การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นายดำขอซื้อไม้แปรรูปจากนายแดงเป็นเงิน  100,000  บาท  มาใช้ทำตู้เสื้อผ้าจำหน่าย  แต่นายดำไม่มีเงิน  จึงของผัดผ่อนยังไม่ชำระค่าไม้แปรรูป  และขอยืมเงินจากนายแดงอีก  10,000  บาท  มาซื้ออุปกรณ์  นายแดงตกลงขายไม้แปรรูปและให้นายดำกู้ยืมเงินตามขอ

โดยกำหนดเวลาชำระเงินยืมคืนภายในวันที่  1  มีนาคม  2550  ส่วนค่าไม้แปรรูปให้ชำระเมื่อขายตู้เสื้อผ้าได้แล้ว  ครั้นเมื่อถึงวันที่  1 มีนาคม  2550  นายดำยังขายตู้เสื้อผ้าไม่ได้  จึงไม่ชำระหนี้แก่นายแดง  วันที่  10  มีนาคม  2550  นายแดงมีหนังสือทวงถามถึงนายดำให้ชำระหนี้ทั้งสองรายการภายในวันที่  20  มีนคม  2550  ปรากฏว่าในวันที่  15  มีนาคม  2550  นายดำขายตู้เสื้อผ้าได้เงินมา  200,000  บาท  แต่ก็ไม่นำมาชำระหนี้ให้แก่นายแดงจนพ้นกำหนดดังกล่าว

ให้วินิจฉัยว่า  ถ้านายแดงจะฟ้องให้นายดำชำระหนี้ดังกล่าวทั้งสองรายการแก่นายแดง  นายแดงจะเรียกให้นายดำชำระดอกเบี้ยให้แก่นายแดงได้หรือไม่  ในอัตราเท่าไร  และตั้งแต่วันใด

ธงคำตอบ

มาตรา  204  ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  และภายหลังแต่นั้น  เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว  ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้  ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน  และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้  ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

วินิจฉัย

สำหรับหนี้ค่าไม้แปรรูปเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระตามวันปฏิทิน  นายดำจะตกเป็นผู้ผิดนัดก็ต่อเมื่อนายแดงได้เตือนแล้วนายดำไม่ชำระหนี้  เมื่อนายแดงมีหนังสือทวงถามให้นายดำชำระหนี้ค่าไม้แปรรูปภายในวันที่  20  มีนาคม  2550  นายดำไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด  จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่  20  มีนคม  2550  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  204  วรรคแรก  นายแดงมีสิทธิเรียกให้นายดำชำระดอกได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน  100,000  บาท  นับแต่วันที่  20  มีนาคม  2550  จนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายแดงตามมาตรา  224  วรรคแรก

ส่วนหนี้เงินกู้ตกลงกันไว้ว่าจะชำระคืนภายในวันที่  1  มีนาคม  2550  จึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดชำระตามวันปฏิทิน  นายดำย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่  1  มีนาคม  2550  โดยไม่ต้องมีการเตือนก่อนตามมาตรา  204  วรรคสอง  เมื่อนายดำไม่ชำระหนี้  นายแดงจึงมีสิทธิเรียกให้นายดำชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน  10,000  บาท  นับตั้งแต่วันที่  1  มีนาคม  2550  จนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายแดงตามมาตรา  224  วรรคแรก

สรุป  นายแดงสามารถเรียกให้นายดำชำระดอกเบี้ยได้ทั้งสองกรณีในอัตราร้อยละ  7  ครึ่งต่อปีโดยหนี้ค่าไม้แปรรูป  เรียกได้ตั้งแต่วันที่  20  มีนาคม  2550  ส่วนหนี้เงินกู้  เรียกได้ตั้งแต่วันที่  1  มีนาคม  2550  จนกว่าจะชำระเสร็จ  ตามมาตรา  224  วรรคแรก

 

 

ข้อ  2  นายกรได้เอาเงินของตนให้บริษัท  เค  จำกัด   กู้จำนวนหนึ่งล้านบาท  เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ  บริษัท  เค  จำกัด  ได้รับเงินกู้ไปจากนายกรครบแล้ว  และนายกรได้ตกลงกับนายเอก  กรรมการของบริษัท  เค  จำกัด  ให้นายเอกสั่งจ่ายเช็คส่วนตัวของนายเอกเองมอบให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด

เซีย  ซึ่งเป็นห้างที่นายกรเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอยู่  เป็นผู้รับเงินตามเช็ค  เพื่อรับชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว  แล้วนายกรจึงจะเบิกเงินจากบัญชีของห้างกลับคืนมาในภายหลง  ต่อมาเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด  เซีย  นำเช็คฉบับดังกล่าวเข้าบัญชีของห้างเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค

แต่ถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน  นายกรจึงฟ้องบริษัท  เค  จำกัด  เรียกเงินกู้ตามสัญญากู้ที่ทำกันไว้  บริษัท  เค  จำกัด  ให้การต่อสู้ว่าการชำระหนี้ด้วยเช็คของนายเอก  ทำให้หนี้เงินกู้ระงับไปแล้ว  และนายกรจะเป็นโจทก์ฟ้องบริษัท  เค  จำกัดไม่ได้  เพราะเมื่อหนี้ระงับ  

โดยการชำระหนี้ด้วยเช็คของนายเอกแล้ว  ห้างหุ้นส่วนจำกัด  เซีย  ซึ่งเป็นผู้รับชำระหนี้และถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน  จึงเป็นเจ้าหนี้ตามเช็คเป็นผู้มีอำนาจที่ต้องฟ้องนายเอกเองไม่ใช่นายกร

ดังนี้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของบริษัท  เค  จำกัด  ทั้งหมดรับฟังได้หรือไม่  อย่างไร  โดยใครจะต้องเป็นผู้ฟ้องร้องเรียกเงินกู้หนึ่งล้านบาทและฟ้องใครเป็นจำเลย

ธงคำตอบ 

มาตรา  194  ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้  เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้  อนึ่งการชำระหนี้ด้วยงดเว้นการอันใดอันหนึ่งก็ย่อมมีได้

มาตรา  314  อันการชำระหนี้นั้น  ท่านว่า  บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ชำระก็ได้  เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้บุคคลภายนอกชำระ  หรือจะขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้

บุคคลผู้ไม่มีส่วนได้เสียด้วยในการชำระหนี้นั้น  จะเข้าชำระหนี้โดยขืนใจลูกหนี้หาได้ไม่

มาตรา  315  อันการชำระหนี้นั้น  ต้องทำให้แก่ตัวเจ้าหนี้หรือแก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้  การชำระหนี้ทำให้แก่บุคคลผู้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้นั้น  ถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็นับว่าสมบูรณ์

มาตรา  321  ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้  ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

ถ้าเพื่อที่จะทำให้พอใจแก่เจ้าหนี้นั้น  ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อเจ้าหนี้ไซร้  เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย  ท่านมิให้สันนิษฐานว่าลูกหนี้ได้ก่อหนี้นั้นขึ้นแทนการชำระหนี้

ถ้าชำระหนี้ด้วยออก ด้วยโอน หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า  ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว

วินิจฉัย

การที่บริษัท  เค  จำกัด  ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายกรตามมาตรา  194  และตามปกติ  บริษัทฯ  ย่อมเป็นผู้ต้องชำระหนี้ตามสัญญาเอง อย่างไรก็ตาม  จากข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่านายกรเจ้าหนี้ตกลงให้นายเอกบุคคลภายนอกเป็นผู้ชำระหนี้แทนบริษัท  เค  จำกัด  ลูกหนี้ซึ่งสามารถทำได้ตามมาตรา  314  วรรคแรก  ส่วนการชำระหนี้ด้วยเช็คของนายเอกนั้น  ถือว่านายกรเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงินสด  ตามมาตรา  321  วรรคแรก  ข้อเท็จจริงปรากฏต่อไปว่าการชำระหนี้ด้วยเช็คฉบับนี้เป็นการสั่งจ่ายชำระแก่บุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหนี้  คือ  ห้างหุ้นส่วนจำกัด  เซีย  แต่ก็ปรากฏว่า  นายกรเจ้าหนี้เป็นผู้มอบหมายให้ห้างนี้เป็นผู้ชำระหนี้แทนตน  ดังนั้น  การชำระหนี้ในกรณีตามปัญหานี้จึงเป็นการชำระหนี้แก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระแทนนายกรเจ้าหนี้ตามมาตรา  315  ผลของการชำระหนี้ด้วยการออกเช็ค (ตั๋วเงิน)  จึงเป็นว่าหนี้เงินกู้จะระงับไปต่อเมื่อมีการใช้เงินตามเช็คนั้นแล้ว  ทั้งนี้ตามมาตรา  321  วรรคท้าย  เมื่อเช็คถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน  เท่ากับยังไม่มีการชำระหนี้  หนี้เงินกู้ยังไม่ระงับ  นายกรเจ้าหนี้จึงเป็นโจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ดังกล่าวได้ส่วนผู้ที่จะต้องถูกฟ้องตามสัญญาเงินกู้  คือ  บริษัท  เค  จำกัด 

สรุป  ข้อต่อสู้ของบริษัท  เค  จำกัด  รับฟังไม่ได้ทั้งหมด  และนายกรเป็นโจทก์ฟ้องบริษัท  เค  จำกัด  เป็นจำเลยได้

 

 

ข้อ  3  จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคารอยู่ห้าแสนบาท  แต่อังคารไม่มีทรัพย์สินใดๆเลย  อังคารมีอาชีพรับจ้างมีรายได้เพียงเดือนละสามพันบาท  ต่อมาปรากฏว่าอังคารได้จดทะเบียนรับรองว่าพุธเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของตน  ซึ่งเป็นผลทำให้อังคารจะมีภาระจำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าใช้จ่ายในการให้การศึกษาแก่พุธผู้เป็นบุตร

ทำให้ทรัพย์สินของอังคารต้องหมดเปลืองและลดน้อยลงยิ่งขึ้นอีก  ดังนี้  จันทร์จะใช้สิทธิเพิกถอนการรับรองบุตรดังกล่าวนั้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

วินิจฉัย

ตามมาตรา  237  การเพิกถอนการฉ้อฉลนี้  กฎหมายบัญญัติขึ้นมาเพื่อจะแก้ปัญหาในกรณีที่เจ้าหนี้กำลังจะบังคับชำระหนี้เอาแก่ลูกหนี้  แต่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่มีเหลืออยู่  หรือมีเหลือแต่ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้  เนื่องจากลูกหนี้ได้โอนไปให้ผู้อื่นเสียแล้ว  กฎหมายจึงให้อำนาจเจ้าหนี้ที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใดๆ  ที่ลูกหนี้ได้ทำไปโดยฉ้อฉล  และเมื่อศาลเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวแล้ว  ก็มีผลเท่ากับว่าลูกหนี้ไม่เคยทำนิติกรรมฉ้อฉลนั้นเลย  ทรัพย์สินดังกล่าวก็คงกลับเข้ามาอยู่ที่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ดังเดิม

หลักเกณฑ์การเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา  237  ประกอบด้วย

1       ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล  หมายถึง  นิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  ซึ่งก็คือ  นิติกรรมนั้นพอทำแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง  แต่ถ้าลูกหนี้ทำนิติกรรมไปแล้วแต่ยังมีทรัพย์สินอีกมากมายที่จะชำระหนี้ได้  ดังนี้ย่อมไม่ถือว่าเจ้าหนี้เสียเปรียบ

2       การทำนิติกรรมของลูกหนี้นั้น  ลูกหนี้จะต้องรู้ว่าเมื่อทำนิติกรรมแล้วเจ้าหนี้จะเสียเปรียบถ้าไม่รู้ก็ย่อมไม่ถือเป็นการฉ้อฉล

3       นิติกรรมที่จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกหนี้  ถ้าทำโดยมิใช่เป็นการทำให้โดยเสน่หาแล้ว  เจ้าหนี้จะขอให้ศาลเพิกถอนได้ต่อเมื่อ  ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น  (หมายถึงผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้)  ได้รู้ถึงความเสียเปรียบของเจ้าหนี้  (คือต้องรู้ในขณะที่ทำนิติกรรม  ถ้ามารู้ภายหลังก็ย่อมเพิกถอนไม่ได้)

4       หากลูกหนี้ทำนิติกรรมให้โดยเสน่หา  เพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็พอแล้วที่จะขอให้เพิกถอนได้  (ดังนั้นผู้ได้ลาภงอกจะอ้างว่าตนสุจริตก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ)

5       การเพิกถอนการฉ้อฉลใช้ได้กับนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้น  จะไม่นำมาใช้กับนิติกรรมใดๆ  อันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

ตามปัญหา  การรับรองบุตรเป็นนิติกรรมที่ไม่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน  (มิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน)  จันทร์จึงขอให้เพิกถอนการรับรองบุตรดังกล่าวนั้นไม่ได้  ตามมาตรา  237  วรรคสอง

สรุป  จันทร์จะใช้สิทธิเพิกถอนการรับรองบุตรดังกล่าวไม่ได้

 

 

ข้อ  4  หนึ่งเป็นเจ้าหนี้และสองเป็นลูกหนี้  ในหนี้เงิน  100,000  บาท  โดยมีสามและสี่เป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายดังกล่าวนี้  ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  สอง  (ลูกหนี้)  ผิดนัด  แต่ต่อมาปรากฏว่า  หนึ่งปลดหนี้ให้สามเพียงคนเดียว  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  สี่ยังคงต้องรับผิดต่อหนึ่ง  หรือไม่  เพียงใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  293  การปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆ  เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ได้ปลดไว้  เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น

มาตรา  296  ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น  ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกันเว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น  เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้  ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไร  ลูกหนี้คนอื่นๆซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้  แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใด  เจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว  ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป

มาตรา  682  วรรคสอง  ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน

วินิจฉัย

สามและสี่ต้องมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา  682  วรรคสอง  ดังนั้น  เมื่อหนึ่งปลดหนี้ให้แก่สามเพียงคนเดียว  สามย่อมหลุดพ้นจากหนี้ไป  และการปลดหนี้นั้นเป็นประโยชน์แก่สี่ด้วยเพียงเท่าส่วนของสามที่ได้รับการปลดหนี้ให้คือห้าหมื่นบาท  สี่จึงยังคงต้องรับผิดต่อหนึ่งเพียงห้าหมื่นบาทเท่านั้นตามมาตรา  293  ประกอบมาตรา  296

สรุป  สี่ยังคงต้องรับผิดต่อหนึ่ง  ในหนี้เงินอีกห้าหมื่น

Advertisement