การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2544

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

Advertisement

ข้อ 1  กฎหมายตราสามดวงคืออะไร  เพราะเหตุใดจึงมีการกล่าวว่ากฎหมายตราสามดวงคือกฎหมายเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา  อธิบาย

ธงคำตอบ

กฎหมายตราสามดวงคือ  กฎหมายที่ทรงบัญญัติขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อจุลศักราช 1166  พ.ศ. 2347 เป็นการนำเอากฎหมายเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยามาตรวจชำระใหม่ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์เป็นต้นไป  เพื่อมิให้กฎหมายมีเนื้อความผิดเพี้ยน  ซ้ำกัน  และดัดแปลงบทกฎหมายให้ถูกต้องตามความยุติธรรม  เมื่อชำระเสร็จเรียบร้อยแล้วให้อาลักษณ์เขียนเป็นฉบับหลวงจำนวน 3  ชุด ประทับตราพระราชสีห์  และบัวแก้ว  อันเป็นตราประจำตำแหน่งสมุหนายก  สมุหพระกลาโหม  และเจ้าพระยาพระคลังไว้เป็นสำคัญ  จึงมีชื่อเรียกในภายหลังว่ากฎหมายตราสามดวง

เหตุที่มีการกล่าวว่ากฎหมายตราสามดวงคือกฎหมายเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเพราะ

 1       พระอัยการลักษณะต่างๆ  ในกฎหมายตราสามดวงล้วนแต่บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้ทรงบัญญัติขึ้นมาทั้งนั้น  เช่น  ในพระอัยการลักษณะผัวเมีย  จะมีนามของสมเด็จพระรามาธิบดี  (พระเจ้าอู่ทอง) เป็นผู้ทรงบัญญัติขึ้นมา

2       ศักราชที่ปรากฏในพระอัยการลักษณะต่างๆ  ในกฎหมายตราสามดวงล้วนแต่เป็นศักราชที่มีอายุย้อนถอยหลังไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น

3       ในบทบัญญัติกฎหมายตราสามดวง  ซึ่งมีเนื้อความถึง  1,600 กว่าบท  (มาตรา) เศษ  คณะกรรมการที่ทำการตรากฎหมายตราสามดวงใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี  ก็สามารถดำเนินการเสร็จสมบูรณ์  ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจะต้องอาศัยตัวบทกฎหมายเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยามาชำระสะสางให้เรียบร้อย  ให้ถูกต้องตามความยุติธรรมอย่างแน่นอน

 

ข้อ 2  ตามพระอัยการลักษณะวิวาทด่าตีกัน  มีการยกเว้นยกโทษแก่ผู้กระทำความผิด  โดยอาศัยเหตุความเป็นญาติและอายุอย่างไรบ้าง  และมีเหตุผลในการยกเว้นโทษอย่างไร  อธิบาย

ธงคำตอบ

ในพระอัยการลักษณะวิวาทด่าตีกันในกฎหมายตราสามดวง  มีการยกเว้นโทษแก่ผู้กระทำความผิดโดยอาศัยเหตุความเป็นญาติและอายุ ดังนี้

 1       กรณีความเป็นญาติ  กฎหมายยกเว้นโทษแก่ผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายมิถึงสาหัสระหว่างเครือญาติ  ทั้งนี้เพราะถึงอย่างไรเขาก็เสียกันมิได้  ความว่า  ในกรณีเครือญาติด่าตีกัน  ถ้าถึงแตกหักสาหัสจึงให้ปรับไหมแก่กันดังฉันผู้อื่น  ถ้ามิถึงแตกหักสาหัส  ให้บังคับว่ากล่าวกัน  ความผิดและชอบตามผู้ใหญ่ผู้น้อย  ให้ตกแต่งข้าวตอกดอกไม้  ธูปเทียน  สินนุ่งห่ม  เหล้าขาวเป็ดไก่  ไปแปลงขวัญกัน  เพราะเขาเสียกันมิได้ เช่น  พ่อตาแม่ยายด่าตีกับลูกเขย  ลูกเขยด่าตีพ่อตาแม่ยาย  ปู่ย่าด่าตีกับหลานเป็นต้น

2       การยกเว้นโทษโดยอาศัยเหตุอายุ   กล่าวคือ   มีการยกเว้นโทษให้แก่เด็กอายุ 7  ขวบลงมา  ไปด่าตีผู้อื่น  โดยกฎหมายเห็นว่าเด็กเป็นผู้ไม่รู้ผิดชอบ  และมีการยกเว้นโทษแก่คนชราอายุตั้งแต่  70  ปี  ขึ้นไป  โดยเหตุว่าเป็นคนสติหลงใหล  ทั้งนี้ให้นายบ้านนายเมืองว่ากล่าวให้สมัครสมานผู้เจ็บโดยควร

 

  ข้อ 3 ในประเทศอังกฤษมีกฎหมายสองสาขา  คือ  กฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) และเอคควิตี้ (Equity) ให้อธิบายว่า  กฎหมายทั้งสองสาขานี้มีความแตกต่างกันอย่างไร

ธงคำตอบ

กฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) และเอคควิตี้ (Equity)  มีความแตกต่างกันดังนี้

 1       สภาพแห่งคดี  กฎหมายคอมมอนลอว์  บังคับเอากับทรัพย์สิน  ส่วนกฎหมายเอคควิตี้บังคับเอากับร่างกาย

2       การพิจารณาคดี  คดีคอมมอนลอว์ ให้ลูกขุนเป็นผู้วินิจฉัยข้อเท็จจริง  ส่วนผู้พิพากษาเป็นผู้วินิจฉัยข้อกฎหมาย  สำหรับคดีเอคควิตี้นั้นเป็นการพิจารณาต่อหน้าชาลเซลเลอร์  ไม่มีการพิจารณาข้อเท็จจริงโดยลูกขุน  ชาลเซลเลอร์เป็นผู้พิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

3       การเยียวยา  คดีคอมมอนลอว์ให้การเยียวยาได้แต่เฉพาะเป็นเงินตรา  สำหรับคดีเอคควิตี้โจทก์อาจได้รับบรรเทาความเดือดร้อนโดยศาลอาจสั่งให้จำเลยชำระหนี้เฉพาะสิ่ง  (Specific  Performance)  ตามที่ระบุไว้ในสัญญา  หรือสั่งห้ามจำเลยกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด (Injunction)

Advertisement