การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2554

 ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  เซ็นชื่อในใบมอบอำนาจให้  ข  ไปกรอกข้อความเอง  โดยมอบให้  ข  นำที่ดินไปจำนอง  แต่  ข  กลับกรอกข้อความว่า  ให้นำที่ดินไปขายฝาก  ซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของ  ก  แต่จากพฤติการณ์ดังกล่าวทำให้  ค  ผู้รับซื้อฝากเข้าใจว่า  ข  มีอำนาจทำได้  จึงรับซื้อฝากไว้โดยสุจริต  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1)  ก  ต้องรับผิดผูกพันกับการกระทำของ  ข  หรือไม่

(2)  ก  จะปฏิเสธความรับผิดและฟ้องเพิกถอนการโอนสัญญาระหว่าง  ข  กับ  ค  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(3)  ก  ฟ้อง  ข  ว่าปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม  ศาลพิพากษาว่า  ข  ผิดจริงตามฟ้อง  ดังนี้  ก  จะนำคำพิพากษาดังกล่าวมาทำให้กระทบกระเทือนสิทธิของ  ค  ผู้กระทำการโดยสุจริตได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  821  บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี  รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

มาตรา  822  ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทน  แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน  ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

(1)  การที่  ก  ลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจให้ตัวแทนไปจำนองที่ดิน  โดยไม่กรอกข้อความลงในใบมอบอำนาจ  เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ  ยอมเสี่ยงภัยในการกระทำของตนเองอย่างร้ายแรง  เมื่อ  ข  นำใบมอบอำนาจไปกรอกข้อความเป็นให้ขายฝาก  ซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของ  ก  เป็นกรณีเข้าลักษณะความรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอก  ตามมาตรา  822  ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวแทน  คือ  ข  ทำการเกินอำนาจตัวแทน  แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีเหตุอันสมควรจะเชื่อได้ว่า  การนั้นอยู่ภายในของอำนาจของตัวแทน  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ค.  รับซื้อฝากไว้โดยสุจริต  และเสียค่าตอบแทน  ดังนั้น  ก  ตัวการจึงต้องรับผิดผูกพันกับการกระทำของ  ข  ตัวแทนตามมาตรา  822  ประกอบมาตรา  821  (ฎ. 671/2523)

(2)  เมื่อ  ก  ตัวการจะต้องรับผิดผูกพันกับการกระทำของ  ข  ตัวแทนแล้ว  ดังนั้น  ก  จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างเอาความประมาทเลินเล่อของตนมาเป็นเหตุให้พ้นจากความรับผิดไม่ได้  และจะเพิกถอนการโอนสัญญาระหว่าง  ข  กับ  ค  ไม่ได้  (ฎ. 580/2507)

(3) แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า  ข  จะถูกศาลพิพากษาลงโทษฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม  ก  ก็จะนำคำพิพากษาดังกล่าวมาทำให้กระทบกระเทือนสิทธิของ  ค  ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้  กล่าวคือ สิทธิของ  ค  ย่อมไม่เสียไปเพราะคำพิพากษาดังกล่าว  ดังนั้นถ้าหาก  ก  ต้องการได้ที่ดินคืน  ก็ต้องชำระสินไถ่ตามกฎหมาย  (ฎ. 212/2517)

สรุป

(1)  ก  ต้องรับผิดผูกพันกับการกระทำของ  ข

(2)  ก  จะปฏิเสธความรับผิดและฟ้องเพิกถอนการโอนสัญญาระหว่าง  ข  กับ  ค  ไม่ได้

(3)  ก  จะนำคำพิพากษาดังกล่าวมาทำให้กระทบกระเทือนสิทธิของ  ค  ผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้

 

ข้อ  2  ก  มอบ  ข  ให้ซื้อรถยนต์เฟอรารี่  1  คัน  โดยให้เงิน  ข  ไปไม่ครบ  ขาดไป  500,000  บาท  ก  บอกให้  ข  ออกแทนไปก่อน  ข  ตกลงทดรองจ่ายแทนไป  ข  นำรถเฟอรารี่มาส่งมอบให้  ก  และขอคืนเงินทดรองจ่าย  500,000  บาท  แต่  ก  ไม่จ่าย  ดังนี้  ข  จะทำประการใดกับ  ก  ได้บ้าง  กรณีหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่ง  ข  ออกอุบายขอยืมเรือยอร์ชของ  ก  มาขับเล่น  3  วัน  แล้ว  ข  ไม่คืนโดยอ้างว่าขอยึดหน่วงเรือยอร์ชไว้ก่อนจนกว่า  ก  จะชำระหนี้  500,000  บาทให้  ข  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข  ตัวแทนมีอำนาจยึดหน่วงเรือยอร์ชไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 810  เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้ เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

มาตรา  816  ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น  ตัวแทนได้ออกเงินทดรองหรือออกเงินค่าใช้จ่ายไป  ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้  ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการรวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยก็ได้

มาตรา  819  ตัวแทนชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินใดๆ  ของตัวการอันตกอยู่ในความครอบครองของตน  เพราะเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

กรณีแรก

การที่  ก  ได้มอบให้  ข  เป็นตัวแทนให้ไปซื้อรถยนต์เฟอรารี่  1  คัน  โดยให้เงิน  ข  ไปไม่ครบ  และให้  ข  ออกเงินทดรองไปก่อน  500,000  บาทนั้น  ดังนี้เมื่อ  ข  ได้นำรถยนต์เฟอรารี่มาส่งมอบให้  ก  ตัวการไปแล้ว  ถือว่า  ข  ตัวแทนได้ส่งมอบทรัพย์สินที่ได้รับมาจากการเป็นตัวแทนให้กับตัวการไปแล้ว  ตามมาตรา  810  วรรคแรก  และเมื่อตัวแทนได้ออกเงินทดรองไปด้วย  ตัวแทนย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้ตัวการชดใช้คืนได้  พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินทดรองไปด้วยก็ได้ตามมาตรา  816  วรรคแรก  ดังนั้นตามอุทาหรณ์  เมื่อ  ข  ขอคืนเงินทดรองจ่าย  500,000  บาท  จาก  ก  แต่  ก  ไม่จ่าย  ข  ย่อมมีสิทธิฟ้องให้  ก  ชำระเงิน  500,000  บาท  แก่  ข  ได้เท่านั้น

กรณีที่สอง

การที่  ข  ออกอุบายขอยืมเรือยอร์ชของ  ก  มาขับเล่น  แล้วไม่ยอมคืนให้แก่  ก  โดยอ้างว่าขอยึดหน่วงเรือยอร์ชไว้ก่อนจนกว่า  ก  จะชำระหนี้  500,000  บาท  ให้แก่  ข  นั้น  ขอตัวแทนย่อมไม่สามารถยึดหน่วงเรือยอร์ชไว้ได้  เพราะตามมาตรา  819  นั้น  ตัวแทนมีสิทธิที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินของตัวการที่ตกอยู่ในความครอบครองของตนได้  ก็จะต้องเป็นทรัพย์สินที่ตัวแทนขวนขวายได้มาเนื่องจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนเท่านั้น  แต่ตามอุทาหรณ์  ทรัพย์สินที่ตัวแทนขวนขวายได้มาเนื่องจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนนั้นคือรถยนต์เฟอรารี่ไม่ใช่เรือยอร์ช  ดังนั้น  ข  ตัวแทนจึงไม่สามารถยึดหน่วงเรือยอร์ชไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ได้  เพราะเป็นคนละกรณีกัน

สรุป

กรณีแรก  เมื่อ  ก  ไม่คืนเงินทดรองจ่าย  500,000  บาท  แก่  ข  ข  ได้แต่ฟ้องเรียกให้  ก  ชำระหนี้เท่านั้น

กรณีที่สอง  ข  ตัวแทน  ไม่มีอำนาจยึดหน่วงเรือยอร์ชไว้

 

ข้อ  3  ก  มอบ  ข  ให้ขายที่ดินโดยตกลงว่าจะให้บำเหน็จ  ข  นำเสนอขาย  ค  ค  ตกลงซื้อ  ก  และ  ค  เข้าทำสัญญากัน  ภายหลังทำสัญญาการซื้อขายเลิกกัน  ดังนี้  ข  ยังจะได้ค่านายหน้าหรือไม่  เพราะเหตุใด  กรณีหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่ง  ก  มอบ  ข  ให้ขายที่ดินโดยตกลงว่าจะให้บำเหน็จ  แต่มีข้อสัญญาว่า  ข  จะต้องขายที่ดินให้ได้ภายในปี  พ.ศ.2552  ข  ขายที่ดินได้ในเดือนมีนาคม  ปี  พ.ศ. 2553  ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า  ก  มิได้ขยายเวลาขายให้  ข  และไม่มีเหตุสุดวิสัยใดที่จะเป็นอุปสรรคในการขายที่ดินแปลงดังกล่าว  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข  จะได้บำเหน็จหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา  845  วรรคแรก  จะเห็นได้ว่า  ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง  หรือจัดการจนเขาได้ทำสัญญากับบุคคลภายนอก  และนายหน้ารับกระทำการตามนั้น  และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทำสัญญากันแล้ว  นายหน้าย่อมจะได้รับค่าบำเหน็จ

แต่อย่างไรก็ตาม  ถ้าสัญญานายหน้านั้นมีการกำหนดระยะเวลาไว้เป็นที่แน่นอนว่านายหน้าจะต้องกระทำการให้เสร็จภายในกำหนดระยะเวลานั้น  นายหน้าจะมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อได้กระทำการให้เสร็จภายในกำหนดระยะเวลานั้นด้วย  (ฎ. 827/2523)

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

กรณีที่  1 

การที่  ก  ได้ตกลงมอบให้  ข  ขายที่ดินโดยตกลงว่าจะให้บำเหน็จนั้น  เมื่อปรากฏว่า  ข  ได้นำที่ดินเสนอขาย  ค  ค  ตกลงซื้อ  ก  และ  ค  เข้าทำสัญญาซื้อขายกัน  ดังนี้ถือว่า  ข  ได้ทำหน้าที่ของตนในฐานะนายหน้าครบถ้วนแล้ว  แม้ต่อมาภายหลังการซื้อขายจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม  ข  ก็ยังจะได้ค่าบำเหน็จนายหน้าอยู่  ตามมาตรา  845  วรรคแรก  (ฎ. 517/2494)

กรณีที่  2 

การที่  ก  มอบหมายให้  ข  ขายที่ดินให้  และตกลงกันว่าจะให้บำเหน็จ  แต่  ข  จะต้องขายให้ได้ภายในระยะเวลา ปี  พ.ศ.2552  นั้น แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าได้กำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนแล้วว่า  จะต้องขายที่ดินให้ได้ภายในสิ้นปี  พ.ศ.2552  และหากไม่มีการผ่อนเวลาย่อมถือได้ว่าสัญญาดังกล่าวได้สิ้นสุดลง

และเมื่อภายในระยะเวลาปี  พ.ศ.2552  ยังขายที่ดินไม่ได้  โดย  ข  มาขายได้เมื่อเดือนมีนาคม  พ.ศ.2553  จึงล่วงเลยเวลาที่ได้ตกลงกันไว้  และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า  ก  มิได้ขยายเวลาขายให้  ข  และไม่มีเหตุสุดวิสัยใดที่จะเป็นอุปสรรคในการขายที่ดินแปลงดังกล่าว  เท่ากับว่า  ข  ขายที่ดินไม่ได้ตามระยะเวลาที่ตกลงไว้กับ  ก  จึงถือว่าสัญญานายหน้าดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว  ดังนั้น  ข  จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าตามมาตรา  845  (ฎ. 827/2523)

สรุป 

กรณีที่  1  ข  ยังจะได้รับค่าบำเหน็จนายหน้า

กรณีที่  2  ข  จะไม่ได้รับค่าบำเหน็จนายหน้า

Advertisement