การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 (ก) การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง มีผลในกฎหมายประการใด ให้อธิบายโดยสังเขป
(ข) นายอาทิตย์กับนางจันทราตกลงทำสัญญากันหลอกๆว่านายอาทิตย์ขายรถยนต์คันหนึ่งของตนให้แก่นางจันทราในราคา 400,000 บาท นายอาทิตย์ได้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่นางจันทรา แต่ไม่มีการชำระราคากันจริง ต่อมาอีก 7 วัน นางจันทราเอารถยนต์คันนั้นไปขายให้แก่นายอังคารในราคา 380,000 บาท หลังจากนั้นอีก 1 เดือน นายอาทิตย์ทราบเรื่องจึงบอกกล่าวเรียกร้องให้นายอังคารเอารถยนต์มาส่งคืนให้แก่ตนโดยอ้างว่ารถยนต์เป็นของตน
ตนมิได้ขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นางจันทราจริงๆ นายอังคารไม่ยอมคืนรถยนต์ให้แก่นายอาทิตย์และบอกแก่นายอาทิตย์ว่า ตนจะคืนรถยนต์ให้ต่อเมื่อได้รับเงินคืน 380,000 บาท ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่าในขณะที่นายอังคารซื้อรถยนต์จากนางจันทรานั้น นายอังคารรู้ว่านายอาทิตย์ไม่ได้ขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นางจันทราจริงๆ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายอังคารต้องส่งคืนรถยนต์ให้แก่นายอาทิตย์หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 155 วรรคแรก การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้
วินิจฉัย
(ก) การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง คือ การที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายสมรู้หรือตกลงกันกระทำหรือแสดงกิริยาอาการ อย่างใดยอย่างหนึ่งออกให้ดูเหมือนเป็นการแสดงเจตนาแต่แท้จริงแล้วเป็นการลวง เจตนาอันแท้จริงของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่สมรู้กันนั้นมิได้ต้องการให้เกิดผลในทางกฎหมายซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในสิทธิแต่อย่างใด
การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง มีผลในกฎหมายตามาตรา 155วรรคแรก คือ ตกเป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ถ้ามีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กฎหมายคุ้มครองบุคคลภายนอกโดยบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดๆยกความเป็นโมฆะของการแสดงเจตนาลวงขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ซึ่งเป็นผู้ (1) กระทำการโดยสุจริต และ (2) ต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น
“กระทำโดยสุจริต” หมายความว่า กระทำโดยไม่รู้และไม่มีเหตุอันควรรู้ถึงการที่ไม่มีสิทธิหรือความบกพร่องแห่งสิทธิที่มีมาในอดีต (ฎ. 540/2490)
“ต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น” หมายความว่า บุคคลภายนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั้นได้รับความเสียหาย เนื่องจากได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปเพราะหลงเชื่อการแสดงเจตนาลวงนั้น
ดังนั้นหากบุคคลภายนอกกระทำการโดยไม่สุจริตแต่เกิดความเสียหายกับตน หรือบุคคลภายนอกกระทำการโดยสุจริต แต่ไม่ได้รับความเสียหายแล้ว กฎหมายก็จะไม่คุ้มครองบุคคลภายนอกบุคคลใดๆสามารถยกเอาความเป็นโมฆะดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้
(ข) กรณีตามอุทาหรณ์ นายอาทิตย์กับนางสาวจันทราสมรู้กันแสดงเจตนาลวงว่านายอาทิตย์ขายรถยนต์ให้แก่นางจันทรา สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทราจึงตกเป็นโมฆะ ตามาตรา 155 วรรคแรกตอนต้น ต่อมานางจันทราขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นายอังคาร โดยในขณะที่นายอังคารซื้อรถยนต์จากนางจันทรานั้น นายอังคารก็รู้ว่านายอาทิตย์ไม่ได้ขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นางจันทราจริงๆ กรณีจึงถือได้ว่า นายอังคารซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำโดยไม่สุจริต (ฎ . 1020/2504) นายอังคารจึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย ตามาตรา 155 วรรคแรก ตอนท้าย ดังนั้น เมื่อนายอาทิตย์เรียกร้องให้นายอังคารส่งรถยนต์แก่ตนนายอังคารจึงต้องส่งคืนรถยนต์ให้นายอาทิตย์
สรุป นายอังคารต้องส่งคืนรถยนต์ให้แก่นายอาทิตย์