การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เอก  โท  และตรีตกลงเข้าหุ้นส่วนกัน  โดยจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล  มีวัตถุประสงค์ค้าขายน้ำมันเชื้อเพลิง  โดยเปิดเป็นสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ทุกชนิด  มีสัญลักษณ์ตราเชลล์บริการ

โดยเปิดบริการที่อำเภอวังน้อย  จังหวัดอยุธยา  ทั้งหมดตกลงให้นายเอกเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ต่อมาเอกไปกู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงเทพ  สาขาวังน้อย  เพื่อนำมาปรับปรุงลานจอดรถ  ห้องน้ำ  และห้องสุขา  ตลอดจนร้านจำหน่ายของในบริเวณปั๊มน้ำมันแห่งนี้  เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาเติมน้ำมัน  โดยที่โทและตรีได้เคยคัดค้านแล้ว  แต่เอกไม่เชื่อฟัง

ต่อมาเมื่อหนี้เงินกู้ถึงกำหนดชำระ  ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไม่มีเงินชำระหนี้  ธนาคารกรุงเทพ  จึงเรียกร้องให้  เอก  โท  และตรีชำระหนี้แทน  แต่โทและตรี  อ้างว่าการกู้ยืมเงินครั้งนี้อยู่นอกวัตถุประสงค์ของห้างที่มีวัตถุประสงค์จำหน่ายน้ำมันโทและตรีจึงไม่ต้องรับผิด  อีกทั้งก็ได้เคยคัดค้านไว้แล้ว  ซึ่งธนาคารกรุงเทพ  ผู้เป็นเจ้าหนี้ก็ทราบดี  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของโทและตรีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1050  การใดๆอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย  และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้  อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

วินิจฉัย

การที่เอกไปกู้ยืมเงินมาเพื่อนำมาปรับปรุงลานจอดรถ  ห้องน้ำ  และห้องสุขา  ตลอดจนปรับปรุงร้านจำหน่ายสินค้าในบริเวณปั๊มน้ำมันแห่งนี้  แม้การกระทำในเรื่องดังกล่าวจะมิใช่วัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลแห่งนี้  แต่ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องอยู่ในวิสัยปกติธรรมดาของการค้าขายจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเพราะต้องมีลานจอดรถที่เพียงพอกับลูกค้ามีห้องน้ำ  ห้องสุขา  ตลอดจนต้องมีร้านสะดวกซื้อในบริเวณปั๊มน้ำมันเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าให้มาเติมน้ำมัน  จึงอาจกล่าวได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องที่หุ้นส่วนผู้จัดการได้จัดทำไปในทางธรรมดาของการจำหน่ายน้ำมัน  ซึ่งหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในหนี้เงินกู้นี้  ตามมาตรา  1050  ข้ออ้างของโทและตรีที่ว่าการกู้ยืมเงินอยู่นอกวัตถุประสงค์ของห้างฯ  จึงย่อมฟังไม่ขึ้น  ส่วนประเด็นที่อ้างว่าได้คัดค้านไว้แล้วก็มิอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ได้  เนื่องจากเป็นเรื่องภายในระหว่างหุ้นส่วนทั้งหลายที่จะต้องไปว่ากล่าวกันเอง

สรุป  ข้ออ้างของโทและตรีฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  2  อาทิตย์  จันทร์  และอังคาร  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกัน  โดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  มีอาทิตย์เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ส่วนจันทร์และอังคารเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ทั้งหมดลงหุ้นกันคนละ  2  ล้านบาท  และได้ส่งเงินลงหุ้นมาแล้วคนละ  1  ล้านบาท  ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้จดทะเบียนเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  เปิดดำเนินการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ตามวัตถุประสงค์ของห้างมาได้สองปีแล้ว  ปรากฏว่าขาดทุนทุกปี  นายจันทร์และนายอังคารเห็นว่า  หากปล่อยให้อาทิตย์จัดการห้างต่อไป  ก็คงต้องขาดทุนอีก  เพราะนายอาทิตย์ขาดประสบการณ์ในเรื่องเครื่องคอมพิวเตอร์  เวลาอธิบายขายเครื่องลูกค้าไม่ค่อยเข้าใจ  หากปล่อยไปเช่นนี้  ก็คงต้องควักทุนอีกคนละ  1  ล้านบาทแน่นอน  จึงปรึกษากันว่าควรจ้างคนนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องการค้าขายเครื่องคอมพิวเตอร์มาเป็นผู้จัดการห้างแทนนายอาทิตย์  ซึ่งนายอาทิตย์ก็ไม่ขัดข้อง  จันทร์และอังคารจึงตกลงจ้างนายพุธมาเป็นผู้จัดการห้าง  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าการที่นายจันทร์และอังคารจ้างนายพุธมาเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด  เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  และบุคคลทั้งสองต้องรับผิดอย่างใดในการกระทำของนายพุธ

ธงคำตอบ

มาตรา  1088  วรรคแรก  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

แต่การออกความเห็นและแนะนำก็ดี  ออกเสียงเป็นคะแนนนับในการตั้งและถอดถอนผู้จัดการตามกรณีที่มีบังคับไว้ในสัญญาหุ้นส่วนนั้นก็ดี ท่านหานับว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่

วินิจฉัย

การกระทำของจันทร์และอังคารที่จ้างนายพุธมาเป็นผู้จัดการห้างฯ  เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจเนื่องจากไม่มีข้อตกลงกันไว้ก่อนให้หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตั้งหรือถอนผู้จัดการได้  การที่จันทร์และอังคารจ้างนายพุธมาเป็นผู้จัดการห้างฯ  จึงเป็นการตั้งผู้จัดการโดยปราศจากอำนาจ  จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อนายพุธได้ดำเนินกิจการงานของห้างและเป็นหนี้บุคคลภายนอก  นายจันทร์และนายอังคารต้องรับผิดในหนี้นั้นด้วยโดยไม่จำกัดจำนวน  เพราะถือว่าเป็นการสอดเข้าจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดตามมาตรา  1088

สรุป  การที่นายจันทร์และนายอังคารจ้างนายพุธมาเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด  เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและบุคคลทั้งสองต้องรับผิดในการกระทำของนายพุธ

 

ข้อ  3  บริษัท  นพรัตน์  จำกัด  มีกรรมการทั้งหมดสี่คน  คือ  นายหนึ่ง  นางสอง  นายสาม   และนางสี่ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งคนละสี่ปี  เมื่อหมดวาระต้องเลือกตั้งใหม่  ข้อบังคับของบริษัทมีว่าการลงนามผูกพันบริษัทต้องมีกรรมการสองคนลงนามร่วมกัน  และประทับตราบริษัทด้วยจึงจะผูกพันบริษัท  ข้อบังคับนี้ได้จดทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  บริษัทได้เปิดดำเนินการมาได้สามปีเศษ  นายหนึ่งก็ได้ถึงแก่กรรม  ส่วนนางสี่ได้ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  นางสอง  นายสาม  และนางสี่  จึงมาปรึกษาท่านว่า  พวกเขาเหล่านั้นจะมีอำนาจตั้งนายห้าเป็นกรรมการแทนนายหนึ่งได้หรือไม่  และการที่นางสี่ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจะสามารถลงนามในสัญญาผูกพันบริษัทได้หรือไม่  ให้ท่านแนะนำบุคคลทั้งสาม   

ธงคำตอบ

มาตรา  1151  อันผู้เป็นกรรมการนั้น  เฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นอาจจะตั้งหรือถอนได้

มาตรา  1154  ถ้ากรรมการคนใดล้มละลาย  หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถไซร้  ท่านว่ากรรมการคนนั้นเป็นอันขาดจากตำแหน่ง

มาตรา  1155  ถ้าตำแหน่งว่างลงในสภากรรมการเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามเวรไซร้  ท่านว่ากรรมการจะเลือกผู้อื่นตั้งขึ้นใหม่ให้เต็มที่ว่างก็ได้  แต่บุคคลที่ได้เป็นกรรมการใหม่เช่นนั้น  ให้มีเวลาอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่กรรมการผู้ออกไปนั้นชอบที่จะอยู่ได้

วินิจฉัย

เมื่อนายหนึ่งถึงแก่กรรม  จึงมีตำแหน่งว่างลงในสภากรรมการเพราะเหตุอื่นมิใช่เป็นการออกตามวาระ  กรรมการที่เหลือคือนางสอง  นายสาม  และนางสี่  ก็สามารถตั้งผู้ใดเป็นกรรมการแทนนายหนึ่งได้ตามมาตรา  1155  ซึ่งมาตรานี้เป็นข้อยกเว้นของมาตรา  1151  ที่ว่า  อันผู้เป็นกรรมการนั้นเฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นอาจจะตั้งหรือถอนได้  ส่วนนางสี่แม้จะถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  ก็ยังสามารถจัดการงานของบริษัทได้  เพราะการที่ศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไม่ทำให้นางสี่ต้องขาดจากตำแหน่งกรรมการแต่อย่างใด  เพราะศาลยังมิได้พิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย (มาตรา  1154)  ดังนั้นนางสี่ก็สามารถลงนามในสัญญาผูกพันบริษัทได้

สรุป  นางสอง  นายสาม  นางสี่  ตั้งนายห้าเป็นกรรมการได้  และนางสี่ลงนามในสัญญาผูกพันบริษัทได้

Advertisement