การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3102 (LAW 3002) ป.พ.พ.ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัท ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ให้ท่านอธิบายเชิงวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด” กับ “หุ้นส่วน จํากัดความรับผิด” ทั้งนี้ ท่านจะต้องอธิบายความแตกต่างดังกล่าวอย่างน้อย 14 รายการ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท

Advertisement

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติถึงความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนไม่จํากัด
ความรับผิด” กับ “หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด” ไว้ดังนี้ คือ

1. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดมีได้ทั้งในห้างหุ้นส่วนสามัญและห้างหุ้นส่วนจํากัด ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิดมีได้เฉพาะในห้างหุ้นส่วนจํากัดเท่านั้น (มาตรา 1025 และมาตรา 1077)

2. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน ส่วน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยจํากัดเฉพาะในจํานวนเงินที่ตนรับว่าจะลงหุ้นเท่านั้น
(มาตรา 1077)

3. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวนไม่ว่า
หนี้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดจะได้จดทะเบียน แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดโดย ไม่จํากัดจํานวนก็แต่เฉพาะในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่เกิดขึ้นก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจะได้จดทะเบียนเท่านั้น (มาตรา 1079)

4. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถนําชื่อของตนไปเรียกขานระคนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เอาชื่อของตน ไปเรียกขานระคนเป็นชื่อของห้างหุ้นส่วน (มาตรา 1081)

5. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ (มาตรา 1026 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นได้เฉพาะเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้น จะลงหุ้น ด้วยแรงงานไม่ได้ (มาตรา 1083)

6. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนอกจากจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้า ได้แล้ว ยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยอีกด้วย ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายได้บัญญัติ ห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด นอกจากผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้าได้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 1084)

7. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดอาจจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ได้เพราะกฎหมายไม่ห้าม แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะแสดงตน
หรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ไม่ได้ ถ้ามีการฝ่าฝืน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนนั้นก็จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามจํานวนที่ตนได้แสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดไว้ด้วย (มาตรา 1085)

8. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด มีสิทธิเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ (มาตรา 1087) ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ รวมทั้งห้ามสอดเข้าไปเกี่ยวข้องการจัดการงานของ ห้างหุ้นส่วนด้วย (มารตรา 1087 และมาตรา 1088)

9. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด จะประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนไม่ได้ หรือ
จะเข้าไปเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่นที่ประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิม ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน (มาตรา 1066 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถประกอบกิจการ ค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนได้ (มาตรา 1090)

10. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ถ้าจะโอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่น จะต้องได้รับความยินยอม จากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ด้วย (มาตรา 1040 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดสามารถ โอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ (มาตรา 1091)

11. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย ห้างหุ้นส่วนนั้นย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย จะไม่เป็นเหตุ ให้ห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

12. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งล้มละลาย ห้างหุ้นส่วนนั้นย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งล้มละลาย จะไม่เป็น เหตุให้ห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

13. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตกเป็นคนไร้ความสามารถ ห้างหุ้นส่วนนั้น ย่อมต้องเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่ง ตกเป็นคนไร้ความสามารถ จะไม่เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

14. ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนั้น คุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนถือว่าเป็นสาระสําคัญ แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดนั้น คุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนไม่เป็นสาระสําคัญ

15. เมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดผิดนัดชําระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องให้หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด คนใดคนหนึ่งชําระหนี้ได้ (มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าตราบใดที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน แม้ห้างหุ้นส่วนจะผิดนัดชําระหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถฟ้องให้หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดชําระหนี้ได้ (มาตรา 1095)

 

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564 นายโกเข้าทําข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับนายโอ โดยระบุว่า บุคคลทั้งสองตกลงจัดตั้งคณะบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ค้าขายน้ํามันปาล์มเฉพาะจังหวัดในภาคกลาง ของประเทศไทย นายโกร่วมลงทุนเป็นเงิน 2 ล้านบาท นายโอร่วมลงทุนเป็นสวนปาล์ม 12 ไร่ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2565 นายโตตกลงร่วมลงทุนกับนายโอตั้งห้างหุ้นส่วนภาคกลาง ค้าปาล์ม มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจค้าขายน้ํามันปาล์มและต้นปาล์มเฉพาะจังหวัดในภาคกลาง ของประเทศไทย โดยนายโตซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ถูกตั้งเป็นผู้จัดการ

ส่วนนายโอ เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนภาคกลางค้าปาล์มดังกล่าวมีรายได้และสิทธิเรียกร้อง ก่อนจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นเงินจํานวน 150 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้และสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนี้ เกิดจากสัญญาที่นายโอทํากับนายโกเพื่อขายต้นปาล์มให้แก่นายโกเพื่อใช้ในกิจกรรมของคณะบุคคลที่นายโกร่วมดําเนินการนั้น โดยที่นายโกนํารายได้ทั้งหมดไปใช้กิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท ในกรณี ที่นายโกในฐานะผู้แทนคณะบุคคลผิดนัดชําระราคาต้นปาล์มดังกล่าว นายโตจะฟ้องเรียกร้องให้นายโกรับผิดชําระราคาต้นปาล์มดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1049 “ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่”

มาตรา 1079 “อันห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ
ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัดจํานวน จนกว่าจะได้จดทะเบียน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายโตได้ตกลงร่วมลงทุนกับนายโอตั้งห้างหุ้นส่วน ภาคกลางค้าปาล์ม มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจค้าขายน้ํามันปาล์มและต้นปาล์ม โดยมีนายโตเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัด ความรับผิดและเป็นผู้จัดการ ส่วนนายโอเป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดนั้น ถือว่าทั้งสองได้ตกลงจัดตั้งห้างหุ้นส่วน ดังกล่าวเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะต้องมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้ จดทะเบียน กฎหมายให้ถือเป็นเพียงห้างหุ้นส่วนสามัญเท่านั้น (มาตรา 1079) และเมื่อเป็นเพียงห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ได้จดทะเบียน) ย่อมมีผลตามมาตรา 1049 กล่าวคือ ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอก ในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ห้างหุ้นส่วนภาคกลางค้าปาล์มดังกล่าวมีรายได้และสิทธิเรียกร้อง ก่อนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นเงินจํานวน 150 ล้านบาท ซึ่งรายได้และสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเกิดจากสัญญาที่ นายโอทํากับนายโกเพื่อขายต้นปาล์มให้แก่นายโกเพื่อใช้ในกิจกรรมของคณะบุคคลที่นายโกร่วมดําเนินการนั้น ดังนั้น เมื่อนายโกในฐานะตัวแทนคณะบุคคลผิดนัดชําระหนี้ราคาต้นปาล์มดังกล่าว นายโตซึ่งมิใช่คู่สัญญากับ นายโกจะฟ้องเรียกร้องให้นายโกรับผิดชําระราคาต้นปาล์มดังกล่าวไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 1049

สรุป นายโตจะฟ้องเรียกร้องให้นายโกรับผิดชําระราคาต้นปาล์มดังกล่าวไม่ได้

 

ข้อ 3. ให้ท่านอธิบายเชิงวิเคราะห์หลักกฎหมายเรื่องการโอนหุ้นบริษัทจํากัด ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทโดยละเอียด

ธงคําตอบ

หุ้นในบริษัทจํากัดนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ หุ้นชนิดระบุชื่อ และหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ

1. หุ้นชนิดระบุชื่อ คือ หุ้นที่มีการระบุชื่อของบุคคลผู้เป็นเจ้าของหุ้นลงไว้ในใบหุ้น ซึ่งบริษัท เป็นผู้ออกให้แก่ผู้ถือหุ้นทั่วไปโดยไม่คํานึงว่าผู้ถือหุ้นนั้นจะชําระค่าหุ้นครบถ้วนตามมูลค่าแห่งหุ้นหรือไม่ และหุ้นชนิดระบุชื่อนี้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิที่จะเปลี่ยนเป็นหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือได้ เมื่อได้เวนคืนหุ้นชนิดระบุชื่อให้แก่บริษัท ซึ่งบริษัทจะได้ขีดฆ่าเสียและออกหุ้นใบใหม่ ซึ่งเป็นหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือให้ แก่กรณีดังกล่าวจะทําได้ก็แต่เฉพาะ หุ้นที่ได้มีการใช้ค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้วเท่านั้น (ป.พ.พ. มาตรา 1134)

2. หุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ คือ หุ้นที่มิได้มีการระบุชื่อของบุคคลผู้เป็นเจ้าของหุ้นลงไว้ในใบหุ้น เป็นแต่เพียงแถลงว่าได้ออกใบหุ้นนั้นให้แก่ผู้ถือ หุ้นชนิดนี้ถ้าอยู่ในความครอบครองของผู้ใดก็ถือเสมือนว่าผู้นั้น
เป็นเจ้าของหุ้นนั้น

ในการออกใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ 2 ประการ คือ

(1) มีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตให้ออกหุ้นชนิดนี้ได้ และ

(2) จะออกใบหุ้นชนิดนี้ได้ก็แต่เฉพาะเพื่อหุ้นซึ่งได้ใช้ค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้ว (ป.พ.พ. มาตรา 1134)

หุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือนี้ ผู้ทรงใบหุ้นย่อมมีสิทธิที่จะมาขอเปลี่ยนเป็นใบหุ้นชนิดระบุชื่อได้ เมื่อได้เวนคืนใบหุ้นฉบับออกให้แก่ผู้ถือให้แก่บริษัท และบริษัทได้ขีดฆ่าเสีย (ป.พ.พ. มาตรา 1136)

และไม่ว่าจะเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อหรือหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ ในใบหุ้นทุก ๆ ใบจะต้องมีกรรมการ อย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อไว้เป็นสําคัญ และในใบหุ้นต้องมีข้อความต่อไปนี้ด้วย คือ

(1) ชื่อบริษัท
(2) เลขหมายหุ้นที่กล่าวถึงในใบหุ้นนั้น
(3) มูลค่าหุ้นหนึ่งเป็นเงินเท่าใด
(4) ถ้าและเป็นหุ้นที่ยังไม่ได้ใช้เงินเสร็จ ให้จดลงว่าได้ใช้เงินค่าหุ้นแล้วหุ้นละเท่าใด
(5) ชื่อผู้ถือหุ้นหรือคําแถลงว่าได้ออกใบหุ้นนั้นให้แก่ผู้ถือ (ป.พ.พ. มาตรา 1128)

การโอนหุ้นของบริษัทจํากัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

1. หุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ ย่อมโอนให้แก่กันได้โดยการส่งมอบใบหุ้นให้แก่กัน (ป.พ.พ. มาตรา 1135)

2. หุ้นชนิดระบุชื่อ การโอนหุ้นชนิดนี้จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ใน ป.พ.พ.
มาตรา 1129 วรรคสอง ดังนี้คือ

(1) จะต้องมีการทําเป็นหนังสือ
(2) จะต้องมีการลงลายมือชื่อของผู้โอนและผู้รับโอน
(3) จะต้องมีพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อตาม (2) (4) จะต้องมีการระบุเลขหมายของหุ้นซึ่งจะโอนกันนั้นด้วย

การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อนี้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว การโอนนั้นก็จะเป็น “โมฆะ” และการโอนหุ้นเช่นนี้จะนําไปใช้ยันกับบริษัทหรือบุคคลภายนอกได้ ก็ต่อเมื่อได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสํานัก ของผู้รับโอนนั้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทแล้ว (ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสาม)

แต่อย่างไรก็ตาม การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนี้ อาจมีข้อยกเว้นว่า ไม่ต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง ดังกล่าวข้างต้นก็ได้ ถ้าเป็นกรณีในเหตุบางอย่าง เช่น ผู้ถือหุ้นตายหรือล้มละลาย อันเป็นเหตุให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีสิทธิจะได้หุ้นขึ้นนั้น หากว่าบุคคลนั้นนําใบหุ้นมาเวนคืน เมื่อเป็นวิสัยจะทําได้ ทั้งได้นําหลักฐานอันสมควรมาแสดงด้วยแล้ว ก็ให้บริษัทรับบุคคลนั้นลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นสืบไป (ป.พ.พ.
มาตรา 1132)

Advertisement