การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

Advertisement

ข้อ  1  นายเอก  นายโท  และนายตรี  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนมีวัตถุประสงค์ค้าขายน้ำตาลทรายโดยลงหุ้นกันคนละ  1  ล้านบาท  และได้ตกลงให้นายเอกเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งได้มีการจดทะเบียนไว้อย่างถูกต้อง  ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลนี้ได้ดำเนินกิจการมาหลายปีมีกำไรดีทุกปี

นายโทมีความโลภเห็นห้างหุ้นส่วนฯ  มีกำไรดี  ก็อยากจะทำกิจการเองบ้างแต่กลัวหุ้นส่วนอื่นจะเรียกค่าเสียหาย  นายโทจึงชักชวนนายจัตวาให้มาเข้าหุ้นกับตนและจดทะเบียนตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีวัตถุประสงค์ค้าขายน้ำตาลทรายเช่นเดียวกัน  โดยตั้งอยู่ในละแวกเดียวกับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล  แต่ในห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้นายโทขอเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด

ส่วนนายจัตวาเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯ  ทั้งสองเปิดกิจการแข่งขันกันเรื่อยมา  นายเอกและนายตรีเห็นว่านายโทไม่ซื่อสัตย์โดยไปเข้าหุ้นกับบุคคลอื่นเปิดกิจการแข่งขันกับห้างฯ  จึงต้องการฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือผลกำไรจากนายโท  จึงมาปรึกษาท่านว่าในกรณีดังกล่าว  ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจะเรียกร้องค่าเสียหายหรือผลกำไรจากนายโทได้หรือไม่  ให้ท่านแนะนำนายเอกและนายตรี

ธงคำตอบ

มาตรา  1066  วรรคแรก  ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน  และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น  ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น  หรือไปเข้าเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่นซึ่งประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน  และแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้น  เว้นไว้แต่จะได้รับคำยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมด

วินิจฉัย

ข้าพเจ้าจะขอแนะนำว่า  ห้างฯจะฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือผลกำไรจากนายโทมิได้  เนื่องจากนายโทไปเข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด  ซึ่งไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา  1066   วรรคแรก  ที่วางหลักไว้ว่า  ห้ามหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนประกอบกิจการ  หรือไปเข้าเป็นหุ้นส่วนชนิดไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่น  ซึ่งประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนนั้น

จากบทบัญญัติมาตรา  1066 วรรคแรก  จะเห็นได้ว่ากฎหมายมิได้ห้ามผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนไปเข้าหุ้นชนิดจำกัดความรับผิดในห้างอื่น  ถึงแม้ห้างฯนั้นจะประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญ  ดังนั้น  ข้าพเจ้าจึงแนะนำว่า  ห้างฯจะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนหรือผลกำไรจากนายโทไม่ได้

 

ข้อ  2  นายสาย  นายบ่าย  และนายเย็น  ตกลงเข้าหุ้นกันโดยจะจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  โดยนายสายเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  นายบ่ายและนายเย็นเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดทุกคนลงหุ้นกันคนละ  5  แสนบาท  ห้างฯมีวัตถุประสงค์ค้าขายเครื่องจักรอุตสาหกรรม  เช่าทรัพย์  เช่าซื้อ  รับจำนอง  จำนำ  เป็นตัวแทนนายหน้า  กู้ยืมเงิน  และรับขนสินค้าทุกชนิด  แต่ก่อนที่จะจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  นายสายได้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกมา  2  คัน  เพื่อนำมาใช้ในกิจการของห้างฯ  และหลังจากที่ห้างฯ  ได้จดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว  นายสายได้กู้ยืมเงินจากธนาคารเอเชียมา  2  ล้านบาท  โดยนำอาคารห้างหุ้นส่วนจำกัดไปจำนองค้ำประกันหนี้เงินกู้ดังนี้  เมื่อห้างฯผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์  งวดที่  20  และงวดที่  21  ผู้ให้เช่าซื้อจะเรียกค่าเช่าซื้อจากนายสาย  นายบ่าย  และนายเย็นได้หรือไม่  ส่วนนายบ่ายและนายเย็นไม่พอใจนายสายที่บังอาจนำอาคารของห้างฯ  ไปจำนองค้ำประกันหนี้เงินกู้  นายบ่ายและนายเย็นจะฟ้องคดีแทนห้างหุ้นส่วนจำกัดให้เพิกถอนการจำนองได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1079  อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด  ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ  ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัดจำนวน  จนกว่าจะได้จดทะเบียน

มาตรา  1087  อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น  ท่านว่าต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ

วินิจฉัย

หนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์บรรทุก  2  คัน  เป็นหนี้ที่นายสายก่อให้เกิดขึ้นก่อนจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจึงต้องรับผิดร่วมกันเสมือนเป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนสามัญ  คือ  ต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัดจำนวน  จนกว่าจะได้จดทะเบียน  เพราะมาตรา  1079  วางหลักว่า  ถ้าห้างหุ้นส่วนจำกัดยังไม่จดทะเบียนอยู่ตราบใด  ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ  ดังนั้นผู้ให้เช่าซื้อจึงเรียกให้นายสาย  นายบ่าย  และนายเย็นร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อได้

ส่วนกรณีการฟ้องให้ขอให้เพิกถอนการจำนองนั้นเนื่องจากการฟ้องคดีก็ถือว่าเป็นการจัดการงานของห้างฯ  อย่างหนึ่ง  ซึ่งหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่มีอำนาจจัดการงานของห้างฯ  ตามมาตรา  1087  ดังนั้น  นายบ่ายและนายเย็นจึงไม่อาจฟ้องคดีแทนห้างฯได้

สรุป 

1       ผู้ให้เช่าซื้อ  เรียกค่าเช่าซื้อจากนายสาย  นายบ่าย  และนายเย็นได้

2       นายบ่ายและนายเย็น  จะฟ้องคดีแทนห้างหุ้นส่วนจำกัดให้เพิกถอนการจำนองไม่ได้

 

ข้อ  3  ข้อบังคับของบริษัท  นพคุณ  จำกัด  ระบุว่าในการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อที่ยังใช้เงินค่าหุ้นไม่ครบนั้นผู้โอนหุ้นต้องขอความยินยอมจากคณะกรรมการของบริษัทก่อน  หากคณะกรรมการมีมติเป็นอย่างใดก็ให้เป็นที่สุดห้ามมิให้มีการฟ้องร้อง  นางสาวสกุนตลามีหุ้นอยู่ในบริษัทนี้อยู่  5   หมื่นหุ้นมูลค่าหุ้นละ  10  บาท  ซึ่งบริษัทเรียกเก็บค่าหุ้นไว้แล้วหุ้นละ  5  บาท  นางสาวสกุลตลาต้องการโอนหุ้นให้นางสาวณิชาพรทั้งหมด  จึงไปขออนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท  แต่คณะกรรมการบริษัทมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่อนุมัติ

เนื่องจากเห็นว่านางสาวณิชาพรเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเกรงว่าจะชำระเงินค่าหุ้นที่เหลือไม่ได้  แต่นางสาวสกุนตลาก็ไม่สนใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการบริษัทและได้โอนหุ้นให้นางสาวณิชาพรไปทั้งหมด  โดยทำเป็นหนังสือโอนหุ้นมีลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน

มีพยานคือนายเดช  ลงชื่อรับรองความถูกต้องและได้ระบุหมายเลขหุ้นกันไว้ด้วย  เมื่อโอนกันแล้วผู้โอนและผู้รับโอนได้มาขอให้นายแดงกรรมการบริษัทจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นด้วย  โดยนายแดงก็หลงลืมมติของคณะกรรมการที่ห้ามมิให้โอนหุ้นรายนี้  นางสาวณิชาพรก็ได้ครอบครองหุ้นทั้งหมดห้าหมื่นบาทหุ้นโดยสงบเปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของรวม  5  ปีเศษแล้ว  และยังได้เข้าประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นและเคยรับเงินปันผลไปห้าครั้งแล้ว  ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้โอนผู้รับโอนบริษัทก็มิได้สนใจเรื่องการโอนหุ้นของบุคคลทั้งสอง

ดังนี้  ถ้าบริษัทได้เคยมีหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนการโอนหุ้นและบริษัทไม่มีเงินชำระหนี้และนางสาวณิชาพรก็ไม่มีเงินชำระค่าหุ้นให้บริษัทได้ ส่วนผู้ถือหุ้นคนอื่นๆก็ได้ชำระเงินค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว  ดังนี้เจ้าหนี้ของบริษัทจะเรียกให้นางสาวสกุนตลาชำระหนี้ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1129  อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท  เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น  ซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน  มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้นๆด้วยแล้ว  ท่านว่าเป็นโมฆะ  อนึ่งตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย

การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้แก่บริษัท  หรือบุคคลภายนอกไม่ได้  จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น

มาตรา  1133  หุ้นซึ่งโอนกันนั้น  ถ้าเป็นหุ้นอันยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนค่าหุ้น  ท่านว่าผู้โอนยังคงต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังมิได้ส่งใช้ให้ครบถ้วนนั้น  แต่ว่า

 (1) ผู้โอนไม่ต้องรับผิดในหนี้อันหนึ่งอันใดของบริษัทซึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังโอน

(2) ผู้โอนไม่ต้องรับผิดออกส่วนใช้หนี้  เว้นแต่ความปรากฏขึ้นแก่ศาลว่าบรรดาผู้ที่ยังถือหุ้นของบริษัทอยู่นั้นไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้  อันเขาจะพึงต้องออกใช้นั้นได้

ในข้อความรับผิดเช่นว่ามานั้น  ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้โอนเมื่อพ้นสองปีนับแต่ได้จดแจ้งการโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น

วินิจฉัย

หุ้นของนางสาวสกุนตลา  เป็นหุ้นชนิดระบุชื่อซึ่งบริษัทมีข้อบังคับของบริษัทเรื่องการโอนหุ้น  กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  คือ  ผู้โอนหุ้นต้องขอความยินยอมจากคณะกรรมการของบริษัทก่อน  (มาตรา  1129 วรรคแรก)  แต่แม้ว่าการโอนหุ้นของนางสาวสกุนตลาและนางสาวณิชาพรจะไม่ชอบด้วยข้อบังคับของบริษัท  แต่กรรมการบริษัทก็ได้แก้ไขชื่อเป็นของนางสาวณิชาพรแล้ว  ประกอบกับนางสาวณิชาพรได้ครอบครองหุ้นโดยสงบเปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันห้าปีเศษแล้ว  ย่อมได้กกรมสิทธิ์ในหุ้นทั้งหมด  อีกทั้งบริษัทก็ไม่ได้สนใจเรื่องการที่ผู้โอนและผู้รับโอนทำผิดข้อบังคับในเรื่องการโอน  จึงถือว่าบริษัทสละสิทธิที่จะบังคับให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท  จึงถือว่านางสาวณิชาพรเป็นผู้ถือหุ้นนี้โดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  1129  แต่ถ้าบริษัทมีหนี้สินก่อนการโอนหุ้นและบริษัทไม่มีเงินชำระหนี้เจ้าหนี้ของบริษัทก็อาจจะฟ้องเอาจากผู้โอนหุ้นได้ตามมาตรา  1133  ซึ่งกฎหมายบัญญัติคุ้มครองเจ้าหนี้ของบริษัทมิให้ผู้โอนหุ้นเอาเปรียบเจ้าหนี้โดยการไม่ต้องรับผิดในเงินค่าหุ้นที่ตนยังชำระไม่ครบ  แต่อย่างไรก็ตามเจ้าหนี้ของบริษัทก็ต้องฟ้องผู้โอนภายในสองปีนับแต่ได้จดแจ้งการโอนในสมุดจดทะเบียนผู้ถือหุ้น  เมื่อเจ้าหนี้มาเรียกร้องเกินสองปีแล้วนับจากวันจดแจ้งการโอน  ตามมาตรา  1133  วรรคท้าย    นางสาวสกุนตลาจึงไม่ต้องรับผิด

สรุป  เจ้าหนี้ของบริษัท  เรียกให้นางสาวสกุนตลาชำระหนี้ไม่ได้

Advertisement