การสอบซ่อมภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3310 การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบมี 5 ข้อ ให้เลือกทําเพียง 3 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายถึงพัฒนาการของวิชาการศึกษาบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ

พัฒนาการของการศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ

การศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย เกิดจากวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ซึ่งต้องการขจัดปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการของสหรัฐอเมริกา ในขณะนั้นให้หมดไป จึงทําให้เกิดกลุ่มศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบกลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มศึกษาเปรียบเทียบ ระบบบริหาร (Comparative Study Administration : CSA) เพื่อศึกษาระบบบริหารราชการของประเทศยุโรป คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และปรัสเซีย (เยอรมันปัจจุบัน) และนําแนวทางการบริหารจากประเทศดังกล่าวมาใช้แก้ปัญหา การบริหารราชการของสหรัฐอเมริกา

การศึกษาของกลุ่ม CSA นําไปสู่พัฒนาการของการศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ ซึ่ง แบ่งออกเป็น 4 ช่วงเวลา ดังนี้

1 ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939 1940) – ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งสถาปนาตัวเองเป็นผู้นําโลก ได้ ประกาศใช้แผนมาร์แชล (Marshall Plan) โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา และเทคโนโลยีแก่ประเทศพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งการช่วยเหลือดังกล่าว มีส่วนผลักดันให้ประเทศโลกที่ 3 หรือประเทศกําลังพัฒนาเกิดอุดมการณ์การพัฒนา (Developmentalism) โดย มีความเชื่อว่า บรรดาประเทศยากจนสามารถพัฒนาประเทศของตนให้เหมือนกับประเทศที่เจริญแล้วหรือประเทศ อุตสาหกรรมได้ หากนําแนวทางของสหรัฐอเมริกามาเป็นต้นแบบ

ผลจากนโยบายการให้ความช่วยเหลือและอุดมการณ์การพัฒนาทําให้เกิดกลุ่มศึกษา การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มบริหารเปรียบเทียบ (Comparative Administration Group : CAG) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กลุ่มบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ (Comparative Public Administration : CPA) ซึ่งกลุ่มนี้ มองว่าระบบบริหารของประเทศโลกที่ 3 เป็นระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตก ดังนั้น ถ้าต้องการจะให้ระบบบริหารของประเทศโลกที่ 3 มีประสิทธิภาพ สามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศได้ ก็จําเป็นจะต้องพัฒนาและปรับปรุงระบบบริหารของประเทศเหล่านี้ให้ “ทันสมัย” ซึ่งกลุ่ม CAG/CPA ได้เรียกร้อง ให้มีการสร้างสถาบันทางการบริหาร (Institution-Building) ใหม่ ๆ ขึ้นในประเทศโลกที่ 3

2 ยุคทองของการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ (ค.ศ. 1969 1974)

เป็นยุคที่แนวความคิดของกลุ่ม CAG/CPA ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จะเห็นได้ จากการจัดพิมพ์วารสาร เอกสาร ตําราเกี่ยวกับการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบมากมาย และในมหาวิทยาลัยของ สหรัฐอเมริกาก็มีการเปิดการเรียนการสอนการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบกันมาก ซึ่งจุดเน้นของแนวความคิดของ กลุ่ม CAG/CPA มีดังนี้

1) การสร้างระบบการบริหารแบบอเมริกัน (American Public Administration) ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด (The Best Efficiency) สามารถเป็นต้นแบบให้กับประเทศโลกที่ 3 เพื่อใช้ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศได้

2) การนํารูปแบบการบริหารแบบอเมริกันไปใช้จะต้องครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน เนื่องจากรูปแบบการบริหารงานแบบอเมริกันมีลักษณะ “ครบวงจร” หรือเป็นแบบ “Package” คือ ประกอบด้วย ความรู้ทางด้านการบริหารทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณ การจัดการ เทคโนโลยี รวมทั้งทัศนคติและค่านิยมแบบอเมริกัน

3) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการที่จะปรับปรุงระบบราชการของประเทศโลกที่ 3 ให้มีความทันสมัยแบบสหรัฐอเมริกา โดยการกําหนดมาตรการต่าง ๆ ในการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ระบบราชการ ในประเทศโลกที่ 3 และเสนอให้มีการสร้างสถาบันทางการบริหารใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

4) การเพิ่มขีดความสามารถของระบบบริหารของหน่วยงานราชการ จะต้อง กระทําก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด โดยไม่คํานึงถึงระดับของการพัฒนาทางการเมือง

3 ยุคเสื่อมของการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ (ค.ศ. 1975 1976)

สาเหตุที่ทําให้การศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบของกลุ่ม CAG/CPA เสื่อม มี 2 ประการ คือ

1) ความบกพร่องของแนวความคิดของกลุ่ม CAG/CPA ได้แก่

– การศึกษาของกลุ่ม CAG/CPA มุ่งเน้นการบริหารงานตามแบบตะวันตก ละเลยการพิจารณาถึงปัจจัยสภาพแวดล้อมภายในของประเทศโลกที่ 3 จึงทําให้การบริหารงานของประเทศโลกที่ 3 ไม่ประสบผลสําเร็จเท่าที่ควร เพราะการพัฒนาจําเป็นต้องใช้เวลาในการสร้างสมประสบการณ์ของประเทศนั้น ๆ เอง เพื่อค้นหารูปแบบการบริหารงานที่เหมาะสมกับประเทศของตน

– การถูกวิพากษ์วิจารณ์จนเกิดความไม่แน่ใจในศาสตร์การบริหารรัฐกิจ เปรียบเทียบ กล่าวคือ การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบตามแนวคิดของกลุ่ม CAG/CPA ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของ ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาในการขยายอิทธิพลและอํานาจครอบงําประเทศโลกที่ 3 โดยผ่าน วิธีการชักจูงให้ประเทศโลกที่ 3 หันมาเลียนแบบสไตล์การบริหารแบบสหรัฐอเมริกา

2) สถานการณ์ภายในและภายนอกของสหรัฐอเมริกา ทําให้สหรัฐอเมริกาต้องกลับมา สนใจดูแลความสงบเรียบร้อยภายในประเทศจนละเลยการให้ความช่วยเหลือประเทศโลกที่ 3 ประกอบกับนักวิชาการ เริ่มทําตัวเหมือน “มือปืนรับจ้าง” เห็นแก่เงินรางวัลอามิสสินจ้างมากกว่าความก้าวหน้าทางวิชาการ ส่งผลให้ การศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบซบเซาลง

4 ยุคฟื้นฟูการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ (ค.ศ. 1976 – ปัจจุบัน)

ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1975 นักวิชาการเริ่มกลับมามองถึงปัญหาร่วมกัน โดยการรวมตัวกัน จัดประชุมทางวิชาการเพื่อประเมินสถานการณ์และสถานภาพของการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบในอดีตและมอง แนวโน้มในอนาคต โดยได้จัดพิมพ์แนวทางการศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ไว้ใน หนังสือ “Public Administration Review” ฉบับที่ 6 (พ.ย. – ธ.ค. 1976) ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นแนวการศึกษา การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ในยุคนี้จึงทําให้เกิดกลุ่มศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มบริหารรัฐกิจ เปรียบเทียบแนวใหม่ (New Comparative Public Administration : New CPA) ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากต้องการแก้ไข ข้อบกพร่องของกลุ่ม CAG/CPA โดยแนวความคิดของกลุ่ม New CPA นี้ มุ่งเน้นการศึกษาระบบบริหารที่เกิดขึ้นจริง ในประเทศโลกที่ 3 มากกว่าการสร้างทฤษฎี รวมทั้งเป็นการมุ่งตอบคําถามว่าทําไมการพัฒนาของประเทศหนึ่งจึง ประสบความสําเร็จในขณะที่อีกประเทศหนึ่งล้มเหลว มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้เกิดความสําเร็จหรือความล้มเหลว ในการพัฒนา ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการนํานโยบายไปปฏิบัติ

 

ข้อ 2 จงอธิบายถึงลักษณะของการบริหารรัฐกิจในกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาภายใต้ตัวแบบของ Fred W. Riggs

แนวคําตอบ

เฟรด ดับบลิว. ริกส์ (Fred w. Riggs) ได้เสนอตัวแบบพริสมาติก (Prismatic Model) ซึ่งเป็น ตัวแบบที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะการบริหารรัฐกิจในกลุ่มประเทศกําลังพัฒนา ได้แก่ กลุ่มประเทศในแถบเอเชียมรสุม ตั้งแต่ปากีสถาน อินเดีย ไปจนถึงจีนและเกาหลี ซึ่งมีลักษณะเป็นสังคมพริสมาติก (Prismatic Society) หรือ สังคมส่งผ่าน (Transition Society) คือ สังคมที่อยู่ระหว่างสังคมด้อยพัฒนากับสังคมพัฒนาแล้ว

ลักษณะสําคัญของสังคมพริสมาติก มีดังนี้

1 Heterogeneity คือ การผสมผสานระหว่างการปกครองและการบริหารภายใต้สังคม ที่เจริญแล้ว (แบบตะวันตก) กับสังคมด้อยพัฒนา (แบบดั้งเดิม)

2 Formalism คือ การบริหารที่มีความแตกต่างระหว่างปทัสถานหรือกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ อย่างเป็นทางการกับความเป็นจริงในทางปฏิบัติ

3 Overlapping คือ การมีโครงสร้างเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ จะเป็นแบบด้อยพัฒนา ทําให้การบริหารงานของแต่ละหน่วยงานก้าวก่ายหน้าที่กัน

4 Poly-Communalism คือ การบริหารงานที่มีการแบ่งพวกแบ่งพ้องในองค์การ ซึ่งเป็น การแบ่งภายใต้ความแตกต่างของภูมิหลัง เช่น การศึกษา ภูมิลําเนา สถานะ ฯลฯ

5 Nepotism คือ การบริหารงานที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์หรือระบบเส้นสาย และมีการ เล่นพรรคเล่นพวกแบบวงศาคณาญาติ

6 Bazaar-Canteen คือ การกําหนดราคาแบบเป็นทางการ แต่ในความเป็นจริงมักจะ ใช้วิธีการต่อรองราคาหรือการติดสินบนพนักงานของรัฐ ดังเช่นสํานวนไทยที่ว่า “ยื่นหมูยื่นแมว” “กินตามน้ำ” หรือ “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” ซึ่งทําให้เกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในระบบราชการ

7 Poly Nor Motirism and Lack of Consensus คือ การที่ประชาชนมีค่านิยมและ ปทัสถานทางสังคมหลากหลาย ทําให้ขาดความเห็นชอบร่วมกัน

8 Authority and Control คือ หน้าที่ที่ได้รับกับการแสดงบทบาทในความเป็นจริง มักขัดแย้งกัน หมายความว่า คนที่ต้องแสดงบทบาทในการใช้อํานาจ แต่ไม่มีอํานาจควบคุมการเมืองและการบริหาร อย่างแท้จริง ในทางตรงกันข้ามคนที่ไม่มีบทบาทในการใช้อํานาจกลับเป็นผู้ที่มีอํานาจในการดําเนินการทาง การเมืองและการบริหารอยู่อย่างลับ ๆ

9 SALA Model คือ การกําหนดโครงสร้างของหน่วยงานราชการหรือองค์การหนึ่ง ๆ มักจะมีหน้าที่หลายอย่างในหน่วยงานเดียวกัน ซึ่งทําให้เกิดการก้าวก่ายหน้าที่กัน และแสดงถึงความไม่ผสมผสานกัน ระหว่างแนวคิดในการพัฒนากับความเป็นจริงในทางปฏิบัติดังเช่นคํากล่าวที่ว่า “หัวมังกุท้ายมังกร”

 

ข้อ 3 จงอธิบายถึงข้อแตกต่างระหว่างการบริหารรัฐกิจในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมันมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ

การบริหารรัฐกิจในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมันมีรูปแบบการบริหารแบบดั้งเดิม (Classic Model) ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารที่สะท้อนการบริหารรัฐกิจตามแนวคิดของแมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) จึงส่งผลให้ การบริหารรัฐกิจของทั้งสองประเทศมีลักษณะสําคัญดังนี้

1 มีการจัดลําดับชั้นการบังคับบัญชา

2 มีการแบ่งหน้าที่ตามความชํานาญเฉพาะด้าน

3 การบริหารงานเน้นความสมเหตุสมผล

4 เน้นความชํานาญเฉพาะด้านสูง มีการฝึกอบรมข้าราชการก่อน

5 พฤติกรรมการบริหารรัฐกิจเคร่งครัดในกฎระเบียบมาก

6 การรับราชการมุ่งเน้นความเป็นวิชาชีพ

7 ข้าราชการมีบทบาทในการกําหนดนโยบาย

ความแตกต่างระหว่างการบริหารรัฐกิจในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมัน มีดังนี้

1 ฝรั่งเศสเน้นการกระจายอํานาจ (Decentralization) เนื่องจากมีการปกครองแบบ สาธารณรัฐ แต่เยอรมันเน้นการรวมอํานาจ (Centralization) ไว้ที่ส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง กรม กอง

2 การรับราชการของฝรั่งเศสและเยอรมันต้องมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ตาม มาตรฐานที่กําหนดไว้โดยผ่านการฝึกอบรมในสถาบันการบริหารแห่งชาติ (Nation School of Administration) ซึ่งฝรั่งเศสจะใช้เวลาในการฝึกอบรม 2 ปี แต่เยอรมันใช้เวลา 3 ปีครึ่ง

3 การเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการจะพิจารณาจากความอาวุโส หลักความสามารถ มนุษยสัมพันธ์ ความชํานาญเฉพาะด้าน และการสนับสนุนจากผู้นําขององค์การ โดยฝรั่งเศสจะเน้นความสามารถ เป็นหลัก แต่เยอรมันจะเน้นความอาวุโสเป็นหลัก

 

ข้อ 4 จงอธิบายลักษณะการบริหารราชการในประเทศอินเดียมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ

การบริหารราชการในประเทศอินเดีย มีรูปแบบการบริหารแบบระบบกึ่งแข่งขันของพรรคการเมือง ที่มีอํานาจเหนือเด่น (Dominant-Party Semicompetitive Systems) ซึ่งเป็นการบริหารที่มีพรรคการเมืองหนึ่งพรรค มีอํานาจเหนือพรรคการเมืองอื่น ๆ ความเด่นชัดดังกล่าวส่งผลให้นโยบายของพรรคการเมืองได้รับการยอมรับ มาปฏิบัติ แต่หากมีพรรคการเมืองพรรคอื่น ๆ ขึ้นมามีอํานาจและบทบาทหน้าที่ก็จะส่งผลให้นโยบายที่มุ่งเน้นนั้น เปลี่ยนแปลงไป และรูปแบบการบริหารก็แตกต่างกันออกไปด้วย

รูปแบบการบริหารราชการของประเทศอินเดียแตกต่างไปจากประเทศอื่น ๆ เนื่องจากได้รับ อิทธิพลรูปแบบการบริหารมาจากประเทศอังกฤษ ดังนั้นระบบการบริหารราชการของประเทศอินเดียจึงมี ความทันสมัยอย่างมาก มีลักษณะการบริหารที่มุ่งเน้นระบบคุณธรรม (Merit System) มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวทาง ของประเทศตะวันตก

การบริหารงานบุคคลมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ผลจากการให้ความสําคัญกับการบริหารตามตะวันตก ที่เริ่มตระหนักถึงระบบคุณธรรม ส่งผลให้การสรรหาและคัดเลือกข้าราชการเป็นการสรรหาที่มีความเข้มงวดและจริงจัง ให้ความสนใจรับคนที่จบมหาวิทยาลัย มีคณะกรรมการ Union Public Service Commission ในการรับสมัคร และการคัดเลือกเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด

ส่วนในเรื่องบทบาทและสถานภาพของข้าราชการนั้น ข้าราชการอินเดียมีบทบาทและสถานภาพ เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” โดยข้าราชการถูกกําหนดให้เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายที่ฝ่ายการเมืองเป็นผู้กําหนด ส่วน ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการและฝ่ายการเมืองถือว่ามีความราบรื่นดี เพราะข้าราชการระดับสูงมีความสนิทสนม ใกล้ชิดกับนักการเมือง จึงทําให้ข้าราชการมีบทบาทต่อการบริหารราชการค่อนข้างมาก

สําหรับการควบคุมการบริหารราชการนั้น มีทั้งการควบคุมโดยตรงจากภายในองค์การ คือ การควบคุมตามสายการบังคับบัญชา และการควบคุมโดยอ้อมจากฝ่ายการเมือง คือ การควบคุมจากพรรคการเมือง ที่มีอํานาจและบทบาทสําคัญในช่วงนั้น ซึ่งข้าราชการตั้งแต่ระดับสูงลงมาถึงระดับล่างจะต้องมีการรายงานและ นําเสนองานผ่านความเห็นชอบของฝ่ายการเมือง ซึ่งโดยมากเป็นกลุ่มพรรคครองเกรส เนื่องจากถือว่าเป็น พรรคการเมืองที่มีอํานาจและอิทธิพลครอบงําระบบการเมืองมากกว่าพรรคอื่น ๆ จึงมีอิทธิพลต่อการควบคุม ตรวจสอบการบริหารราชการของข้าราชการ

 

ข้อ 5 จงอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบแนวเก่ากับแนวใหม่มาโดยละเอียด

แนวคําตอบ

การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบแนวเก่าให้ความสําคัญกับประสิทธิภาพและประสิทธิผล แต่ การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบแนวใหม่ให้ความสําคัญกับหลักธรรมาภิบาล หรือ Good Governance ซึ่งประกอบด้วย หลักการสําคัญ 6 ประการ คือ

1 การมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Public Participation) คือ การให้ประชาชนทุกคนมีโอกาส เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและการบริหารอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงการให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชน และสาธารณชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์

2 ความสุจริตและโปร่งใส (Honesty and Transparency) คือ การกําหนดระบบกติกา และการดําเนินงานที่เปิดเผย ตรงไปตรงมา ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลข่าวสาร อย่างเสรี เป็นธรรม ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ

3 พันธะความรับผิดชอบต่อสังคม (Accountability) คือ การมีความรับผิดชอบในบทบาท ภาระหน้าที่ที่มีต่อสาธารณชน โดยมีการจัดองค์กรหรือการกําหนดกฎเกณฑ์ที่เน้นการดําเนินงานเพื่อตอบสนอง ความต้องการของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมอย่างเป็นธรรม

4 กลไกการเมืองที่ชอบธรรม (Political Legitimacy) คือ ผู้ที่เป็นรัฐบาลหรือผู้ที่มีบทบาท ในการบริหารประเทศต้องขอบธรรมและเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมส่วนรวม ทั้งในเรื่องความสุจริต ความเที่ยงธรรม และความสามารถในการบริหารประเทศ

5 กฎเกณฑ์ที่ยุติธรรมและชัดเจน (Fair Legal Framework and Predictability) คือ การกําหนดกรอบในการปฏิบัติหรือกฎหมายที่เป็นธรรมและยุติธรรมสําหรับกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งกฎเกณฑ์ จะต้องมีการบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่เข้าใจตรงกัน มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ สามารถคาดหวังผล และรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้

6 ประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness) คือ ประสิทธิภาพ ในการดําเนินงานไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดกระบวนการทํางาน การจัดองค์การ การจัดสรรบุคลากร และมีการใช้ ทรัพยากรสาธารณะต่าง ๆ อย่างคุ้มค่าและเหมาะสม มีการดําเนินการและให้บริการสาธารณะที่ให้ผลลัพธ์เป็นที่ น่าพอใจและกระตุ้นการพัฒนาของสังคมทุกด้าน

Advertisement