การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา MCS 2201 (MCS 2260) การรายงานข่าว
คําแนะนํา ข้อสอบมีทั้งหมด 8 ข้อ ให้นักศึกษาทําข้อสอบทุกข้อ

ข้อ 1. ถ้านักศึกษาเป็นผู้สื่อข่าวที่ได้รับมอบหมายให้รายงานข่าวการเสวนาเรื่อง “สื่อมวลชนกับสันติภาพใน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้, เบื้องหลังการทํางานของสื่อมวลชนในพื้นที่สถานการณ์รุนแรง” ซึ่งจัดขึ้น เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา จงวางแผนการทําข่าวดังกล่าว พร้อมทั้งระบุด้วยว่าจะรายงาน เหตุการณ์นี้ในแง่มุม/ประเด็นใดบ้าง

Advertisement

แนวคําตอบ หน้า 127 – 128, (คําบรรยาย)

จากข่าวการเสวนาเรื่องดังกล่าว ผู้สื่อข่าวต้องวางแผนการทําข่าว ดังนี้
-ผู้สื่อข่าวจะต้องไปฟังการเสวนาในวัน-เวลาที่จัดงาน และต้องรู้ว่าหัวข้อที่เสวนาคือ อะไร จัดการเสวนาที่ไหน หน่วยงานใดจัด
-สืบค้นข้อมูลในหัวข้อที่เสวนาและหัวข้อที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมตั้งคําถามล่วงหน้า นอกจากนี้ยังต้องศึกษาเกี่ยวกับตัววิทยากรว่ามีใครบ้าง แต่ละคนมีความสําคัญ อย่างไร มีประสบการณ์ความรู้ และตําแหน่งหน้าที่การงานที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการ เสวนาอย่างไร
-ฟังและจับประเด็นสําคัญของคําพูดวิทยากรแต่ละคนให้ได้
-ตั้งคําถามในประเด็นที่จะเพิ่มเติมภายหลังจากการฟัง
-สัมภาษณ์ผู้เข้าฟัง หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น นักศึกษากลุ่มภาคใต้ที่มาฟัง ผู้จัดงาน (คณบดีคณะสื่อสารมวลชน) และวิทยากร เพื่อเก็บข้อมูลและสาระสําคัญเพิ่มเติม
-เรียบเรียงข้อมูลมาเขียนเป็นข่าว

ประเด็นแง่มุมที่ควรรายงานในเหตุการณ์ดังกล่าว มีดังนี้

– หน่วยงานใดจัดเสวนา เรื่องอะไร จัดที่ไหน วัน-เวลาใด
-มีวัตถุประสงค์ในการจัดอย่างไร
-ใครบ้างเป็นวิทยากร มีความสําคัญอย่างไร เช่น มีประสบการณ์ความรู้ ตําแหน่ง หน้าที่การงาน และมีชื่อเสียงอย่างไร
-ผู้มาฟังเป็นกลุ่มใด มีจํานวนมากน้อยเพียงใด และมีบุคคลที่มีชื่อเสียงมาฟังด้วย หรือไม่
-สาระสําคัญของคําพูดวิทยากรแต่ละคน โดยอาจหยิบยกข้อความเด่น ๆ มานําเสนอ ในลักษณะการอ้างคําพูดโดยตรง
-สัมภาษณ์ผู้เข้าฟัง ผู้จัดงาน และวิทยากรในประเด็นที่ผู้อ่านยังไม่เคยรู้มาก่อน

ข้อ 2. สมมุติวันนี้จะมีการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษระหว่างทีมสุพรรณบุรี เอฟซี กับทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถ้านักศึกษาเป็นผู้สื่อข่าวกีฬาที่ได้รับมอบหมายให้รายงานข่าวการแข่งขันดังกล่าว มีประเด็นข่าว
อะไรบ้างที่ควรรายงานทั้งก่อนและหลังเกม และจงอธิบายว่าประเด็นข่าวดังกล่าวจะหาข้อมูลได้
จากแหล่งข่าวใด

แนวคําตอบ หน้า 184 – 186, (คําบรรยาย)
ประเด็นข่าวที่ควรรายงานทั้งก่อนและหลังเกม แบ่งออกเป็น

1. ประเด็นข่าวก่อนการแข่งขัน ได้แก่ ความสําคัญของการแข่งขัน ผลงานสถิติการแข่งขัน ที่ผ่านมา ระบบการเล่นที่ผ่านมาของแต่ละทีม สภาพความพร้อมของผู้เล่น วิเคราะห์วิจารณ์การเล่นที่อาจจะมี การเปลี่ยนแปลง แผนการเล่นของแต่ละทีม สภาพอากาศที่จะมีผลกระทบต่อการเล่น สภาพแวดล้อมด้านอื่น (เช่น ผู้ชม กองเชียร์) ความคิดเห็นของผู้ชมและผู้เชี่ยวชาญ และผลการแข่งขันที่คาดว่าจะเป็น

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังอาจเพิ่มเติมประเด็นสําคัญในด้านอื่น ๆ เช่น แต่ละทีมมีการ ปรับปรุงแผนการเล่นอย่างไร ถ้าทีมแพ้จะเกิดผลอย่างไร มีการเตรียมทีมอย่างไร และประสบปัญหาด้านใดหรือไม่
เป็นต้น

2. ประเด็นข่าวหลังการแข่งขัน ได้แก่ ผลการแข่งขันใครเป็นผู้ชนะด้วยสกอร์เท่าไหร่ รายงานรายละเอียดของการแข่งขันตั้งแต่ต้นจนจบ เปรียบเทียบการเล่นของแต่ละทีม ผู้เล่นดีเด่นมีใครบ้าง และ ขาดใครที่จะทําให้ทีมเกิดปัญหา ผู้เข้าชมการแข่งขันมีมากน้อยเพียงใด สภาพอากาศระหว่างการแข่งขัน และ คะแนนรวมสถิติต่าง ๆ หรือการทําลายสถิติ

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังสามารถใช้การสัมภาษณ์ผู้เล่น ผู้จัดการทีมทั้งทีมแพ้และทีมชนะ
เช่น สาเหตุที่ผลการแข่งขันเป็นเช่นนั้น และการเตรียมตัวแข่งขันในนัดต่อไป เป็นต้น

แหล่งข่าวที่ควรสัมภาษณ์ในประเด็นข่าวดังกล่าว มีดังนี้
– ผู้จัดการทีมทั้งทีมแพ้และทีมชนะ
– ผู้เล่นดาวเด่นของแต่ละทีม
– ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬาฟุตบอล
– บุคคลที่มีชื่อเสียงหรือดารานักแสดงที่มาร่วมชมการแข่งขัน
– ผู้ชม/กองเชียร์ของแต่ละทีม

ข้อ 3. ในการเขียนข่าวผู้ก่อการร้ายวางระเบิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทําให้มีผู้เสียชีวิต ควรระบุถึง คุณลักษณะ/คุณสมบัติ (Identification) อะไรบ้างในข่าว ยกตัวอย่างประกอบพอเข้าใจ ไม่ต้อง
เขียนเนื้อข่าว

แนวคําตอบ หน้า 119 – 122 (คําบรรยาย)

คุณลักษณะที่ต้องระบุในการเขียนข่าวผู้ก่อการร้ายวางระเบิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีดังนี้

1. คุณลักษณะของบุคคล ได้แก่
– ชื่อ-นามสกุลของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
– อายุของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นเด็ก
– อาชีพของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ
– ยศหรือตําแหน่งของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
– ที่อยู่ของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ

2. คุณลักษณะของสถานที่ ได้แก่ สถานที่ที่ถูกวางระเบิดคือที่ไหน ซึ่งต้องระบุคุณลักษณะ โดยการบอกที่ตั้ง เลขที่ ซอย ถนน ตําบล อําเภอ และจังหวัด หากสถานที่นั้นอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการหรือ สถานที่ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็ต้องระบุลงไปด้วย

3. คุณลักษณะของเหตุการณ์ ได้แก่ ลําดับเหตุการณ์ที่เกิดระเบิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ เวลาที่เกิดเหตุ จากนั้นเหตุการณ์ดําเนินไปอย่างไร จบลงอย่างไร และผลที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์จบลงแล้ว มีสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร จํานวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ คําพูดของผู้เห็นเหตุการณ์ ผู้บาดเจ็บ และผู้รอดชีวิต รวมทั้งข้อสันนิษฐานจากเจ้าหน้าที่ตํารวจเกี่ยวกับสาเหตุที่เกิดระเบิด ผู้ก่อเหตุ หลักฐานที่พบ เป็นต้น

ข้อ 4. ในการรายงานข่าวตํารวจจับผู้ต้องหาฆ่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ มีหลายประเด็นที่ผู้สื่อข่าวต้อง รายงานให้ผู้อ่านได้รับทราบ อยากทราบว่าจะหาข้อมูลได้จากแหล่งข่าวใดบ้าง และควรนําเสนอ ประเด็นใดในหัวข่าว ความนํา และส่วนเชื่อมของข่าว ไม่ต้องเขียนข่าว

แนวคําตอบ หน้า 29, 63 – 83, 167 – 173, (คําบรรยาย)

แหล่งข่าวที่ควรสัมภาษณ์ในประเด็นข่าวดังกล่าว มีดังนี้
– นายกรัฐมนตรี
– ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ
– ตํารวจท้องที่ และตํารวจที่รับผิดชอบคดีนี้โดยตรง
– เพื่อนผู้ตายที่มาเที่ยวเกาะเต่าด้วยกัน
– นักท่องเที่ยวและชาวบ้านที่เคยเห็นผู้ตายก่อนเกิดเหตุ
– เจ้าของบ้านพัก/รีสอร์ตที่ผู้ตายพักอยู่ก่อนเกิดเหตุ
– เจ้าของบาร์ที่ผู้ตายไปเที่ยวและมีเหตุทะเลาะวิวาทก่อนเกิดเหตุ
– โรงพยาบาล/แพทย์ที่ตรวจดีเอ็นเอผู้ต้องสงสัยทั้งหมดบนเกาะ
– เจ้าหน้าที่นิติเวชที่ชันสูตรพลิกศพ
– กล้องวงจรปิดที่มีภาพผู้ต้องสงสัย
– สํานักข่าวต่างประเทศที่นําเสนอคดีนี้

ประเด็นที่ควรนําเสนอในข่าวดังกล่าว มีดังนี้

– หัวข่าวหรือพาดหัวข่าว (Headline) คือ ส่วนบนสุดของข่าว ซึ่งเป็นประเด็นสําคัญที่สุด และน่าสนใจสําหรับผู้อ่าน ได้แก่ การจับผู้ต้องหาฆ่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษได้ โดยต้องระบุว่าเป็นใคร เป็นคนไทย หรือคนต่างด้าวชาติใด และจับกุมได้ทั้งหมดกี่คน

– ความนําหรือวรรคนํา (Lead) คือ ย่อหน้าแรกของข่าว ซึ่งเป็นการสรุปประเด็นสําคัญ ของข่าว ได้แก่ ตํารวจจับกุมผู้ต้องหาได้ที่ไหน อย่างไร ผู้ต้องหามีกี่คน เป็นคนชาติใด มีอาชีพอะไรบนเกาะ และ มีมูลเหตุจูงใจในการก่อเหตุอย่างไร

– ส่วนเชื่อม (Neck or Bridge) คือ การอธิบายความเดิมหรือให้ภูมิหลังความเป็นมา ของข่าวที่เคยนําเสนอไปแล้ว ได้แก่ สืบเนื่องจากเหตุฆาตกรรมใคร โดยต้องระบุชื่อบุคคลที่เสียชีวิต อายุ เป็น นักท่องเที่ยวชาติใด สถานที่เสียชีวิต และวัน-เวลาที่เสียชีวิต

ข้อ 5. ตามหลักการที่ศึกษา สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสอีโบล่า ได้รับการรายงานเป็นข่าวใน สื่อมวลชนไทย เพราะมีคุณค่าเชิงข่าวในด้านใดบ้าง

แนวคําตอบ หน้า 2 – 6, (คําบรรยาย)

เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการรายงานเป็นข่าวในสื่อมวลชนไทย เนื่องจากมีคุณค่าเชิงข่าว (News Values) ดังนี้

1. เร้าความสนใจของมนุษย์ คือ ทําให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ตกใจและหวาดกลัว ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรืออาจรู้สึกเห็นอกเห็นใจ สงสารผู้ที่ติดเชื้อและเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสอีโบล่า

2. ความเกี่ยวพันกับผู้รับสาร ผลกระทบ คือ เป็นเหตุการณ์ที่มีความเกี่ยวพันกับผู้รับสาร ในแง่การเป็นอุทาหรณ์สอนใจ บอกให้คนระวังภัย และรู้จักป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคร้าย นอกจากนี้ยังเป็นเหตุการณ์ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจํานวนมาก ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบล่า ทําให้มีผู้คนติดเชื้อและเสียชีวิตไปเป็นจํานวนมาก

3. ความเปลี่ยนแปลง/ความก้าวหน้า คือ เป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือ เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพปกติที่เคยเป็น นอกจากนี้ยังเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การแพทย์ ซึ่งจะต้องมีการคิดค้นวิจัยตัวยารักษาโรค เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคอีโบล่าที่กําลัง
ลุกลามไปทั่วทวีปแอฟริกาตะวันตก

4. ความโดดเด่น ดัง ชื่อเสียง คือ เป็นเหตุการณ์ที่มีความโดดเด่นในตัวเหตุการณ์ และ ความมีชื่อเสียงของตัวเชื้อไวรัสอีโบล่าที่ได้คร่าชีวิตของผู้คนไปเป็นจํานวนมาก และยังไม่มีวัคซีนรักษา นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับองค์การที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO), สหประชาชาติ (UN) เป็นต้น

5. ความไม่คาดคิด เงื่อนงํา/ฉงนสนเท่ห์ คือ เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และยังเป็น เหตุการณ์ที่มีเงื่อนงําว่าจะจบลงอย่างไร การควบคุมโรคระบาดและการคิดค้นวัคซีนรักษาจะสําเร็จหรือไม่ จึงเป็น เรื่องที่ทําให้ผู้อ่านเกิดความฉงนสนเท่ห์ ทําให้ต้องติดตามเรื่องราวต่อไป

6. ความขัดแย้ง/การเผชิญหน้า คือ เป็นเหตุการณ์ที่มีความขัดแย้งทางกายและความคิด นอกจากนี้ยังมีการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนที่ต้องการเคลื่อนย้ายศพไปประกอบพิธีกรรม ซึ่งจะทําให้การควบคุมโรคระบาดยากลําบากยิ่งขึ้น

7. ความทันต่อกาลเวลา คือ เป็นเหตุการณ์ที่สดใหม่ หรือเพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ

ข้อ 6. การรายงานข่าวอดีตนักการเมืองเสียชีวิตกับข่าววัยรุ่นฆ่าตัวตายประชดแฟน ประเด็นที่รายงาน เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร และควรรายงานในประเด็นใดบ้าง จงอธิบาย

แนวคําตอบ หน้า 131 – 147, (คําบรรยาย)

การรายงานข่าวอดีตนักการเมืองเสียชีวิตกับข่าววัยรุ่นฆ่าตัวตายประชดแฟน จะมีประเด็นที่
รายงานแตกต่างกัน ดังนี้

ข่าวอดีตนักการเมืองเสียชีวิต ควรรายงานในประเด็นต่อไปนี้

– ผู้ตายเป็นใคร เช่น ชื่อ-นามสกุล อายุ อาชีพ ยศหรือตําแหน่งสูงสุดในปัจจุบัน ฯลฯ
– สาเหตุการเสียชีวิต เช่น ป่วยเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจวาย ฯลฯ
– สถานที่เสียชีวิต/วันที่-เวลาที่เสียชีวิต เช่น เป็นการป่วยและเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ที่บ้าน
ในวันที่-เวลาใด
– เหตุการณ์ตื่นเต้นในขณะที่ผู้ตายใกล้จะเสียชีวิต ลางร้าย หรือลางสังหรณ์ก่อนเสียชีวิต
– ผลงานของผู้ตาย เคยทําอะไรมาบ้าง เช่น เป็น ส.ส. พรรคอะไร เคยดํารงตําแหน่งใด มาบ้าง หรือมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอะไรบ้าง
– ประวัติส่วนตัว ความเป็นมา เช่น ผู้ตายมีบิดา-มารดา สามี-ภรรยา บุตร-ธิดา หรือญาติ พี่น้องที่เป็นคนดัง นอกจากนี้ผู้ตายมีประวัติการศึกษาจบชั้นมัธยม ปริญญาตรี/โท/เอก หรือปริญญากิตติมศักดิ์อะไรมาบ้าง
– รายละเอียดของพิธีศพ เช่น พิธีสวดพระอภิธรรมจัดที่ใด ใช้เวลากี่วัน ผู้ใดเป็นเจ้าภาพ สวดพระอภิธรรม กําหนดการบรรจุศพ และกําหนดการฌาปนกิจ

ข่าววัยรุ่นฆ่าตัวตายประชดแฟน ควรรายงานในประเด็นต่อไปนี้
– ผู้ตายเป็นใคร เช่น ชื่อ-นามสกุล อายุ อาชีพ ที่อยู่ ฯลฯ
– วิธีการฆ่าตัวตาย เช่น กระโดดน้ําตาย กระโดดตึกตาย หรือยิงตัวตาย ฯลฯ
– วันที่-เวลาที่เสียชีวิต และสถานที่ที่เสียชีวิต เช่น ฆ่าตัวตายเมื่อวันที่-เวลาใด และที่ไหน
– สภาพศพที่พบเป็นอย่างไร เช่น กระโดดตึกลงมาคอหัก แขนหัก ขาหัก ฯลฯ
– พยานแวดล้อม หรือหลักฐานที่พบ เช่น พบอาวุธปืนที่ใช้ฆ่าตัวตาย หรือบุคคลที่เห็น เหตุการณ์ บุคคลที่อยู่กับผู้ตายเป็นคนสุดท้าย ฯลฯ
– ความเห็นของเจ้าหน้าที่ตํารวจเกี่ยวกับสาเหตุของการฆ่าตัวตาย เช่น ฆ่าตัวตาย
ประชดแฟนที่มาบอกเลิก ฯลฯ

ข้อ 7. ควรใช้รูปแบบการเขียนข่าวแบบใด และจัดลําดับประเด็นข่าวก่อน-หลังอย่างไรสําหรับข่าวต่อไปนี้
อธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ
7.1 ข่าวไฟไหม้ร้านค้าในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง
7.2 ข่าวผลการแข่งขันกีฬาฟุตบอลต่างประเทศเมื่อคืนที่ผ่านมา

แนวคําตอบ หน้า 38 – 40, (คําบรรยาย)

7.1 ข่าวไฟไหม้ร้านค้าในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง

1. รูปแบบการเขียนข่าว คือ แบบพีระมิดหัวกลับ (Inverted Pyramid) ชนิดถือความสําคัญ เป็นหลัก (Significant Details) ซึ่งเป็นการรายงานข่าวในลักษณะสรุปย่อข้อเท็จจริงสําคัญ ๆ เป็นความนําของข่าว ไปก่อน แล้วจึงตามด้วยเนื้อข่าวที่เป็นรายละเอียดของข้อเท็จจริงที่มีความสําคัญและน่าสนใจลดหลั่นกันลงไป
เริ่มจากรายละเอียดที่สําคัญมากที่สุดในย่อหน้าแรก ไปจนถึงย่อหน้าสุดท้ายที่เป็นรายละเอียดสําคัญน้อยที่สุด จึงเหมาะกับเหตุการณ์ที่มีเนื้อหาง่าย ๆ ไม่สลับซับซ้อน เช่น ข่าวไฟไหม้ เป็นต้น

2. ประเด็นข่าวที่ควรรายงานตามลําดับก่อน-หลัง มีดังนี้
– เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ห้างสรรพสินค้าอะไร วัน-เวลาที่เกิดเหตุ
– รายละเอียดของเหตุการณ์ไฟไหม้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลัง เกิดเหตุ ต้นเพลิงเกิดขึ้นที่ไหน ลุกลามไปอย่างไร
– ความโกลาหลและการหนีเอาตัวรอดของผู้คน
– การควบคุมสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง อุปสรรคในการเข้าไปช่วยเหลือ
ผู้คนในห้างสรรพสินค้า และความยากลําบากในการดับเพลิง
– สภาพความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
– รายชื่อผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ อาการ และการรักษา
– ความเห็นหรือข้อสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่ตํารวจเกี่ยวกับสาเหตุของไฟไหม้
หรือการพบวัตถุหลักฐานในที่เกิดเหตุ
– คําสัมภาษณ์ของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือผู้ที่รู้เห็นการลุกลามของต้นเพลิง
– แนวทางการป้องกันเหตุไฟไหม้จากเจ้าของห้างสรรพสินค้า และการช่วยเหลือ เยียวยาผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว
– ข้อมูลเสริม ประวัติสถานที่เกิดเหตุ เช่น ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้เคยมีเหตุไฟไหม้ มาก่อนหรือไม่ ฯลฯ

7.2 ข่าวผลการแข่งขันกีฬาฟุตบอลต่างประเทศเมื่อคืนที่ผ่านมา

1. รูปแบบการเขียนข่าว คือ แบบพีระมิดหัวกลับ (Inverted Pyramid) ชนิดถือเวลาที่เกิดเหตุการณ์เป็นหลัก (Chronological Details) จะเริ่มต้นด้วยความนําที่สรุปย่อเหตุการณ์และผลลัพธ์ทั้งหมด ตามด้วยเนื้อข่าวที่เป็นรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเล่าตามลําดับเวลาที่เกิดเหตุการณ์ อาจมีข้อเท็จจริง เสริมในตอนท้าย จึงเหมาะกับเหตุการณ์ระทึกใจ เหตุการณ์ที่ข้อมูลข่าวมีความต่อเนื่องกันตลอด และเหตุการณ์ที่มี เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น ข่าวการแข่งขันกีฬาฟุตบอล เป็นต้น

2. ประเด็นข่าวที่ควรรายงานตามลําดับก่อน-หลัง มีดังนี้

– มีการแข่งขันฟุตบอลรายการอะไร ระหว่างทีมใดแข่งกับทีมใด แข่งที่ไหน วัน- เวลาใด และใครแพ้ ใครชนะที่สกอร์เท่าใด
– บรรยากาศในการแข่งขันเป็นอย่างไร มีผู้ชมมาเชียร์คึกคักหรือไม่ และผู้เล่นที่ สําคัญของทั้ง 2 ทีมที่ลงแข่งประกอบด้วยใครบ้าง
– ลําดับการแข่งขันที่เกิดขึ้น โดยเล่าตามลําดับเวลาตั้งแต่เริ่มเปิดเกมจนจบเกม ครึ่งแรกครึ่งหลัง ใครเป็นผู้ทําประตูได้ในนาทีที่เท่าใด มีจุดโทษ และมีการต่อเวลาหรือไม่
– ภายหลังจบเกมผลการแข่งขันเป็นอย่างไร ผู้เล่นดีเด่นมีใครบ้าง ขาดใครทําให้ทีม
เกิดปัญหา และแต่ละทีมมีโปรแกรมต้องแข่งกับทีมใดต่อไป
– ความคิดเห็นของผู้จัดการทีมทั้ง 2 ทีม โค้ช และนักเตะดาวเด่นภายหลังจบเกม
– ข้อมูลเสริม เช่น สถิติที่ทั้งสองทีมเคยเจอกันมาก่อน ทีมใดแพ้-ชนะรวมทั้งหมด กี่ครั้ง และสรุปตารางคะแนนรวมของแต่ละทีม

ข้อ 8. จากข้อมูลสมมุติต่อไปนี้ จงเขียนเนื้อข่าว และหัวข่าว

ในปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีส่วนในการดําเนินชีวิตประจําวันอย่างมาก และสามารถตอบสนอง การใช้งานได้หลากหลาย เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้มากขึ้น โดยเฉพาะสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และสื่อออนไลน์ ที่เป็นช่องทางสําคัญในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของกลุ่มคนในยุคปัจจุบัน ทําให้สื่อออนไลน์กลายเป็นช่องทางการสื่อสารที่สําคัญในการทําการตลาดกับลูกค้า รวมถึงวงการค้าปลีกต่างให้ความสําคัญกับการทําการสื่อสาร ผ่านช่องทางดิจิทัลเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้เล็งเห็นและเข้าใจในพฤติกรรมการรับข้อมูล ข่าวสารที่เปลี่ยนไปของกลุ่มลูกค้า จึงมีการพัฒนาการสื่อสารทางการตลาดอย่างไม่หยุดนิ่ง และตามเทรนด์ ดิจิทัลของโลกตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Twitter, Mobile Application ฯลฯ และ ล่าสุดได้นําเทคโนโลยี Beacon Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารระบบดิจิทัลใหม่ล่าสุดมาใช้ในการ สื่อสารกับลูกค้า โดยนําร่องเริ่มใช้ระบบที่เดอะมอลล์ สาขาบางกะปิเป็นแห่งแรก เพื่อเตรียมความพร้อมของระบบ และให้ความรู้กับลูกค้าก่อน ให้รู้จักคุ้นเคยกับระบบ Beacon Technology ก่อนขยายสู่เดอะมอลล์สาขาอื่น ๆ ดิเอ็มโพเรียม และพารากอน ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ต่อไป

สําหรับ Beacon Technology เป็นเทคโนโลยีที่ใช้สัญญาณ Bluetooth 4.0 Low Energy ในการตรวจสอบ ตําแหน่งของผู้ใช้งานภายในอาคาร โดยจะทํางานควบคู่กันระหว่างตัวกระจายสัญญาณที่ติดอยู่ในจุดต่าง ๆ ของ ห้างสรรพสินค้า และมีโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตของผู้ใช้เป็นตัวรับสัญญาณ โดยมีระยะทางในการส่งสัญญาณ ในแต่ละจุดได้ไกลถึง 10 เมตร

โดยจากพื้นฐานร ในระบบ Beacon Technology ดังกล่าว ทําให้เดอะมอลล์นํามาปรับใช้ในการผสมกลยุทธ์ ทางการตลาดในการสื่อสารกับลูกค้าผ่านทาง The Mall Group Application บนสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต ต่าง ๆ ที่เข้ามาช้อปปิ้งที่เดอะมอลล์ บางกะปิ โดยส่งข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลร้านค้า โปรโมชั่น กิจกรรม สิทธิพิเศษ และอื่น ๆ อีกมากมายให้ลูกค้าในแบบ Real-time ซึ่งสามารถส่งให้ลูกค้าที่เป็นเฉพาะบุคคล เฉพาะกลุ่ม เลือกส่งข้อมูลตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละคน โดยลูกค้าสามารถเปิดรับสิทธิพิเศษผ่าน Beacon ได้อย่างง่ายดาย เพียงเมื่อมาช้อปปิ้งที่เดอะมอลล์ บางกะปิ แล้วเปิด Bluetooth และ The Mall Group Application พร้อมกับ

Log In ด้วยบัตร M-Card เพียงเท่านี้สิทธิพิเศษต่าง ๆ จะถูกส่งเป็นข้อความ Push Notification สู่หน้าจอ สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต ทั้งนี้สิทธิพิเศษและส่วนลดจากร้านค้าต่าง ๆ อาทิ Pizza Hut, Starbucks, Sukishi, Swensen’s, Fuji และอื่น ๆ อีกมากมายจะถูกส่งไปยังลูกค้าตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม เป็นต้นไป

นอกจากระบบ Beacon Technology แล้ว เดอะมอลล์ กรุ๊ป ยังได้เพิ่มฟังก์ชัน M-Card Application เข้าไปในตู้ Digital Directory เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการรองรับสมาชิกลูกค้าบัตร M Card ทุกประเภท โดยลูกค้าสามารถรูดการ์ดเพื่อดูคะแนนสะสม หรือแลกคะแนนเพื่อรับสิทธิพิเศษผ่านตู้ Digital Directory ได้อย่าง สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันสามารถสัมผัส Digital Directory ได้แล้วที่เดอะมอลล์ สาขาบางกะปิ งามวงศ์วาน และบางแค และจะพัฒนาระบบเดียวกันนี้ไปยังพารากอน ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ภายในเดือนกันยายนนี้ และสามารถ ติดตามข่าวสารอัพเดท ออนไลน์ ไลฟ์สไตล์ทุกเทรนด์ของ The Mall Group ได้ที่ www.themallgroup.com และทางช่องทางอื่น ๆ ได้แก่ Facebook, Instagram, Twitter, Pinterest, Mobile Application*******

แนวคําตอบ หน้า 29 – 31, 91 – 118, 151, (คําบรรยาย)

หัวข่าว

เดอะมอลล์ กรุ๊ป ส่ง Beacon Technology
เพิ่มช่องทางสื่อสารกับลูกค้ายุคดิจิทัล

เนื้อข่าว

เดอะมอลล์ กรุ๊ป เปิดเผยถึงเทคโนโลยีล่าสุดที่จะนํามาใช้สื่อสารกับลูกค้าว่า บีคอน เทคโนโลยี (Beacon Technology) จะนําร่องเริ่มใช้ระบบที่เดอะมอลล์ สาขาบางกะปิเป็นแห่งแรก โดยใช้ส่งข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลร้านค้า โปรโมชั่น กิจกรรม สิทธิพิเศษ ฯลฯ ให้กับลูกค้าที่มาช้อปปิ้งที่เดอะมอลล์ในแบบเรียลไทม์ ซึ่งลูกค้า จะต้องเปิดบลูทูธ และเดอะมอลล์ กรุ๊ป แอปพลิเคชั่น พร้อมกับล็อกอินด้วยบัตรเอ็มการ์ด ก็จะได้รับข้อความผ่านทาง หน้าจอสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต ทั้งนี้สิทธิพิเศษและส่วนลดจากร้านค้าต่าง ๆ จะถูกส่งไปยังลูกค้าตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม เป็นต้นไป

สําหรับบีคอน เทคโนโลยี เป็นเทคโนโลยีที่ใช้สัญญาณบลูทูธ 4.0 โลว์ เอ็นเนอร์ยี ในการ ตรวจสอบตําแหน่งของผู้ใช้งานภายในอาคาร โดยจะทํางานควบคู่กันระหว่างตัวกระจายสัญญาณที่ติดอยู่ในจุดต่าง ๆของห้างสรรพสินค้า และมีโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตของผู้ใช้เป็นตัวรับสัญญาณ โดยมีระยะทางในการส่งสัญญาณ ในแต่ละจุดได้ไกลถึง 10 เมตร

Advertisement