การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2545

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1001 (LA 101),(LW 101) หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

ข้อ 1 การบริหารราชการแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2545 มีความสัมพันธ์อย่างไรกับ
กฎหมายมหาชน
และศาลปกครอง
ธงคำตอบกฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐแก่หน่วยงานของรัฐ และแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ในทางปกครองและการบริการสาธารณะซึ่งการดำเนินการปกครองและการบริการสาธารณะสุขไม่อาจทำให้ประสบผลสำเร็จได้ หากปราศจากกฎหมายมหาชน ทั้งนี้ เพราะการดำเนินการปกครองหรือการบริการสาธารณะ จะต้องใช้อำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หากไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจในทางปกครองหรือให้อำนาจในการบริการสาธารณะไว้ รัฐ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
จะไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ เช่น การออกบัตรประจำตัวประชาชน ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจหน่วยงานใด หรือเจ้าหน้าที่ผู้ใดไว้ก็จะไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะผู้ทำหน้าที่ออกบัตรประจำตัวประชาชนจะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ รวมทั้งการอนุมัติ อนุญาตในเรื่องต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้อนุมัติ อนุญาตในเรื่องต่าง ๆ นั้นจะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ด้วย

กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครอง เช่น พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ร.บ.เทศบาล เป็นต้น

พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 เป็นกฎหมายมหาชน เพราะเป็นกฎหมายที่บัญญัติให้
อำนาจและหน้าที่แก่หน่วยงานของรัฐ ได้แก่กระทรวง ทบวง กรม ฯลฯ และให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาจนถึงลูกจ้างคนสุดท้ายของทางราชการทุกคนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องมีกฏหมายให้อำนาจและหน้าที่ไว้จึงจะปฏิบัติหน้าที่ได้ บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 เป็นการให้อำนาจหน้าที่ทางปกครองแก่หน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นหลักสำคัญของกฎหมายมหาชน

การใช้อำนาจตามกฎหมายมหาชนในทางปกครองของรัฐ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจจะใช้
อำนาจตามกฎหมายนั้นหรืองดเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ทำให้เกิดความเสียหายหรือรบกวนสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนได้ เมื่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน ซึ่งเรียกกรณีพิพาทนั้นว่า กรณีพิพาททางปกครอง ก็ต้องนำกรณีพิพาทนั้นขึ้นสู่ศาลปกครองในการพิจารณาคดี

ศาลปกครอง เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อความพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงาน
ของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
 
พ.รบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจและหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานของรัฐ หรือแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเมื่อเกิดกรณีพิพาทตามกฎหมายมหาชนแล้วจะต้องขึ้นศาลปกครอง

ข้อ 2 กฎหมายมหาชนได้แก่ กฎหมายที่กล่าวกำหนดถึงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับสถานะและอำนาจ ของรัฐและผู้ปกครอง รวมทั้งเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและผู้ปกครองกับพลเมืองผู้อยู่ใต้ปกครอง ในฐานะที่รัฐและผู้ปกครองมีเอกสิทธิ์ทางปกครองเหนือพลเมืองซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเอกชน  ส่วนกฎหมายเอกชน คือ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันและในฐานะที่เท่าเทียมกัน

กฏหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชนจึงแตกต่างกันในข้อสำคัญคือกฎหมายมหาชนนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ
ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ปกครองกับพลเมือง ส่วนกฎหมายเอกชนนั้น จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันและบนพื้นฐานของ หลักความศักดิ์สิทธิ์แห่งเจตนา หรืออยู่บนพื้นฐานของความเป็นอิสระของการแสดงเจตนาจงอธิบาย ความแตกต่างระหว่างกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชนมา โดย ละเอียด
ธงคำตอบ
1 ความแตกต่างขององค์กรหรือตัวบุคคลที่เข้าไปมีนิติสัมพันธ์ ในกฎหมายมหาชนองค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปมีนิติสัมพันธ์ คือ รัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายหนึ่ง กับเอกชนอีกฝ่ายหนึ่ง แต่กรณีของกฎหมายเอกชนตัวบุคคลที่เข้าไปมีนิติสัมพันธ์ คือ เอกชน กับเอกชน
2 ความแตกต่างทางด้านเนื้อหาและความมุ่งหมาย กฎหมายมหาชนมีจุดมุ่งหมายเพื่อสาธารณะประโยชน์
และการให้บริการสาธารณะ โดยมิได้มุ่งหวังในเรื่องกำไร ส่วนกฎหมายเอกชนนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของเอกชนแต่ละคนหรือเฉพาะบุคคล แต่มีบางกรณีที่เอกชนอาจทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมก็ได้ เช่น การตั้งมูลนิธิหรือสมาคมเพื่อการกุศลและสาธารณะประโยชน์
3 ความแตกต่างทางด้านรูปแบบของนิติสัมพันธ์ กฎหมายมหาชนมีลักษณะเป็นการบังคับและหลีกเลี่ยงไม่
ได้ ซึ่งจะออกมาในรูปของคำสั่งหรือข้อห้าม ที่เรียกว่า การกระทำฝ่ายเดียว กล่าวคือ เป็นการกระทำซึ่งฝ่ายหนึ่ง รัฐ สามารถที่จะกำหนดหน้าที่ทางกฎหมายให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง เอกชนได้ โดยที่ฝ่ายหลังไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย เช่น การออกกฎหมายต่าง ๆ ส่วนกฎหมายเอกชนนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นอิสระในการแสดงเจตนาความ เสมอภาคและเสรีภาพในการทำสัญญาคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะบังคับอีกฝ่ายหนึ่งให้ เข้าร่วมทำสัญญาโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมหรือไม่สมัครใจไม่ได้
4 ความแตกต่างในเรื่องเขตอำนาจศาล ปัญหาทางกฎหมายมหาชนจะขึ้นสู่ศาลพิเศษได้แก่ ศาลปกครองศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนปัญหาทางกฎหมายเอกชน นั้นจะขึ้นสู่ศาลยุติธรรม ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลอาญา
 

5 ความแตกต่างทางด้านนิติวิธี แนวความคิดวิเคราะห์ในทางกฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชนจะแตกต่างกัน กล่าวคือ นิติวิธีทางกฎหมายมหาชนจะไม่นำหลักกฎหมายเอกชนมาใช้กับปัญหาที่เกิดขึ้นตาม กฎหมายมหาชน แต่จะสร้างหลักกฎหมายมหาชนขึ้นมาใช้เอง ส่วนนิติวิธีทางกฎหมายเอกชนนั้นจะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนและ มุ่งรักษาประโยชน์ของเอกชนด้วยกัน

6 ความแตกต่างทางด้านนิติปรัชญา นิติปรัชญากฎหมายมหาชนมุ่งประสานประโยชน์สาธารณะกับ
ประโยชน์ของเอกชนและสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แต่นิติปรัชญากฎหมายเอกชนเน้นความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันและตั้งอยู่บนหลัก เสรีภาพแห่งความสมัครใจของคู่กรณี

 

ข้อ 3 จงอธิบายการควบคุมแบบป้องกัน

ธงคำตอบ

การควบคุมแบบป้องกัน หมายถึง ก่อนที่ฝ่ายบริหารจะได้วินิจฉัยสั่งการหรือก่อนจะมีการกระทำในทางปกครอง ที่จะไปกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะมีระบบป้องกันเสียก่อนกล่าวคือ มีกฎหมายกำหนดกระบวนการหรือขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนที่จะมีคำสั่งออกไปกระบวนการควบคุมดังกล่าวในกฎหมายของต่างประเทศมีตัวอย่างเช่น

การโต้แย้งคัดค้าน คือ ผู้ที่อาจเสียหายจากการกระทำของฝ่ายปกครองจะต้องสามารถแสดงข้อโต้แย้งของตนได้ก่อนมีการกระทำนั้น เพื่อหลีกเลี่ยง การปกครองที่ดื้อดึง

การปรึกษาหารือ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ
การให้เหตุผล เพื่อเป็นหลักประกันในการควบคุมการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายปกครอง
หลังการไม่มีส่วนได้เสีย กล่าวคือ ผู้มีอำนาจสั่งการทางปกครองต้องไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่สั่งการนั้น
การไต่สวนทั่วไปเป็นวิธีการที่กำหนดให้ฝ่ายปกครองต้องสอบสวนข้อเท็จจริง โดยทำการรวบรวมความคิด
เห็นของบุคคลที่มีส่วนได้เสีย แล้วทำเป็นรายงานก่อนที่ฝ่ายปกครองจะตัดสินใจกระทำการที่จะมีผลกระทบผู้มีส่วนได้เสีย
การควบคุมแบบป้องกัน จึงเป็นวิธีการที่ช่วยเสริมการควบคุมโดยทางศาลเพราะฝ่ายปกครองจะต้องระมัดระวังในขั้นตอนการพิจารณาออกคำสั่ง ทำให้การกระทำของฝ่ายปกครองมีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังลดคดีที่จะมีไปสู่ศาลอีกทางหนึ่งด้วย

Advertisement