การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2006 กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ดําไม่พอใจท่าเดินกวนประสาทของขาวขณะเดินซื้อของที่ตลาด เมื่อขาวเดินมาใกล้ ดําตบและชก หน้าขาว ขาวล้มลง ดํากระชากคอเสื้อขาวจะชกซ้ำ ขาวผวาเข้ากอดดํากัดหูดําแหว่ง ดําทนเจ็บไม่ไหว ปล่อยขาว ดังนี้ ขาวจะต้องรับผิดชอบอาญาอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดย เจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาทหรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

วินิจฉัย

การกระทําที่จะถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะมีผลทําให้ผู้กระทําไม่มีความผิดและไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 68 ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ

(1) มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย

(2) ภยันตรายนั้นเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง

(3) ผู้กระทําจําต้องกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายนั้น (4) ต้องได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ขาวกัดหูดําแหว่งนั้น ถือว่าขาวได้กระทําต่อดําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการกระทํา และในขณะเดียวกันขาวก็ได้ประสงค์ต่อผลของการ กระทํานั้น ซึ่งโดยหลักแล้วขาวจะต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเหตุที่ขาวผวาเข้ากอดดําและกัดดําหูแหว่งนั้น เป็นเพราะ ดําตบและชกหน้าขาว เมื่อขาวล้มลง ดํากระชากคอเสื้อขาวและจะชกช้ํา ซึ่งการกระทําของดํานั้น ย่อมถือได้ว่า มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายเกิดขึ้นกับขาว และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ทําให้ขาวต้องกระทําคือการผวาเข้ากอดดําและกัดหูดําเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากการถูกทําร้ายเนื่องจากขาวไม่มีทางเลือกอื่นใด และเมื่อการกระทําของขาวเป็นการกระทําที่พอสมควรแก่เหตุ ดังนั้น การกระทําของขาว ดังกล่าวจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 ขาวจึงไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษทางอาญา

สรุป ขาวไม่ต้องรับผิดทางอาญาเพราะเป็นการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ 2 หนึ่งกับสองเป็นวัยรุ่นชอบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ซิ่ง หนึ่งยืนดูช่างซ่อมรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ของตน ที่อู่ประจําเห็นสองนํารถมอเตอร์ไซค์ 100 ซีซี เข้ามาให้ช่างซ่อม ขณะที่สองนั่งคุยกับช่างซ่อม หนึ่งเดินเข้ามาหาแล้วพูดว่า อู่นี้ไม่รับซ่อมรถกระจอก 100 ซีซี เสียเวลาช่าง ไม่มีเงินซื้อบิ๊กไบค์ ก็อย่ามาซ่อมทุเรศและเอาเท้าลูบศีรษะสอง สองลุกขึ้นมาชกหน้าหนึ่ง หนึ่งคิ้วแตก ดังนี้ สองต้อง รับโทษอาญาอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาทหรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทําความผิด ต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

วินิจฉัย

การกระทําความผิดที่ผู้กระทําสามารถอ้างเหตุ “บันดาลโทสะ” เพื่อให้ศาลลดหย่อนผ่อนโทษ ตามมาตรา 72 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ

1 ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม

2 การข่มเหงเช่นนั้นเป็นเหตุให้ผู้กระทําผิดบันดาลโทสะ

3 ผู้กระทําได้กระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หนึ่งพูดกับสองว่าอู่นี้ไม่รับซ่อมรถกระจอก 100 ซีซี เสียเวลาช่าง ไม่มีเงิน ซื้อบิ๊กไบค์ก็อย่ามาซ่อมทุเรศนั้น คําพูดดังกล่าวของหนึ่งที่พูดแซวเสียดสีสองเป็นเพียงคําพูดที่ไม่เหมาะสมยังไม่ถือว่า เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรง แต่การที่หนึ่งเอาเท้าลูบศีรษะสองนั้นถือว่าเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตามความรู้สึกของคนธรรมดาทั่วไปในสภาพภาวะวิสัยและพฤติการณ์อย่างเดียวกับสองแล้ว ดังนั้น การที่สองลุกขึ้นมาชกหน้าหนึ่งบาดเจ็บนั้น แม้จะถือว่าสองได้กระทําโดยเจตนาต่อหนึ่งตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะสองได้กระทําไปโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันสองก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น ซึ่งทําให้สองต้องรับผิดตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ในความผิดฐานทําร้ายร่างกายหนึ่งก็ตาม แต่เมื่อสองได้กระทําไป เพราะบันดาลโทสะและได้กระทําต่อหนึ่งผู้ข่มเหงตนในขณะนั้น สองย่อมสามารถอ้างได้ว่าตนได้กระทําความผิดเพราะบันดาลโทสะ เพื่อให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตามมาตรา 72

สรุป สองต้องรับโทษทางอาญาฐานทําร้ายร่างกายหนึ่ง แต่สองอ้างได้ว่ากระทําเพราะบันดาลโทสะ เพื่อให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

ข้อ 3 นายเสือกับนายสิงห์มีปัญหาขัดแย้งกันในเรื่องธุรกิจผิดกฎหมาย นายเสือจึงต้องการฆ่านายสิงห์ วันเกิดเหตุนายเสือไปดักรอนายสิงห์ที่หน้าบ้าน เมื่อนายสิงห์มาจอดรถและกําลังไปเปิดประตูรั้วบ้าน นายเสือได้ใช้ปืนจ้องเล็งไปที่นายสิงห์ นายสิงห์ซึ่งคอยระวังตัวอยู่ก่อนแล้วได้ใช้ปืนยิงไปที่นายเสือกระสุนปืนไม่ถูกนายเสือแต่ถูกเสารั้วแล้วแฉลบไปถูกนางนกซึ่งกําลังยืนรดน้ําต้นไม้อยู่บ้านตรงข้ามถึงแก่ความตาย ดังนี้ กรณีนางนกซึ่งถึงความตาย นายสิงห์จะอ้างว่ากระทําเพื่อป้องกันได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดย เจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง โดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น….”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสิงห์ได้ใช้ปืนยิงไปที่นายเสือ กระสุนปืนไม่ถูกนายเสือแต่ถูกเสารั้ว แล้วแฉลบไปถูกนางนกซึ่งกําลังยืนรดน้ําต้นไม้อยู่บ้านตรงข้ามถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของนายสิงห์เป็น การกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทํา ของนายสิงห์จึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง ซึ่งโดยหลักแล้วนายสิงห์จะต้องรับผิดทางอาญามาตรา 59 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายสิงห์ใช้ปืนยิงไปที่นายเสือนั้น เป็นเพราะนายเสือได้ใช้ปืนจ้องเล็งไปที่ นายสิงห์ด้วยเจตนาจะฆ่านายสิงห์ก่อน การที่นายสิงห์ใช้ปืนยิงไปที่นายเสือจึงถือเป็นการกระทําเพื่อป้องกันชีวิต
ของตนให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
อีกทั้งเป็นการกระทําที่พอสมควรแก่เหตุ การกระทําของนายสิงห์จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม มาตรา 68 ดังนั้น นายสิงห์จึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อนายเสือ

และเมื่อการที่นายสิงห์ใช้ปืนยิงไปที่นายเสือ แต่กระสุนไม่ถูกนายเสือแต่ถูกเสารั้วแล้วแฉลบไปถูก นางนกถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของนายสิงห์ต่อนางนกนั้น ถือเป็นการกระทําโดยเจตนาโดยพลาดไปตาม มาตรา 60 ซึ่งเมื่อเจตนาตอนแรกของนายสิงห์เป็นการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ผลที่เกิดขึ้น โดยพลาดไปจึงถือเป็นผลที่เกิดจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยตามมาตรา 60 ประกอบมาตรา 68 นายสิงห์จึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อนางนกด้วยเช่นกัน

สรุป กรณีนางนกถึงแก่ความตาย นายสิงห์สามารถอ้างได้ว่าเป็นการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบ ด้วยกฎหมายได้

ข้อ 4 นายดําต้องการฆ่านางสมศรีเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ วันเกิดเหตุขณะที่นางสมศรีกําลังเดินทวงหนี้
แม่ค้าในตลาด นายดําได้มอบปืนให้นายแดงโดยหลอกว่าเป็นปืนปลอมให้ไปยิงล้อเล่นนางสมศรี ให้ตกใจ นายแดงหลงเชื่อว่าเป็นปืนปลอมตามที่ถูกหลอกลวงจึงใช้ปืนยิงไปที่นางสมศรี นางสมศรี ถูกกระสุนปืนและถึงแก่ความตาย ดังนี้ อยากทราบว่าการกระทําของนายดําเป็นความผิดฐานเป็น ผู้ใช้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อ ได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดย ประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

ถ้าผู้กระทํามิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทําประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้”

มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยง ส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด

ถ้าความผิดมิได้กระทําลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทํา ยังไม่ได้กระทําหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําต้องการฆ่านางสมศรี และขณะที่นางสมศรีกําลังเดินทวงหนี้แม่ค้า ในตลาด นายดําได้มอบปืนให้นายแดงโดยหลอกว่าเป็นปืนปลอมให้ไปยิงล้อเล่นนางสมศรีให้ตกใจ นายแดงหลงเชื่อว่า เป็นปืนปลอมตามที่ถูกหลอกลวงจึงใช้ปืนยิงไปที่นางสมศรี นางสมศรีถูกกระสุนปืนและถึงแก่ความตายนั้น กรณี ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า นายแดงผู้ถูกใช้ไม่มีเจตนาที่จะฆ่านางสมศรี เพราะนายแดงไม่รู้ว่าปืนที่นายดํามอบให้ เป็นปืนจริงที่มีอานุภาพทําให้ผู้ถูกยิงถึงแก่ความตายได้ จึงถือว่านายแดงไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด และจะถือว่านายแดงผู้กระทําประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้ตามมาตรา 59 วรรคสาม นายแดงจึงไม่มีความผิดฐานเจตนาฆ่านางสมศรีตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อมามีว่า การกระทําของนายดําเป็นความผิดฐานเป็นผู้ใช้หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า ความผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ใช้และผู้อื่นที่ถูกใช้นั้นมีเจตนาที่จะกระทํา ความผิดด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายแดงผู้ถูกใช้ไม่มีเจตนาที่จะกระทําความผิด ดังนั้น นายดําจึงไม่มีความผิด ฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 แต่ถือว่านายดํามีความผิดฐานเจตนาฆ่านางสมศรี โดยเป็นการกระทําโดยอ้อมของ นายดํา คือเป็นการกระทําของนายดําโดยอาศัยนายแดงเป็นเครื่องมือนั่นเอง

สรุป การกระทําของนายดําไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้ใช้ แต่เป็นการกระทําโดยอ้อมของนายดํา

Advertisement