การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553

ข้อสอบกระบวนการวิชา LAW1003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ   ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนนข้อ 1. 

ก. พงศ์ซื้อสลากกาชาดของมหาวิทยาลัยรามคำแหงมา จำนวน 10 ใบ กำหนดออกรางวัลในวันที่ 31  ธันวาคม 2553 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2553 พรและพุฒเป็นน้องของพงศ์ได้อ้อนวอนขอสลากกาชาดจากพงศ์ พงศ์จึงจำใจให้สลากดังกล่าวแก่พรและพุฒไปคนละ 1 ใบ

เมื่อถึงกำหนดออกรางวัลในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ปรากฏว่าสลากใบที่พงศ์ให้พุฒไปนั้นถูกรางวัลที่ 1 พงศ์เสียดายจึงไปทวงสลากคืนจากพุฒโดยอ้างว่าตนมิได้มีเจตนาจะให้สลากกาชาดนั้นแก่พุฒจริงๆ พุฒไม่ยอมคืน พงศ์จึงฟ้องคดีเรียกสลากกาชาดใบที่ถูกรางวัลดังกล่าวคืนจากพุฒ

ให้ท่านวินิจฉัยว่า พงศ์มีสิทธิเรียกสลากกาชาดคืนจากพุฒหรือไม่ เพราะเหตุใด

ข.ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่พุฒรับสลากกาชาดจากพงศ์นั้น พุฒรู้ว่าพงศ์ไม่มีเจตนาให้สลากกาชาดนั้นแก่ตนจริง คำวินิจฉัยของท่านจะเป็นประการใด เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 154 “การแสดงเจตนาใดแม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 154 เป็นเรื่องการแสดงเจตนาซ่อนเร้น ซึ่งมีหลักคือ การแสดงเจตนาไม่เป็นโมฆะ แม้ในใจจริงของผู้แสดงเจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม

แต่มีข้อยกเว้นคือ การแสดงเจตนานั้นจะตกเป็นโมฆะ ถ้าเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง (ฝ่ายผู้รับการแสดงเจตนา) ได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงเจตนา ในขณะที่แสดงเจตนานั้น

ดัง นั้น นิติกรรมอันเกิดจากการแสดงเจตนาซ่อนเร้นอยู่นั้นจะตกเป็นโมฆะหรือไม่ขึ้น อยู่กับว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดง เจตนาในขณะที่แสดงเจตนานั้นหรือไม่ ถ้ารู้นิติกรรมนั้นก็ต้องตกเป็นโมฆะ แต่ถ้าไม่รู้นิติกรรมนั้นก็ไม่ตกเป็นโมฆะ

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้

ก.  การกระทำของพงศ์เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมในรูปสัญญาให้สลากกาชาดแก่พุฒ  ถึงแม้ว่าพงศ์จะอ้างว่ามิได้มีเจตนาจะให้สลากกาชาดแก่พุฒจริงๆก็ตาม การแสดงเจตนาของพงศ์ก็ไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 154 ดังนั้น สัญญาการให้สลากกาชาดแก่พุฒจึงมีผลสมบูรณ์ พงศ์จึงไม่มีสิทธิเรียกสลากกาชาดคืนจากพุฒ

ข.  ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่พุฒรับสลากกาชาดจากพงศ์นั้น พุฒรู้ว่าพงศ์ไม่มีเจตนาให้สลากแก่พุฒจริงๆ การแสดงเจตนาของพงศ์ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 154 ตอนท้าย ถือเป็นกรณีที่คู่กรณีอีกฝ่ายได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงเจตนาแล้ว ดังนั้น กรณีตามข้อ  ข  พงศ์ย่อมมีสิทธิเรียกสลากกาชาดคืนจากพุฒได้

สรุป  

ก. พงศ์ไม่มีสิทธิเรียกสลากกาชาดคืนจากพุฒ

ข. พงศ์มีสิทธิเรียกสลากกาชาดคืนจากพุฒ

 


ข้อ 
2. การแสดงเจตนาเนื่องจากถูกข่มขู่ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้นิติกรรมไม่สมบูรณ์ ให้นักศึกษาอธิบายเรื่อง ข่มขู่” มาโดยละเอียด

ธงคำตอบ

การแสดงเจตนาเนื่องจากถูกข่มขู่นั้น มีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 164 และมาตรา 166

มาตรา 164 บัญญัติว่า การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

จากบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า ข่มขู่” หมายถึง การใช้อำนาจบังคับแก่กายหรือจิตใจของบุคคล เพื่อให้เขาเกิดความกลัวแล้วแสดงเจตนาทำนิติกรรมออมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ

การข่มขู่อันเป็นเหตุให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะนั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1.     เป็นการข่มขู่ว่าจะทำให้เกิดภัย ซึ่งการข่มขู่ว่าจะให้เกิดภัยนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นภัยที่เกิดแก่เนื้อตัวหรือร่างกายของผู้ที่ถูกข่มขู่เท่านั้น อาจจะเป็นภัยที่จะเกิดแก่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขู่ก็ได้

2.     ภัยที่ข่มขู่ว่าจะก่อขึ้นนั้นต้องเป็นภัยอันใกล้จะถึง กล่าวคือ ภัยนั้นกำลังจะเกิดขึ้นและผู้ถูกข่มขู่ไม่อาจจะหาทางหลีกเลี่ยง ขัดขืน หรือป้องกันได้

3.     ภัยที่ถูกข่มขู่นั้นต้องร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว กล่าวคือ ภัยนั้นต้องมีลักษณะที่ร้ายแรงจนผู้ถูกข่มขู่กลัวว่าจะเกิดภัยนั้นขึ้น

ผลของการข่มขู่ นอกจากนิติกรรมจะเป็นโมฆียะตามมาตรา 164 วรรคแรก ดังกล่าวแล้ว มาตรา 166 ยังได้บัญญัติไว้อีกว่า การข่มขู่ย่อมทำให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะ แม้บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ข่มขู่

หมายความว่า การแสดงเจตนาเนื่องจากถูกข่มขู่ ไม่ว่าการข่มขู่จะมาจากกรณีฝ่ายหนึ่งหรือมาจากบุคคลภายนอกย่อมทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น

ข้อยกเว้น กรณีที่กฎหมายไม่ให้ถือว่าเป็นการข่มขู่อันเป็นเหตุให้การแสดงเจตนาทำนิติกรรมตกเป็นโมฆียะ มีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 165 ซึ่งบัญญัติว่า การขู่ว่าจะใช่สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าการข่มขู่

การใดที่กระทำไปเพราะนับถือยำเกรง ไม่ถือว่าการนั้นได้กระทำเพราะถูกข่มขู่

จากบทบัญญัติดังกล่าว กรณีที่กฎหมายไม่ให้ถือว่าเป็นการข่มขู่อันเป็นจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะนั้น แยกเป็น 2 กรณีดังนี้คือ

1.     การ ขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม หมายถึง การใช้สิทธิซึ่งตนมีอยู่อย่างที่ปกติคนทั่วไปเขาใช้กัน เช่น การใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ใช้หนี้ตนโดยขู่ว่าจะฟ้องศาลถ้าไม่ยอมใช้ หนี้ เป็นต้น

2.     การกระทำที่ทำไปเพราะนับถือยำเกรง หมายถึง การกระทำการใดที่ได้กระทำไปเพราะความเคารพระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่ เช่น บุตรกับบิดามารดา ศิษย์กับอาจารย์ ผู้ใต้บังคับบัญชากับผู้บังคับบัญชา เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้ถือว่าผู้กระทำมิได้ทำไปเพราะความกลัวว่าจะเกิดภัยขึ้นแต่อย่างใด

ข้อ 3.   วันที่ 1 มกราคม 2547 นายจนได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายรวยจำนวน 100,000 บาท โดยมี ข้อตกลงกันว่าให้นายจนคืนเงินทั้งหมดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 เมื่อถึงกำหนดวันชำระ นายจนไม่นำเงินมาชำระกับนายรวย นายรวยจึงได้ทวงถามหลายครั้ง แต่นายจนปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554

นายจนได้โทรศัพท์ไปหานายรวยและยอมรับว่าตนเป็นหนี้ดังกล่าวจริงโดยจะชำระหนี้ให้ในภายหลัง แต่นายจนไม่นำเงินมาชำระ นายรวยจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 นายจนต่อสู้ว่าหนี้นั้นขาดอายุความแล้ว ตนขอปฏิเสธการชำระหนี้ จงวินิจฉัยว่าข้ออ้างของนายจนฟังขึ้นหรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/1 “การนับระยะเวลาทั้งปวง ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมาย คำสั่งศาล ระเบียบ ข้อบังคับ หรือนิติกรรมกำหนดเป็นอย่างอื่น

มาตรา 193/3 วรรคสอง ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำ การงานกันตามประเพณี

มาตรา 193/5 วรรคสอง ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือนหรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือน หรือปีสุดท้าย อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา

มาตรา 193/ 9  “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้

มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1)  ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อจากเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัย  แสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การกู้ยืมระหว่างนายจนกับนายรวยนั้นกฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 โดยอายุความเริ่มนับตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องกันได้เป็นต้นไป ซึ่งก็คือวันที่หนี้นั้นถึงกำหนดชำระคือวันที่ 1 กุมพาพันธ์ 2547 ตามมาตรา 193/12 ดังนั้นอายุความจึงครบกำหนดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 ตามมาตรา 193/1, 193/3 วรรคสอง และ 193/5 วรรคสอง

และตามมาตรา 193/14(1) ได้กำหนดไว้ว่าอายุความจะสะดุดหยุดลง หากลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้เจ้าหนี้ ดังนั้น การรับสภาพหนี้ด้วยวาจาจึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 นายจนได้โทรศัพท์ไปหานายรวยและยอมรับว่าตนเป็นหนี้ดังกล่าวว่าจริง  โดยจะชำระหนี้ให้ในภายหลัง ซึ่งถือเป็นเพียงการรับสภาพหนี้ด้วยวาจาเท่านั้นมิได้มีการทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่กัน จึงไม่เป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) ดังนั้น การที่นายรวยนำคดีมาฟ้องต่อศาลวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 หนี้ดังกล่าวจึงขาดอายุความแล้ว  ตามมาตรา  193/30  ดังนั้น เมื่อนายรวยเจ้าหนี้ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดจนสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว   นายจนลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ได้ตามมาตรา 193/9 และมาตรา 193/10 ข้ออ้างของนายจนจึงฟังขึ้น

สรุป  ข้ออ้างของนายจนฟังขึ้น


ข้อ 4.  ระหว่างที่นายผอมกำลังออกกำลังกายอยู่นั้น นายอ้วนเพื่อนเก่าได้เดินสวนมาเจอกับนายผอม นายอ้วนได้เสนอขายนาฬิกาข้อมือของตน ซึ่งเป็นนาฬิการุ่นพิเศษ สามารถวัดการเผาผลาญพลังงานจากการออกกำลังกายได้  ปกติราคา 50, 000 บาท หากนายผอมสนใจจะให้ราคาพิเศษ 40,000 บาทโดยนายอ้วนเสนอว่าให้รีบตอบรับภายใน 2 วัน แต่นายผอมบอกกับนายอ้วนว่าไม่ต้องการซื้อ แล้วนายผอมก็เดินแยกออกมา ผ่านไป 1 วัน นายผอมเปลี่ยนใจจึงโทรไปบอกกับนายอ้วนว่าต้องการซื้อนาฬิกาดังกล่าว นายอ้วนบอกว่าต้องซื้อในราคา 50,000 บาท นายผอมจึงงบอกนายอ้วนว่า นายอ้วนบอกให้ตอบรับได้ภายใน 2 วัน ขณะที่ผ่านมาเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น ดังนั้น นายอ้วนจึงต้องขายนาฬิกาให้ตนในราคา 40,000 บาท ข้ออ้างของนายผอมฟังขึ้นหรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลผลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 354 “คำเสนอจะทำสัญญาอันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น ท่านว่าไม่อาจจะถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้

มาตรา 357 “คำเสนอใดเขาบอกปัดไปยังผู้เสนอแล้วก็ดี หรือมิได้สนองรับภายในเวลากำหนดดังกล่าวมาในมาตราทั้งสามก่อนนี้ก็ดี คำเสนอนั้นท่านว่าเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป

วินิจฉัย

ในการทำคำเสนอนั้นตามมาตรา 354 ได้กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้ทำคำเสนอได้มุ่งระยะเวลาไว้ให้อีกฝ่ายหนึ่งทำคำสนอง ผู้เสนอไม่อาจจะถอนคำเสนอก่อนสิ้นระยะเวลาที่บ่งไว้นั้นได้ แต่อย่างไรก็ตามหากอีกฝ่ายหนึ่งบอกปัดคำเสนอนั้นไปยังผู้เสนอแล้ว หรือมิได้สนองรับภายในเวลาที่กำหนด ย่อมมีผลทำให้คำเสนอนั้นสิ้นความผูกพันตามมาตรา 357

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอ้วนเสนอขายนาฬิกาข้อมือของตนให้กับนายผอม โดยนายอ้วนเสนอว่าให้รีบตอบรับภายใน  2 วันนั้น  คำเสนอขายของนายอ้วนย่อมถือเป็นคำเสนอที่บ่งระยะเวลาที่ให้ทำ คำสนอง ดังนั้น นายอ้วนจึงไม่อาจถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้ตามมาตรา 354

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายผอมบอกกับนายอ้วนว่าไม่ต้องการซื้อ และเดินแยกออกมานั้นถือเป็นการปัดคำเสนอไปยังนายอ้วนผู้เสนอแล้ว จึงมีผลทำให้การเสนอขายของนายอ้วนสิ้นความผูกพันตามมาตรา 357 ข้ออ้างของนายผอมที่ว่า นายอ้วนบอกให้ตอบรับได้ภายใน 2 วัน ขณะนี้ผ่านมาได้เพียงแค่ 1 วันเท่านั้น นายอ้วนจึงต้องขายนาฬิกาให้ตนในราคา 40, 000 บาทนั้นจึงฟังไม่ข้น เพราะคำเสนอดังกล่าวสิ้นความผูกพันไปแล้ว

สรุป  ข้ออ้างของนายผอมฟังไม่ขึ้น

Advertisement