การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ประมาณเที่ยงคืน  อารีย์จอดรถยนต์อยู่บนถนนสายหนึ่งในที่มืดโดยไม่ได้เปิดสัญญาณไฟหน้ารถและท้ายรถไว้  ระย้าและทองเกลียวขับรถยนต์แข่งกันมาด้วยความเร็วสูง  และได้เสียหลักพุ่งชนท้ายรถยนต์ของอารีย์  ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้รถของอารีย์เสียหายทั้งคัน

ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าอารีย์จะฟ้องร้องให้ระย้าและทองเกลียวร่วมกันรับผิดเพราะทั้งสองคนร่วมกันกระทำละเมิดต่อตนได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  223  วรรคแรก  ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้  ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ  ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร

มาตรา  301  ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  432  ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น  คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

มาตรา  442  ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้  ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา  223  มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  ระย้าและทองเกลียวได้ชื่อว่าเป็นผู้ร่วมกันกระทำละเมิดหรือไม่  เห็นว่า  การจะถือว่าเป็นการร่วมกันทำละเมิด  ตามบทบัญญัติมาตรา  432  นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำร่วมมือร่วมใจกันกระทำมาตั้งแต่ต้น  เมื่อข้อเท็จจริงนี้ปรากฏว่าระย้าและทองเกลียวต่างคนต่างประมาทในการทำให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่อารีย์  จึงไม่อาจถือได้ว่าทั้งสองมีเจตนาร่วมกันในการกระทำหรือได้ร่วมมือร่วมใจกันในการกระทำ  อันจะเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดตามมาตรา  432  ดังนั้น  ระย้าและทองเกลียวจึงมีความผิดฐานต่างคนต่างกระทำละเมิดต่ออารีย์โดยประมาทเลินเล่อตามมาตรา  420  เทียบฎีกาที่  3071 3072/2522

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  ระย้าและทองเกลียวต้องร่วมกันรับผิดหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อถือว่าทั้งสองไม่ได้ร่วมกันกระทำละเมิด  ทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดตามมาตรา  432  อย่างไรก็ดี  เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความเสียหายที่ไม่อาจแบ่งแยกความรับผิดกันได้ว่า  ระย้าหรือทองเกลียวก่อให้เกิดความเสียหายในส่วนใดอย่างไร  ความรับผิดของระย้าและทองเกลียวจึงต้องเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา  301

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า  เมื่ออารีย์มีส่วนผิดอยู่ด้วย  ระย้าและทองเกลียวจะอ้างเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่ต้องรับผิดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่อารีย์จอดรถบนถนนหลวงโดยไม่ได้เปิดไฟหน้ารถและท้ายรถไว้ย่อมถือได้ว่าอารีย์มีส่วนผิดในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย  ดังนั้นในการวินิจฉัยคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนจึงต้องคำนึงด้วยว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตามมาตรา  442  ประกอบมาตรา  223

สรุป  อารีย์จะฟ้องร้องให้ระย้าและทองเกลียวร่วมกันรับผิดเพราะทั้งสองคนร่วมกันกระทำละเมิดตามมาตรา  432  และฟ้องได้ในฐานะเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในความเสียหายที่ไม่อาจแบ่งแยกความรับผิดกันได้

 

 

ข้อ  2  เฟื่องเช่าบ้านของแซมอยู่บนชั้นสาม  โดยแซมใช้ชั้นล่างและชั้นสองเปิดสำนักงานทนายความ  วันเกิดเหตุขณะที่หนูยิ้มบุตรสาววัยสิบขวบของเฟื่องยืนอยู่ริมหน้าต่างชั้นสาม  หนูยิ้มเห็นเอื้องกำลังคุ้ยเขี่ยของบนกองขยะอยู่  จึงหยิบขวดน้ำส้มสายชูที่อยู่ในครัว  ขว้างไปที่กองขยะที่เอื้องนั่งอยู่  ทำให้เอื้องได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นตาบอดหนึ่งข้าง

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  เอื้องจะเรียกให้ใครรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการที่ตนต้องตาบอดได้หรือไม่  และหากปรากฏว่าเอื้องมีเด็กชายอุ้ยอายุ  1  เดือน  เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย  เด็กชายอุ้ยจะเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

มาตรา  436  บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น  หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร

มาตรา  443  วรรคท้าย  ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  เอื้องจะเรียกให้ใครรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการที่ตนต้องตาบอดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่หนูยิ้มขว้างขวดน้ำส้มสายชูลงมาทำให้เอื้องได้รับบาดเจ็บถึงขั้นตาบอด  การกระทำของหนูยิ้มเป็นการกระทำโดยรู้ถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น  จึงถือว่าเป็นการจงใจซึ่งเป็นการกระทำโดยไม่มีสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของเอื้อง  และการกระทำสัมพันธ์กับผลของการกระทำ  จึงเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา  420  หนูยิ้มต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

กรณีไม่ใช่ความรับผิดตามมาตรา  436  เพราะการที่จะเป็นความรับผิดตามมาตรา  436  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะต้องไม่มีการจงใจหรือไม่มีการประมาทเลินเล่อของบุคคล  ถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการจงใจหรือมีการประมาทเลินเล่อของบุคคลใด  ก็ต้องนำบทบัญญัติมาตรา  420 มาใช้บังคับเอาผิดกับบุคคลนั้น  จะนำมาตรา  436  มาใช้บังคับไม่ได้  นอกจากนั้นการจะนำบทบัญญัติมาตรา  436  มาใช้บังคับนั้น  หมายถึง  มีข้อเท็จจริงว่าของได้ตกหล่นหรือทิ้งขว้างจากโรงเรือนนั้นและไม่อาจหาตัวผู้กระทำให้เกิดความเสียหายได้  แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า  หนูยิ้มเป็นผู้กระทำโดยจงใจ  หนูยิ้มจึงต้องรับผิดตามมาตรา  420  แต่เพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ดี  เมื่อหนูยิ้มเป็นบุตรผู้เยาว์ของเฟื่อง  และมีการกระทำละเมิดต่อผู้อื่น  มารดาของผู้กระทำละเมิด  คือ  เฟื่อง  จึงต้องร่วมกันรับผิดกับบุตรผู้เยาว์ตามมาตรา  429  ที่ว่า  แม้ผู้กระทำละเมิดจะไร้ความสามารถ  เพราะเหตุเป็นผู้เยาว์ก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาของบุคคลเช่นว่านั้นย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  ทั้งนี้เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่การเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์นั้นแล้ว  แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีการระมัดระวัง  ดังนั้น  เฟื่องจึงต้องร่วมรับผิดกับหนูยิ้มในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเอื้อง 

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  เด็กชายอุ้ยจะเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่  เห็นว่า  ค่าขาดไร้อุปการะจะเรียกร้องได้เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายจากการกระทำละเมิดถึงแก่ความตายแล้วเท่านั้น  ตามมาตรา  443  วรรคท้าย  เมื่อเอื้องเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บตาบอดได้รับความเสียหายแก่ร่างกายไม่ถึงกับตาย  เอื้องจึงเป็นผู้เสียหายเองที่จะมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน  ไม่ใช่ทายาทและไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ผู้เสียหายเองเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้  ดังนั้นเด็กชายอุ้ยแม้จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งตามกฎหมายครอบครัวจะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดอุปการะจากหนูยิ้มได้ตามมาตรา  443  วรรคท้าย

สรุป  เอื้องสามารถเรียกให้หนูยิ้มและเฟื่องรับผิดในการที่ตนตาบอดได้  ส่วนเด็กชายอุ้ยไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดอุปการะได้   

 

 

ข้อ  3  นายเอกเขียนจดหมายส่งไปถึงนายโทซึ่งอยู่ต่างจังหวัด  ในจดหมายมีข้อความว่า  นายขาวเป็นคนไม่ดี  เคยติดคุกติดตะรางมาแล้ว  เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำจดหมายไปส่งที่บ้านของนายโท  ปรากฏว่านายโทไม่อยู่บ้าน  มีเพียงนายตรีซึ่งเพิ่งเดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียงมาพักอยู่กับนายโทนี่ที่เป็นเพื่อนกัน  เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงยื่นจดหมายให้กับนายตรี  นายตรีรับจดหมายมาแล้ว  ต่อมาได้แกะจดหมายออกอ่านจึงทราบข้อความในจดหมายทุกประการ

ข้อเท็จจริงได้ความว่า  นายขาวเป็นคนดี  ไม่เคยติดคุกแต่ประการใด

ดังนี้  นายเอกต้องรับผิดในทางละเมิดโดยการกล่าวหรือไขข่าวหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  แต่หากควรจะรู้ได้

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา  423  วรรคแรก  (หมิ่นประมาททางแพ่ง)  มีดังนี้

1       เป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง

2       ทำให้แพร่หลาย  กล่าวคือ  กระทำต่อบุคคลที่สามคนเดียวก็ถือว่าแพร่หลายแล้ว  โดยบุคคลที่สามต้องสามารถเข้าใจคำกล่าวหรือการไขข่าวนั้นได้

3       มีความเสียหายต่อชื่อเสียง  เกียรติคุณ  ทางทำมาหาได้  หรือทางเจริญของบุคคลอื่น

4       มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

สำหรับบุคคลที่สาม  ที่จะทำให้การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายนั้น  หมายความถึง  บุคคลที่ได้ยินได้ฟังหรือได้เห็น  หรือได้อ่านข้อความที่มีการกล่าวไขข่าว  โดยบุคคลนั้นมิใช่ผู้ที่ถูกใส่ความ  แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ผู้ร่วมกระทำละเมิด  หรือสามีภริยาซึ่งกันและกัน  หรือผู้แอบดู  แอบฟัง  หรือแอบรู้เห็นโดยละเมิด  ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของผู้อื่น  โดยที่ผู้กล่าวหรือไขข่าวมิได้ตั้งใจจะให้ผู้ใดมาล่วงรู้หรือต้องการให้รู้กันเฉพาะกลุ่มของตน

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  นายเอกจะต้องรับผิดในทางละเมิดโดยการกล่าวหรือไขข่าวหรือไม่  เห็นว่า  การที่นายเอกเขียนจดหมายถึงนายโทซึ่งอยู่ต่างจังหวัด  กรณีดังกล่าวถือได้ว่ามีการกระทำเข้าลักษณะการไขข่าว  แต่การไขข่าวของนายเอกไม่ได้แพร่หลาย  เพราะไม่ได้กระทำต่อบุคคลที่สาม  เนื่องจากการที่นายเอกส่งจดหมายไปให้นายโทแต่นายโทไม่อยู่บ้าน  นายตรีซึ่งเป็นเพื่อนบ้านนายโทรับจดมายไว้แทนและแกะจดหมายออกอ่าน  ถือได้ว่านายตรีเป็นผู้แอบดู  แอบรู้เห็นโดยละเมิด มิใช่บุคคลที่นายเอกจงใจจะไขข่าวให้ทราบ  กรณีนี้ถือไม่ได้ว่านายตรีเป็นบุคคลที่สาม  เมื่อการไขข่าวของนายเอกไม่ได้แพร่หลาย  การกระทำของนายเอกจึงไม่เป็นการละเมิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา  423 

สรุป  การกระทำของนายเอกไม่เป็นการละเมิดตามมาตรา  423

 

 

ข้อ  4  นายเอประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ได้รายได้สุทธิวันละ  1,000  บาท  ได้อยู่กินกับนางสาวบี  โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสจนมีบุตร 1  คน  คือ  เด็กหญิงแดง  นายเอได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงแดงพร้อมทั้งให้ใช้นามสกุลในวันเกิดเหตุนายเอและนางสาวบีได้พาเด็กหญิงแดงไปทานสุกี้ฉลองวันเกิดครบ  1  ปี  ที่ร้านสุกี้แห่งหนึ่ง  ในระหว่างที่ทานอยู่นั้นเด็กหญิงแดงได้ร้องไห้บ้างเป็นบางครั้งคราว  ทำให้นายโหดที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆหงุดหงิดรำคาญจึงลุกเดินมาต่อยตานายเอจนปิดและบวมช้ำ  และนายโหดยังได้โยนหม้อสุกี้ที่กำลังเดือดใส่เด็กหญิงแดง  เป็นเหตุให้เด็กหญิงแดงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตลง  ข้อเท็จจริงต่อมา  นายเอได้เสียค่ารักษาพยาบาลดวงตาไป  10,000  บาท ดวงตาจึงหายเป็นปกติ  อีกทั้งนายเอไม่สามารถขับรถแท็กซี่ได้ต้องหยุดพักรักษาดวงตาเป็นเวลา  5  วัน  จงวินิจฉัยพร้อมให้เหตุผลและหลักกฎหมายประกอบโดยชัดเจน

ก)     นายเอมีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพเด็กหญิงแดงและค่าขาดไร้อุปการะจากนายโหดได้หรือไม่

ข)     นายเอมีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลดวงตา  10,000  บาท  และค่าที่ตนต้องขาดรายได้  เนื่องจากไม่สามารถขับรถแท็กซี่เป็นเวลา  5  วัน  จากนายโหดได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  444  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น  ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน  ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายโหดเดินมาต่อยตานายเอจนตาปิดและบวมช้ำ  และนายโหดยังได้โยนหม้อสุกี้ที่กำลังเดือดใส่เด็กหญิงแดงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตลงนั้น  ถือเป็นการกระทำโดยจงใจทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายต่อชีวิตและร่างกาย  และการกระทำสัมพันธ์กับผลของการกระทำ  ดังนั้นการกระทำของนายโหดจึงเป็นละเมิดตามมาตรา  420 

ก)     นายเอจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากนายโหดได้หรือไม่นั้น  เห็นว่า  ตามบทบัญญัติมาตรา  443  วรรคแรก  กำหนดว่า  ผู้มีสิทธิเรียกค่าปลงศพต้องเป็นผู้มีหน้าที่ในการจัดการศพตามกฎหมายมรดกซึ่งก็คือทายาทของผู้ถูกกระทำละเมิดถึงแก่ความตาย  นายเออยู่กินกับนางสาวบีโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  นายเอเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  แม้นายเอได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงแดงพร้อมทั้งให้ใช้นามสกุลของตน  ก็ถือว่าเป็นกรณีที่นายเอบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้การรับรองบุตรนอกกฎหมายโดยพฤติการณ์ตามมาตรา  1627  เท่านั้น  ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้นายเอกลายเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงแดงแต่อย่างใด  ดังนั้นนายเอจึงมิใช่ทายาทของเด็กหญิงแดง นายเอจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพเด็กหญิงแดงจากนายโหดได้  เทียบฎีกาที่  14/2517

สำหรับค่าขาดไร้อุปการะ  นายเอจะมีสิทธิฟ้องเรียกได้หรือไม่นั้น  เห็นว่า  บทบัญญัติมาตรา  443  วรรคท้าย  กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้มีสิทธิในการเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิดจะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว  เมื่อนายเอมิได้เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงแดงผู้เยาว์  เด็กหญิงแดง  (ผู้ตาย)  จึงไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูนายเอที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1563  ดังนั้น  นายเอย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา  443  วรรคท้าย  จากนายโหดผู้กระทำละเมิด  เทียบฎีกาที่  1409/2548  กับฎีกาที่  7458/2543

ข)     เมื่อนายเอเป็นผู้ต้องเสียหายที่ถูกนายโหดกระทำละเมิดจนได้รับบาดเจ็บแก่ดวงตานั้น  นายเอย่อมชอบที่จะเรียกค่ารักษาพยาบาลดวงตา  10,000  บาท  ที่ตนเสียไปตามมาตรา  444  วรรคแรก  เทียบฎีกาที่  1085/2511

อีกทั้งนายเอไม่สามารถขับรถแท็กซี่ได้ต้องหยุดพักรักษาดวงตาเป็นเวลา  5  วัน  ถือได้ว่านายเอได้เสียความสามารถประกอบการงานขับรถแท็กซี่สิ้นเชิงเป็นเวลา  5  วัน  ทำให้ต้องขาดรายได้วันละ  1,000  บาท  นายเอจึงชอบที่จะเรียกค่าขาดรายได้จำนวนทั้งสิ้น  5,000 บาท  ได้  ตามมาตรา  444  วรรคแรกด้วย

สรุป

ก)     นายเอไม่มีสิทธิเรียกทั้งค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจากนายโหด

ข)     นายเอเรียกค่ารักษาพยาบาลและค่าขาดรายได้เสียความสามารถประกอบการงานจากนายโหดได้

Advertisement