การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ก. มอบ ข. ให้ไปซื้อบ้านโดยให้เงินไปจ่ายเป็นเงินสด เมื่อ ข. ได้บ้านมาแล้ว ข. ไม่โอนคืนตัวการ ข. ซื้อบ้านมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550 พอถึงวันที่ 15 มกราคม 2550 ข. ได้ทําสัญญาเช่าบ้าน หลังดังกล่าวให้กับ ค. ไป ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ก. จะฟ้องเรียกให้ ข. โอนบ้านมาให้ ก. และเรียก ค่าเสียหายจาก ข. ได้หรือไม่ และค่าเสียหายจะเรียกได้ตั้งแต่เมื่อใด (ให้ท่านตอบและใช้หลักกฎหมายมาให้ครบถ้วน)

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 810 “เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทําการแทนตัวการนั้น ตัวแทนที่ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น”

มาตรา 811 “ถ้าตัวแทนเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการ หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจการของตัวการ นั้นไปใช้สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย ท่านว่าตัวแทนต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้”

มาตรา 812 “ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทําการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทําการโดยปราศจากอํานาจหรือนอกเหนืออํานาจก็ดี ท่านว่าตัวแทน จะต้องรับผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก. มอบ ข. ให้ไปซื้อบ้าน และเมื่อ ข. ได้ไปซื้อบ้านตามที่ ก. มอบหมาย เมื่อได้บ้านแล้ว ข. จะต้องโอนบ้านให้ ก. ตามมาตรา 310 แต่ ข. ก็ไม่โอนให้แก่ ก. กลับนําบ้านไปให้ ค. เช่าตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2550 กรณีนี้ถือว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นนับแต่วันที่ ข. นําบ้านไปให้ ค. เข่าตาม มาตรา 811 ดังนั้น ก. ย่อมสามารถฟ้องเรียกให้ ข. โอนบ้านให้แก่ ก. ได้ ตามมาตรา 810 วรรคแรก และ ก. สามารถ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก ข. ในกรณีที่ ข. นําบ้านที่จะต้องโอนให้ ก. ไปให้ ค. เช่าได้ โดยสามารถฟ้องเรียกได้ตั้งแต่ วันที่ 15 มกราคม 2550 นับแต่วันที่ให้เช่าตามมาตรา 811 และมาตรา 812

สรุป

ก. สามารถฟ้องเรียกให้ ข. โอนบ้านมาให้ ก. ได้ และสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก อ. ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2550

 

ข้อ 2. นายแดงเป็นตัวแทนค้าต่างขายรถยนต์มือสองทุกยี่ห้อ นายดําได้นํารถยนต์ของตนหนึ่งคันไปฝากนายแดงขายในราคา 400,000 บาท โดยตกลงกันว่าถ้าขายรถยนต์คันดังกล่าวได้จะให้ค่าบําเหน็จ แก่นายแดงจํานวน 20,000 บาท ปรากฏว่านายแดงได้นํารถยนต์คันนั้นไปขายให้แก่นายเขียวในราคา 430,000 บาท และนอกจากนี้เงินที่ขายรถยนต์ได้ยังไม่ยอมส่งมอบให้แก่นายดําโดยนําไปใช้เพื่อ ประโยชน์ส่วนตัวของตน ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าเงินที่ขายรถยนต์ได้สูงกว่าที่นายดํากําหนด นายแดง จะถือเอาเงินส่วนที่ขายเกินเป็นของตนได้หรือไม่ และเงินส่วนที่ไม่ยอมส่งมอบให้แก่นายดํา นายแดงจะต้องรับผิดต่อนายดําหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 810 “เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทําการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น”

มาตรา 811 “ถ้าตัวแทนเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการ หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจการของตัวการ นั้นไปใช้สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย ท่านว่าตัวแทนต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้”

มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อ หรือ ขายทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ”

มาตรา 835 “บทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยตัวแทนนั้น ท่านให้ใช้ บังคับถึงตัวแทนค้าต่างด้วยเพียงที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติในหมวดนี้”

มาตรา 840 “ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายได้ราคาสูงกว่าที่ตัวการกําหนด หรือทําการซื้อได้ ราคาต่ำกว่าที่ตัวการกําหนดไซร้ ท่านว่าตัวแทนหาอาจจะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนได้ไม่ ต้องคิดให้แก่ตัวการ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําได้นํารถยนต์ของตนหนึ่งคันไปฝากนายแดงซึ่งเป็นตัวแทน ค้าต่างขายในราคา 400,000 บาท โดยตกลงกันว่าถ้าขายรถยนต์คันดังกล่าวได้จะให้ค่าบําเหน็จแก่นายแดงจํานวน 20,000 บาท แต่นายแพได้ขายให้แก่นายเขียวในราคา 430,000 บาท ซึ่งเป็นราคาขายที่สูงกว่าที่นายดํากําหนดไว้ 30,000 บาทนั้น เงินส่วนที่เกินนี้นายแดงตัวแทนค้าต่างจะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนไม่ได้ ต้องคิดให้แก่ตัวการ ตามมาตรา 840 คือต้องส่งมอบเงินส่วนที่เกินนั้นให้แก่นายดําตัวการ

ส่วนเงินจํานวน 430,000 บาท ที่ขายรถยนต์ได้ นายแดงตัวแทนค้าต่างต้องส่งมอบให้แก่นายดํา ตัวการจงสิ้นตามมาตรา 835 ประกอบมาตรา 810 แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายแดงไม่ยอมส่งมอบให้แก่นายตํา แต่ได้นําเงินจํานวนดังกล่าวไปใช้สอยเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตน จึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ ได้นําไปใช้ตามมาตรา 835 ประกอบมาตรา 811

สรุป

นายแดงจะถือเอาเงินส่วนที่ขายเกินเป็นของตนไม่ได้ และเงินส่วนที่ไม่ยอมส่งมอบ ให้แก่ดํา นายแดงจะต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้นําไปใช้

 

ข้อ 3. ก. กับ ข. ได้คบหาไปมาหาสู่กันมานานหลายปี ก. ชวน ข. ไปซื้อที่ดินมือเปล่าของนางต้อยซึ่งมีเนื้อที่ห้าสิบไร่ ในราคาห้าแสนบาท เมื่อซื้อมาแล้ว ข. มอบให้ ก. ขายที่ดินแปลงดังกล่าวในราคาไร่ละ หนึ่งหมื่นห้าพันบาท ถ้าขายได้ราคาเกินไปจากนี้ ส่วนที่เกินให้เป็นของ ก. เจอกันหลายครั้ง ก. บอก ข. ว่า ให้รอหน่อย มีผู้สนใจจะซื้อที่ดินหลายราย จนเวลาผ่านไปร่วมสองปี ข. ไปดูที่ดินที่ซื้อไว้ ปรากฏว่า มีบ้านปลูกสร้างอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าว หวลเจ้าของบ้านบอกกับ ข. ว่าตนซื้อที่ดินแปลงนี้มาจาก ก. เมื่อปีเศษที่ผ่านมาในราคาแปดแสนบาท ข. จะเรียกและบังคับเอากับ ก. ได้อย่างไรบ้างยกหลักกฎหมายประกอบคําตอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 810 “เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทําการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น”

มาตรา 811 “ถ้าตัวแทนเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการ หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจการของตัวการ นั้นไปใช้สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย ท่านว่าตัวแทนต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้”

มาตรา 812 “ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทําการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทําการโดยปราศจากอํานาจหรือนอกเหนืออํานาจก็ดี ท่านว่าตัวแทน จะต้องรับผิด”

มาตรา 845 วรรคแรก “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้า เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้า ทําสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากัน สําเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับ ก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

มาตรา 846 วรรคแรก “ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมาย ได้ว่าย่อมทําให้แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบําเหน็จนายหน้า”

มาตรา 849 “การรับเงินหรือรับชําระหนี้อันจะพึงชําระตามสัญญานั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อน ว่านายหน้าย่อมไม่มีอํานาจที่จะรับแทนผู้เป็นคู่สัญญา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ข. มอบให้ ก. ขายที่ดินนั้น ถือว่าโดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมาย ได้ว่าย่อมทําให้แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จ (มาตรา 846 วรรคแรก) โดยมีราคาส่วนที่ขายได้เกินเป็นค่าบําเหน็จนายหน้า (มาตรา 845 วรรคแรก)

เมื่อ ก. ได้ขายที่ดินให้แก่หวลในราคา 800,000 บาท ซึ่งตามข้อตกลงจะเป็นของ ข. จํานวน 750,000 บาท (50 x 15,000) ที่ ก. จะต้องส่งมอบให้แก่ ข. ตามมาตรา 810 วรรคแรก โดย ก. ไม่มีอํานาจรับแทน ข. (มาตรา 849) แต่อย่างไรก็ตามเมื่อ ก. ได้รับไว้ย่อมถือว่าได้รับไว้แทน ข. ซึ่ง ก. จะต้องส่งมอบให้แก่ ข. เมื่อ ก. ไม่ยอมส่งมอบแต่กลับนําไปใช้สอยเป็นประโยชน์ตน ดังนี้ ก. จะต้องเสียดอกเบี้ยในจํานวนเงินนั้นนับแต่วันที่ได้ เอาไปใช้ตามมาตรา 811 และถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น ก. ก็จะต้องรับผิดชอบต่อ ข. เพราะถือว่า ก. ไม่ทําการ เป็นตัวแทนตามมาตรา 812

สรุป

ข. สามารถเรียกให้ ก. ส่งมอบเงินจากการขายที่ดินจํานวน 750,000 บาท ให้แก่ตนได้ และยังสามารถเรียกเอาดอกเบี้ยในเงินนั้นได้ด้วย และในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น ข. สามารถบังคับให้ ก. รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

Advertisement