การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ก. เป็นผู้จัดการร้านค้า ตัวการห้ามขายเชื่อ หรือขายเชื่อได้แต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทและต้องมีผู้ค้ำประกัน ผู้จัดการขายเชื่อ ให้ ข. ไปหนึ่งหมื่นบาท โดยมี ค. ค้ำประกัน หาก ข. ไม่ชําระหนี้ ค่าซื้อเชื่อหนึ่งหมื่นบาทซึ่งจะต้องบังคับโดยการฟ้องคดี อยากทราบว่าในกรณีนี้ใครมีอํานาจฟ้อง ข. และหรือ ค. ได้บ้าง เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 800 “ถ้าตัวแทนได้รับมอบอํานาจแต่เฉพาะการ ท่านว่าจะทําการแทนตัวการได้ แต่เพียงในสิ่งที่จําเป็น เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสําเร็จลุล่วงไป”

มาตรา 801 “ถ้าตัวแทนได้รับมอบอํานาจทั่วไป ท่านว่าจะทํากิจใด ๆ ในทางจัดการแทนตัวการ ก็ย่อมทําได้ทุกอย่าง

แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าหาอาจจะทําได้ไม่ คือ

(5) ยื่นฟ้องต่อศาล”

มาตรา 802 “ในเหตุฉุกเฉิน เพื่อจะป้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหาย ท่านให้สันนิษฐาน ไว้ก่อนว่าตัวแทนจะทําการใด ๆ เช่นอย่างวิญญชนจะพึงกระทํา ก็ย่อมมีอํานาจจะทําได้ทั้งสิ้น”

มาตรา 807 “ตัวแทนต้องทําการตามคําสั่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายของตัวการ เมื่อไม่มี คําสั่งเช่นนั้น ก็ต้องดําเนินตามทางที่เคยทํากันมาในกิจการค้าขายอันเขาให้ตนทําอยู่นั้น”

มาตรา 820 “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือ ตัวแทนช่วงได้ทําไปภายในขอบอํานาจแห่งฐานตัวแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ตัวการให้ ก. เป็นผู้จัดการร้านค้า และมีคําสั่งห้าม ก. ขายเชื่อ หรือ ขายเชื่อได้แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และต้องมีผู้ค้ำประกันนั้น ย่อมถือว่า ก. เป็นตัวแทนได้รับมอบอํานาจทั่วไป และ ก. ต้องทําการตามคําสั่งดังกล่าวของตัวการด้วยตามมาตรา 801 และมาตรา 807

การที่ ก. ตัวแทนได้ขายเชื่อให้ ข. ไป 10,000 บาท โดยมี ค. เป็นผู้ค้ำประกันนั้น เป็นกรณีที่ ก. ตัวแทนได้จัดทํากิจการไปภายในขอบอํานาจและหน้าที่ของตัวแทนตามมาตรา 801 และมาตรา 807 จึงมีผล ตามมาตรา 820 กล่าวคือ ผู้เป็นตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการที่ ก. ตัวแทนได้ทําไปนั้นด้วย ดังนั้นเมื่อ ข. ไม่ชําระหนี้ค่าซื้อเชื่อจํานวน 10,000 บาท และจะต้องบังคับโดยการฟ้องคดี บุคคลที่มีอํานาจฟ้อง ข. และ ค. ผู้ค้ำประกัน จึงต้องเป็นตัวการ

สําหรับ ก. ตัวแทนนั้น โดยหลักแล้วจะไม่มีอํานาจฟ้อง ข. และ ค. เพราะต้องห้ามตามมาตรา 801 วรรคสอง (5) แต่อย่างไรก็ตาม ถ้า ก. ตัวแทนได้รับมอบอํานาจจากตัวการให้เป็นผู้ฟ้องคดีแทนตัวการตาม มาตรา 800 ก. ตัวแทนก็ย่อมมีอํานาจฟ้อง ข. และ ค. ได้ หรือในกรณีเหตุฉุกเฉิน เพื่อจะป้องกันมิให้ตัวการต้อง เสียหาย เช่นคดีดังกล่าวกําลังจะขาดอายุความ เนื่องจากตัวการยังไม่ได้ดําเนินการฟ้องคดี ดังนี้ ก. ตัวแทนจะ ฟ้องคดีนี้ด้วยตนเองแทนตัวการก็ได้ตามมาตรา 802

สรุป

ผู้มีอํานาจฟ้อง ข. และ ค. คือตัวการ ส่วน ก. ตัวแทนอาจมีอํานาจฟ้องคดีแทนตัวการ ได้ ถ้าเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 800 หรือ 802 ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2. นางเพ็ญเปิดร้านขายเพชรอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง นางศรีได้นําแหวนเพชรของตนหนึ่งวงไปฝากนางเพ็ญขายในราคา 80,000 บาท โดยให้นางเพ็ญเป็นตัวแทนค้าต่างและได้ตกลงกันว่า ถ้าขายแหวนเพชรได้จะให้ค่าบําเหน็จแก่นางเพ็ญจํานวน 3,000 บาท ปรากฏว่านางเพ็ญได้ขาย แหวนเพชรวงนั้นให้แก่นางต้อยไปในราคา 90,000 บาท นอกจากนี้เงินที่นางเพ็ญขายแหวนเพชร ได้ยังไม่ยอมส่งมอบให้แก่นางศรีโดยนําเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตน

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าเงินที่นางเพ็ญขายแหวนเพชรได้สูงกว่าที่นางศรีกําหนด นางเพ็ญจะถือเอา เงินส่วนที่ขายเกินเป็นของตนได้หรือไม่ และเงินส่วนที่ไม่ยอมส่งมอบให้แก่นางศรี นางเพ็ญจะต้อง รับผิดต่อนางศรีหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 810 “เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทําการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น”

มาตรา 811 “ถ้าตัวแทนเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการ หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจการของ ตัวการนั้นไปใช้สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย ท่านว่าตัวแทนต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้”

มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อหรือขาย ทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ”

มาตรา 835 “บทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยตัวแทนนั้น ท่านให้ใช้ บังคับถึงตัวแทนค้าต่างด้วยเพียงที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติในหมวดนี้”

มาตรา 840 “ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายได้ราคาสูงกว่าที่ตัวการกําหนด หรือทําการซื้อได้ ราคาต่ำกว่าที่ตัวการกําหนดไซร้ ท่านว่าตัวแทนหาอาจจะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนได้ไม่ ต้องคิดให้แก่ตัวการ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางศรีได้นําแหวนเพชรของตนหนึ่งวงไปฝากนางเพ็ญขายในราคา 80,000 บาท โดยให้นางเพ็ญเป็นตัวแทนค้าต่าง และได้ตกลงกันว่าถ้าขายแหวนเพชรได้จะให้ค่าบําเหน็จแก่นางเพ็ญ จํานวน 3,000 บาท แต่นางเพ็ญได้ขายแหวนเพชรวงนั้นให้แก่นางต้อยไปในราคา 90,000 บาท ซึ่งเป็นราคาขาย ที่สูงกว่าที่นางศรีกําหนดไว้ 10,000 บาทนั้น เงินส่วนที่เกินนี้นางเพ็ญตัวแทนค้าต่างจะถือเอาเป็นประโยชน์ ของตนไม่ได้ ต้องคิดให้แก่ตัวการ คือต้องส่งมอบเงินส่วนที่เกินนี้ให้แก่นางศรีตามมาตรา 840 ประกอบมาตรา 833

ส่วนเงินจํานวน 90,000 บาท ที่ขายแหวนเพชรได้ นางเพ็ญตัวแทนค้าต่างซึ่งได้รับไว้เนื่องด้วย การเป็นตัวแทนต้องส่งมอบให้แก่นางศรีตัวการจงสิ้นตามมาตรา 835 ประกอบมาตรา 810 แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางเพ็ญตัวแทนค้าต่างได้นําเงินจํานวนดังกล่าวซึ่งควรจะต้องส่งให้แก่นางศรีตัวการไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ของตน จึงต้องรับผิดโดยการเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับตั้งแต่วันที่เอาไปใช้ตามมาตรา 835 ประกอบมาตรา 811

สรุป

นางเพ็ญจะถือเอาเงินส่วนที่ขายเกินเป็นของตนไม่ได้ และเงินส่วนที่ไม่ยอมส่งมอบ ให้แก่นางศรี นางเพ็ญจะต้องรับผิดโดยการเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับตั้งแต่วันที่เอาไปใช้

 

ข้อ 3. นายขาวมอบให้นายแดงเป็นนายหน้าขายที่ดินของนายขาวเองโดยตกลงว่าจะให้ค่านายหน้าร้อยละห้าของราคาที่ดินดังกล่าว นายแดงต่อรองนายขาวว่า แต่ถ้าฉันขายที่ดินได้เกินกว่าราคาที่นายขาว กําหนดไว้นายแดงขอราคาส่วนเกินนั้นด้วย นายขาวตกลงให้ตามที่นายแดงขอ และตกลงกันว่า จะจ่ายค่านายหน้าและส่วนเกินกันในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน นายแดงนําเสนอขาย ที่ดินให้นายเขียว นายเขียวตกลงซื้อและนัดทําสัญญาจะซื้อจะขายกัน ภายหลังทําสัญญา การซื้อขาย เลิกกัน นายแดงเรียกค่านายหน้าและค่าส่วนเกินกับนายขาวตามที่ตกลงกันไว้ นายขาวปฏิเสธไม่จ่าย โดยอ้างว่าเมื่อการซื้อขายไม่เกิดขึ้นย่อมถือได้ว่าเงื่อนไขการเป็นนายหน้าไม่เป็นผลสําเร็จ นายแดง ไม่มีสิทธิเรียกค่านายหน้าและค่าส่วนเกิน

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่านายแดงมีสิทธิเรียกค่านายหน้า และค่าส่วนเกินหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้า ทําสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากัน สําเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับ ก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 845 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น คือ สัญญา ซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง หรือจัดการจนเขาได้ทําสัญญากับบุคคลภายนอก และนายหน้า รับกระทําการตามนั้น และเมื่อนายหน้า ได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทําสัญญากันแล้ว นายหน้าย่อมจะได้รับ ค่าบําเหน็จ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายขาวมอบให้นายแดงเป็นนายหน้าขายที่ดินของนายขาวเอง โดยตกลงว่าจะให้ค่านายหน้าร้อยละ 5 ของราคาที่ดินดังกล่าวนั้น เมื่อปรากฏว่านายแดงได้นําที่ดินเสนอขายให้ นายเขียว และนายเขียวได้ตกลงซื้อและได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว ย่อมถือได้ว่านายแดงได้ทําหน้าที่ของตน ในฐานะนายหน้าครบถ้วนแล้ว แม้ต่อมาเภายหลังการทําสัญญา การซื้อขายได้เลิกกันเพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ก็ตาม นายแดงก็ยังมีสิทธิที่จะได้รับค่าบําเหน็จนายหน้าตามมาตรา 845 วรรคหนึ่ง ประกอบคําพิพากษาฎีกา ที่ 517/2494

ส่วนเรื่องเงินส่วนเกินที่นายขาวตกลงจะให้แก่นายแดงนั้น เมื่อการซื้อขายเลิกกัน กล่าวคือ ไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้น นายแดงย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินค่าส่วนเกินในส่วนนี้ ทั้งนี้เพราะเงินค่าส่วนเกินกับ ค่านายหน้าที่นายขาวตกลงจะให้แก่นายแดงนั้น จะต้องพิจารณาแยกกัน (คําพิพากษาฎีกาที่ 257/2522)

สรุป

นายแดงมีสิทธิเรียกค่านายหน้าจากนายขาวได้ แต่จะเรียกค่าส่วนเกินไม่ได้

 

Advertisement