การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ดํานั่งดื่มกาแฟคนละโต๊ะกับขาวที่ร้านกาแฟหน้าหมู่บ้าน ขณะที่ร้านกาแฟเปิดทีวีถ่ายทอดสด รายการฟุตบอลให้ลูกค้าชม ดําเชียร์ฟุตบอลเสียงดัง ขาวคุยกับเพื่อนไม่ได้ยินจึงพูดกับคําว่าช่วยเชียร์ ฟุตบอลเสียงเบา ๆ หน่อย เพราะคนอื่นคุยกันแล้วไม่ได้ยิน ดําไม่พอใจลุกขึ้นเดินเข้ามาหาขาวแล้ว เงื้อมือจะตบหน้าขาวในระยะประชิดตัว ขาวผลักดําครั้งเดียว ดําหกล้มสะดุดขาตัวเองหกล้มขาหัก ดังนี้ ขาวจะต้องรับผิดในทางอาญาฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทํา โดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาทหรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

วินิจฉัย

การกระทําที่จะถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะมีผลทําให้ผู้กระทําไม่มีความผิด
และไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 68 ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ

(1) มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย

(2) ภยันตรายนั้นเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง

(3) ผู้กระทําจําต้องกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายนั้น

(4) ต้องได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ขาวผลักดําทําให้ดําล้มสะดุดขาตัวเองหกล้มขาหักนั้น ถือว่าขาวได้กระทํา ต่อดําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการกระทํา และในขณะเดียวกัน ขาวก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น ซึ่งโดยหลักแล้วขาวจะต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม การที่ขาวได้ผลักดํานั้นเป็นเพราะดําได้เดินเข้ามาหาขาวแล้วเงื้อมือจะตบหน้าขาว ในระยะประชิดตัว ซึ่งลักษณะการกระทําของดํานั้น ย่อมถือได้ว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิด ต่อกฎหมายเกิดขึ้นกับขาว และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ขาวจึงต้องกระทําคือการผลักดําเพื่อป้องกันสิทธิของตน

อีกทั้งการที่ขาวได้ผลักดําเพียงครั้งเดียวย่อมถือว่าขาวได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ ดังนั้น การกระทําของขาว จึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ของการกระทําอันเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา68 ขาวจึงไม่มีความผิดและไม่ต้องรับผิดทางอาญา

สรุป ขาวไม่ต้องรับผิดทางอาญาเพราะเป็นการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ 2 ม่วงกับส้มขัดใจกันเรื่องผลประโยชน์ธุรกิจที่ทําร่วมกัน วันเกิดเหตุม่วงพบส้มที่ตลาด ขณะส้ม กําลังยืนซื้อของ ม่วงเดินมาข้างหลังส้มแล้วหยิบขวดแอลกอฮอล์ (จุดไฟติด) เทราดส้มตั้งแต่ศีรษะ ลงมาถึงเท้า แล้วใช้ไฟแช็คจุดไฟที่ต้นคอส้ม ไฟไหม้ตามตัวส้มร้อยละ 90 ชาวบ้านเห็นเหตุการณ์ เข้าห้ามและช่วยนําตัวส้มส่งโรงพยาบาล ส้มบาดเจ็บ

ดังนี้ ม่วงจะต้องรับผิดในทางอาญาใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทํา โดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาทหรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ม่วงกับส้มขัดใจกันเรื่องผลประโยชน์ธุรกิจที่ทําร่วมกัน เมื่อม่วงพบส้มที่ ตลาดขณะส้มกําลังซื้อของ ม่วงเดินเข้ามาข้างหลังส้มแล้วหยิบขวดแอลกอฮอล์ (จุดไฟติด) เทราดส้มตั้งแต่ศีรษะ ลงมาถึงเท้า แล้วใช้ไฟแช็คจุดไฟที่ต้นคอส้ม ทําให้ไฟไหม้ตามตัวส้มร้อยละ 90 นั้น การกระทําของม่วงเป็น การกระทําโดยเจตนาประสงค์ต่อผลตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น คือความตายของส้ม ดังนั้นม่วงจึงต้องรับผิดทางอาญา ต่อส้มตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา…….”

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าส้มไม่ตายตามความประสงค์ของม่วง เนื่องจากชาวบ้าน ได้เห็นเหตุการณ์เข้าห้ามและนําส้มส่งโรงพยาบาล ส้มจึงเพียงแต่บาดเจ็บ จึงเป็นกรณีที่ม่วงได้ลงมือกระทํา

ความผิด ซึ่งได้กระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ม่วงจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าส้มโดยเจตนา ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง

สรุป ม่วงจะต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่าส้มโดยเจตนา

ข้อ 3 นายโก๋เคยมีเรื่องโกรธเคืองกับนายดํามาก่อน เห็นนายดําเดินมาจึงเข้าไปชกต่อยจนนายดําล้มลง แล้วตามเข้าไปจะเตะซ้ําอีก นายขาวเห็นเหตุการณ์เข้าห้ามไม่ให้นายโก๋ทําร้ายนายดํา นายโก๋ไม่พอใจจึงชักมีดแทงนายขาวได้รับบาดเจ็บล้มลง แล้วนายโก๋ใช้มีดจะเข้าไปทําร้ายนายดําอีก นายขาวจึงคว้าไม้ตีนายโก๋ศีรษะแตกล้มลงและไม้ยังหักกระเด็นไปถูกนายดําได้รับบาดเจ็บอีกด้วย ดังนี้ นายขาวจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทํา โดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาทหรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง โดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น……..”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายขาวจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่ วินิจฉัยได้ดังนี้

การที่นายโก๋เคยมีเรื่องโกรธเคืองกับนายดํามาก่อน เมื่อเห็นนายดําเดินมาจึงเข้าไปชกต่อยจนนายดําล้มลงแล้วตามเข้าไปจะเตะซ้ําอีก นายขาวเห็นเหตุการณ์เข้าไปห้ามไม่ให้นายโก๋ทําร้ายนายดํา ทําให้นายโก๋ไม่พอใจจึงชักมีดแทงนายขาวได้รับบาดเจ็บล้มลง แล้วนายโก๋ใช้มีดจะเข้าไปทําร้ายนายดําอีก นายขาวจึงคว้าไม้ตีนายโก๋ศีรษะแตกล้มลงนั้น การกระทําของนายขาวเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทํา ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของนายขาวจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง ซึ่งโดยหลักแล้วนายขาวจะต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม การกระทําของนายขาวถือได้ว่าเป็นการกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของนายดํา ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อีกทั้งนายขาว
ได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทําของนายขาวจึงเป็นการกระทําที่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น นายขาวจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อนายโก๋ตามมาตรา 68

และเมื่อการที่นายขาวได้ใช้ไม้ตีนายโก๋จนศีรษะแตกล้มลง และไม้ยังหักกระเด็นไปถูกนายดํา
ได้รับบาดเจ็บอีกด้วยนั้น การกระทําของนายขาวต่อนายดํานั้นถือว่าเป็นการกระทําโดยเจตนาโดยพลาดไปตาม มาตรา 60 แต่เมื่อเจตนาตอนแรกของนายขาวเป็นการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นผลที่เกิดขึ้น โดยพลาด จึงเป็นผลที่เกิดจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยตามมาตรา 60 ประกอบมาตรา 68 นายขาวจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อนายดําเช่นกัน

สรุป นายขาวไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อนายโก๋และนายดํา เพราะเป็นการกระทําเพื่อป้องกัน โดยชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ 4 หนึ่งกับสองร่วมกันวางแผนขโมยวัว ในตอนกลางคืน หนึ่งเข้าไปจูงวัวจากคอกของนายช้างไปส่ง ให้สองซึ่งรออยู่ชายทุ่ง ห่างจากคอกนายช้างประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อหนึ่งขโมยวัวมาส่งให้สอง แล้วหนึ่งก็กลับบ้านไป สองจูงวัวไปขายให้กับสาม สามรู้ว่าเป็นวัวที่ถูกขโมยมาแต่เห็นว่าราคาถูก ก็รับซื้อไว้

ดังนี้ สองและสามจะต้องรับผิดทางอาญาในความผิดที่หนึ่งขโมยวัวจากคอกของนายช้างในฐาน เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วม กระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 84 วรรคหนึ่งและวรรคสาม “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ”

มาตรา 86 “ผู้ใดกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่น กระทําความผิดก่อน หรือขณะกระทําความผิด แม้ผู้กระทําความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กําหนดไว้สําหรับ ความผิดที่สนับสนุนนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ สองและสามจะต้องรับผิดทางอาญาในความผิดที่หนึ่งขโมยวัวจากคอกของ นายช้างในฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนหรือไม่ อย่างไร แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีของสอง

แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า สองได้ร่วมกับหนึ่งวางแผนขโมยวัวในตอนกลางคืนจากคอกของนายช้าง
ในตอนแรกก็ตาม แต่ตอนที่หนึ่งเข้าไปขโมยวัวจากคอกของนายช้างนั้น สองไม่ได้อยู่ร่วมกระทําความผิดด้วย เนื่องจากสองได้รออยู่ชายทุ่งห่างประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งไม่สามารถมองเห็นหรือช่วยเหลือได้ สองจึงมิใช่ตัวการ ที่จะต้องร่วมรับผิดกับหนึ่งตามาตรา 83 เพื่อนําไปขายให้กับนายสามนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหนึ่งได้เข้าไปขโมยวัวจากคอกของนายช้างแล้ว ได้จูงวัวไปส่งให้นายสอง การร่วมกันวางแผนขโมยวัวและการไปรอรับวัวอยู่ที่ชายทุ่งของสอง ย่อมถือว่า เป็นการกระทําอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนการกระทําความผิดแล้ว เมื่อหนึ่งได้ลงมือกระทํา ความผิดสําเร็จ สองจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86

กรณีของสาม

แม้สามจะได้รับซื้อวัวไว้และรู้ว่าเป็นวัวที่ถูกขโมยมา สามก็ไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83 หรือเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 แต่อย่างใด เพราะสามไม่ได้ร่วมกันกระทําความผิดกับหนึ่ง หรือเป็นผู้ “ก่อ” ให้หนึ่ง กระทําความผิด และสามก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 เพราะสามไม่ได้กระทําการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่หนึ่งกระทําความผิดก่อนหรือขณะกระทําความผิดแต่อย่างใด แต่การกระทําดังกล่าวของสามย่อมเป็นความผิดฐานใหม่คือ ความผิดฐานรับของโจร

สรุป สองมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามาตรา 86 ส่วนสามไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือสนับสนุนแต่อย่างใด แต่สามจะมีความผิดฐานใหม่ คือความผิดฐานรับของโจร

Advertisement