การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  เมื่อวันที่  2  มกราคม  2552  นางอุบลมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงระยองบุตรผู้เยาว์ได้ทำหนังสือสัญญาจะขายที่ดินมีโฉนดของเด็กหญิงระยองให้แก่นายตรัง  กำหนดวันจดทะเบียนและชำระราคาที่ดินทั้งหมดในวันที่  2  กรกฎาคม  2552  ถ้านางอุบลไม่ยอมขายยินยอมให้นายตรังปรับเป็นเงิน  200,000  บาท

โดยขณะตกลงซื้อขายกันนายตรังซึ่งมีอาชีพทนายความนั้น  ทราบว่าที่ดินที่ตนจะซื้อเป็นของบุตรผู้เยาว์ของนางอุบล  จึงได้ตกลงกันด้วยวาจาว่าทำสัญญาแล้วจึงให้นางอุบลไปร้องขอต่อศาลเพื่อขออนุญาตขายที่ดินดังกล่าว  ต่อมาวันที่  2  มีนาคม  2552  นางอุบลได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขออนุญาตขายที่ดินดังกล่าวให้นายตรังแทนบุตรผู้เยาว์

ต่อมาศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขาย  คดีถึงที่สุดโดยนางอุบลไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น  และในที่สุดนางอุบลไม่ได้โอนขายที่ดินให้นายตรังตามสัญญา  นายตรังจึงเป็นโจทก์ฟ้องนางอุบลต่อศาลฐานผิดสัญญาจะซื้อขาย  เรียกเบี้ยปรับ  200,000  บาท  ตามสัญญา

ดังนี้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  นางอุบลต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับแก่นายตรังหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  219  วรรคแรก  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์  อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้  และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้  ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายตรังมีอาชีพทนายความ  และรู้อยู่แล้วว่าในขณะทำสัญญาว่า  ที่ดินดังกล่าวเป็นของบุตรผู้เยาว์ของนางอุบล  ซึ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับผู้เยาว์จะต้องมีคำสั่งศาลให้ขายได้เสียก่อนจึงจะสามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้นายตรังได้  ทั้งข้อเท็จจริงตามปัญหาก็ไม่ปรากฏว่าพยานหลักฐานที่นางอุบลนำเข้าไต่สวนในคดีดังกล่าวนั้น  นางอุบลจงใจให้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต  เพื่อหลีกเลี่ยงการโอนขายที่ดินให้แก่นายตรัง  การที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขายที่ดินของบุตรผู้เยาว์  จึงเป็นไปตามดุลพินิจของศาล  ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย  ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้และเป็นพฤติการณ์ที่นางอุบลไม่ต้องรับผิดชอบ  นางอุบลจึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้  ทั้งนี้ตามมาตรา  219  วรรคแรก  นางอุบลจึงไม่ผิดสัญญา  และไม่ต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับให้แก่นายตรังตามสัญญา  (ฎ.89/2536)

สรุป  นางอุบลไม่ผิดสัญญา  ไม่ต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับให้แก่นายตรังตามสัญญา

 

 

ข้อ  2  ในคดีแพ่งเรื่องละเมิดคดีหนึ่ง  ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า  ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่สร้างปิดกั้นทางเข้าออกซึ่งเป็นทางภาระจำยอมของโจทก์ตามฟ้อง  หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย  ถ้าคดีนี้มีการอุทธรณ์ขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์

และนักศึกษาเป็นผู้พิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ที่จะต้องมีคำพิพากษาคดีนี้  นักศึกษาเห็นว่า  ถ้อยคำของศาลชั้นต้นที่พิพากษาไว้ดังกล่าว  ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  213  หรือไม่  ประการใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  213  วรรคสองและวรรคสาม  เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้  ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้  ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้

ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด  เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายและให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นคดีฟ้องเพื่อขอบังคับจำเลยงดเว้นกระทำการ  คือการไม่ปิดกั้นทางภาระจำยอมของโจทก์  ซึ่งลักษณะของการบังคับชำระหนี้ในกรณีนี้  เป็นเรื่องที่ลูกหนี้หรือจำเลยต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่สร้างปิดกั้นทางภาระจำยอมดังกล่าวออกไป  โดยลูกหนี้หรือจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย  ทั้งนี้ตามมาตรา  213  วรรคสาม

ส่วนการที่ศาลจะมีคำพิพากษาโดยใช้ถ้อยคำว่า  หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้น  จะต้องปรากฏว่ามูลหนี้ตามคำพิพากษามีวัตถุแห่งหนี้เป็นการให้ทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง  ศาลจึงจะมีคำพิพากษาด้วยถ้อยคำเช่นนั้นได้  ทั้งนี้ตามมาตรา  213  วรรคสอง

ดังนั้น  คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่า  หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้น  จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา  213  วรรคสองและวรรคสาม  (ฎ.7091/2542)

สรุป  ถ้อยคำของศาลชั้นต้นที่พิพากษาไว้ดังกล่าวไม่ชอบด้วยมาตรา  213

 

 

ข้อ  3  เอกเป็นหนี้โทอยู่สองแสนบาท  ต่อมาเอกได้เป็นเจ้าหนี้ตรีเป็นจำนวนเงินสองแสนบาท  นอกจากความเป็นเจ้าหนี้ตรีแล้ว  เอกไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก  ปรากฏว่าเอกได้ทำหนังสือปลดหนี้สองแสนบาทให้แก่ตรี

ดังนี้  โทควรจะใช้มาตรการใดทางกฎหมายเพื่อเป็นมาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของเอกได้บ้างหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ที่เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลตามมาตรา  237    ประกอบด้วย

1       ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล  หมายถึง  นิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  ซึ่งก็คือ  นิติกรรมนั้นพอทำแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง

2       ลูกหนี้จะต้องรู้ว่าเมื่อทำนิติกรรมแล้วเจ้าหนี้จะเสียเปรียบ

3       นิติกรรมที่จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกหนี้  ถ้ามิใช่เป็นการทำให้โดยเสน่หาแล้ว  เจ้าหนี้จะขอให้ศาลเพิกถอนได้ต่อเมื่อ  ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น (หมายถึงผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้)  ได้รู้ถึงความเสียเปรียบของเจ้าหนี้  (คือต้องรู้ในขณะที่ทำนิติกรรม  ถ้ามารู้ภายหลังก็ย่อมเพิกถอนไม่ได้)

4       หากลูกหนี้ทำนิติกรรมให้โดยเสน่หา  เพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็พอแล้วที่จะขอให้เพิกถอนได้  (ดังนั้นผู้ได้ลาภงอกจะอ้างว่าตนสุจริตก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ)

5       การเพิกถอนการฉ้อฉลใช้ได้กับนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เอกทำหนังสือปลดหนี้ให้แก่ตรีโดยรู้ดีว่าเมื่อทำนิติกรรมแล้วจะเป็นทางให้โทเจ้าหนี้เสียเปรียบ  ทั้งเมื่อทำนิติกรรมแล้วเอกก็ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีก  การกระทำดังกล่าวของเอกจึงเป็นการฉ้อฉลโทผู้เป็นเจ้าหนี้ตามมาตรา  237  วรรคแรก  ทั้งนี้ นิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลไม่ได้หมายความเฉพาะนิติกรรมอันเป็นการโอนทรัพย์สินเท่านั้น  นิติกรรมที่เป็นการสละสิทธิหรือประโยชน์  หรือทรัพย์สินสิ่งใดที่ลูกหนี้ได้ไว้แล้ว  ก็เป็นการฉ้อฉลตามความในมาตรา  237  ได้

ดังนั้น  โทเจ้าหนี้จึงควรใช้มาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของเอก  (ลูกหนี้)  โดยการร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการปลดหนี้  อันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ตามมาตรา  237  วรรคแรก

สรุป  โทเจ้าหนี้จึงควรใช้มาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของเอก  (ลูกหนี้)  โดยการร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการปลดหนี้  อันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้

 

 

ข้อ  4  จันทร์และอังคารทำสัญญาขายม้าตัวหนึ่งให้พุธ  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระจันทร์จูงม้าไปส่งมอบให้แก่พุธตามสัญญาซื้อขาย  ตามวันเวลาที่กำหนดกันไว้โดยแน่นอน  แต่พุธปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้  โดยไม่มีเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  การปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ของพุธมีผลถึงอังคารด้วยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  294  การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย

มาตรา  301  ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน

วินิจฉัย

การที่เจ้าหนี้จะตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา  207 นี้  ต้องครบองค์ประกอบ  2  ประการ  คือ

1       ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว

2       เจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างโดยกฎหมาย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จันทร์และอังคารขายม้าตัวหนึ่งให้พุธ  ถือเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งชำระกันมิได้  ทั้งจันทร์และอังคารต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  ทั้งนี้ตามมาตรา  301

เมื่อได้ความว่า  ถึงกำหนดชำระหนี้จันทร์จูงม้าไปส่งมอบให้พุธเจ้าหนี้ตามสัญญาซื้อขาย  ตามวันเวลาที่กำหนดไว้โดยแน่นอน  กรณีจึงถือว่าจันทร์ลูกหนี้ได้ปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว  เมื่อพุธเจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้โดยไม่มีเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  จึงถือว่าพุธเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา  207

ดังนั้น  การที่พุธเจ้าหนี้ผิดนัดต่อจันทร์ลูกหนี้คนหนึ่ง  กรณีย่อมถือว่าพุธเจ้าหนี้ผิดนัดต่ออังคารลูกหนี้อีกคนหนึ่งด้วยตามมาตรา  294  ที่ว่า  การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย

สรุป  การปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ของพุธมีผลถึงอังคารลูกหนี้อีกคนหนึ่งด้วย

Advertisement