การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1001  หลักกฎหมายมหาชน

ข้อ 1. ระบบศาลเดี่ยวกับระบบศาลคู่แตกต่างกันอย่างไร

ธงคำตอบ

Advertisement

ระบบศาลเดี่ยว หมายถึง ระบบศาลในประเทศที่มีเพียงศาลยุติธรรมประเภทเดียวที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่ง คดีอาญา คดีประเภทอื่น รวมทั้งคดีปกครองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักกฎหมายที่ศาลนำมาใช้คือกฎหมายธรรมดาหรือกฎหมายเอกชน ที่นำมาใช้กับคดีปกครองด้วย ยกเว้นในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ โดยใช้วิธีการของศาลในระบบ common Law

โดยการนำหลัก naturay justic มาใช้กับกระบวนการพิจารณาในชั้นของฝ่ายปกครอง กำหนดวิธีพิจารณาที่เหมาะสมและมีการแก้ไขกฎหมายให้การเข้าถึงศาลเป็นที่เข้าใจได้ง่ายเข้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้น ยังใช้วิธีการออกหมายบังคับในกรณีต่าง ๆ ได้ ประเทศที่ใช้ระบบศาลเดี่ยวก็คือ ประเทศแองโกลแซกซอน ซึ่งใช้ระบบกฎหมาย common เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ระบบศาลคู่ ในประเทศที่เป็นระบบศาลคู่ นอกจากจะมีศาลยุติธรรมพิจารณาคดีระหว่างเอกชนแล้ว ยังมีศาลปกครองเฉพาะพิจารณาคดีปกครองโดยมีระบบกฎหมายเฉพาะมาใช้คดีปกครอง ซึ่งเป็นระบบกฎหมายที่ศาลได้ร่างขึ้นมาเอง และเป็นหลักกฎหมายที่สร้างดุลยภาพระหว่างประโยชน์สาธารณะกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี

การที่ศาลปกครองต้องใช้ระบบกฎหมายเฉพาะเป็นผลมาจากการที่คู่ความมีฐานะไม่เท่าเทียมกัน ศาลจึงจำเป็นต้องสร้างหลักกฎหมายทั้งวิธีพิจารณา และสาระบัญญัติที่แตกต่างออกไปจากกฎหมายธรรมดา ประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่ประเทศแรกคือฝรั่งเศส ต่อมาได้ นำไปใช้ประเทศยุโรปอื่น ๆ ซึ่งในปัจจุบันไทยได้นำระบบนี้มาใช้เช่นเดียวกัน โดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

ข้อ 2. กฎหมายมหาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การบริการสาธารณะและศาลปกครองว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร หรือไม่ จงอธิบาย
ธงคำตอบ

 กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ หน่วยงานของรัฐ และเจ้า
หน้าที่ของรัฐ ในทางปกครองและการบริการสาธารณสุขซึ่งการปกครองและการบริการสาธารณะไม่อาจทำให้ประสบผลสำเร็จได้หากปราศจาก กฎหมายมหาชนเจ้าหน้าที่ของรัฐ หมายถึง บุคคลซึ่งใช้อำนาจ หรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐ ในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมายมหาชน

การบริการสาธารณะ หมายถึง กิจการที่อยู่ในความอำนวยการ หรือในความควบคุมของฝ่ายปกครอง ที่จัดทำขึ้นเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนเช่น หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ เป็นต้นการใช้อำนาจตามกฎหมายมหาชนของเจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะนั้น อาจทำให้เกิดความเสียหายหรือรบกวนสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์จนของประชาชนได้ เมื่อเกิดกรณีพิพาทดังกล่าวซึ่งเรียกว่ากรณีพิพาททางปกครอง ก็ต้องใช้ศาลปกครองในการพิจารณาคดีศาลปกครอง หมายถึง ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานราชการ หน่วย
งานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่หน่วยงานการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

ดังนั้น กฎหมายมหาชนมีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การบริการสาธารณะและศาลปกครองดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3 จงอธิบาย
ก. ความหมายกฎหมายมหาชน
ข. ความแตกต่างระหว่างกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชน

ธงคำตอบ

 ก. ความหมายของกฎหมายมหาชน กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับการปกครองหรือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐ กล่าวคือ กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับราษฎร ในลักษณะที่รัฐหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นฝ่ายปกครอง มีเอกสิทธิ์หรือสถานะเหนือกว่าราษฎรซึ่งเป็นเอกชน และรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง

ข. ความแตกต่างระหว่างกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชน มี ดังต่อไปนี้

1 ความแตกต่างขององค์กรหรือตัวบุคคลที่เข้าไปมีนิติสัมพันธ์ ในกฎหมายมหาชน องค์กรหรือบุคคลที่เข้าไป
นิติสัมพันธ์ คือ รัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายหนึ่ง กับเอกชนอีกฝ่ายหนึ่ง แต่กรณีของกฎหมายเอกชนตัวบุคคลที่เข้าไปมีนิติสัมพันธ์ คือ เอกชน กับเอกชน

2. ความแตกต่างทางด้านเนื้อหาและความมุ่งหมาย เพื่อสาธารณะประโยชน์ และการให้บริการสาธารณะโดยมิได้มุ่งหวังในเรื่องกำไร ส่วนกฎหมายเอกชนนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของเอกชนแต่ละคนหรือเฉพาะบุคคล แต่มีบางกรณีที่เอกชนอาจทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมก็ได้ เช่น การตั้งมูลนิธิหรือสมาคมเพื่อการกุศลและสาธารณะประโยชน์

3 ความแตกต่างทางด้านรูปแบบของนิติสัมพันธ์ กฎหมายมหาชนมีลักษณะเป็นการบังคับและหลีกเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งจะออกในรูปของคำสั่งหรือข้อห้าม ที่เรียกว่า การกระทำฝ่ายเดียว กล่าวคือ เป็นการกระทำซึ่งฝ่ายหนึ่ง คือรัฐ สามารถที่จะกำหนดหน้าที่ทางกฎหมายให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง เอกชนได้ โดยที่ฝ่ายหลังไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย เช่น การออกกฎหมายต่าง ๆ ส่วนกฎหมายเอกชนนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นอิสระในการแสดงเจตนาความ เสมอภาคและเสรีภาพในการทำสัญญาคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะบังคับอีกฝ่ายหนึ่งให้ เข้าร่วมทำสัญญาโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมหรือไม่สมัครใจไม่ได้

4 ความแตกต่างในเรื่องเขตอำนาจศาล ปัญหาทางกฎหมายมหาชนจะขึ้นสู่ศาลพิเศษ ได้แก่ ศาลปกครอง
ศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนปัญหาทางกฎหมายเอกชนนั้นจะขึ้นสู่ศาลยุติธรรม ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลอาญา

5 ความแตกต่างทางด้านนิติวิธี แนวความคิดวิเคราะห์ในทางกฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชนจะแตก
ต่างกัน กล่าวคือ นิติวิธีทางกฎหมายมหาชนจะไม่นำหลักกฎหมายเอกชนมาใช้กับปัญหาที่เกิดขึ้นตาม กฎหมายมหาชน แต่จะสร้างหลักกฎหมายมหาชนขึ้นมาใช้เอง ส่วนนิติวิธีทางกฎหมายเอกชนนั้น จะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนและมุ่งรักษาประโยชน์ของเอกชนด้วยกัน

6 ความแตกต่างทางด้านนิติปรัชญา นิติปรัชญากฎหมายมหาชนมุ่งประสานประโยชน์สาธารณะกับประโยชน์ของเอกชนและสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แต่นิติปรัชญากฎหมายเอกชนเน้นความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันและตั้งอยู่บนหลัก เสรีภาพแห่งความสมัครใจของคู่กรณี

Advertisement