การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1101 (LAW 1001) หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายเกี่ยวกับ “หลักประโยชน์สาธารณะ (Public Interest)” และ “หลักการพื้นฐานของการให้บริการสาธารณะ (Public Service)”

ธงคําตอบ

หลักประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) หมายถึง หลักการใช้อํานาจรัฐเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ มิใช่การตอบสนองต่อความต้องการของปัจเจกบุคคลเพียงคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม และมิใช่การตอบสนองต่อความต้องการของรัฐหรือผู้ดําเนินการนั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ประโยชน์สาธารณะ คือ ความต้องการของปัจเจกบุคคลแต่ละคนที่ตรงกัน และเป็นความต้องการที่ตรงกันของ คนจํานวนมากจนเป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม มีผลทําให้ความต้องการในลักษณะดังกล่าว เป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากประโยชน์ส่วนบุคคลของปัจเจกบุคคลหรือเอกชนแต่ละคน ส่วนหลักการพื้นฐานของการให้บริการสาธารณะ (Public Service) มีดังต่อไปนี้

1 หลักความต่อเนื่องในการบริการสาธารณะ หมายถึง การจัดทําบริการสาธารณะจะต้อง มีความสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดเวลา การกระทําใด ๆ ก็ตามที่ทําให้การบริการสาธารณะขาดความต่อเนื่องก็จะต้องห้าม

2 หลักการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในการบริการสาธารณะ หมายถึง กิจกรรมที่เป็นบริการ สาธารณะที่ฝ่ายปกครองดําเนินการนั้น จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เกิดความทันสมัยและให้ทันต่อ ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่อยู่เสมอ

3 หลักความเสมอภาคในการบริการสาธารณะ หมายถึง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม ที่ให้บริการสาธารณะจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ต้องให้ความเสมอภาค อย่างเท่าเทียมกันทั้งในด้านการให้บริการและการรับบุคคลเข้าทํางานในหน่วยงานของรัฐ

 

ข้อ 2 จงอธิบายความหมายของกฎหมายมหาชน และประเภทของกฎหมายมหาชนทั้งกฎหมายมหาชน ภายใน และกฎหมายมหาชนภายนอก

ธงคําตอบ

ความหมายของกฎหมายมหาชนนั้น ได้มีศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายมหาชนทั้งของไทยและ ต่างประเทศหลายท่าน ได้อธิบายไว้ดังนี้

ศาสตราจารย์มอริส ดูแวร์เช่ แห่งมหาวิทยาลัยปารีส ได้อธิบายไว้ว่า “กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายที่กล่าวถึงกฎเกณฑ์ทั้งหลายของกฎหมายที่เกี่ยวกับสถานะและอํานาจของผู้ปกครอง รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง”

ศาสตราจารย์อองเดร เดอ โรมาแดร์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงทางกฎหมายปกครองกล่าวถึงกฎหมาย มหาชนไว้ว่า “กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่วางกฎเกณฑ์แก่สาธารณบุคคล อันได้แก่ รัฐ องค์การปกครอง และรวมตลอดถึงนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนอื่น ๆ ในด้านองค์กร การดําเนินงาน และความสัมพันธ์ระหว่าง สาธารณบุคคลด้วยกัน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณบุคคลและเอกชน”

ศาสตราจารย์แบร์นาร์ บราเช่ ผู้สอนกฎหมายมหาชนของมหาวิทยาลัยปารีส ได้อธิบายถึง กฎหมายมหาชนไว้ว่า “กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรของอํานาจสาธารณะและฝ่ายปกครอง รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรดังกล่าวกับเอกชน”

ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้อธิบายไว้ว่า “กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายที่กําหนด ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร ในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองราษฎร กล่าวคือ ในฐานะที่รัฐมีฐานะเหนือราษฎร”

นอกจากนี้ยังมีคําจํากัดความ “กฎหมายมหาชน” ของนักกฎหมายไทยอีกท่านหนึ่ง คือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งท่านได้กล่าวอธิบายถึงกฎหมายมหาชนไว้ว่า “กฎหมายมหาชนนั้น อาจให้บทวิเคราะห์ศัพท์ ดังนี้คือ เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอันเกิดขึ้นเนื่องจากการที่ประเทศแสดงตัวเป็นผู้บังคับปกครองในพระราชอาณาจักร โดยรักษาความสงบเรียบร้อย ระเบียบ การเก็บภาษีอากร และการที่ประเทศแสดงตัวนอกพระราชอาณาจักร เป็นผู้ทําการเกี่ยวพันกับประเทศอื่น”

จากคําอธิบายของศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชนดังกล่าว จึงพอสรุปความหมายของกฎหมาย มหาชนได้ว่า “กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายที่กําหนดถึงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับ สาธารณะและอํานาจของรัฐและผู้ปกครอง รวมทั้งเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่กําหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ และผู้ปกครองกับพลเมืองผู้อยู่ใต้การปกครอง ในฐานะที่รัฐและผู้ปกครองมีเอกสิทธิทางปกครองเหนือพลเมือง ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเอกชน

กฎหมายมหาชน สามารถจําแนกออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ กฎหมายมหาชนภายใน และกฎหมายมหาชนภายนอก

กฎหมายมหาชนภายใน เป็นกฎหมายที่กําหนดสถานะและนิติสัมพันธ์ภายในรัฐเกี่ยวกับการ จัดระเบียบภายในรัฐ ประกอบด้วยสาขาย่อย ๆ ได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายการคลัง

กฎหมายมหาชนภายนอก เป็นกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ กําหนดกฎเกณฑ์ ที่เกี่ยวกับสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในฐานะอธิปัตย์ที่เท่าเทียมกัน ได้แก่ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

 

ข้อ 3 ให้นักศึกษาตอบคําถามดังต่อไปนี้

(1) กฎหมายมหาชนเกี่ยวข้องกับการปฏิรูป (Reform) อย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ชัดเจน และ

(2) การปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีการปฏิรูปด้านใดบ้างจงอธิบาย

ธงคําตอบ

(1) คําว่า “ปฏิรูป” (Reform) หมายถึง ปรับปรุงให้สมควรหรือให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่พึงประสงค์ หรือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และหมายความรวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้แตกต่างไปจากเดิม ในทิศทางที่ดีขึ้น และเกิดประโยชน์มากกว่าที่ผ่านมา เช่น ถ้าพูดถึงการปฏิรูปประเทศ ย่อมหมายถึง การปรับเปลี่ยน โครงสร้างในแต่ละด้านอันเป็นองค์ประกอบสําคัญต่อการปกครองประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนทั้งประเทศนั่นเอง

เนื่องจากในปัจจุบันภารกิจของรัฐสมัยใหม่มีมากมาย ทั้งภารกิจด้านเศรษฐกิจ และภารกิจด้านสังคมกระแสโลกาภิวัตน์ หรือกระแสการเปลี่ยนแปลงเชิงพัฒนาของสังคมโลกโดยเฉพาะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทําให้จําเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องปรับเปลี่ยนท่าทีในการตั้งรับและปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกจึงจําเป็นจะต้องมีการกําหนดวิสัยทัศน์ในการปฏิรูประบบการเมือง การปฏิรูปการปกครอง การปฏิรูประบบกฎหมาย การปฏิรูประบบราชการ และการปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือในการปฏิรูปดังกล่าว ก็คือกฎหมายมหาชน ดังนั้น บทบาทที่สําคัญของกฎหมายมหาชน คือ บทบาท ในการปฏิรูปสังคมในด้านต่าง ๆ นั่นเอง

ตัวอย่าง บทบาทของกฎหมายมหาชนในการปฏิรูประบบการเมือง

เนื่องจากสภาพการเมืองในปัจจุบัน ระบบการเมืองทําให้เกิดปัญหาทางการเมืองหลายประการ เช่น มีการใช้เงินเป็นใหญ่ มีการผูกขาดทางการเมืองโดยคนจํานวนน้อย การที่คนดีมีความสามารถเข้าไปสู่ระบบ การเมืองได้ยาก การทุจริตประพฤติมิชอบ การเผด็จการโดยระบบรัฐสภา การต่อสู้เรื้อรังและความไร้เสถียรภาพ ทางการเมือง การขาดประสิทธิภาพทางการบริหารและทางนิติบัญญัติ การขาดสภาวะผู้นําทางการเมือง เป็นต้น ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าว กฎหมายมหาชน เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย เกี่ยวกับพรรคการเมือง จึงต้องมีบทบาทในการปฏิรูประบบการเมือง โดยการกําหนดมาตรการหลักที่สําคัญ ๆ เช่น

1 การปฏิรูประบบพรรคการเมือง โดยการทําพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และรัฐต้องให้การสนับสนุนทางการเงินแก่พรรคการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองเป็นอิสระจากผู้ให้เงินอุดหนุน

2 การปฏิรูประบบเลือกตั้ง โดยการขยายฐานผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้มีจํานวนมากที่สุด เท่าที่จะมากได้ เพื่อให้การใช้เงินต้องใช้มากจนไม่น่าใช้ การปรับระบบเลือกตั้งโดยใช้ระบบผสม คือ ใช้ระบบ สัดส่วนตามบัญชีรายชื่อพรรค 100 คนทั่วประเทศ และใช้ระบบการเลือกตั้งเสียงข้างมากเซตละ 1 คน ซึ่งจะทําให้ ประชาชนมีคะแนนคนละ 2 เสียงเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งเป็นวิธีการที่จะเพิ่มโอกาสให้คนดีมีความสามารถเข้าสู่ การเมืองได้มากขึ้น และเป็นการลดการซื้อเสียง รวมทั้งให้มีการจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาเพื่อควบคุมการเลือกตั้ง โดยมีความเป็นอิสระ และมีอํานาจตามกฎหมาย

3 สร้างองค์กรตรวจสอบและกระบวนการสอบสวนลงโทษ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมและศาลปกครอง เป็นต้น

(2) การปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติไว้ในหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 มี 7 ด้าน ซึ่งแต่ละด้านรัฐธรรมนูญฯ ได้กําหนดให้มีการปฏิรูป ดังนี้

1 ด้านการเมือง ได้แก่ การให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกําหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดําเนิน กิจกรรมทางการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐ การให้พรรคการเมืองดําเนินกิจกรรมโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เพื่อให้พรรคการเมืองพัฒนาเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน มีกลไกที่กําหนดให้ผู้ดํารง ตําแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและรับผิดชอบต่อประชาชน และมีกลไกในการ แก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธี เป็นต้น

2 ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่ ให้มีการนําเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ ในการบริหารราชการแผ่นดิน และการจัดทําบริการสาธารณะ ให้มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างและระบบการ บริหารงานของรัฐและแผนกําลังคนภาครัฐให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ให้มีการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐรวมทั้งให้มีการปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัว เปิดเผย ตรวจสอบได้ และมีกลไกในการป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน เป็นต้น

3 ด้านกฎหมาย ได้แก่ ให้ดําเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยให้มีการใช้ระบบอนุญาตและระบบการดําเนินการโดยคณะกรรมการเพียง เท่าที่จําเป็น เพื่อให้การทํางานเกิดความคล่องตัว และไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจําเป็น ปฏิรูประบบการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชากฎหมายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้เป็นผู้มีความรู้ และยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมของนักกฎหมาย พัฒนาระบบฐานข้อมูลกฎหมายของรัฐโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลกฎหมายได้สะดวก และสามารถเข้าใจเนื้อหาสาระของกฎหมายได้ง่าย เป็นต้น

4 ด้านกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ให้มีการกําหนดระยะเวลาดําเนินงานในทุกขั้นตอนของ กระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ชักช้า มีกลไกการช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ มีการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่าง พนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กําหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายให้ชัดเจนเพื่อมิให้คดีขาดอายุความ เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรขององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในกระบวนการยุติธรรม ให้มุ่งอํานวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็ว เป็นต้น

5 ด้านการศึกษา ได้แก่ ดําเนินการจัดให้เด็กทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพใดจะต้องได้รับ การศึกษาภาคบังคับอย่างน้อย 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ให้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลด ความเหลื่อมล้ําในการศึกษา ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง และได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับ ความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน เป็นต้น

6 ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การสร้างกลไกเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการนําความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ปรับปรุงระบบภาษีให้มีความเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมสหกรณ์และผู้ประกอบการแต่ละขนาดให้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างเหมาะสม เป็นต้น

7 ด้านอื่น ๆ เช่น ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้มีการจัดระบบบริหาร ทรัพยากรที่ดีและมีประสิทธิภาพ และด้านสาธารณสุข โดยให้มีการปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชน ได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการ และการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกเท่าเทียมกัน เป็นต้น

Advertisement