การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก มอบ ข ให้ไปซื้อที่ดิน ข ซื้อที่ดินของตนเองโดยตัวการมิได้ยินยอมด้วย โดย ก ตกลงให้ ข ซื้อที่ดินครั้งนี้ว่าจะให้บำเหน็จ กรณีหนึ่ง
อีกกรณีหนึ่ง ก มอบ ข ให้เป็นผู้จัดการร้านค้าสะดวกซื้อ นอกจากเป็นผู้จัดการแล้ว
ยังให้ ข มีหน้าที่ซื้อสินค้าเข้าร้านด้วย ให้ท่านวินิจฉัยว่า ทั้ง 2 กรณี ก ตกลงว่าจะให้บำเหน็จนั้น กรณีใดจะใช้หลักมาตราใดในการให้บำเหน็จ
ธงคำตอบหลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 803 ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ หรือเคยเป็นธรรมเนียมมีบำเหน็จ
มาตรา 805 ตัวแทนนั้น เมื่อไม่ได้รับความยินยอมของตัวการ จะเข้าทำนิติกรรมอันใดในนามของตัวการทำกับตนเองในนามของตนเอง หรือในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ เว้นแต่นิติกรรมนั้นมีเฉพาะแต่การชำระหนี้
มาตรา 818 การในหน้าที่ตัวแทนส่วนใดตัวแทนได้ทำมิชอบในส่วนนั้น ท่านว่าตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้บำเหน็จ
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 803 โดยหลักแล้วตัวแทนไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันระหว่างตัวการกับตัวแทนว่ามีบำเหน็จ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีข้อตกลงดังกล่าว ตัวแทนก็อาจจะไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ เช่น หากตัวแทนกระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 805 ตัวแทนย่อมไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ เพราะถือว่าเป็นการทำมิชอบตามมาตรา 818
กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 2 กรณี คือ
กรณีแรก จะใช้หลักมาตราใดในการพิจารณาให้บำเหน็จ เห็นว่า การที่ ก มอบหมายให้ ข ไปซื้อที่ดินนั้น ถือเป็นการมอบหมายให้ตัวแทนไปทำการเพียงอย่างเดียว กรณีนี้จึงต้องใช้หลักมาตรา 803 ในการพิจารณาให้บำเหน็จ และเมื่อปรากฏว่า ก ตัวการตกลงจะให้บำเหน็จแก่ ข ตัวแทน ขอ ก็ย่อมมีสิทธิได้รับบำเหน็จ หากว่า ข ทำการที่ ก มอบหมาย คือ ไปซื้อที่ดินได้สำเร็จ
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ข ซื้อที่ดินของตนเอง โดยที่ ก ตัวการมิได้ยินยอมด้วย จึงเป็นการที่ ข ตัวแทนทำนิติกรรมในนามของตัวการทำกับตนเองในนามของตนเอง อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 805 ดังนั้น ข จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามมาตรา 818 ที่ว่าการใดตัวแทนทำมิชอบจะไม่ได้บำเหน็จ
กรณีที่สอง จะใช้หลักมาตราใดในการพิจารณาให้บำเหน็จ เห็นว่า การที่ ก มอบหมายให้ ข เป็นผู้จัดการร้านค้าสะดวกซื้อ และยังให้ ข มีหน้าที่ซื้อสินค้าเข้าร้านด้วย โดย ก ตกลงว่าจะให้บำเหน็จนั้น ถือเป็นการมอบหมายให้ตัวแทนไปทำการมากกว่า 1 อย่างขึ้นไป คือ เป็นกรณีที่กิจการที่มอบหมายนั้นแบ่งออกได้เป็นหลายส่วนนั่นเอง กรณีนี้จึงต้องใช้หลักมาตรา 818 ในการพิจารณาให้บำเหน็จ กล่าวคือ แม้ว่า ข จะมีสิทธิได้รับบำเหน็จ แต่หาก ข ตัวแทนทำมิชอบในส่วนใด ก็จะไม่มีสิทธิรับบำเหน็จในส่วนนั้น
สรุป กรณีแรกใช้หลักมาตรา 803 ในการพิจารณาให้บำเหน็จ ส่วนกรณีที่สองจะใช้หลักมาตรา 818 ในการพิจารณาให้บำเหน็จ