  ไม่มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อ

1.2  สัญญาให้เช่าซื้อที่นาย  ข  ทำไปมีผลเป็นโมฆะ

1.3  เงินดาวน์ที่นาย  ค  มอบให้ไว้กับนาย  ข  นั้น  นาย  ข  จะต้องโอนคืนตัวการ

1.4  ข้ออ้างของนาย  ข  ที่ว่าการตั้งตัวแทนมิได้ทำเป็นหนังสือฟังไม่ขึ้น

Advertisement