การสอบซ่อมภาค 1 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. กฎหมายตราสามดวงคืออะไร เพราะเหตุใดจึงมีการบัญญัติกฎหมายตราสามดวงขึ้นมา จงอธิบาย

Advertisement

ธงคําตอบ

กฎหมายตราสามดวง คือ กฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงให้บัญญัติมา เพื่อใช้ปกครองบ้านเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2347 (จ.ศ. 1166) เหตุที่มีการบัญญัติกฎหมายตราสามดวงขึ้นมาก็เนื่องจาก มีการร้องทุกข์ของนายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ว่าภรรยาของตนเองซึ่งมีชื่อว่าอําแดงป้อม ไปทําชู้กับราชาอรรถ แล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรี นายบุญศรีไม่ยอมหย่า แต่ศาลตัดรับให้หย่ากันได้ เพราะตามกฎหมายในขณะนั้น บัญญัติว่า เป็นหญิงหย่าขายหย่าได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นว่า หญิงนอกใจชายแล้วมาฟ้องหย่า ลูกขุนปรึกษาให้หย่ากันนั้นหายุติธรรมไม่ จึงทรงให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งรวม 11 คน ให้ จัดการชําระบทกฎหมายทั้งหมด ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์เป็นต้นมาให้ถูกต้องตามความยุติธรรม และให้อาลักษณ์ เขียนเป็นฉบับหลวงจํานวน 3 ชุด ประทับตราคชสีห์ ราชสีห์ และบัวแก้ว อันตราของสมุหพระกลาโหม สมุหนายก และเจ้าพระยาพระคลังไว้เป็นสําคัญ จึงได้เรียกในภายหลังว่ากฎหมายตราสามดวง

 

ข้อ 2. คัมภีร์พระธรรมศาสตร์คืออะไร ในประมวลกฎหมายตราสามดวงได้มีการกล่าวถึงการกําเนิดของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ไว้ว่าอย่างไร อธิบาย

ธงคําตอบ

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ คือ คัมภีร์ที่ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์หรือผู้มีอํานาจเหนือบุคคลธรรมดาแต่ง เรียบเรียงขึ้น เป็นชุมนุมข้อบังคับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามความยุติธรรม กฎเกณฑ์เหล่านี้อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง ดังนั้น จึงย่อมใช้แก่มนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้อําานาจการปกครองของกษัตริย์ และกษัตริย์เองก็อยู่ภายใต้กฎหมาย ของพระธรรมศาสตร์ด้วย โดยลักษณะเช่นนี้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงมีศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งกษัตริย์ของราชอาณาจักรไทยได้นําเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาจากมอญมาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมาย
ที่เรียกว่าพระราชศาสตร์มาตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัยแล้ว

ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้กล่าวถึงกําเนิดของพระคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ไว้ว่า เกิดจากการที่มีท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งชื่อ พรหมเทวะ จุติจากพรหมโลกแล้วมาปฏิสนธิกําเนิดในตระกูลมหาอํามาตย์ซึ่งเป็นข้าบาท พระเจ้ามหาสมมุติราช ครั้นอายุได้ 15 ปี ก็เข้าแทนที่บิดา ต่อมาเห็นสัตว์โลกทั้งหลายได้รับความทุกข์ยากต่าง ๆ จึงมีความปรารถนาที่จะให้พระเจ้าสมมุติราชตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม จึงถวายบังคมลาออกไปบวชเป็นฤาษีอยู่ใน ป่าหิมพานต์ ต่อมาพระเทวฤๅษีได้เสียเป็นผัวเมียกับกินรีนางหนึ่งจนเกิดบุตร 2 คน คนแรกชื่อ ภัทธระกุมาร คนที่ 2 ชื่อ มโนสารกุมาร เมื่อบุตรทั้ง 2 เจริญเติบโต บิดาก็ให้บวชเป็นฤๅษีจําศีลภาวนา และรับใช้ปรนนิบัติบิดามารดา จนกระทั่งบิดามารดาได้ตายจากไป ภัทระดาบสจึงได้ละเพศฤาษีไปรับราชการเป็นปุโรหิตสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราช ส่วนมโนสารฤๅษีก็ตามพี่ชายออกไปทําราชการด้วย พระเจ้าสมมุติราชจึงตั้งมโนสารให้เป็นผู้พิพากษา

ครั้นอยู่มาวันหนึ่งมีชาย 2 คน ทําไร่แตงใกล้กัน เมื่อปลูกแล้วเอาดินมาปูเป็นถนนกั้นกลาง เถาแตง จึงเลื้อยพาดผ่านข้ามถนนพันจนเป็นต้นเดียวกัน เมื่อแตงเป็นผล ชายทั้งสองต่างก็มาเก็บแตงจึงเกิดการทะเลาะวิวาท ด้วยต่างอ้างเป็นเจ้าของผลแตง ชายทั้งสองจึงพากันมาหาพระมโนสารให้เป็นผู้ชี้ขาด พระมโนสารตัดสินว่า แตงอยู่ในไร่ผู้ใดผู้นั้นเป็นเจ้าของผลแตง ชายผู้หนึ่งไม่พอใจในคําตัดสินของพระมโนสาร จึงอุทธรณ์คําตัดสิน ไปยังพระเจ้าสมมุติราช พระองค์จึงตรัสใช้อํามาตย์ผู้หนึ่งให้ไปพิจารณาคดีใหม่ อํามาตย์ผู้นั้นจึงเลิกต้นแตงขึ้นดู ตามปลายยอด เอายอดแตงกลับมาไว้ตามต้น ชายทั้งสองต่างพอใจในคําตัดสินของอํามาตย์ผู้นี้ และประชาชน ทั้งหลายต่างพากันตําหนิว่าพระมโนสารตัดสินคดีไม่เป็นธรรม พระมโนสารมีความเสียใจจึงหนีไปออกบวชเป็น ฤๅษีจําเริญภาวนาได้อภิญญา 5 และอรรฐสมบัติ 8 แล้วมีความประสงค์จะให้พระเจ้าสมมุติราชทรงไว้ด้วย ทศพิธราชธรรม 10 ประการ จึงเหาะไปยังกําแพงจักรวาลเห็นบาลีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษร ปรากฏอยู่ในกําแพงจักรวาลมีปริมณฑลเท่ากายคชสาร พระมโนสารก็จดจําและนํามาแต่งเรียบเรียงขึ้นเป็นคัมภีร์ พระธรรมศาสตร์ เพื่อมาสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราช

 

ข้อ 3. การศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายต่างประเทศมีประโยชน์อย่างไร จงยกมาให้ดูเป็นข้อ ๆ

ธงคําตอบ

ประโยชน์ของการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายต่างประเทศ มีดังนี้

(1) ทําให้สามารถล่วงรู้ถึงกฎหมายและหลักการในกฎหมายเก่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการศึกษา หรือการจัดทําและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายใหม่

(2) ทําให้มีความเข้าใจกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ดีขึ้นว่ากฎหมายดังกล่าวนี้มีที่มาอย่างไร มีความหมายและขอบเขตเพียงใด โดยเปรียบเทียบกับบทบัญญัติในกฎหมายเก่า

(3) ทําให้เข้าใจความเป็นมาและระบบกฎหมายของประเทศต่างๆ และอาจนํามาเปรียบเทียบ กับความเป็นมาและระบบกฎหมายของประเทศตน

(4) ทําให้มีความรู้และความเข้าใจในวัฒนธรรมทางกฎหมายของประเทศต่าง ๆ ในอดีต และในระยะต่อมา

 

ข้อ 4. ระบบกฎหมายสังคมนิยม และระบบกฎหมายซีวิลลอว์ แตกต่างกันอย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

ระบบกฎหมายสังคมนิยมและระบบกฎหมายซีวิลลอว์ มีความแตกต่างกัน 4 ประการ คือ

(1) กฎหมายอาญา

ประเทศที่อยู่ในระบบกฎหมายสังคมนิยม การตีความกฎหมายอาญาไม่เคร่งครัด อาจจะ
ลงโทษผู้กระทําความผิดโดยอาศัยเทียบเคียงความผิด (Crime by Analogy) แต่ประเทศที่อยู่ในระบบกฎหมาย ซีวิลลอว์ การตีความกฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด

(2) กฎหมายรัฐธรรมนูญ

ประเทศที่อยู่ในระบบกฎหมายสังคมนิยมคํานึงถึงเป้าหมาย คือ การสร้างความเท่าเทียมกัน
ในสังคมมากกว่าวิธีการ ดังนั้นแม้จะต้องออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ได้ผ่านขั้นตอนของรัฐสภาก็อาจ ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ แต่ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การออกกฎหมายใด ๆ จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้

(3) กรรมสิทธิ์

ประเทศที่อยู่ในระบบกฎหมายสังคมนิยมถือว่ารัฐมีอํานาจในการจํากัดการมีกรรมสิทธิ์ใน
ทรัพย์สินของเอกชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ แต่ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ จะให้
เสรีภาพแต่เอกชนในการถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

(4) ความสําคัญของกฎหมาย

ประเทศที่อยู่ในระบบกฎหมายสังคมนิยม จะให้ความสําคัญกับกฎหมายมหาชนมากกว่า กฎหมายเอกชน โดยเฉพาะในเรื่องการได้มาและสิ้นไปของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน แต่ในระบบกฎหมายชีวิลลอว์ จะอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายเอกชน

Advertisement